Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 

ปทานุกรมของหมอบรัดเลย์ไม่มีคำว่า “สังคม” แต่มีคำว่าสมาคมซึ่งแปลว่าการคบหากัน ดูก็ไม่น่าแปลกอะไรนะครับ ที่แปลกก็คือ เมื่อภาษาไทยมีคำว่า “สังคม” แล้ว ความหมายของคำนี้กลับไปปะปนกับคำว่าสมาคม

ผมไม่ทราบว่า คำ “สังคม” เกิดขึ้นในภาษาไทยครั้งแรกเมื่อไร แต่อยากเดาว่าถ้าไม่ในปลาย ร.5 ก็คง ร.6 นี่เอง และที่ไปปะปนกับคำว่าสมาคม ก็เพราะคำสมาคมถูกนำไปใช้กับองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกัน อันเป็นการรวมกลุ่มที่เราลอกเลียนมาจากเมืองฝรั่ง ส่วนสังคมไปมีความหมายว่าคบหากันแทน

เมื่อผมเป็นเด็ก ยังได้ยินผู้ใหญ่พูดเสมอว่า คนนั้นคนนี้ชอบสังคม ซึ่งแปลว่าชอบคบหากับคนอื่นๆ มาก

ที่น่าประหลาดอีกอย่างหนึ่งก็คือ จนถึงพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2493 คำ “สังคม” ยังถูกให้ความหมายว่า “การคบค้าสมาคมกัน, หมู่คนที่เจริญแล้วร่วมคบค้าสมาคมกัน” ด้วยเหตุดังนั้นคนป่าจึงไม่มี “สังคม” จนถึงฉบับ พ.ศ. 2525 ราชบัณฑิตยสถานจึงให้ความหมายคำนี้ว่า “คนจำนวนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันตามระเบียบกฎเกณฑ์ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญร่วมกัน”

ขอให้สังเกตคำแปลของฉบับหลังนี่นะครับว่าท่านเน้นความต่อเนื่อง หมายความว่าสังคมต้องดำรงอยู่สืบไป ไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว นอกจากนี้ ความสัมพันธ์นั้นยังมีระเบียบกฎเกณฑ์บางอย่างบังคับไว้ แต่ท่านไม่ได้อธิบายว่าระเบียบกฎเกณฑ์นั้นคืออะไร และมาจากไหน

อย่างไรก็ตาม หากแปลตามนี้เมื่อแจกลูกคำมาถึงคำว่า “สังคมนิยม” ผู้ใช้พจนานุกรมก็คงจะงงๆ ว่า แล้วมันไปเกี่ยวอย่างไรกับคำว่า “สังคม” ล่ะหว่า

ยังมีความหมายของ “สังคม” อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจไม่ปรากฏชัดในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2525 นั่นคืออะไรสักอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่รัฐ (แม้มักจะใช้ขอบเขตของรัฐชาติเป็นตัวกำหนดขอบเขตของ “สังคม” อยู่เสมอ) แต่ดำรงอยู่อย่างสืบเนื่อง โดยมีพลังหรือที่พจนานุกรมท่านเรียกว่า “ระเบียบกฎเกณฑ์” บางอย่าง กำกับควบคุมอยู่ พลังเหล่านี้ไม่ได้ออกมาจากรัฐ เช่น ไม่ใช่กฎหมาย (เสียทีเดียวนัก) ไม่ใช่กฎหรือระเบียบขององค์กรศาสนาที่เป็นทางการ แต่เป็นวัฒนธรรม ซึ่งประกอบด้วยแนวคิดและวิธีคิด, ระบบคุณค่า

ความทรงจำร่วมกัน, ประเพณีและแบบปฏิบัติ, พลังทางเศรษฐกิจ, พลังทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ฯลฯ

สังคมจึงมีชีวิตและความเป็นไปของมันเอง รัฐไม่อาจขัดขวางหรือกำกับมันได้ ตรงกันข้าม รัฐเองเสียอีกที่ควรเป็นเครื่องมือของสังคมในการจัดการให้สังคมได้อยู่ดีมีสุข และมีความเป็นธรรม

