สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ลัทธิไล่ล่า สมศักดิ์ เจียมฯ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในระยะนี้ ลัทธิล่าหัวบุคคลที่เห็นต่างด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 ได้หวนกลับมาสู่กระแสสูงอีกครั้ง โดยบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายในครั้งนี้ก็คือ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งถือเป็นนักวิชาการหัวแข็งระดับแนวหน้าคนหนึ่งของสังคมไทย

ทั้งนี้เริ่มจากวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ได้แถลงข่าวว่า ทางกองทัพบกได้ตรวจพบการเผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊กของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ว่า อาจมีบางข้อความที่อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  และด้วยข้ออ้างที่ว่า กองทัพบกเป็นส่วนราชการที่มีหน้าที่ปกป้องสถาบันและดำรงพระเกียรติยศ ทางกองทัพบกจำเป็นต้องให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการพิจารณาว่าข้อความใดเข้าข่ายหมิ่นหรือจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ ควบคู่กับการใช้มาตรการทางสังคมเพื่อกดดันและปฏิเสธพฤติกรรมการกระทำที่ไม่ถูกต้อง

ข้อสังเกตต่อข่าวนี้ก็คือ ทางกองทัพก็ยังไม่ได้มั่นใจว่า การโพสต์เฟซบุ๊ค ของนายสมศักดิ์จะเข้าข่าวหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือไม่ ต้องให้ผ่ายกฎหมายของกองทัพตรวจสอบก่อน แต่กองทัพบกอ้างสิทธิ์ของความเป็นหน่วยราชการที่ภักดี ที่มุ่งเป้าโจมตีไปที่นายสมศักดิ์ ซึ่งในกรณีนี้ นายสมศักดิ์ได้โพสต์ข้อความอธิบายว่า “ไม่ทราบว่า กองทัพบกอ่านภาษาไทยอย่างไรนะครับ คนรักเจ้า อยู่ภายใต้การคุ้มครองของ 112 ตั้งแต่เมื่อไร และการที่ผมล้อเลียนวิจารณ์คนรักเจ้าและการรักเจ้าแบบเอาเจ้าเป็นศูนย์กลางจักรวาล ไม่รู้จักการตื่นรู้เตรียมปรับตัว เป็นการละเมิด 112 ไปได้อย่างไร”

ต่อมา วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ก็มีกลุ่มราชนิกุล  21 คน เดินทางไปที่กองปราบเพื่อร้องทุกข์ให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริง และติดตามบุคคลที่เข้าข่ายกระทำความผิดฐานหมิ่นเบื้องสูง ตามกฎหมายมาตรา 112 กลุ่มนี้มุ่งเป้าการโจมตีไปที่รัฐบาลและตำรวจว่า ปล่อยปละให้มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดย ม.ล.สุทธิฉันท์ วรวุฒิ ได้ยกตัวอย่างว่า “เราได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมด และมีการตรวจสอบก่อนทั้งกรณีของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เมื่อก่อนก็โพสต์มาตลอด แต่ทำแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็เลยเปิดเผยมากขึ้นและโพสต์ถี่ขึ้น เพื่อให้คนอื่นเข้ามาร่วม”

ในระหว่างนี้ ได้มีการโพสต์เลขที่บ้าน และเลขทะเบียนรถยนต์ของนายสมศักดิ์ในสื่ออินเตอร์เนต เพื่อปลุกเร้าให้เกิดการเกลียดชังและคุมคาม และเหตุการณ์ก็เกิดขึ้นในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ เวลาเที่ยงครึ่ง การลงมือก็เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะมีคนร้าย 2 คนขี่จักรยานยนตร์มาจอดหน้าบ้านตะโกนโหวกเหวก ด่าทอ แล้วขว้างก้อนอิฐ โยนขวดใส่น้ำมันก๊าด แล้วยิงปืนใส่บ้านและรถของนายสมศักดิ์ที่รามอินทรา ทำให้กระจกบ้านแตกและรถยนต์เสียหาย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการใช้ความรุนแรงคุกคามโดยตรง

ตามประวัติที่รวบรวมได้ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เกิดเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2501 มีชื่อเรียกเล่นกันว่า “หัวโต” จบการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เริ่มทำกิจกรรมมาตั้งสมัยนักเรียน และเป็นหนึ่งในผู้จัดทำหนังสือสมานมิตร ฉบับ”ศึก”ที่เป็นที่วิจารณ์ของยุคสมัย ต่อมา ได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พงศ.2519 และเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับขบวนการนักศึกษา เป็นโฆษกในการชุมนุม ในขณะที่ฝ่ายชนชั้นปกครองก่อการปราบปรามนักศึกษาประชาชนและก่อการรัฐประหารในกรณี 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 สมศักดิ์ได้ถูกจับกุมคุมขัง และถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมราชานุภาพและคอมมิวนิสต์ เขาต้องถูกจองจำโดยปราศจากความผิดนานถึง 2 ปี จึงได้รับการนิรโทษกรรมเมื่อ พ.ศ.2521 จึงถือได้ว่า สมศักดิ์เป็นหนึ่งในกลุ่มคนเดือนตุลาด้วย

หลังจากนั้น สมศักดิ์ก็ได้กลับมาเรียนหนังสือจนจบการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) สาขาวิชาประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้น ก็จบการศึกษาระดับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยโมแนช ประเทศออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ.2535 แล้วกลับมารับราชการเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ระยะสั้น แล้วย้ายมาธรรมศาสตร์เมื่อ  พ.ศ.2537

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลถือว่าเป็นนักคิดและนักประวัติศาสตร์ ที่มีความสนใจในประวัติศาสตร์และการเมืองไทยสมัยรัชกาลที่ 9 เป็นพิเศษ  และมีผลงานการศึกษาค้นคว้า และการตีความประวัติศาสตร์จำนวนมาก โดยเฉพาะการศึกษาบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ตั้งแต่การปฏิวัติ 2475 กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 พ.ศ.2489 เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 และ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 หนังสือที่ตีพิมพ์คือ เรื่อง “ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง” ก็เป็นงานค้นคว้าที่น่าสนใจอย่างมาก และถือได้ว่าสมศักดิ์เป็นผู้เชี่ยวชาญในความรู้เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ในอันดับแรกๆ ในสังคมไทย เพียงแต่ว่า ทัศนะการนำเสนอและข้อมูลที่อธิบายนั้น เป็นทัศนะและข้อมูลอีกด้านหนึ่ง ที่ขัดกับสิ่งที่ถ่ายทอดให้เชื่อกันอย่างฝังหัวในสังคมไทย สมศักดิ์ได้อธิบายว่า เขาต้องการเสนอปัญหาในจุดยืนที่ให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น และให้ยกเลิกการใส่ร้ายป้ายสีผู้บริสุทธิ์ด้วยมาตรา 112 ซึ่งประเด็นเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย เพราะเขาไม่เคยด่าแบบหยาบคาย หรือใช้ข้อความโจมตีตัวบุคคล แต่เสนอด้วยเหตุผลและข้อมูลแบบอารยชน และเรียกร้องให้ฝ่ายคนรักเจ้าตอบโต้ด้วยการใช้เหตุผลและข้อมูลด้วยซ้ำ

โดยส่วนตัวแล้ว สำหรับนักศึกษาและเพื่อน ถือว่า สมศักดิ์เป็นอาจารย์ที่ทำตัวง่ายและมีอัธยาศัยดีคนหนึ่ง แต่ในทางการเคลื่อนไหววิชาการ สมศักดิ์นั้นมีลักษณะ”บินเดี่ยว”อย่างยิ่ง ไม่เชื่อมกับใคร ไม่ร่วมทางวิชาการกับใคร เพราะมีลักษณะวิจารณ์แบบขวานผ่าซากไม่สร้างมิตร จนขัดแย้งกับนักวิชาการก้าวหน้ารายอื่นเสียแทบทั้งหมด ทั้งรุ่นเล็กและรุ่นใหญ่ เช่น ขัดแย้งกับ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เกษียร เตชะพีระ ธงชัย วินิจจะกูล อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ใจ อึ๊งภากรณ์ พวงทอง ภวัครพันธ์ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ สุดา รังกุพันธุ์ เคยทะเลาะอย่างรุนแรงกับ บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ กำพล จำปาพันธ์ และ โชติศักดิ์ อ่อนสูง เป็นต้น แต่กระนั้น ข้อเสนอที่น่าสนใจและผลงานค้นคว้าที่มีคุณภาพ ก็ทำให้สมศักดิ์มีประชาชนคนรุ่นใหม่เป็นผู้ติดตามจำนวนไม่น้อย และถือว่าเป็นนักคิดที่มีบทบาทสำคัญคนหนึ่ง สำหรับในทางการเมือง แม้ว่า สมศักดิ์จะมีแนวโน้มอย่างมากในการสนับสนุนขบวนการคนเสื้อแดง แต่ไม่ถือได้ว่าเป็นแนวร่วมใดๆ ของพรรคเพื่อไทย และไม่มีความเกี่ยวพันกับรัฐบาลยื่งลักษณ์ ชินวัตร หรือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เลย

แต่กระนั้น ในสังคมไทยกระแสหลัก ที่มีความคับแคบทางความคิด และคุ้นเคยกับการมองสรรพสิ่งแบบด้านเดียว กลับมีความเห็นว่า การนำเสนอแบบสมศักดิ์เป็นการกระทำที่ผิด ฝ่ายนิยมเจ้าเสียอีกที่ใช้วาจาเกลียดชัง(hate speech) ใช้ความหยาบคายตอบโต้เสมอ และยังหาทางที่จะใช้กฎหมายมาตรา 112 มาเล่นงาน หวังให้นักวิชาการที่คิดต่างอย่างสมศักดิ์เข้าคุกให้จงได้ และยังใช้วิธีการรุนแรงให้ไร้เหตุผลมาเล่นงาน ซึ่งเป็นการประจานถึงความป่าเถื่อนของฝ่ายนิยมเจ้าเอง

ดังนั้น สำหรับบุคคลที่ฉลาดและตื่นรู้ จะต้องร่วมกันประณามการใช้ความรุนแรงข่มขู่คุกคามต่อสมศักดิ์ในลักษณะเช่นนี้ ต้องยืนยันว่า การนำเสนอสรรพสิ่งอย่างรอบด้านนั้น สอดคล้องกับวิถืทางประชาธิปไตยของโลก เรื่องเสรีภาพทางความคิดเป็นเรื่องที่ได้รับการรับรองตามปฏิญญาสิทธิมนุษยชน ในทางตรงข้ามการรับหรือเชื่ออย่างฝังหัวแบบด้านเดียว พร้อมที่จะให้ร้ายคนอื่น เป็นการแสดงความอับจนทางปัญญาอย่างยิ่งของสังคมไทย ที่ควรจะต้องขจัดให้หมดสิ้นไป

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 452 วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท