Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 

บทนำ

ปัจจุบันมหา’ลัยไทยกำลังส่งเสริมให้อาจารย์ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ เพื่อยกระดับการศึกษาบ้านเราที่ดูแย่เต็มทน มหา’ลัยบางแห่งพยายามทำเรื่องนี้ให้เป็นระบบ เช่น มีการใช้ระบบฐานข้อมูล‘ไซมาโก’ (SCImago) เพื่อการอ้างอิงวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ‘ไซมาโก’ ได้แบ่งวารสารวิชาการระดับนานาชาติออกเป็น 4 ลำดับชั้นโดยกำหนดจาก ‘ปัจจัยผลกระทบ’ (Impact Factor) โดยมากในวงการมหา’ลัยมักเรียกทับศัพท์ว่า ‘อิมแพคแฟคเตอร์’ ลำดับชั้นที่ 1 คือวาสาร ‘อิมแพคแฟคเตอร์’ สูงและลดหลั่นกันไปจนถึงลำดับชั้นที่ 4 ผู้ที่มีผลงานตีพิมพ์ที่ลำดับชั้นที่ 1 จะได้ค่าตีพิมพ์ 50,000 บาท และ 5,000 บาทสำหรับลำดับชั้นที่ 4 นับว่าเป็นการสร้างแรงจูงใจที่ดี มหา’ลัยไทยที่ไประดับโลกหรือ ‘โกอินเตอร์’ เช่น มหิดล จุฬา ทั้งสองแห่งมีความเหมือนกันตรงที่มีคณะแพทย์ อาจารย์หมอจุฬาบางคนตีพิมพ์ 4 เรื่องในหนึ่งปี ปัจจุบันการจัดอันดับมหา’ลัยไทย ‘โกอินเตอร์’ ใช้การตีพิมพ์ที่มี ‘อิมแพคแฟคเตอร์’ สูง


‘อิมแพคแฟคเตอร์’ มาจากไหน

‘อิมแพคแฟคเตอร์’ ถือกำเนิดขึ้นโดย ‘สถาบันเพื่อข้อมูลทางวิทยาศาสตร์’ (Institute for Scientific Information) ปี 1975 ปัจจุบันคือบริษัททอมสัน (Thomson) ผู้ผลิตตำรา วาสาร และฐานข้อมูลวิทยาศาสตร์การแพทย์ วิธีคิด ‘อิมแพคแฟคเตอร์’ วิธีหนึ่งใช้การอ้างอิงหรือวงการมหา’ลัยเรียกทับศัพท์ว่า ‘ไซทงาน’ (citation) ก็คือนำผลงานไปใช้ในทางปฏิบัตินั้นเอง ขอยกตัวอย่างเอง ปัจจุบันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเอชไอวีหรือเอดส์เป็นที่วิตกในสังคมโลกรวมถึงประเทศไทย จึงได้มีการคิดการหาวิธีใช้ยาเพื่อป้องกันจากความเสี่ยง สมมุติมีคนไปเที่ยวมาแล้วเกิดถุงยางแตก วิธีแก้ไขปัญหาเบื้องต้นคือต้องไปพบแพทย์ภายใน 72 ชั่วโมงหากมีการสัมผัสสารคัดหลั่ง แพทย์จะจ่ายยา ‘ยาเป๊ป’ (Prep) (ชุดยาต้านไวรัส) เพื่อป้องการการฝังตัวของเชื้อเอชไอวี แน่นอนว่า ‘ยาเป๊ป’ ก็ต้องมีการทดลองไปตามระเบียบวิธีวิทยาด้านการแพทย์คลินิก เมื่อมีผลสำเร็จจึงมีการตีพิมพ์ใน ‘New England Journal of Medicine’ มีค่า ‘อิมแพคแฟคเตอร์’ ที่ 51 ค่า ‘อิมแพคแฟคเตอร์’ สูงนี้เกิดจากการนำผลงานตีพิมพ์ไปใช้ทั่วโลก รวมถึงคลีนิกนิรนาม

ฉะนั้นวัตถุประสงค์แรกเริ่มเดิมทีของการใช้ค่า ‘อิมแพคแฟคเตอร์’ จึงเป็นการใช้ในวงการแพทย์เพราะเกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของชีวิตมนุษย์โดยตรง ความสำเร็จอันเป็นต้นแบบของค่า ‘อิมแพคแฟคเตอร์’ ‘สายการแพทย์’ ได้ถูกผลักเข้ามาอยู่ในพื้นที่ความรู้จนกลายมาเป็นความรู้และข้อปฏิบัติกระแสหลักในสายสังคมศาสตร์ด้วย ปัจจุบันวารสารสายวิทยาศาสตร์มีค่าอิมแพคแฟคเตอร์ 0-50 หันมามองอาจารย์สายสังคมศาสตร์ สำหรับค่า ‘อิมแพคแฟคเตอร์’ สายสังคมศาสตร์อยู่ที่ 0-5 บางคนจะตีพิมพ์วารสารวิชาการระดับนานาชาติที่ลำดับชั้นที่ 4 ก็แทบหืดขึ้นคอ สำหรับค่า ‘อิมแพคแฟคเตอร์’ ลำดับชั้นที่ 4 อยู่ที่ 0.1-0.3 (สัมภาษณ์คลินิกนิรนาม: 22 ธันวาคม 2556) 


ยินดีต้อนรับสู่ ‘ปัจจัยผลกระทบในฐานะที่เป็นวาทกรรมและเทคโนโลยีแห่งการครอบงำ’ (Impact Factor as Discourse ‘n Technologies of Dominance)

ฟูโกต์ให้ความสนใจเรื่องมนุษย์สร้าง ‘วาทกรรม’ ให้กลายเป็น ‘ความรู้’ (knowledge/power) ‘วาทกรรม’ เป็นคำที่ใช้กันดาษดื่น หากจะพูดวาทกรรมให้ฟังดูเท่ก็ต้องพูดแบบที่ฟูโกต์ใช้

วาทกรรมเป็น 'กระบวนการผลิตสร้างตัวตนรวมไปถึงความหมายให้กับสรรพสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเราในสังคม โดยผลิตสร้างผ่านสถาบันสังคมอันหลากหลายจนสิ่งนั้นๆ ได้กลายมาเป็น ‘ความรู้’ ที่ ‘ควบคุม’ คนเรา วาทกรรมแบบฟูโกต์จึงหมายรวม (1) ‘คำพูดคำกล่าวทั่วๆไปแบบที่ใครก็พูดได้’ (general domain of statement) เช่น หน้าที่ของอาจารย์มหา’ลัยต้องมีสอน วิจัย บริการวิชาการ ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม (2) ‘คำพูดที่มีความหมายเฉพาะเจาะจง’ (particularizing group of statement) เช่น การตีพิมพ์ที่แวดวงมหา’ลัยยอมรับต้องเป็นวารสารที่มี ‘อิมแพคแฟคเตอร์’ สูง (3) คือ ‘ปฏิบัติทางภาษา’ (regulated practice) ฟูโกต์ประสบความสำเร็จในการผนึกรวม ‘ภาคทฤษฎีและปฏิบัติ’ ให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน กล่าวคือ เมื่อคนพูดอะไรออกไปมันก็คือกฎกติกา แม้ไม่ได้มีการเขียนระบุไว้แต่ก็สามารถสร้างแรงกระเพื่อมหรือแรงกดดันต่างๆ ทางสังคม เช่น ทันที่ที่เราทักเพื่อนว่าสวยขึ้นย่อมสร้างความมั่นใจให้กับเพื่อนเรามากกว่าคนไม่สวย คนไม่สวยโดนลดทอนความมีคุณค่าในตัวตน แต่เบื้องหลังเพื่อนคนสวยคนนั้นต้องมีการคุมอาหาร น้ำหนัก น้ำตาล ออกกำลังกาย คนที่ไม่สวยก็ต้องไปทำตามบ้าง ดังนี้ ภาษาเป็นมากกว่าเครื่องมือเพื่อการสื่อสาร แต่ภาษาผลิตสร้างความเป็นจริงเพราะคนรับรู้ความจริงผ่านภาษา ปัจจุบันภาษาที่ทรงพลังในการผลิตสร้างความจริงหนีไม่พ้นภาษา ‘วิทยาศาสตร์การแพทย์’

หันมามอง ‘ค่าอิมแพคแฟคเตอร์’ อันที่จริง ‘ค่าอิมแพคแฟคเตอร์’ ไม่ได้มีอยู่โดยตัวของมันเอง แต่ ‘ประกอบสร้าง’ ขึ้นจากเงื่อนไขต่างๆ หรือผ่านกลไกลหรือสถาบันสังคมอันหลากหลาย เช่น ‘ค่าอิมแพคแฟคเตอร์’ เกิดขึ้นปี 1975 แต่ต้องไม่ลืมว่าช่วงเวลานั้น ‘ไอบีเอ็ม’ ได้พัฒนาคอมพิวเตอร์เพื่อประมวลข้อมูล ไม่ว่า ‘ไซท์งาน’ หรือ ‘ค่าครึ่งชีวิตวารสาร’ (half-life journal) ต้องใช้สถิติคิดออกมาบันทึกผ่านระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการอ้างอิงงานวิจัยด้านการแพทย์ต่อไป ดังนี้ การเกิดขึ้นของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ความรู้ด้านสถิติประยุกต์ ข้อมูลด้านการแพทย์ ตัวแพทย์ นักวิจัย แพทย์สภา นักสถิติ นักคอมพิวเตอร์ และอื่นๆ อีกมากมาย สิ่งเหล่านี้ได้เข้ามาประกอบรวมกันจนเกิดเป็น ‘ความรู้’ ใหม่เรื่อง ‘ค่าอิมแพคแฟคเตอร์’ ฟูโกต์เรียกเทคนิกวิธีนี้ว่า ‘การประกอบสร้างบนความแตกต่างและหลากหลายภายใต้เงื่อนไของค์ประกอบอันเป็นส่วนเสี่ยว และองค์ประกอบทั้งหมดทั้งมวลไม่ได้มีความเสถียร คงทน ถาวร สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้เมื่อมีเงื่อนไขใหม่ แต่ก็ต้องมาอยู่รวมกันภายใต้สภาวการณ์หนึ่งๆ’(discursive formation)


เทคนิควิทยาการ ‘การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์กับภาคปฏิบัติการเพื่อการแบ่งแยก’ (Scientific Classification and Dividing Practices)

ฟูโกต์ให้ความสนใจไม่น้อยในเรื่อง ‘การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์’ ก็คือกระบวนการเพื่อการลดทอนสรรพสิ่งรวมทั้งคนให้กลายมาเป็นวัตถุประเภทใดประเภทหนึ่ง (objectified subjects) โดยฟูโกต์ ระบุว่า ‘….ในช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ ความเป็นสากลของวิทยาศาสตร์ก็คือความอภิสิทธ์ประเภทหนึ่งของชีวิตทางสังคม การจำแนกชั้น [ทางวิทยาศาสตร์] ในทีสุดแล้วได้กลายมาเป็นบรรทัดฐานทางสังคมผ่านทางสถานภาพความเป็นอภิสิทธ์’ เฉกเช่น ‘ค่าอิมแพคแฟคเตอร์’ ในด้านหนึ่งไม่มีความแตกต่างไปจากความรู้อื่นๆ เช่น คณิตศาสตร์ สถิติ แต่อีกด้าน ‘ค่าอิมแพคแฟคเตอร์’ คือ 'เทคนิคอำนาจ' ที่มีความเป็นอภิสิทธ์ เพราะสามารถ ‘ควบคุม ‘นับเข้ารวม’ ‘แบ่งแยก’ หรือ ‘จัดลำดับชั้น’ สิ่งต่างๆ จนดูเป็นเรื่องธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวัน ‘ค่าอิมแพคแฟคเตอร์’ พูดอีกแบบมันทำหน้าที่ ‘ควบคุม’ ผ่านข้อกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ในทางสังคมจนกลายเป็นเรื่องปกติ อาจารย์มหา’ลัยที่ต้องการตีพิมพ์ต้องผ่านเกณฑ์การประเมินคุณค่าบทความ การตรวจทานผลงานโดยผู้เชี่ยวชาญสาขานั้นๆ ดังนั้น อาจารย์ก็คือวัตถุที่ต้องมีการตรวจสอบคุณภาพ หาความน่าเชื่อถือ โดยกระทำผ่านกระบวนการของการตีพิมพ์นั้นเอง

สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด ‘ค่าอิมแพคแฟคเตอร์’ ก็คือเทคนิคอำนาจของการแบ่งแยก และการแบ่งแยกนี้แบ่งทั้ง ‘มิติสังคม’ แบ่งคนออกไปสายวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และ ‘มิติพื้นที่’ แม้ว่าอยู่ในกลุ่มเดียวกันก็มีสภาพลดหลั่นกันไปตามลำดับชั้น ต่อให้เป็นอาจารย์สายสังคมศาสตร์แต่ก็มีสถานภาพทางวิชาการแตกต่างกัน ในที่สุดแล้วไม่ว่าจะเป็นอาจารย์สาขาวิชาใด ‘ค่าอิมแพคแฟคเตอร์’ เป็นไปเพื่อการ ‘คัดแยก’ ‘แบ่งประเภท’ ‘ควบคุม’ ‘ตรึง’ ให้อยู่ในพื้นที่สาขาวิชานั้นๆ (dividing practices) หรือพูดอีกแบบ ‘ค่าอิมแพคแฟคเตอร์’ นำมาซึ่งการจองจำเพื่อการประเมินในทางวิชาการรูปแบบหนึ่ง เป็นรูปแบบอื่นๆ ของการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่แตกต่างไปจากมาตรการที่มีอยู่นั้นเอง


ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างอาจารย์สายวิทย์กับสายสังคม

อันที่จริงอาจารย์มหา’ลัยก็ไม่ได้มีสภาพแตกต่างไปจากวัตถุสิ่งของที่ต้องมีการควบคุมตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานหรือโรงงานใช้ ‘คิวซี’ แต่ ‘คิวซี’ ในแวดวงมหา’ลัยทำได้แนบเนียนกว่าโดยการนำอาจารย์ไปจองจำกับ ‘อิมแพคแฟคเตอร์’ แต่ผลที่แตกต่างอยู่ที่อาจารย์มหา’ลัยกลายเป็นทั้งวัตถุแห่งความรู้ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ผลิตความรู้ไปด้วย และก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยค่าจองจำ ‘อิมแฟคแฟคเตอร์’

แม้กระนั้นในพื้นที่จองจำนี้ก็มีขนาดพื้นที่เล็กใหญ่มากน้อยไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับคนในแต่ละประเภทที่ได้กำหนดจัดลำดับชั้นมาเรียบร้อยแล้ว วาทกรรม ‘อิมแพคแฟคเตอร์’ ด้านการแพทย์ได้รับการสถาปนาให้อยู่ในขั้น ‘กว่า’ เพราะใช้ภาษาที่ไปยึดโยงกับความเป็นความตายโดยของคนโดยตรง หรือพูดแบบรวมๆ วิทยาศาสตร์ใช้วาทกรรมเรื่องนี้ไปเบียดตก ปิดกั้น และทิ้งห่างความรู้แบบสังคมศาสตร์ บ่อยครั้งที่งานวิจัยสังคมศาสตร์ถูกมองว่าไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าการเก็บข้อมูล ประมวลผลหรือการตีความ

ในอีกด้านวาทกรรม ‘อิมแพคแฟคเตอร์’ กลายเป็นภาษาสากล กล่าวคือ หากอาจารย์พูดอยู่ในภาษาการแพทย์ วิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ อาจารย์วิทยาศาสตร์แม้ว่าจะถูกจองจำแต่ก็อยู่ในห้องที่มีพื้นที่กว้างขวางกว่าอาจารย์สายสังคม อาจารย์สายวิทย์ที่มีผลงานตีพิมพ์ค่า ‘อิมแพคแฟคเตอร์’ สูงย่อมมีตัวตนของความเป็นนักวิชาการมหา’ลัยแบบมืออาชีพ หรือพูดอีกแบบงานของอาจารย์สายวิทยาศาสตร์มีความเป็น ‘สากล’ เพราะข้อค้นพบสามารถนำไปประยุกต์ในเวลาและสถานที่ต่างๆ ได้ หรือไม่มีข้อจำกัดด้านเวลาสถานที่เรื่องการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และนำเอาข้อค้นพบนี้ไปตีพิมพ์ในวารสารที่มีค่า ‘อิมแพคแฟคเตอร์’ สูง

ภาษาสากลด้านวิทยาศาสตร์ที่ไปยึดโยงผูกติดกับความเป็นความตายของคนยังจัดเป็น ‘ปฏิบัติทางภาษา’ เฉพาะแบบอีกด้วย ยกตัวอย่างเอง จากการรายงานของคลินิกนิรนามพบว่ามีบางคนมาขอรับยา ‘ยาเป๊ป’ มากกว่าหนึ่งครั้ง ใช้ภาษาสุภาพว่า ‘ระมัดระวังตัวน้อยลง’ เพราะนักเที่ยวมั่นใจว่าพอหายาเพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อเอดส์ได้ หรือใช้ภาษาหยาบว่า ‘สําส่อนมากขึ้น’ แต่การใช้ยานี้ก็มีผลทำให้ภูมิคุ้มกันต่อโรคน้อยลงหากได้รับเชื้อจำนวนมากขึ้น วงการวิทยาศาสตร์ก็ต้องมีวิจัยทางการแพทย์คลินิกมากขึ้น ตีพิมพ์มากขึ้น ค่า ‘อิมแพคแฟคเตอร์’ ถูกดันให้สูงขึ้น ในทางกลับกันหากมองอย่างเลวร้ายทีสุด ปฏิบัติทางภาษาของการแพทย์คิดอยู่บนความเป็นปัจเจกบุคคลและเอาชีวิตความเป็นความตายของคนมาเป็นเดิมพัน และมีเดิมพันสูง ปัจจุบันค่า ‘อิมแพคแฟคเตอร์’ สายแพทย์ไปที่ 53 ทิ้งห่างสังคมศาสตร์ 10 เท่า (ผู้เขียนไม่เคยเห็นค่า ‘อิมแพคแฟคเตอร์’ สายสังคมศาสตร์สูงกว่า 5)

อาจารย์สายวิทย์พูดภาษา ‘สากล’ (universal) เช่น วิทยาศาสตร์ แต่อาจารย์สายสังคมพูดภาษา ‘ถิ่น’ หมายความว่า ผลงานด้านสังคมศาสตร์มีลักษณะเป็นบริบทเฉพาะพื้นที่ (context-specific) ยกตัวอย่างเอง อาจารย์สังคมลงพื้นที่วิจัยหมู่บ้านและช่วยทำให้ท้องถิ่นนี้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว บางครอบครัวมีรายได้มากขึ้นจากโฮมสเตย์ แต่เนื่องจากความรู้เชิงบริบทพื้นที่นี้ไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่อื่นๆได้ เพราะทุกพื้นที่ย่อมมีข้อจำกัด ดังนี้ ปฏิบัติทางภาษาของสังคมศาสตร์คิดอยู่บนวิถีชีวิตที่มีแตกต่างไปตามสังคมวัฒนธรรม หรืออีกตัวอย่าง เดิมที่ชาวบ้านคิดว่าตนเองด้อยคุณค่า มีวิถีชีวิตแทบไม่ต่างจากทาส ถูกคนดูถูก เอารัดเอาเปรียบ มิหนำซ้ำยังถูกครอบงำความคิดด้วยเรื่องวาทกรรมประวัติศาสตร์รัฐชาติ แต่งานวิจัยสังคมศาสตร์ช่วยทำให้คนสามารถเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนชีวิตได้

หากจะพูดให้ฟังดูเท่ ภาษาที่เข้าใจได้ย่อมประกอบไปด้วยประโยคที่สมบูรณ์ คือประกอบด้วย ประธาน กริยา ‘กรรม’ กรรมคือผู้ถูกกระทำ และพูดภายใต้บริบทสังคมวัฒนธรรมหนึ่ง หากงานของอาจารย์สังคมศาสตร์สามารถกลับ ‘กรรม’ ท้ายประโยคให้มาเป็น ‘ประธาน’ ขึ้นต้นประโยค ภายใต้บริบทสังคมวัฒนธรรมใหม่ รื้อถอนวาทกรรมประวัติศาสตร์รัฐชาติ ทำให้คนตระหนักในคุณค่าความเป็นมนุษย์ มีทัศนคติในแบบฉบับของมนุษย์พึงมี และตื่นจากการที่เคยถูกครอบงำ งานของอาจารย์สังคมย่อมเกี่ยวเนื่องกับความเป็นความตายของคนเหมือนกัน แต่อยู่ในบริบทที่แตกต่างกัน เพียงแต่ว่างานประเภทนี้อาจไม่ได้รับการยกย่อง หรือหากตีพิมพ์ได้ก็มีค่า ‘อิมแพคแฟคเตอร์’ น้อยและหาความเป็นวิทยาศาสตร์ไม่ได้

 

 

เอกสารอ้างอิง   

ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร (2544) รัฐศาสตร์แนววิพากษ์ (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 
Markula Pirkko, Richard Pringle (2006) Foucault, Sport and Exercise: Power, Knowledge and Transforming the Self. NY: Routledge.


สื่อออนไลน์

Wikipedia. Impact factor. Retrieved from http://en.wikipedia.org/wiki/Impact_factor
The SCImago Journal & Country Rank. Science Analysis. Retrieved from http://www.scimagojr.com/ 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net