ผมเข้าใจว่า คำว่า “สังคมนิยม” ก็มีความหมายว่า ให้ถืออะไรสักอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “สังคม” นี้เป็นเป้าหมายในการจัดการ (ทางเศรษฐกิจ, การเมือง, วัฒนธรรม) ไม่ใช่ไปถือรัฐเป็นเป้าหมาย โดยไม่เหลียวแลว่า “สังคม” ที่เป็นตัวตนอีกชนิดหนึ่งนั้น ตกต่ำเสื่อมทรามอย่างไร

“สังคมนิยม” จึงไม่ใช่ทฤษฎีทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวดังที่พจนานุกรม 2525 นิยามไว้

และ “สังคม” ในความหมายถึงอะไรที่เป็นอิสระโดยตัวของมันเอง อันต้องเป็นเป้าหมายในการจัดการทางการเมืองอย่างนี้แหละครับที่ นางมาร์กาเรต แทตเชอร์ ปฏิเสธว่า “… there is no such thing as society.” หรือ ไม่มีหรอก อะไรที่เรียกว่า “สังคม” น่ะ

อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่า วาทะอันนี้ของเธอถูกศัตรูประณามหยามเหยียดมาก หาว่าเธอมองเห็นแต่ปัจเจกบุคคลซึ่งไม่ว่าจะตกทุกข์ได้ยากอย่างไร รัฐก็ไม่ควรเข้าไปช่วยเหลือ

แต่ที่จริงความหมายของเธอก็คือ “สังคม” ที่อ้างว่าเป็นเป้าหมายของรัฐจนทำให้ทุกคนคิดว่ามีสิทธิ์เรียกร้องทุกอย่างจากรัฐได้นั้นไม่มีหรอก มีแต่ผู้คนและองค์กรทางสังคมต่างๆ เช่น วัด ที่จะต้องดิ้นรนช่วยตัวเองและช่วยกันและกัน โดยที่เราทุกคนต่างมีหน้าที่หรือความรับผิดชอบด้วย ไม่ใช่มีแต่สิทธิเพียงอย่างเดียว

มาถึงตรงนี้ก็พอสรุปได้ว่า “สังคม” มีความหมายสองอย่าง หนึ่งคืออะไรซึ่งเป็นตัวตนอิสระของมันเองอย่างหนึ่ง และสังคมแบบแทตเชอร์หรืออนุรักษนิยม ได้แก่ กลุ่มคนในรัฐซึ่งประกอบด้วยปัจเจกบุคคลจำนวนมาก ซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบต้องช่วยเหลือตัวเองและช่วยเหลือกันและกัน โดยมีรัฐเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ (ไม่ใช่ผู้ให้) “สังคม” ที่แทตเชอร์ปฏิเสธว่าไม่มี คือสังคมที่เป็นตัวตนอิสระของมันเอง หรือพูดให้ชัดๆ ไปเลยก็คือ นโยบายสังคมนิยมซึ่งรัฐต้องคอยอุ้มชูประชาชนด้วยรัฐสวัสดิการตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

น่าสังเกตด้วยนะครับว่า ความหมายของ “สังคม” ในพจนานุกรม 2525 ค่อนข้างโน้มเอียงไปทางแทตเชอร์หรืออนุรักษนิยม คือเน้นที่ “คนจำนวนหนึ่ง” แต่ไม่ปรากฏแนวคิดถึง “สังคม” ในความหมายถึงตัวตนหนึ่ง ที่มีพลังขับเคลื่อนของมันเองไม่ต่างจากธรรมชาติ ซึ่งเป็นอีกตัวตนหนึ่งซึ่งมีพลังขับเคลื่อนตัวเองเหมือนกัน

“สังคม” ในความหมายอย่างนี้จะมีจริงหรือไม่ก็ตาม แต่เป็นแนวคิดที่ถูกสร้างขึ้นอย่างแน่นหนาพอสมควร (เทียบได้กับธรรมชาติในทางวิทยาศาสตร์ ก็เป็นแนวคิดหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นอย่างแน่นหนาพอสมควรเหมือนกัน)

