Skip to main content
sharethis

พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์คัดค้านการใช้อำนาจศาล รธน. วินิจฉัยการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 ระบุผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจส่งเรื่อง มีหลายกลุ่มสมคบกันล้มเลือกตั้ง กกต.ไม่ตั้งใจทำหน้าที่ - หากศาล รธน. รับวินิจฉัยทั้งที่ไม่มีอำนาจเท่ากับไม่เคารพรัฐธรรมนูญ-ขยายเขตอำนาจไม่สิ้นสุด

18 มี.ค. 2557 - วันนี้ (18 มี.ค.) ในเว็บพรรคเพื่อไทย ได้ออกแถลงการณ์ "ขอคัดค้านการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส." โดยมีรายละเอียดดังนี้

000

ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีมติให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็น กรณีนายกิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ ขอให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้ง ส.ส.วันที่ 2  กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัย โดยคาดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยในอีกไม่กี่วันข้างหน้านั้น

พรรคเพื่อไทยขอแถลงการณ์ผ่านไปยังพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ดังนี้

1. พรรคขอคัดค้านผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ไม่มีอำนาจที่จะส่งเรื่องดังกล่าวไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ เพราะอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 245 (1) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2552 มาตรา 14 (1) นั้น เฉพาะเมื่อเห็นว่าบทบัญญัติใดของกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ตามคำร้องแม้จะอ้างว่าพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550  แต่คำร้องเป็นเรื่องขอให้วินิจฉัยการกระทำของ กกต.ในการจัดการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่มีประเด็นใดๆ เลยที่ชี้ให้เห็นว่าพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงไม่อยู่ในอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้

2. เมื่อพิจารณาพฤติกรรมขององค์กรตามรัฐธรรมนูญหลายองค์กร ชี้ให้เห็นว่าการใช้ทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) เพื่อมุ่งล้มการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ตั้งแต่แรก เริ่มจากการที่กลุ่ม กปปส.ประกาศไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง และขัดขวางกระบวนการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ทั้งที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นหน้าที่  กกต.ซึ่งมีหน้าที่จัดการเลือกตั้งกลับเสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป แต่ในที่สุดก็จัดการเลือกตั้งแบบไม่เต็มใจทำ ปล่อยให้เกิดปัญหาการเลือกตั้งหลายประการ อันเป็นเหตุให้มีการนำมาเป็นประเด็นยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อมีกระแสเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งให้ครบถ้วน แทนที่ กกต.จะดำเนินการ กลับส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ผู้ตรวจการแผ่นดินรู้ว่าตนเองไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแต่ก็ยื่นคำร้องไป ส่วนศาลรัฐธรรมนูญก็รับคำร้องที่ไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่จะรับไว้ได้  กระบวนการทั้งหมดเป็นการทำงานสอดรับกันเพื่อล้มการเลือกตั้ง ส.ส.ตามพระราชกฤษฎีกาที่กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ให้ได้

3. พรรคเห็นว่าการล้มการเลือกตั้งด้วยกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกของคนในสังคมมากขึ้น เป็นการทำลายหลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการล้มล้างสิทธิของผู้ใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญของประชาชน

4. การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยเรื่องการเลือกตั้งโดยไม่มีอำนาจ นอกจากจะเป็นการไม่เคารพรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรมแล้ว ยังเป็นการขยายเขตอำนาจของตนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยคิดแต่เพียงว่า คำวินิจฉัยจะออกมาอย่างไรก็ถือว่าเป็นที่สุด และผูกพันองค์กรอื่น ซึ่งนับเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงต่อระบบนิติรัฐ และจะเกิดวิกฤตศรัทธาต่อระบบยุติธรรมของประเทศอย่างร้ายแรง

5. พรรคเพื่อไทยยอมรับต่อการกระทำขององค์กรตามรัฐธรรมนูญเฉพาะที่อยู่ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายเท่านั้น พรรคจะไม่ยินยอมต่อการกระทำใดอันเป็นการนอกเหนือรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยเฉพาะการกระทำที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือโดยไม่สุจริตเพื่อทำลายล้างกันทางการเมือง หรือการใช้กฎหมายแบบฉ้อฉล กลลวง เพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองของบุคคลบางกลุ่ม

6. พรรคจะยืนหยัดเคียงข้างประชาชนในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจอธิปไตยที่เป็นของประชาชน ไม่ใช่อำนาจอธิปไตยที่เป็นของศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ พรรคพร้อมเสมอสำหรับการเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินอนาคตทางการเมืองของตนเอง โดยจะไม่ยินยอมให้อำนาจการตัดสินใจนี้ไปอยู่ในมือของศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระใดเป็นการเฉพาะ

7. การเลือกตั้งที่มีปัญหาเกิดจากการขัดขวางของกลุ่ม กปปส.และคนของพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงการละเลยต่อหน้าที่ของ กกต. ดังนั้น หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ จะถือเป็นบรรทัดฐานที่เลวร้ายของประเทศไทย และต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย เพราะหากพรรคการเมืองใดรู้ว่าตนจะพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งก็จะออกมาขัดขวางการเลือกตั้ง เพื่อทำให้การเลือกตั้งมีปัญหา แล้วให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

8. เหตุผลที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ไม่ว่าเรื่องการรับสมัคร 28 เขตเลือกตั้ง ที่ยังไม่สามารถทำได้ การเปิดรับสมัคร ส.ส.ไม่เที่ยงธรรม การเปลี่ยนสถานที่รับสมัครโดยไม่แจ้งให้ทราบ หรือข้ออ้างที่ว่าการนับคะแนนเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ให้รอไปก่อน โดยที่ยังมีการเลือกตั้งไม่ครบถ้วนนั้น พรรคเห็นว่าปัญหาต่าง ๆดังกล่าว มีกฎหมายรองรับในการแก้ปัญหาได้ กล่าวคือ

- กรณี 28 เขตเลือกตั้ง ยังไม่สามารถสมัครได้ ถือว่ายังไม่สามารถลงคะแนนเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นได้ กกต.ก็สามารถออกประกาศเพื่อให้มีการรับสมัคร และลงคะแนนเลือกตั้งในเขตนั้นได้ จะอ้างว่าไม่มีการเลือกตั้งในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 มิได้ เพราะพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 ได้กำหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.วันเดียวกันอยู่แล้ว คือ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557

- ข้ออ้างว่า มีการเปลี่ยนสถานที่รับสมัครโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้านั้น ทุกฝ่ายก็ทราบปัญหาดีว่า มีการขัดขวางการสมัคร ซึ่ง ผอ.เขตเลือกตั้งมีอำนาจตามกฎหมายในการประกาศเปลี่ยนสถานที่รับสมัครได้ และพรรคการเมืองทุกพรรคก็ทราบ และไม่มีพรรคใดคัดค้าน ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ประกาศไม่ส่งผู้สมัครอยู่แล้ว

- ข้ออ้าง เรื่องการนับคะแนนนั้น ตามกฎหมายกำหนดให้มีการนับคะแนนเมื่อการลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งนั้นเสร็จสิ้น การนับคะแนนจึงเป็นการปฏิบัติไปตามกฎหมายทุกประการ

ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะอ้างว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะได้

ด้วยเหตุนี้พรรคเพื่อไทยจึงเห็นว่า ทั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน และศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาเรื่องดังกล่าว และถือเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ และนอกเหนืออำนาจ เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พรรคจึงขอคัดค้านการกระทำดังกล่าว โดยขอให้ กกต.ได้จัดการเลือกตั้ง ส.ส.ให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์โดยเร็วต่อไป

อนึ่ง การดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ เป็นไปอย่างลุกลี้ลุกลน มีพิรุธ เช่น การสั่งให้รัฐบาลทำคำชี้แจง ทั้ง ๆที่รัฐบาลไม่มีหน้าที่ และบังคับให้ต้องส่งคำชี้แจงมายังศาลภายในเวลา 16.30 น.ของวันจันทร์ที่ 17 มีนาคม 2557 ทั้ง ๆที่ส่งเอกสารให้รัฐบาลเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2557 และแม้รัฐบาลจะขอเลื่อนการชี้แจงออกไปถึง 17.00 น. ก็ไม่ยอม สรุป คือให้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงเพื่อทำคำชี้แจง

นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยเห็นว่า การเคลื่อนไหวของ 6 องค์กรอิสระ เป็นเพียงฉากหนึ่งของขบวนการโค่นล้มประชาธิปไตย ซึ่งมีมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง จากการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 นั่นเอง เพียงแต่เปลี่ยนตัวเล่นให้ดูสมจริงสมจังมากขึ้นเท่านั้น ทั้ง 6 องค์กรเหล่านั้น ไม่ทำตามหน้าที่ที่พวกตนมีอยู่อย่างเป็นกลาง และเที่ยงธรรม แต่กลับมีท่าทีเหมือนที่จะผลักดันประเทศให้เข้าสู่สภาพสุญญากาศ อันเป็นความต้องการของ กปปส.และพรรคประชาธิปัตย์

พรรคเพื่อไทยขอเรียนว่า จากพฤติกรรมและท่าทีของ 6 องค์กร ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กกต.นั้น เป็นที่น่าเคลือบแคลงเป็นอย่างมากว่า เพราะเหตุใดผู้ที่ทำผิดกฎหมายอย่างชัดแจง ทั้ง กปปส. และพรรคประชาธิปัตย์ที่บอยคอตและขัดขวางการเลือกตั้ง แต่ กกต.กลับไม่ดำเนินการใด ๆเลย แต่กับรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยซึ่งปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กติกาของระบอบประชาธิปไตยและกฎหมายทุกประการ กลับถูกจ้องเล่นงาน และหาเรื่องโจมตีได้ทุกเรื่อง ถึงแม้การเลือกตั้งที่ไม่สมบูรณ์จะเป็นความบกพร่องหรือหน่วงเหนี่ยวของ กกต. และคนของพรรคประชาธิปัตย์ จนเวลาล่วงเลยไปไม่สามารถเปิดประชุมรัฐสภาได้ ก็พยายามโยนว่าเป็นความผิดของรัฐบาล เหมือนกับจะเป็นการสร้างเงื่อนไขเพื่อทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ เพื่อหาทางลงให้ กปปส. และเปิดทางให้พรรคประชาธิปัตย์ลงเลือกตั้ง หรือทำให้เกิดสุญญากาศ เพื่อนำไปสู่การใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 7 หรือการรัฐประหารต่อไป

พรรคเพื่อไทย
18 มีนาคม 2557

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net