Skip to main content
sharethis

ศาลรับฟ้องคดี 'เดือนเด่น นิคมบริรักษ์' และ 'ณัฎฐา โกมลวาทิน' หมิ่นประมาท กสทช. นัดพร้อม 30 มิ.ย.นี้ ด้านเดือนเด่นระบุ ยินดีพิสูจน์ตัวเองและให้ข้อเท็จจริงถูกเปิดเผย


17 มี.ค. 2557 จากกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ที่ประกอบไปด้วย พอ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ, สุทธิพล ทวีชัยการ, พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร, ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ และสำนักงาน กสทช. โดยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีหมิ่นประมาท หมายเลขดำที่ 3172/2556 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2556 โดยมีนางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และนางสาวณัฎฐา โกมลวาทิน เป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ตามลำดับ

ล่าสุด (17 มี.ค.) เวลา 9.30 น. ศาลอาญาอ่านคำสั่งศาล หลังจากที่มีการไต่สวนมูลฟ้องโดยละเอียดไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งศาลได้พิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า “จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และเป็นอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่วิทยุคมนาคม ระบบเซลลูล่า ดิจิตอลพีจีเอ็น 1800 เมกกะเฮิทซ์ จำเลยที่ 1 จึงทราบขั้นตอนวิธีการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุเป็นอย่างดี การให้สัมภาษณ์ทางสื่อมวลชนรวมถึงการออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ในรายการ ที่นี่ ไทยพีบีเอส พอสรุปในเนื้อหาได้ว่าการขยายระยะเวลาในการประมูลคลื่นความถี่ 4 จี เป็นเวลานาน 1 ปี เป็นการเอื้อเอกชน ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จำนวน หนึ่งแสนสี่หมื่นล้านบาท และการต่อเวลาให้กับผู้ได้รับสัมปทานเดิมอีก 1 ปี โดยมิได้เร่งรัดการประมูลนั้นทำให้รัฐสูญเสียรายได้ถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นล้านบาท เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทั้งห้า มีเจตนากระทำการเช่นนั้นจริง ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่ไม่ทราบ ทั้งปัญหาเกี่ยวกับข้อกฏหมายรวมถึงกระบวนการในการดำเนินการของ กสทช. อาจหลงเชื่อว่าเป็นความจริง และวิธีการเสนอข้อเท็จจริงดังกล่าว อาจหวังผลเพื่อจุดประเด็นให้ประชาชนเข้าใจไปในทำนองว่าผู้บริหาร กสทช. เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ได้รับอนุญาตสัมปทาน จนทำให้ประเทศชาติได้รับความเสียหาย แต่ในทางกลับกันคณะกรรมการ กสทช. ได้รับประโยชน์ตอบแทน เป็นการชี้นำว่าคณะกรรมการ กสทช. ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ซึ่งทำให้คณะกรรมการ กสทช. และ กสทช.ได้รับความเสียหาย”

“ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการรายการ ที่นี่ไทยพีบีเอส ดำรงตนในสถานะเป็นสื่อมวลชน การดำเนินรายการไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถาม หรือสรุปเนื้อหาใจความ พึงระมัดระวังมิให้ส่งผลกระทบต่อบุคคลภายนอกในแง่ของความเสียหาย ก่อนการนำเสนอต้องศึกษาข้อเท็จจริงให้เกิดความเข้าใจและจำต้องมีความรู้ขั้นพื้นฐานในเรื่องนั้นๆ พอสมควร.... ในชั้นนี้เห็นว่า คดีของโจทก์มีมูลให้ประทับฟ้องสำหรับจำเลยทั้งสองไว้พิจารณา”
 
สุทธิพล ทวีชัยการ กสทช.ด้านกฏหมาย เปิดเผยว่า ต้องขอขอบพระคุณศาลยุติธรรมที่กรุณาพิเคราะห์พยานหลักฐานโดยละเอียด ซึ่งหลายประเด็นเป็นความจริงที่ขาดหายไปทำให้ กสทช.มีโอกาสได้นำพยานหลักฐานเหล่านั้นมาพิสูจน์ข้อมูลที่ถูกต้องให้ปรากฏต่อสาธารณชน แสดงว่ายังมีความยุติธรรมเหลืออยู่ในสังคมไทย

“คำสั่งศาลในวันนี้แสดงให้เห็นว่า คำฟ้องของ กสทช. และสำนักงานฯ มีมูลตามที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดหมิ่นประมาทเอาเรื่องเท็จมากล่าวหา กสทช. ว่าเอื้อประโยชน์แก่เอกชนทำให้ประชาชนเข้าใจว่าโจทก์ทั้งห้าทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งไม่เป็นความจริง โดยผลของการที่ศาลมีคำสั่งให้คดีมีมูลในคดีอาญาย่อมเด็ดขาด จำเลยทั้งสองจะอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้ ซึ่งแสดงว่าเราไม่ได้ฟ้องมั่วหรือไปฟ้องเพื่อกลั่นแกล้งใคร จากนี้ไปเป็นกระบวนการซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองตกอยู่ในสถานะจำเลยแล้ว และจะต้องยื่นคำให้การ โดยศาลได้นัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลยทั้งสองและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 30 มิถุนายน 2557 เวลา 9.00 น. และจะมีการสืบพยานในคดีต่อไป ซึ่งเรามั่นใจในพยานหลักฐานที่มีอยู่และจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุดเพื่อรักษาเกียรติยศและชื่อเสียงขององค์กรไม่ให้ใครมาใส่ความหรือเอาเรื่องไม่จริงมาใส่ความทำให้ประชาชนเข้าใจ กสทช. ผิด ส่วนใครถูกใครผิดก็ต้องว่ากันไป และหากใครทำผิดก็ต้องรับผิดตามกฏหมายต่อไป” สุทธิพล กล่าว
 
สำหรับมูลเหตุในการฟ้องร้องในครั้งนี้ สำนักงาน กสทช.เคยชี้แจงผ่านสื่อมวลชนว่า เพื่อเป็นการปกป้องศักดิ์ศรี เกียรติภูมิของ กทค.ทั้งสี่ และสำนักงาน กสทช. ที่ถูกละเมิดสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญและกฏหมายกำหนดไว้ มิใช่เป็นการฟ้องร้องเพื่อคุกคามนักวิชาการหรือสื่อมวลชนอย่างที่มีคนพยายามไปบิดเบือนข้อเท็จจริง เนื่องจาก กสทช. ไม่ได้ไปข่มขู่หรือใช้อิทธิพลไปห้ามสื่อนำเสนอข่าวการวิพากษ์วิจารณ์ กสทช. เพราะการวิพากษ์วิจารณ์ยังสามารถกระทำได้ แต่จะต้องไม่ใช่เอาข้อมูลที่ไม่จริงหรือบิดเบือนมานำเสนอก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น การฟ้องคดีนี้แท้จริงแล้วจะส่งผลเป็นการปกป้องสื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อทำลายองค์กรใดๆ นอกจากนี้ยังทำให้เป็นการยกระดับมาตรฐานทางวิชาการของสถาบันวิจัยให้มีมากขึ้น ตลอดจนจะช่วยให้สื่อต้องตรวจสอบความถูกต้องให้รอบคอบและนำเสนอข้อมูลให้รอบด้านโดยไม่เลือกนำเสนอเฉพาะในบางแง่บางมุม ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย

ด้านเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้สัมภาษณ์ประชาไทว่า คงไม่มีการไกล่เกลี่ยกับใคร และยินดีที่จะพิสูจน์ตัวเอง และให้ข้อเท็จจริงได้เปิดเผย ทั้งนี้อยากให้สื่อติดตามการสืบพยานด้วย เพื่อจะได้ทราบข้อมูลเชิงลึก โดยเบื้องต้นมีหลายคนรับจะเข้าให้ข้อมูลแล้ว เช่น สุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งในกรรมการ กสทช.

ส่วนที่ กสทช.ระบุว่า การฟ้องคดีจะเป็นการยกระดับงานวิชาการนั้น เดือนเด่นมองว่า เป็นคนละเรื่องกัน พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า กสทช.ออกมาตอบโต้โดยไม่มีตัวเลข ตนเองไม่มีหน้าที่ต้องหาตัวเลขในประเทศ เพียงแต่บอกว่าหากคำนวณตามหลักของต่างประเทศแล้วจะเสียหายเยอะ ตัวเลขจริง หน่วยงานกำกับดูแลมีหน้าที่ต้องคำนวณออกมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net