และผมคิดว่าฐานของวิชาที่เรียกว่าสังคมศาสตร์ทั้งหมดนั้น ก็คือการศึกษา “สังคม” ในความหมายนี้ อย่างเดียวกับที่วิทยาศาสตร์ศึกษา “ธรรมชาติ” คือต่างมีพลังกำหนดความเป็นไปของมันเอง ซึ่งรัฐ, พระเจ้า, พระราชา, รัฐสภา, หรืออะไรอื่น ไม่สามารถไปบังคับควบคุมมันได้

ด้วยความเข้าใจเช่นนี้ จึงทำให้ผมไปเปิดดูความหมายของคำว่า “สังคมศาสตร์” ในพจนานุกรม ท่านว่า “ศาสตร์ว่าด้วยความรู้เกี่ยวกับสังคม มีหมวดใหญ่ๆ เช่น ประวัติศาสตร์, มานุษยวิทยา, สังคมวิทยา, เศรษฐศาสตร์, รัฐศาสตร์, จิตวิทยาสังคม” ส่วนคำว่า “สังคมศึกษา” ท่านก็ว่า “หมวดวิชาที่ประกอบด้วยวิชาภูมิศาสตร์, ประวัติศาสตร์, หน้าที่พลเมืองและศีลธรรม”

สังคมศาสตร์และสังคมศึกษาเป็นเรื่องของหมวดวิชา แต่ในโลกวิชาการปัจจุบัน หมวดวิชาเหล่านี้แยกออกจากกันไม่ค่อยเด็ดขาด กลับกลืนเข้าหากันจนไม่รู้ว่างานศึกษาชิ้นต่างๆ นั้นอยู่ในหมวดวิชาอะไรบ้าง เพราะจุดมุ่งหมายคือพยายามจะทำความเข้าใจ “สังคม” เหมือนกัน จึงจำเป็นต้องดูจากพฤติกรรมอันหลากหลายของสังคม

หากสังคมศาสตร์เป็นเพียงชื่อรวมของหมวดวิชา สังคมศาสตร์ก็ไม่มี ผมจะพูดอย่างเดียวกันกับวิทยาศาสตร์บ้างว่า วิทยาศาสตร์ก็ไม่มี เป็นเพียงชื่อรวมของหมวดวิชาเท่านั้น ท่านผู้อ่านคงรู้สึกทะแม่งๆ อยู่ใช่ไหมครับ

“สังคม” ในความหมายนี้เป็นแนวคิดที่เพิ่งเกิดในโลกไม่นานมานี้ แต่เดิมในภาษายุโรปก็ไม่ได้มีคำนี้ ถึงมีก็ใช้ในความหมายอื่นเหมือนไทย บางทีการหันไปมองกำเนิดของแนวคิดนี้อาจช่วยให้เข้าใจได้ดีขึ้น

นักเศรษฐศาสตร์ (ซึ่งสมัยนั้นเรียกอย่างน่าสนใจว่านักเศรษฐศาสตร์การเมือง) เป็นคนคิดถึงแนวคิดนี้ก่อน อาจจะโดยไม่ได้ตั้งใจ แอดัมสมิธคิดว่าเขาได้ค้นพบกฎของทรัพย์ศฤงคารทางวัตถุ ซึ่งอยู่นอกเหนือการกำกับควบคุมของรัฐหรือของบุคคลหรือของศาสนา ไม่ต่างจากกฎแรงโน้มถ่วงที่นิวตันได้ค้นพบ

แต่สมิธไม่ได้คิดว่า กฎนี้คือทั้งหมดของมนุษย์ เขายังเชื่อว่ากฎสำคัญที่จะครอบคลุมสังคมมนุษย์ต้องเป็นกฎทางศีลธรรม

อย่างไรก็ตาม แนวคิดว่ามีกฎอะไรบางอย่างที่ครอบคลุมบางส่วนของพฤติกรรมมนุษย์ เป็นต้นกำเนิดที่จะทำให้คนเห็นว่า มันมีอะไรอีกบางอย่างที่เป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐหรือของพระเจ้า ซ้ำยังตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของมันเอง เช่น ราคาย่อมสัมพันธ์กับอุปสงค์อุปทานในตลาด ดังนั้น มนุษย์จึงตกอยู่ภายใต้กฎสองอย่าง ในฐานะเทหวัตถุย่อมอยู่ใต้กฎ “ธรรมชาติ” เช่น ตกตึกสูงก็ตาย และยังอยู่ภายใต้กฎของสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเอง นั่นคือ “สังคม”

จากนั้น การศึกษาหาความรู้ของนักปราชญ์ ก็หันไปทำความเข้าใจ “สังคม” ในความหมายนี้ จนพบพลังอีกหลายอย่างที่กำหนดความเป็นไปของ “สังคม” เช่น วัฒนธรรม, ความทรงจำร่วมกัน, ความสัมพันธ์ภายในของคนกลุ่มต่างๆ, โครงสร้างของอำนาจทางการเมือง ฯลฯ พูดง่ายๆ คือหมวดวิชาต่างๆ ทางสังคมศาสตร์ซึ่งเมื่อประสานเข้าหากัน ก็จะทำให้ “สังคม” กระจ่างขึ้นได้

“สังคม” ในความหมายนี้แหละครับ ที่ผมคิดว่าไม่ค่อยเป็นที่เข้าใจในภูมิปัญญาไทยมากนัก สืบมาจนถึงปัจจุบัน แม้มีผู้ไปศึกษาเล่าเรียนในโลกตะวันตกมากมาย หรือนำหลักสูตรตะวันตกมาใช้ในการศึกษานานแล้ว

(ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ผมขอไม่พูดถึง เพราะเป็นเรื่องยาวอีกเรื่องหนึ่งเลย)

ผมขอยกตัวอย่างจากหมวดวิชาสังคมศาสตร์ที่ผมพอรู้จักอยู่บ้าง คือประวัติศาสตร์ที่มีผู้ศึกษากันมานานกว่าศตวรรษแล้ว

เราแทบจะกล่าวได้ว่า ประวัติศาสตร์ของคนไทยนั้นแทบจะไม่มี “สังคม” เลย มีแต่บุคคลเท่านั้น ที่กล่าวกันว่าประวัติศาสตร์ของนักปราชญ์แต่ก่อนมีแต่เรื่องกษัตริย์ เพราะท่านต้องการส่งเสริมระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ส่วนนี้ก็อาจจะจริง แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งด้วย นั่นคือท่านอาจเชื่อของท่านอย่างนั้นจริงๆ ว่า ความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นฝีมือของมนุษย์ทั้งสิ้น เพราะท่านไม่เคยสำนึกอย่างจริงจังว่า มีพลังอะไรอื่นอีกบางอย่างที่กำหนดความเป็นไปทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเราเรียกว่าพลังทางสังคม คนเราจะสำนึกถึงพลังทางสังคมได้ ก็ต้องมีสำนึกว่ามี “สังคม” ก่อน ก็ท่านไม่มีสำนึกถึง “สังคม” เลย แล้วจะให้ไปหาพลังทางสังคมได้อย่างไรเล่าครับ

จนถึงทุกวันนี้ เราก็ยังมองการอภิวัฒน์ใน 2475 ว่าเป็นเรื่องของคณะราษฎรกับ “เจ้า” จึงนำไปสู่ข้อสรุปว่าชิงสุกก่อนห่ามบ้าง คนหนุ่มร้อนวิชาจากเมืองนอกบ้าง ฯลฯ ไม่มีใครสนใจคนอีกจำนวนมากซึ่งให้การต้อนรับการอภิวัฒน์ด้วยความยินดี จำนวนมากอยู่ในกองทัพ, ราชการพลเรือน, พ่อค้าวาณิช หรือ “คนชั้นกลาง” ในยุคนั้น (อันเป็นบรรพบุรุษของม็อบ กปปส. ส่วนหนึ่งวันนี้)

