เก็บตกเสวนา: สตรีนิยมกับสังคมไทย

หลักสูตรสตรีศึกษา มธ. ชวนถกเถียงเรื่องขบวนการสตรีนิยมในสังคมไทย โดยลักขณา ปันวิชัย มองเรื่องเพศกับการสร้างชาติ ในขณะที่ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์,ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ พยายามตอบคำถามเหตุใดชาวสตรีนิยมไทยจึงเงียบงันต่อการดูถูกเพศหญิงในพื้นที่การเมือง

 
เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2557 หลักสูตรสตรี เพศสถานะ และเพศวิถีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานเสวนาในหัวข้อสตรีนิยมกับสังคมไทย โดยมีวิทยากร เช่น ลักขณา ปันวิชัย นักเขียนและพิธีกร, ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์  นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์, จิตรา คชเดช กลุ่ม Try Arm มาร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับความคิดและขบวนการสตรีนิยมในสังคมไทย
 
 
ลักขณา ปันวิชัย หรือ ที่รู้จักในนาม คำ ผกา มองปัญหาในสังคมไทยว่าเป็นเรื่องชนชั้นหรือฐานทางเศรษฐกิจมากกว่าการกดขี่กันด้วยเพศ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงการศึกษา หรือการได้รับตำแหน่งหน้าที่การงาน ที่มาจากการขาดโอกาสทางเศรษฐกิจมากกว่าเพศสภาพไม่เท่าเทียม
 
เธอมองเรื่องมิติของสตรีนิยมกับสังคมไทย ผ่านมุมมองของชาตินิยมที่ถูกสถาปนาขึ้นพร้อมการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475  ว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ได้สร้างเพศสมัยใหม่ในสังคมไทยด้วย กลุ่มสุภาพบุรุษหัวก้าวหน้าอย่างศรีบูรพา ก็โจมตีซ่อง ที่มีการซื้อขายผู้หญิงเหมือนเป็นทาสมาบำรุงกาม และใช้เรื่องนี้มาโจมตีคนชั้นสูง กลุ่มสุภาพบุรษหัวก้าวหน้าเหล่านี้ยังโจมตีการศึกษาที่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงด้วย 
 
ข้อถกเถียงเรื่องการเข้าถึงการศึกษาของผู้หญิง ยังปรากฎเป็นข้อเขียนที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์และวารสารต่างๆ มีการดีเบตกันมากว่าผู้หญิงควรจะได้เรียนหนังสือหรือไม่ ควรทำงานบ้านมากแค่ไหนหรือไม่อย่างไร มีจดหมายที่เขียนเข้ามาประณามการกีดกันการเข้าถึงการศึกษาของผู้หญิง บางส่วนที่หัวก้าวหน้า สนับสนุนให้เข้าถึงการศึกษาในฐานะเมียหรือแม่ที่จะทำหน้าที่สอนลูกได้อย่างเหมาะสม ซึ่งหากได้รับการศึกษา จะสามาระจัดการงานต่างๆ ในบ้านโดยใช้ตำราสมัยใหม่ จะกลายเป็นครอบครัวสมัยใหม่ และหลุดจากการแทรกแซงอำนาจในครอบครัวของคนหัวเก่าอย่างปู่ ย่า ตา ยายในครอบครัว
 
การต่อสู้ในระดับชาติและในครัวเรือน 
 
เธอกล่าวว่า เพศที่เป็นผลผลิตของรัฐสมัยใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจแบบจารีตในช่วงทศวรรษที่ 1920-30 ฝ่ายที่เป็นหัวก้าวหน้าในสมัยนั้นจะโจมตีการแต่งงานแบบคลุมถุงชน และเสนอว่าความรักที่แท้จริงจะต้องมาจากใจ ไม่ว่าจะจากชนชั้นไหน หรือแบบฉบับของ “Romantic love” ฉะนั้นจะมีงานเขียน เช่น นิยายค่อนข้างเยอะที่นำเสนอในพล็อตของความรักแบบโรแมนติก เช่นเดียวกับละครเรื่องลูกทาส ที่เสนอเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้นของตัวละครเพื่อให้ได้รักกับคนที่อยากจะรักด้วย นี่เป็นความคิดแบบสมัยใหม่แบบปัจเจกที่เชื่อว่าคนเราสามารถพัฒนาได้ ต่างจากในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ไม่สามารถเลื่อนขั้นระหว่างชนชั้นได้
 
สำหรับปัญญาชนที่ต้องการสถาปนาระบอบประชาธิปไตย จึงต้องการสร้างเพศสมัยใหม่ซึ่งเป็นทวิลักษณ์แบบหญิงชายที่เท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตามในความรักแบบนี้ก็จะแบ่งหน้าที่ชัดเจนว่าผู้หญิงทำงานในบ้านในขณะที่ผู้ชายทำงานนอกบ้าน และทุกคนมีหน้าที่สร้างชาติเท่าเทียมกัน ที่สำคัญคือ ต้องต่อต้านการแต่งงานแบบคลุมถุงชน เพราะคนเราต้องมีเสรีในความรัก ในการเลือกคู่ในโลกของประชาธิปไตย และจะถูกผลิตซ้ำด้วยหนังสือ นิตยสารผู้หญิงที่ให้คำปรึกษาเรื่องปัญหาครอบครัว ต่างๆ นาๆ 
 
สำหรับคุณสมบัติของผู้หญิงที่ดีในสังคมสมัยใหม่ ได้นำความคิดแบบวิคทอเรียนมาใช้ ซึ่งผู้หญิงที่ดีจะต้องรักษาพรหมจรรย์ พิทักษ์ความดีของประเทศชาติ เป็นพลเมืองที่ดี เป็นคนกล่อมเกลาอนาคตของชาติในอนาคต จึงต้องถูกคาดหวังให้รักษาศีลธรรมทางเพศ ในสมัยนี้ไม่มีเสรีภาพเรื่องเกย์หรือสิทธิผู้หญิง ปรีดี พนมยงค์ ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ. 2475 เองก็คัดค้านเกย์ ส่วนจิตร ภูมิศักดิ์ นักเขียนหัวก้าวหน้าสมัยนั้นก็คัดค้านการทำแท้ง
 
อย่างไรก็ตาม หากใช้สายตาปัจจุบันมองกลับไป ความคิดดังกล่าวจะดูอนุรักษ์นิยมมาก แต่ในขณะนั้นเรื่องหญิงชาย ทวิลักษณ์ เป็นอุดมการณ์แบบประชาธิปไตยแบบตะวันตก ซึ่งไม่มีความเป็นไทยเลย โดยถึงแม้จะเป็นอุดมการณ์แบบตะวันตกแบบวิคทอเรียน ให้รักนวลสงวนตัว แต่มันกลับถูกเอามารักษาความเป็นไทย นี่เป็นจุดเริ่มต้นของความย้อนแย้งของมิติทางเพศ
 
ลักขณาเสนอว่า เราต้องไปสู่สังคมหลังสมัยใหม่ หลุดออกไปจากทวิลักษณ์หญิงชาย ให้ไปสู่ความเป็นเควียร์ (queer) ที่สลายเพศ อย่างในกรณีการถกเถียงเรื่องการอยากเปลื้องผ้าเล่นน้ำสงกรานต์ ซึ่งบางส่วนถกเถียงกับกระทรวงวัฒนธรรมที่มีความคิดแบบอนุรักษ์นิยมว่า ในสมัยโบราณยังเปลื้องผ้าได้เลย เธอตั้งคำถามว่า ทำไมจึงเอาสิ่งที่อยู่ในช่วงก่อนสมัยใหม่มาต่อสู้กับสิ่งคอนเซอร์เวทีฟ ทั้งๆ ที่จอมพลป. เอาความเป็นสากล ความเท่าเทียมมาสู่พลเมืองทุกคน แต่สิ่งที่เราต่อสู้ ควรสู้เรื่องเราควรมีสิทธิเหนือร่างกายตนเอง เหมือนผู้หญิงในสแกนดิเนเวียที่สู้เรื่องการเปลื้องผ้าว่ายน้ำเช่นเดียวกับผู้ชาย
 
สตรีนิยมไทยกับความเป็นประชาธิปไตยที่ถูกตั้งคำถาม
 
ชุมาพร แต่งเกลี้ยง กลุ่มเพื่อประชาธิปไตยและความหลากหลายทางเพศ ตั้งคำถามว่า ทำไมเอ็นจีโอหรือเฟมินิสต์ยังก้าวไปไม่พ้นไปถึงประชาธิปไตย และปฏิเสธประชาธิปไตย จากการไปเป่านกหวีดบ้าง หรือการไม่เดือดเนื้อร้อนใจกับการดูถูกเพศ นอกจากนี้ยังถามว่าเหตุใดกลุ่มเหล่านี้จึงปฎิเสธการเลือกตั้ง สนับสนุนกลุ่มกปปส.​ทั้งๆ นี่กลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มส่วนน้อยในสังคมที่ควรต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเอง
 
เธออธิบายว่า ขบวนการสตรีนิยมไทยไม่เคยใช้กระบวนการของประชาธิปไตยในการเคลื่อนไหวมาผลักดันประเด็นของตนเอง แต่กลับใช้วิธีการล็อบบี้ให้ได้มาเรื่องข้อกฎหมาย นี่เป็นการอิงระบบคอนเนคชั่น การใช้ลำดับชั้นทางสังคม เสมือนกับเป็นหัวหน้านักเลงที่จะได้สิทธิพิเศษต่างๆ แต่หลัง 40 เป็นต้นมา กระบวนการดังกล่าวถูกตัดตอนด้วยกระบวนการของพรรคการเมืองในสภาที่มีประสิทธิภาพมากกว่า 
 
ชุมาพรกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ องค์กรเฟมินิสต์เหล่านี้แอบอิงอยู่กับการอยู่ภายใต้ราชินูปถัมป์ เพราะนี่เป็นวิธีที่สามารถเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ได้ง่าย การทำงานของคนเหล่านี้ต้องแอบอิงกับเรื่อง HIV หรือการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย แต่ไม่สามารถรณรงค์เรื่องหญิงรักหญิงหรือชายรักชายแบบตรงไปตรงมาได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน คนเหล่านี้ยังอยู่ในรูปแบบของคณะอนุกรรมการต่างๆ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และยังคงใช้กระบวนการล็อบบี้มากกว่าเป็นการระดมพลังจากประชาชนแบบล่างขึ้นบนอย่างแท้จริง และนี่เป็นสิ่งที่เธอระบุว่า คนทำงานรุ่นใหม่ๆ พยายามจะต่อสู้กับวัฒนธรรมเก่าๆ เหล่านี้ 
 
“ถ้าเราไม่ต่อสู้ด้วยวิธีประชาธิปไตยในระบอบประชาธิปไตยมันก็ไม่มีพื้นที่ไหนให้คุณอยู่หรอก” ชุมาพรกล่าว 
 
นอกจากนี้เธอชี้ว่า แม้แต่คำประกาศสิทธิมนุษยชนของอาเซียน (ASEAN Declaration of human rights) ก็ยังไม่ ยอมรับการดำรงอยู่ของกลุ่ม LGBT เพราะประเทศบางประเทศในอาเซียนยังมีกฎหมายห้ามการร่วมเพศของเพศเดียวกันอยู่ เช่นในสิงคโปร์ มาเลเซีย 
 
มองเพศสภาพผ่านมุมมองแรงงาน
 
จิตรา คชเดช เริ่มต้นการเสวนาด้วยการพูดถึง นักโทษการเมืองสี่คนที่ยังติดคุกอยู่ซึ่งป็นผู้หญิง คนหนึ่งกรณีกฎหมายอาญามาตรา 112 คนหนึ่งกรณีตีหัวทหาร คนหนึ่งกรณีขัดขวางทหารไม่ให้เข้ากทม. ในปี 2553 ส่วนอีกคนติดคุกในข้อหาเผาศาลากลางจ.อุบล และในคนเหล่านี้ก็มีความหลากหลายทางเพศ เธอตั้งคำถามว่าเฟมินิสต์ หรือนักสตรีนิยมในไทยเหล่านี้ได้เข้าไปศึกษาหรือไปช่วยเหลือ พิทักษ์สิทธิของพวกเขาบ้างหรือไม่
 
เธอกล่าวถึงปรากฎการณ์ที่ผู้หญิงในโรงงานเลิกกับสามีและมาอยู่กับผู้หญิงด้วยกัน ค่อนข้างมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในสมัยนี้ อย่างไรก็ตาม สำหรับคนงานในโรงงานแล้ว พวกเขาไม่ได้สนใจเรื่องเพศสภาวะหญิงชาย แต่สนใจเรื่องค่าแรง สหภาพแรงงานที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเรื่องเหล่านี้ใกล้ตัวมากกว่า การที่ผู้ชายมีผู้หญิงสามสี่คนกลับกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วในสังคมโรงงาน เพราะสังคมในโรงงานก็มีการสร้างแรงจูงใจ เช่น เบี้ยขยัน ทำให้คนงานอยู่แต่ในโรงงาน และไม่ค่อยได้กลับออกไปที่บ้านหรือชุมชนตนเองมากเท่าไหร่ 
 
เธอมองว่า ปัญหาสำหรับคนงานหญิงเป็นเรื่องของชนชั้นมากกว่าเรื่องหญิงชาย เพราะสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ เช่นเรื่องการต่อสู้ข้อพิพาทกับนายจ้าง จะมองว่าใครเป็นชนชั้นเดียวกันมากกว่าเรื่องเพศ เพราะความเป็นหญิงชายไม่ใช่เรื่องที่จะมากำหนดว่า จะเห็นร่วมกับผลประโยชน์มากกว่า เช่น นายจ้างผู้หญิง ก็ใช่ว่าจะเห็นใจแรงงานผู้หญิงมากกว่า
 
นอกจากนี้ จิตรายังกล่าวว่ากฎหมายแรงงานใหม่ที่ห้ามคนงานผู้หญิงท้องทำงาน กลับบีบบังคับให้ผู้หญิงที่จำเป็นต้องทำงานเพื่อหารายได้ ปิดบังและปลอมตัวว่าไม่ได้ท้องเพื่อที่จะทำงานต่อไป ประกอบกับการทำแท้งที่มีราคาแพง ทำให้คนงานจำเป็นต้องไปทำแท้งกับคลินิคเถื่อนที่มีราคาถูกกว่า  
 
เธอสรุปว่า สิ่งที่คนงานในโรงงานต้องการ คือความมั่นคงในการจ้างงาน สวัสดิการ ค่าจ้างที่เพียงพอ สหภาพแรงงานที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าที่จะสู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ หรือการกขี่ระหว่างเพศ
 
ความเงียบงันของสตรีนิยมในพื้นที่การเมือง
 
ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ อาจารย์จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. ย้อนกลับไปดูปรากฎการณ์ของการเหยียดเพศในการเมืองที่ผ่านมาในสังคมไทย ซึ่งเผชิญกับความเงียบงันจากนักสตรีนิยม
 
เธอกล่าวถึงกรณีที่ผู้หญิงในการเมืองไทยถูกทั้งล่วงละเมิดทางเพศและเหยียดเพศต่างๆ อาทิ กรณีที่หมวดเจี๊ยบ ร.ท. หญิงสุนิสา เลิศภควัต ถูกคุกคามทางการเมืองโดยการ์ดกลุ่มกปปส. เมื่อราวสองสัปดาห์ที่ผ่านมา กรณีคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร ที่ถูกเป่านกหวีดไล่ในห้าง โดยกลุ่มที่ออกมาประณามพฤติกรรมข่มขู่ดังกล่าว กลับเป็นกลุ่มส.ส.หญิงของพรรคเพื่อไทย มากกว่าเป็นกลุ่มนักสตรีนิยม
 
นอกจากนี้ ปรากฎการณ์การเหยียดเพศอื่นๆ เช่น การ์ตูนของชัย ราชวัตร เรื่องวาดวิจารณ์นายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าเป็น “หญิงคนชั่วเร่ขายชาติ” กรณีอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวถึงโครงการ Smart Lady และกล่าวโดยอ้อมว่าเป็นโครงการ “อีโง่” เช่นเดียวกับการ์ตูนในนสพ.ภาษาอังกฤษ เดอะ เนชั่น ที่วาดยิ่งลักษณ์กับปธน. สหรัฐ บารัก โอบามา โดยมีนัยยะเหยียดเพศ ชนิดาชี้ว่า มีเพียงกลุ่มผู้หญิงการเมืองท้องถิ่นอย่างกลุ่มคนเสื้อแดงเชียงใหม่ และกลุ่มภาคประชาสังคมเพียงกลุ่มเดียวคือ กลุ่มหญิงชายก้าวไกล ออกมาประณามเท่านั้น แต่กลับไม่มีปฏิกิริยาใดๆ จากเหล่านักสตรีนิยมเลย 
 
เธอมองว่าเป็นเพราะนักสตรีนิยมเองก็มีความคิดทางการเมืองที่ต่างกัน ทำให้เลือกเรื่องที่จะเงียบ หรือเลือกที่จะพูดบางประเด็นเท่านั้น นอกจากนี้ เธอตั้งคำถามว่า นักสตรีนิยมในสังคมไทยเป็นผู้ผูกขาดความรู้ในเรื่องนี้ ทำให้ละเลยองค์ประกอบอื่นๆ อย่างมิติของชาติพันธ์ุ เช่น ผู้หญิงจากภูมิภาคเหนือและอีสานที่ต่อสู้เรื่องสิทธิทางการเมือง แต่ไม่ได้รับการพูดถึงจากนักสตรีนิยม รวมถึงเรื่องของชนชั้น 
 
ชนิดาเสนอว่า ในการวิเคราะห์ปัญหาเรื่องเพศในสังคมไทย ควรมองจากทฤษฎีหลังอาณานิคม ซึ่งจะวิเคราะห์เรื่องเพศสถานะควบคู่ไปกับมิติความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันในด้านอื่นๆ ของสังคม   
 
พัฒนาสาขาวิชาสตรีนิยมที่ละเลยการเมืองดั้งเดิม
 
ศิโรฒน์ คล้ามไพบูลย์ มองถึงการเข้ามาของสาขาวิชาสตรีนิยมในเมืองไทย และพัฒนาการที่ส่งผลต่อความคิดของนักสตรีนิยมไทยในปัจจุบัน
 
ศิโรตม์กล่าวว่า ในช่วงที่โครงการสตรีศึกษาเกิดขึ้นเมื่อราว 15 ปีที่แล้ว แนวความคิดเรื่อง “personal is politics” หรือ เรื่องส่วนตัวเป็นเรื่องการเมือง เป็นสิ่งที่ล้ำหน้าค่อนข้างมากที่สุด แต่น่าแปลกที่ว่า ในสมัยนี้ กลับมีความย้อนแย้ง เนื่องจากการเมืองถูกทำให้เป็นเรื่องส่วนตัวมากขึ้นเรื่อยๆ นำเอาเรื่องส่วนตัวมาโจมตีคู่แข่งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโฟร์ซีซั่น น้องทักษิณ อีโง่ ฯลฯ 
 
เขาอธิบายว่า การเข้ามาของความรู้เชิงสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ในความรู้ของสตรีศึกษา เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้การศึกษาสตรีนิยมหันจากการเมืองกระแสหลัก มาตั้งคำถามกับการใช้ภาษา โดยศิโรตม์อธิบายว่า ในการศึกษาสตรีนิยมนั้น มีความสนใจสองแบบหลักๆ คือ แบบแรกคือ แบบสถาบันดั้งเดิมในกระแสหลัก ที่ดูเรื่องการมีส่วนร่วมในสภา รายได้ระหว่างหญิงชาย การเข้าถึงการศึกษาของสตรี แต่การเข้ามาของความรู้เรื่องภาษาศาสตร์- มนุษยศาสตร์ ที่นักวิชาการนพพร ประชากุล นำเข้ามา ทำให้เกิดการตั้งคำถามกับภาษา การให้ความหมาย ดูว่าผู้หญิงถูกกดขี่อย่างไร จากใช้วาทกรรม “ผู้หญิงดี” หรือ “ผู้หญิงเลว” แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเป็นการหันหลังให้กับความคิดเรื่องประชาธิปไตย และการเมืองที่เป็นเชิงสถาบันแบบทางการ นี่เป็นมรดกของการศึกษาเรื่องสตรีนิยมที่ยังคงตกทอดมาในเมืองไทย
 
ศิโรตม์กล่าวว่า การศึกษาแนวคิดเรื่องสตรีนิยม จากแนวคิด french post structuralism และ deconstructive feminism ที่เป็นที่แพร่หลาย มักจะละเลยและหันหลังให้กับความมุ่งมั่นทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ทำให้ความสนใจเรื่องประชาธิปไตยจะบอดไปโดยสิ้นเชิง การวิพาษ์สิ่งสากลหรือพื้นฐานเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นปัญหาในตัวเอง และสตรีศึกษาในสังคมไทยก็รับปัญหานี้มาด้วย นอกจากนี้ การศึกษาสตรีนิยมในแนวคิดนี้ยังเป็นการละเลยเรื่องผู้หญิงกับปัญหาที่เป็นรูปธรรม เช่น ความรุนแรง หรือการขาดแคลนทรัพยากร
 
เขาสรุปว่า ปรากฎการณ์การเหยียดเพศต่อผู้นำหญิง หรือนักโทษการเมืองเสื้อแดงที่ไม่มีใครสนใจ เกิดขึ้นจากปัญหาแบบนี้ คือคนจำนวนมากเน้นเรื่องสตรีนิยมที่เน้นความรู้จนไม่เห็นว่าการเมืองแบบสถาบันที่เป็นทางการมีส่วนสร้างปัญหาให้กับผู้หญิงอย่างไรบ้าง หากชาวสตรีนิยมไทยยังไม่ทำความเข้าใจการเมืองที่เป็นทางการว่ามันอยู่ตรงไหน และส่งผลกระทบต่อผู้หญิงอย่างไร ก็จะพบกับอะไรแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ คือไม่สนใจผู้หญิงที่ถูกดูหมิ่นในสาธารณะโดยเฉพาะผู้หญิงที่มีความคิดเห็นแตกต่างทางการเมือง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท