Skip to main content
sharethis
 
บรรยากาศในซุ้มแจกกาแฟ 
 
นับเป็นครั้งที่ 2 ของการเดินทางมาเยือน “ดอยไตแลง” ดอยแห่งแสงสว่างดั่งความหวังของ “คนไต” หรือ “ไทใหญ่” ที่คนไทยนิยมเรียกขาน แม้สถานที่แห่งนี้จะอยู่ไม่ไกลจากชายแดนประเทศไทยมากนัก หากแต่ไม่เป็นที่รู้จักในหมู่คนไทย ราวกับว่าดินแดนแห่งนี้ถูกม่านหมอกบดบังไว้ ไม่ให้ปรากฏบนแผนที่โลก
 
ทุกๆ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ของทุกปี บนดอยไตแลง จะมีการเฉลิมฉลองวันชาติแห่งรัฐฉานซึ่งปีนี้นับเป็นที่ 67 แล้ว ในวันกล่าวจะมีผู้คนเดินทางมาจากทั่วทุกสารทิศ ทั้งคนไตในเมืองต่างๆ ในเขตรัฐฉาน คนไตที่อาศัยในแผ่นดินไทย และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เพื่อร่วมงานเฉลิมฉลองดังกล่าว
 
ฉันมีโอกาสเดินทางมาร่วมงานในปีที่แล้ว และสัญญากับตัวเองว่า ถ้าเป็นไปได้ก็จะกลับมาเยือนที่นี่อีก ... แล้วโอกาสก็มาถึง ... 1 ปีผ่านไป แม้ว่าอะไรๆ จะดูแปลกตาไปบ้าง สิ่งปลูกสร้างใหม่ๆ ผู้คนใหม่ๆ แต่สิ่งที่ยังคงเหมือนเดิม คือแววตาแห่งความหวังราวกับจะบอกว่า ทุกคนที่นี่ ยังคงรอคอยเสรีภาพ
 
นางหาญ (ทหารหญิง) มารับรูปที่ฉันและคณะถ่ายไว้เมื่อปีที่แล้ว เธอดีใจมากที่ได้เห็นภาพถ่ายของตนเอง
 
ปีนี้ ฉันและคณะตั้งใจมาทำซุ้มเล็กๆ เพื่อแจกจ่ายกาแฟ ขนม และถ่ายรูปฟรีให้กับทหาร จากเงินที่ได้รับบริจาคเล็กๆ น้อยๆ เราทำในสิ่งที่พอทำได้ เพื่อเป็นการแสดงน้ำใจ และชื่นชมในความกล้าหาญ ความเสียสละของทหารหาญทุกคนที่นี่ ในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่อยู่บนโลกใบเดียวกัน
 
การสื่อสารต่างภาษา เป็นปัญหาสำหรับเราอยู่ไม่น้อย จริงอยู่ “ภาษาไต” มีความคล้ายคลึงกับ “ภาษาไทย” มาก แต่ใช่ว่าจะสื่อสารกันให้เข้าใจได้โดยง่าย เราจึงมีเด็กนักเรียนโรงเรียนดอยไตแลงมาคอยช่วยเหลืออีกแรง ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ “น้องบัว” หรือถ้าจะออกเสียงให้ถูกตามสำเนียงคนไต เชื้อสายของเธอ ก็ต้องออกเสียงใหม่ว่า "น้องโม๋"
 
โม๋ ก็คือบัว และ หมอกโม๋ ก็คือ ดอกบัว นั่นเอง หน้าที่ความรับผิดชอบหลักที่เราแบ่งให้เธอ คือ แจกกาแฟให้ทหาร คอยสื่อสารกับเหล่าทหารและผู้คนที่มาใช้บริการในเต็นท์ เท่าที่คิดว่าเด็กสาวในวัยประถมปลายจะช่วยเราได้ ในวันแรกๆ เราไม่ได้คุยกันมากนัก อาจเพราะต่างคนต่างยังมีอาการเคอะเขินกันอยู่ เด็กสาวพูดน้อยและเรียบร้อยเหลือเกิน
 
น้องโม๋ สาวน้อยที่มาช่วยงานในเต้นท์ 
 
เรามีเวลาว่างในช่วงวันแรกๆ คนมาใช้บริการไม่มากนัก เพราะทหารส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่า เต็นท์เล็กๆ ของเรา มีวัตถุประสงค์อะไรและมาทำอะไรบนนี้ ในยามว่าง ฉันสังเกตเห็นเด็กสาว หยิบกระดาษรียูส (ที่ฉันนำติดกล่องเก็บอุปกรณ์เผื่อได้ใช้งาน) ออกมากางอ่านหน้าที่ถูกใช้งานแล้ว... เธออ่านภาษาไทยอย่างเสียงดังฟังชัด แผ่นแล้วแผ่นเล่า บางครั้ง เธอก็พยายามจะสอนเพื่อนอ่านด้วยกัน โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ "เฮา จะ สอน สู อ่าน อ่าน ตาม เฮา" แล้วเพื่อนๆ ก็ออกเสียงตาม
 
เพื่อนน้องโม๋กระซิบบอกฉันว่า โม๋เรียนหนังสือเก่งมาก เธออ่านเก่งในทุกภาษาที่โรงเรียนเปิดสอน และตัวหนังสือก็สวยมากเช่นกัน
 
ตลอด 3 วัน โม๋และเพื่อน จะมาถึงราวๆ 7 โมงเช้า ท่ามกลางอากาศที่หนาวจัด และเดินทางกลับเมื่อเวลา 4 ทุ่ม บางครั้งก็ล่วงเลยไปจนถึง 5 ทุ่ม ทั้งที่ฉันอนุญาตให้เธอกลับไปพักผ่อนตั้งแต่ 3 ทุ่มแล้ว และเธอบอกว่า เธออยู่ต่อได้ และยินดีช่วยงานต่อ แล้วเธอก็เดินกลับกับเพื่อนๆ ไปยังหอพักนักเรียน โรงเรียนดอยไตแลง (ซึ่งต้องเดินเท้ากลับไปในระยะทางที่ไกลพอสมควร)
 
โรงเรียนดอยไตแลงที่กล่าวถึงเป็นโรงเรียนแห่งเดียวบนดอยนี้ สอนตั้งแต่อนุบาล จนถึงเกรด 9 มีนักเรียนอยู่ราวๆ 800 – 900 คน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือนักเรียนที่อาศัยอยู่บนดอย ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของทหาร และอีกส่วนหนึ่งคือเด็กหอพัก มีทั้งเด็กต่างเมืองที่มาเรียนที่นี่ และเด็กกำพร้า ที่สูญเสียพ่อแม่จากภาวะสงคราม เติบโต และกินนอนภายใต้ชายคาเรือนไม้แห่งนี้
 
บรรยากาศทั่วๆ ไป ของโรงเรียนดอยแลง
 
ช่วงนี้ เป็นช่วงปิดเทอม เด็กๆ ส่วนใหญ่จะกลับบ้านที่ต่างเมือง จึงเหลือนักเรียนหอพักอยู่ไม่มากนัก (ราว 80 คน) การพูดคุยกันในช่วงวันท้ายๆ นี้ ทำให้ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับตัวเธอ และการเรียนการสอนของโรงเรียนดอยไตแลงบ้าง จากที่เคยคิดมาตลอดว่า หมอกโม๋ คงเกิดและเติบโตที่ดอยไตแลง แต่เธอเล่าว่า เธอเกิดที่เมืองไทย ใน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และเพิ่งย้ายมาเรียนที่นี่ได้ปีเศษ ส่วน แก้ว เพื่อนของเธอที่มาช่วยงานที่บูธอีกคนก็มาจากฝั่งไทย เช่นกัน การสนทนาระหว่างเราจึงเกิดขึ้น
 
“แล้วมาเรียนที่นี่ได้ยังไง” ฉันถามด้วยความใคร่รู้ หากอยู่ที่เมืองไทย จะทำให้มีชีวิตสุขสบายกว่านี้ มิใช่หรือ
 
“คุณครูส่งมาค่ะ” เธอตอบ
 
“แล้วชอบไหม” โม๋ ไม่ตอบว่าชอบหรือไม่ แต่ถ้าเลือกได้ เธอบอกว่า ยังอยากอยู่ที่ฝั่งไทย เพราะได้ใกล้ชิดกับพ่อแม่มากกว่า
 
การเรียนการสอนที่โรงเรียนดอยไตแลง หากดูจากสภาพภายนอก ก็ย่อมไม่แตกต่างจากโรงเรียนตามดอยสูงกันดารของเมืองไทยมากนัก อาคารเรียนที่ไม่ทันสมัย อุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอนที่ยังล้าหลัง แต่ถ้าพูดถึงหลักสูตรการศึกษาแล้ว ที่นี่นับว่าไม่เป็นสองรองใคร โดยเฉพาะการเรียนการสอนด้านภาษาที่มีด้วยกันถึง 5 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทใหญ่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาพม่า เน้นภาษา และความรู้รอบตัว ส่วนหนึ่งคือ เพื่อเป็นการรองรับการเข้าสู่ยุคประชาคมอาเซียน
 
การที่ครูส่งเธอมาเรียนที่นี่ คงมองว่าจะเป็นการช่วยส่งเสริมศักยภาพของเด็กคนหนึ่งให้มีอนาคตที่ดี เพราะหากเธอต้องอยู่เมืองไทย จะมีแค่ 2 ทางเลือก คือ ไปเรียนที่โรงเรียนพื้นราบกับตามหลักสูตรการเรียนการสอนของไทย และทางเลือกที่ 2 คือ เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ
 
แม้การอยู่อาศัยที่นี่ จะ “ลำบาก” ฉันคงต้องอธิบายคำว่า “ลำบาก” ให้ได้รู้กันสักหน่อย จากการตั้งข้อสังเกต เล็กๆ ของฉันเอง เมื่อทุกครั้งที่ชวนน้องๆ มาทานข้าวด้วยกันน้องๆ จะรับประทานกันเก่งมาก ไม่เกี่ยงว่ามื้อนั้น กับข้าวจะเป็นอะไร ไข่ ปลาทู หมูยอ ผัดผัก หรือแม้แต่ ต้มมาม่าอย่างง่ายๆ น้องๆ จะทานจนหมดจาน บางครั้ง ก็ต่อเป็นจานที่ 2 ฉันตั้งใจว่า ก่อนเดินทางกลับจะนำเสบียงที่เหลือไปให้น้องๆ ไว้ทำกับข้าวไว้รับประทานร่วมกัน
 
“ระหว่างปิดเทอมทำกับข้าวทานกันยังไงคะ ? ฉันถาม
 
“ก็ทำด้วยกันที่โรงครัวค่ะ” โม๋ตอบ
 
“แล้วอาหาร พี่หมายถึงเสบียงหนะ ใครซื้อมาให้เหรอ?”
 
“คุณครูค่ะ”
 
“ครูซื้อพวกไข่ หมู ผัก อะไรพวกนี้ มาไว้ให้ใช่ไหมคะ?” ฉันตอบ ตามภาพความทรงจำของห้องเก็บของโรงอาหรในวัยเด็กของฉัน
 
“เปล่าค่ะ ผักอย่างเดียว”
 
คำตอบสุดท้ายของโม๋ ทำให้เข้าใจเรื่องราวในวงข้าว เมื่อ 2 – 3 วันที่ผ่านมา อย่างไร้ข้อสงสัย เธอยังบอกอีกว่า ผักมีจำนวนไม่มาก เท่าไหร่ สิ่งที่ทำได้คือ ต้องใส่น้ำเยอะๆ ทานกับข้าวสวยเยอะๆ เมื่อมาถามเจ้าหน้าที่บนดอยไตแลงก็ได้คำตอบว่า
 
“งบประมาณรายหัว สำหรับเด็กนักเรียนดอยไตแลง เฉลี่ยวันละ 10 บาท ต่อหัว ต่อวันครับ” เป็นคำตอบที่สะเทือนใจทีเดียว “ยังดีกว่าทหารนะครับ ทหาร ตกหัวละ 7 บาท ต่อวัน ต่อหัวครับ”
 
และใน 1 สัปดาห์จะได้กินอาหารที่ปรุงจากเนื้อสัตว์ แค่ 1 วัน
 
ฉันไม่ได้เอ่ยอะไรออกไป หลังจากได้ยินคำตอบ มีเพียงรอยยิ้มเล็กๆ และการกลับมาขีดๆ เขียนๆ ถึงเรื่องราวบนดอยไตแลง และชีวิตของน้องโม๋ แน่นอนว่า ไม่ได้มีเจตนาให้ ใคร รู้สึก “สงสาร” หรือ “เห็นใจ” ใคร เพราะทุกชีวิตล้วนแตกต่าง
 
“โม๋” ไม่เคยท้อกับโชคชะตา ที่พลัดพรากเธอจากอ้อมอกพ่อแม่ มาอยู่ในที่ที่ห่างไกลและอัตคัด แต่เธอกลับตั้งหน้าตั้งตาเรียนเพื่อไม่ให้ครูผู้พามารู้สึกผิดหวัง ยินดีมาช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ เพื่อแลกกับค่าขนมโดยไม่ต้องรบกวนทางบ้าน
 
สาวเมืองเชียงตุงมาร่วมงานเฉลิมฉลองวันชาติรัฐฉาน  
 
คนไตทุกคนที่นี่ก็ไม่เคยย่อท้อต่อโชคชะตา ไม่ได้มองว่า ความขัดสน สถานที่กันดาร ขาดน้ำ ไฟ จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคนในชาติเลย สิ่งที่พวกเขาคิดคือ ต้องมีหลักสูตรการเรียนการสอนที่ดีที่สุด ให้กับลูกหลานของพวกเขา เช่น มองว่าภาษาเป็นสิ่งจำเป็นในอนาคต เด็กๆ ที่นี่ จึงเรียนภาษากันอย่างเข้มงวด
 
เมื่อคนที่นี่ไม่เคยท้อ แล้วเรา จะใช้คำว่า สงสารได้อย่างไร นอกจากคำว่า ชื่นชม และให้กำลังใจกันเสมอ
 
ฉันรักเธอ ดอยไตแลง เพราะการมาเยือนทุกครั้ง ทำให้ได้แรงบันดาลใจดีๆ กลับไปอยู่เสมอ
 
I am Zingaro
10 กพ. 57
เขียนไว้ที่ดอยไตแลง
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net