เพราะเราไม่ได้สนใจ “สังคม” ซึ่งก่อให้เกิดความปรารถนาและความฝันที่แตกต่างกันของคนกลุ่มต่างๆ ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งกำลังเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว เมื่อไม่สนใจตัวระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม จึงไม่รู้จักมันดีพอ บัดนี้จำนวนไม่น้อยอยากกลับไปอยู่ภายใต้ระบอบที่ตัวไม่รู้จักนั้นใหม่

ความล้มเหลวของประชาธิปไตยไทย กลายเป็นความล้มเหลวของบุคคล เพราะเมื่อไม่สนใจ “สังคม” ก็ทำให้ไม่มองพลังทางสังคมอื่นๆ อีกมากที่เฝ้าบ่อนทำลายประชาธิปไตย หรือขัดขวางมิให้ระบอบนี้สามารถตั้งมั่นในสังคมไทยได้ ในขณะเดียวกันก็มองไม่เห็นว่า อุดมคติประชาธิปไตยฝังตัวลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางใน “สังคม” ได้อย่างไร ทั้งๆ ที่มีเผด็จการซึ่งอ้างความล้มเหลวของนักการเมืองในระบอบนี้รวบอำนาจไปอยู่เกือบตลอดมา

และแล้ว เราก็มาเผชิญกับความขัดแย้งทางสังคมใหญ่อย่างชนิดที่เราไม่เคยเผชิญมาก่อน เพราะพลังทาง “สังคม” ที่เพิ่มความสลับซับซ้อนขึ้น บังคับให้ต้องปรับเปลี่ยนมิติต่างๆ ของ “สังคม” กันขนานใหญ่ แต่ทั้งหมดนี้ถูกอธิบายเป็นความขัดแย้งของบุคคลไปหมด… ระหว่างจำลอง-สุจินดา, รุ่นเจ็ด-รุ่นห้า, เปรม-ทักษิณ, สนธิ-ทักษิณ, หรือสุเทพ-ทักษิณ (ประหนึ่งว่า หากในโลกนี้ไม่มีทักษิณอีกแล้ว ทุกอย่างก็จะเข้าที่เข้าทางเอง)

คำอธิบายที่ลด “สังคม” ลงมาให้เหลือเพียงบุคคล ซึ่งเคยใช้ได้ผลในสังคมไทยมานาน ไม่เพียงพอที่จะทำความเข้าใจ “สังคม” จนสามารถจัดการมันได้เสียแล้ว แต่เราก็ยังมีคำอธิบายของคนอ่อนโลก (simpleton) เพียงอันเดียวที่ออกจากปาก “ผู้ใหญ่” และปัญญาชน (สยาม)

ความอ่อนแอของสังคมไทยในการแก้ปัญหาความขัดแย้งนานาชนิดที่เกิดขึ้น มาจากความอ่อนแอด้าน “สังคม” ศาสตร์ของไทยเอง

ผมคิดว่า ยิ่งกว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์เสียอีก ไทยขาดความรู้ด้าน “สังคม” ศาสตร์มากกว่า ก่อให้เกิดอันตรายต่อการดำรงอยู่ของ “สังคม” ยิ่งกว่าความขาดแคลนความรู้ด้านวิทยาศาสตร์

แต่สังคมศึกษาและสังคมศาสตร์ในความเข้าใจของนักวางแผนการศึกษาไทย เป็นเพียงชื่อรวมของหมวดวิชาต่างๆ เท่านั้น ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ชาติ จึงไม่ควรลงทุนมากนัก สมัยหนึ่งทบวงมหาวิทยาลัยถึงกับยับยั้งการขยายตัวของการศึกษาด้านนี้ ทั้งจำกัดจำนวนของนักศึกษาที่จะรับเข้าเรียนในแต่ละปี และจำนวนของอาจารย์ ทุนวิจัย และทรัพยากรการศึกษาอื่นๆ

เราจึงกำลังเผชิญปัญหาของสังคมที่ไม่รู้จัก “สังคม” อยู่ขณะนี้

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 กุมภาพันธ์-6 มีนาคม 2557 หน้า 30 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net