การนำความขัดแย้งกลับคืนสู่ระบบ..ทำอย่างไร?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ความรุนแรงจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองอันเนื่องมาจากการชุมนุมขับไล่รัฐบาลของกลุ่ม กปปส. ในช่วงหลายวันที่ผ่านมานี้ ได้นำไปสู่การสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชนทุกฝ่าย หลายชีวิตเป็นเพียงเด็ก ๆ ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งดังกล่าวแต่อย่างใด หลายฝ่ายเริ่มหมดหวังกับการเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติความรุนแรง และในสถานการณ์ฝุ่นตลบนั้นยังยากยิ่งที่จะชี้ชัดได้ว่า   ความรุนแรงจากการใช้อาวุธซึ่งนำไปสู่ความสูญเสียนั้นเกิดจากฝ่ายใด สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการพูดถึงกองกำลังไม่ทราบฝ่ายตามทฤษฎีมือที่สามที่เป็นเสมือนบทสรุปของความสูญเสียทุกครั้ง หรือไม่อย่างนั้นก็ต่างชี้นิ้วไปยังฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นผู้ก่อความรุนแรงซึ่งยิ่งย้ำรอยความเกลียดชังระหว่างกันของผู้คนในสังคมให้ยิ่งแตกแยกร้าวลึกมากขึ้นไปอีก

ในสถานการณ์ดังกล่าว มีความพยายามจากหลายฝ่ายที่เรียกร้องให้คู่ขัดแย้ง เปิดการเจรจา และนำปัญหากลับคืนสู่ระบบ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ จะถอยกันอย่างไร ในเมื่อมองไปทางใดก็ดูเหมือนว่าจะตกหล่มติดล็อคไปเสียทุกทาง เมื่อรัฐบาลประกาศว่าอย่างไรก็ตามไม่สามารถลาออกไปจากการเป็นรัฐบาลรักษาการได้ อันเป็นเงื่อนไขซึ่งมีความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย แต่เมื่อฟังจากทางฝ่าย กปปส. ก็ยังคงยืนยันให้ลาออก เนื่องจากรัฐบาลหมดความชอบธรรมจากกรณีผลักดัน ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเหมาเข่ง ตลอดจนความล้มเหลวในการบริหารนโยบายและปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ภาวะถอยไม่ได้ไปไม่ตลอดจึงสร้างความอีดอัดใจให้กับทุกฝ่าย

การย้อนกลับสู่ระบบที่พึงเป็นนั้น หากเรายังยืนยันว่าเราจะปกครองกันในระบอบประชาธิปไตย ทางเดียวที่ทำได้คือการคืนอำนาจกลับไปสู่ประชาชนทั้งประเทศด้วยการเลือกตั้ง แต่ปัญหาก็ยังอยู่ที่ว่าในการเลือกตั้งที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ได้ประกาศไม่ร่วมส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งเมื่อวันที่  2 กุมภาพันธ์ 2557 และฝ่าย กปปส. ก็รณรงค์ให้ผู้คนไม่ไปเลือกตั้งตลอดจนใช้ความพยายามในการชุมนุมขัดขวางการเลือกตั้ง จนบางเขตไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง บางเขตไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ ถึงแม้วันนี้จะผ่านการเลือกตั้งดังกล่าวมาได้แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถนับคะแนนหรือประกาศผลการเลือกตั้งได้ เนื่องจากติดข้อจำกัดทางกฎหมายเกี่ยวกับจำนวนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่ครบจำนวนเพียงพอที่จะเปิดรัฐสภาได้ ภายใต้ความขัดแย้งและสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรง มองอย่างเป็นธรรมต่อ กกต. ผู้มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลให้ กกต. เกิดความลำบากใจในการตัดสินใจว่าจะเดินทางเลือกตั้งต่อไปให้ครบทุกเขตท่ามกลางความเสี่ยงดังกล่าวดีหรือไม่ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกปมปัญหาหนึ่งที่ยังดูเหมือนว่าจะไม่มีทางออก

อย่างไรก็ตาม ทุกปัญหาความขัดแย้งสุดท้ายก็ต้องจบลงด้วยการเจรจา แต่จะเจรจากันอย่างไรมีทางออกที่เรียกว่า Win –Win Solution หรือไม่ ผู้เขียนได้ครุ่นคิดมาหลายวันด้วยสติปัญญาอันจำกัดถึงข้อเสนอเพื่อนำความความขัดแย้งกลับคืนสู่ระบบโดยเร็ว ซึ่งแน่นอนว่าอาจไม่เป็นที่ถูกใจทุกฝ่ายแต่ก็อยากให้ลองนำมาพิจารณาดูกัน

หากจะมีการเจรจาเกิดขึ้นระหว่างรัฐบาลรักษาการกับผู้ชุมนุม การเจรจานั้นต้องเป็นไปเพื่อหาทางออกภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญและหลักการการประชาธิปไตย หนทางอื่นใดที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักความเท่าเทียมและเสมอภาคกันของผู้คนจึงไม่อาจนับเข้าสู่การเจรจาได้ เพราะนั่นไม่ใช่ทางออกของปัญหาความขัดแย้ง แต่นั่นคือชนวนของความรุนแรงและสงครามกลางเมืองในอนาคต ดังนั้น แนวคิดนายกรัฐมนตรีคนกลางหรือนายกรัฐมนตรีจากการรัฐประหารไม่ว่าจะโดยกองทัพหรือองค์กรตุลาการย่อมไม่อาจหยิบยกเข้าสู่วาระการเจรจาไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ๆ

มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ เพราะการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เกิดขึ้นในสถานการณ์อันไม่เป็นปกติ แน่นอนว่าเสียงของผู้มาใช้สิทธิมากกว่ายี่สิบล้านคนจำเป็นต้องได้รับการเคารพ และนี่คือการยึดหลักการที่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย แต่โดยสภาพข้อเท็จจริงจำต้องยอมรับว่า การเลือกตั้งครั้งดังกล่าวนี้ไม่อาจสะท้อนเสียงหรือความต้องการที่แท้จริงของประชาชนทุกฝ่ายได้ ไม่ว่าจะจากการบอยคอตการเลือกตั้งของประชาธิปัตย์,การไม่มีผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง,การปิดหน่วยเลือกตั้ง และความหวาดกลัวต่อความรุนแรงในการชุมนุมขัดขวางการใช้สิทธิเลือกตั้ง

ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อคะแนนเสียงที่มาใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อการเลือกตั้งภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวไม่อาจสะท้อนเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชนทุกฝ่ายและอาจยิ่งนำมาสู่ทางตัน ทางออกสำหรับปัญหาดังกล่าวจึงจำเป็นต้องจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่โดยเร็ว โดยการเจรจากดดันและเปิดทางให้พรรคประชาธิปัตย์ลงรับสมัครเลือกตั้งอีกครั้ง

แน่นอนว่า ภายใต้ข้อเสนออย่างนี้อาจไม่เป็นที่พอใจของหลายฝ่ายที่อาจมองว่า ทำไมจึงต้องยอมถอยให้พรรคประชาธิปัตย์และ กปปส. ซึ่งเป็นเสมือนตัวการก่อปัญหาจากการไม่เคารพในกติกาตั้งแต่แรกและสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องรับผลจากการไม่เคารพกติกาดังกล่าว

ในประเด็นนี้ผู้เขียนอยากให้มองว่าอย่างไรก็ตามเพื่อให้ประเทศย้อนกลับคืนสู่ระบบโดยเร็วและลดความสูญเสียชีวิตของผู้คน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำคู่ขัดแย้งกลับเข้ามาในระบบ ในแง่หนึ่งเมื่อมีการเปิดทางดังกล่าวแล้วพรรคประชาธิปัตย์ก็จำต้องยอมรับผลแห่งการเลือกที่ผ่านมาของตนซึ่งจะวัดได้จากผลคะแนนจากการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย

พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ (รวมถึง กปปส.) ในฐานะที่เป็นคู่ขัดแย้งหลัก  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยอมรับในผลแห่งการกระทำของตน

แกนนำ กปปส. จะต้องสลายการชุมนุมและยอมมอบตัวกลับสู่กระบวนการยุติธรรมจากผลความเสียหายและละเมิดต่อกฎหมายที่ตนก่อขึ้นจากการชุมนุม

เช่นเดียวกันกับรัฐบาลเพื่อไทยก็จำเป็นต้องยอมรับการตรวจสอบด้วยการกระบวนการตามกฎหมายที่เป็นธรรมจากประเด็นกล่าวหาในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นและการดำเนินเนินนโยบายผิดพลาดซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศ (ถ้ามีจริง)

นี่คือการเรียกร้องให้ทุกฝ่ายกลับคืนมาอยู่ภายใต้ระบบกฎหมายและหลักนิติรัฐอย่างที่สังคมอารยะพึงเป็น แต่ทั้งนี้ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียกร้องให้ศาลและองค์กรอิสระดำเนินการไปภายใต้หลักการทางกฎหมายอย่างแท้จริงอำนวยความเป็นธรรมให้แก่ทุกฝ่าย โดยไม่บิดเบือนหลักการและกลายเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความขัดแย้งอย่างที่ผ่าน เพื่อเรียกความเชื่อถือและยอมรับของประชาชนให้กลับคืนมา 

แต่อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดการณ์ได้ว่ากระบวนการต่อเนื่องเพื่อฟื้นฟูสถานการณ์ความขัดแย้ง ที่เกิดขึ้นนี้ การเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมืองจะต้องถูกพูดถึงขึ้นอีกครั้งในอนาคตอันใกล้ (นี่นับเป็นตลกร้ายอย่างหนึ่งที่เราต้องมาเรียกร้องให้ออก พรบ. นิรโทษกรรมให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมนกหวีดที่ออกมาต่อต้าน พรบ.นิรโทษกรรม)

ภายหลังการเลือกตั้งใหม่ที่มีพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมการเลือกตั้ง ไม่ว่าพรรคใดได้เป็นรัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้สัตยาบันต่อสาธารณะว่าจะทำงานเพื่อการปฏิรูปการเมืองและยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่เท่านั้น โดยกำหนดระยะเวลาอันจำกัดเพียงหนึ่งปีหรือสองปี และเปิดทางให้มีการเลือกตั้งใหม่ทันทีเมื่อมีการกำหนดกติกาที่เป็นประชาธิปไตยซึ่งเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายด้วยการลงประชามติแล้ว ทั้งนี้

สำหรับแนวทางการตั้งรัฐบาลแห่งชาติเพื่อการปฏิรูปที่รวมเอา ผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งจากทุกพรรคมาจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันตามสัดส่วนที่ได้รับเลือกตั้งก็ยังคงเป็นแนวคิดที่ไม่สมควรตัดออกจากการพิจารณา เพราะอย่างไรก็ตาม นี่เป็นสถานการณ์อันไม่ปกติและไม่ใช่รัฐบาลในสภาวะปกติ ซึ่งอย่างน้อยก็ยังมีความสมเหตุสมผลในการยึดโยงกับเสียงประชาชนมากกว่ารัฐบาลจากการรัฐประหารหรือรัฐบาลแต่งตั้งประทานจากฟากฟ้าสรวงสวรรค์หรืออภิสิทธิชนคนดีงามกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง  

ผู้สนับสนุนทั้งฝ่ายพรรคเพื่อไทย+นปช. และพรรคประชาธิปัตย์+กปปส. จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องงดการใช้ hate speech และตระหนักว่าทุกการกระทำของตนเป็นการเพิ่มความเกลียดชังสู่สังคมการเมืองหรือไม่  เป็นไปด้วยอารมณ์หรือหลักการเหตุผลหรือไม่  การมีสำนึกทางการเมืองและสำนึกต่อสาธารณะเป็นเรื่องสวยงามและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองย่อมเป็นของทุกคนทุกฝ่าย แต่ในเส้นบาง ๆ นั้นต้องระวังว่าจะกลายตัวไปเป็นชนวนระเบิดของสงครามกลางเมืองได้เช่นกัน

นปช. หรือเสื้อแดง ต้องไม่ใช่ตัวแทนของทักษิณ ของ ยิ่งลักษณ์ ของพรรคเพื่อไทยหรือของคนเหนือคนอิสาน แต่ต้องเป็นตัวแทนของหลักการประชาธิปไตย ความเท่าเทียม ความเสมอภาค และการต่อสู้นามของการลดเหลื่อมล้ำในสังคมการเมือง ในขณะที่ กปปส. ก็ต้องไม่เป็นตัวแทนของสุเทพ ของอภิสิทธิ์ ของพรรคประชาธิปัตย์ ของคนกรุงเทพหริอคนใต้ แต่ต้องเป็นตัวแทนของการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น การใช้อำนาจรัฐอย่างไม่เป็นธรรม การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างถึงราก

ทั้งสองฝ่ายไม่ใช่คู่ปฏิปักษ์ที่เป็นขั้วตรงข้ามที่ต้องทำลายอีกฝ่ายให้ราบคาบ แต่ต้องทำงานกันอย่างสอดประสานเพื่อส่งเสริมให้ระบบรัฐและการปกครองพัฒนาก้าวเดินหน้าต่อไปอย่างที่พึงเป็นโดยไม่ต้องเกลียดชังกันและฆ่ากัน ไม่มีใครเป็นตัวแทนของชาติที่สามารถนำสัญลักษณ์ธงชาติมาใช้ได้เพียงฝ่ายเดียวและกีดกันอีกฝ่ายให้กลายเป็นผู้ไม่รักชาติไป ไม่มีมวลมหาประชาชนที่ไม่นับประชาชนอีกครึ่งประเทศออกจากความรับรู้และความทรงจำ ไม่มีใครเป็นเสียงข้างมากที่มีสิทธิทำได้ทุกอย่างโดยไม่เห็นหัวประชาชนเสียงข้างน้อย ทุกคนล้วนเป็นประชาชน เป็นพลเมือง (ด้วยนัยแบบหยาบ ๆ ที่สุด) ที่ต่างมีสิทธิเสียงและเป็นเจ้าของประเทศนี้ร่วมกัน

อีกประเด็นที่สำคัญก็คือ ทุกฝ่ายต้องยุติการอ้างอิงสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อนำมาหาประโยชน์ทางการเมือง บทเรียนหลายต่อหลายครั้งที่ผ่านมาสอนเราว่า ผู้คนไม่ออกมาฆ่ากันเพราะรักหรือเกลียดพรรคการเมือง แต่อาจออกมาฆ่ากันเพราะความรักและศรัทธาบางประเภทที่อยู่นอกเหนือการอธิบายได้ด้วยหลักการและทฤษฎีที่เป็นเหตุเป็นผล (แน่นอนว่า มีอีกหลายเรื่องหลายบทบาทของหลายๆ คนที่จำเป็นต้องพูดถึงเพื่อเข้าใจในสถานการณ์ความขัดแย้งที่แหลมคมอันเกิดขึ้นในช่วงใกล้ เปลี่ยนผ่าน แต่คงไม่อาจพูดถึงทั้งหมดได้ในบทความนี้)

ข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องเหล่านี้ เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนที่อาจไม่รอบคอบ อาจมีข้อบกพร่องหรือผิดพลาด อาจจะฟังดูมากเกินไป เป็นไปไม่ได้ โลกสวย อ่านแล้วไม่เข้าใจ ฟังแล้วไม่เข้าหู หรือไม่น่าพอใจสำหรับทุกฝ่ายเลยก็ตาม แต่ก็อยากให้ผู้อ่านทุกท่านได้โปรดพิจารณาขบคิด และร่วมกันแลกเปลี่ยนโดยลดทอนอคติระหว่างสีระหว่างฝ่ายลงเสียก่อน เพื่อที่ว่าเราอาจจะร่วมกันหาทางออกจากความขัดแย้งนี้ได้โดยไม่ต้องสูญเสียเลือดเนื้อของผู้คนและเสี่ยงต่อการเกิดสงครามกลางเมืองอย่างที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท