Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

หลังจากที่นายกรัฐมนตรี นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภา และกำหนดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 กพ. 57 และการเลือกตั้งก็ได้ผ่านพ้นไป หลายฝ่ายเชื่อว่าคงจะทุเลาอาการสาหัสของประเทศไทยได้บ้างไม่มากก็น้อย แต่ก็ไม่เป็นอย่างนั้น การชุมนุมยังคงยืดเยื้อต่อไปและที่เพิ่มเข้ามาคือ “ความรุนแรง” ที่มากขึ้น มีการปะทะกันด้วยอาวุธร้ายแรงในหลายจุด มันไม่ใช่มีแค่คนบาดเจ็บเสียแล้ว กลับกลายเป็นมีคนเสียชีวิต ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ และ ฝ่ายผู้ชุมนุม จนดู เหมือนกับว่าสังคมไทยได้ตกอยู่ในสภาวะสงคราม และความรุนแรงลักษณะเช่นนี้ก็ยังคงดำเนินต่อไป ไม่มีทีท่าว่าจะยุติในเร็ววัน 

มีความพยายามที่จะให้เกิดการเจรจาหาข้อสรุประหว่าง รัฐบาลและผู้ชุมนุม เพื่อหาทางยุติสงครามกลางเมืองที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในไม่ช้า แต่ก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง เนื่องจาก ต่างฝ่ายต่างเชื่อว่าตนเองจะเป็นฝ่ายชนะ ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเจรจา 1.ฝ่ายรัฐบาลเชื่อว่าจะชนะหากการเลือกตั้งซ่อมอีก 28 เขตสำเร็จ และมั่นใจว่าตนเองจะกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง 2.ฝ่าย กปปส.ก็เชื่อเช่นเดียวกันว่าหากการเลือกตั้งสำเร็จ พรรคเพื่อไทยก็จะกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลอีก ก็จะวนอยู่ในรูปแบบเดิมแบบที่ฝ่ายตนเองไม่ต้องการ อีกทั้ง กปปส. ยังมั่นใจว่าฝ่ายตนจะชนะ เพราะยังมีคดีความที่ชี้มูลความผิดโดยองค์กรอิสระอยู่ในศาลเพื่อให้มีการพิจารณาไต่สวนความผิดไปที่ทางฝั่งรัฐบาล ซึ่งจะทำให้รัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศได้ อาจจะเกิด”สุญญากาศ”ทางการเมือง

เพื่อให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้ หลายคนจึงเสนอทางออกของประเทศไปที่ “นายกคนกลาง” บุคคลที่ทุกฝ่ายพอที่จะรับกันได้ โดยแคนดิเคตมีประมาณ 5-6 คน เช่น นายอานันท์ ปันยารชุน,นายวิษณุ เครืองาม,หม่อมหลวง ปรีดียาธร เทวกุล เป็นต้น หากจะให้นึกถึง “นายกคนกลาง” ที่ใกล้ตัวและพอจะนึกถึงได้ทันทีก็คงจะเป็นในปี 49 หลังรัฐประหาร ได้เชิญ พลเอก สุรยุทธ จุลานนท์ องคมนตรี มาทำหน้าที่ “นายกคนกลาง” ผลงานไม่มีอะไรโดดเด่น และ ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน และที่สำคัญ ไม่สามารถขจัดระบอบทักษิณไปได้อย่างสิ้นซาก จึงได้ฉายาจากนักหนังสือพิมพ์ว่า “รัฐบาลขิงแก่” ในอนาคตอันใกล้ ใครก็ตามที่จะเข้ามารับตำแหน่งนี้คงจะอยู่ลำบากพอสมควร เกิดคำถามตามมาอีกมากมาย เพราะก็ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งของสังคมที่ไม่ต้องการ “นายกคนกลาง” โดยให้เหตุผลว่า ตนเองไม่ได้เลือกเข้ามา เป็นอำนาจของคนเพียงไม่กี่คนที่ตัดสินใจ และยังเชื่อว่า “นายกต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น” ในประเด็นนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้างของสังคมถึงความเป็นไปได้หรือไม่อย่างไรกับการที่ประเทศจะมี “นายกคนกลาง” 

การต่อสู้ทางการเมืองในรอบนี้เป็นการต่อสู้ในระยะยาว ไม่ได้จบสั้นและในเร็ววันอย่างแน่นอน จริงๆแล้วเป็นการต่อสู้มาตั้งแต่ก่อนปี 49 ที่เกิดรัฐประหารเสียอีก นับรวมแล้ว เกือบ 10 ปี กลุ่มต่อต้านก็เป็นกลุ่มเดิมๆ ขับไล่คนๆเดิม ระบอบเดิมๆ ซึ่งในรอบนี้ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังและคอยสนับสนุนทั้งรัฐบาลและ กปปส.ต้องวางแผนให้ดีคิดให้หนัก เพราะหากวางแผนพลาด ใช้เบี้ยผิดตัว ก็อาจจะทำให้พ่ายแพ้ และส่งผลให้สังคมเสียหายหนักอย่างประเมินค่ามิได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net