Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ในแวดวงเรื่องสารพิษ โดยเฉพาะสารพิษอุตสาหกรรม มีคำว่า “ignorance is toxic” กล่าวคือสังคมบริโภคสมัยใหม่ประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการปกป้องผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยสารพิษทั้งในทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าเราจะมีโครงสร้าง องค์กรและข้อกำหนดกฏเกณฑ์ที่นำมาใช้มากมายเพียงใด

 
เหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะเนื้อที่ 150 ไร่ ในซอยแพรกษา 8 อำเภอเมือง  จังหวัดสมุทรปราการที่เกิดขึ้นในวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา เป็นประจักษ์พยานที่ชัดเจน
 
เหตุไฟไหม้บ่อขยะครั้งนี้ได้กลายเป็นหายนะ กลิ่นเหม็นและควันไฟทำให้ชาวบ้าน 3 ชุมชน 1,480 ครอบครัว อพยพออกจากพื้นที่ในตำบลแพรกษา เพราะหลังจากผ่านไป 30 ชั่วโมง หลังเกิดเหตุ แม้จะมีความพยายามของเจ้าหน้าที่ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยในการทำให้เพลิงสงบลง  กลุ่มควันสีขาวยังลอยปกคลุมไปถึงย่านบางนาและศรีนครินทร์ และขณะนี้ชาวบ้านจำนวนมากขึ้นต้องอพยพหนีควันพิษ
 
กรมควบคุมมลพิษทำการตรวจวัดห่างจุดเกิดเหตุในรัศมี  200 เมตร พบว่า ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ อยู่ในเกณฑ์ทำให้เกิดพิษเฉียบพลัน การวัดโดยตรงที่กองขยะพบควันพิษสูงเกินมาตรฐานไปถึง 6 เท่าหรือ 175 พีพีเอ็ม หากสูดเข้าไปมากๆ จะวิงเวียน หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ถึงขั้นหมดสติ และเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ควันพิษที่เกิดขึ้นยังทำให้เกิดสารอินทรีย์ระเหย และสารไดออกซินฟิวแรนซึ่งทั้ง 2 กลุ่ม เป็นสารก่อมะเร็ง
 
ส่วนในระยะที่ตรวจวัด 500 เมตร ห่างจากที่เกิดเหตุ มีค่าความเข้มข้นของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในบรรยากาศที่ระดับ 5 - 8 ส่วนในล้านส่วน (ppm) และในระยะที่ตรวจวัด 1 กิโลเมตร ห่างจากที่เกิดเหตุ มีค่าความเข้มข้นของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในบรรยากาศที่ระดับ 2 – 4 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ซึ่งมีค่าสูงกว่าขีดจำกัดการรับสัมผัสสารเคมีแบบเฉียบพลันแบบร้ายแรง (AEGL-2) ซึ่งกำหนดไว้ไม่เกิน 0.75 ส่วนในล้านส่วน (ppm) และอาจทำให้ประชาชนมีอาการระคายเคืองอย่างรุนแรงต่อระบบทางเดินหายใจ
 
ต่อมาได้มีการแจ้งเตือนประชาชนในการหลีกเลี่ยงการรับสัมผัสสารเคมีในบรรยากาศ เช่น การอพยพออกนอกพื้นที่ การสวมใส่หน้ากากป้องกันสารเคมี หรือ การใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำแทนหน้ากาก เป็นต้น ในพื้นที่รัศมี 1.5 กิโลเมตร ห่างจากพื้นที่เกิดเหตุ (ม.แกลเลอรี่ ม.เนเจอร่า สุขุมวิท-แพรกษา ชุมชนบ้านสวัสดี ม.ศุภลัยวิลล์ และ ม.ปัญฐิญา แพรกษา ม.ทรัพย์ธานี)
 
ล่าสุดควันไฟพิษได้ครอบคลุมหลายพื้นที่กว้างไปถึงประเวศ บางนา สะพานสูง ลาดกระบัง คลองสามวา มีนบุรี และบึงกุ่ม
 
บ่อขยะเอกชนแห่งนี้มีชื่อนายกรมพล สมุทราสาคร เป็นผู้เช่าพื้นที่ 3 ปี แต่ใบอนุญาตจากอุตสาหกรรมจังหวัดระบุว่าใช้ทำโรงงานปุ๋ยเคมี  ซึ่งสัญญาเช่ายังอยู่ระหว่างปีที่ 2  ขัดแย้งกับข้อมูลที่ได้จาก นายก อบต.แพรกษา ที่บอกว่าชาวบ้านเอาขยะมาทิ้งเอง และไม่ได้อนุญาตเปิดบ่อขยะอย่างถูกต้อง หลังเพลิงสงบจะหาทางกำจัด และประกาศปิดบ่อทันที
 
ทว่า การเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ DSI พบข้อมูลที่น่าตกใจว่าไฟไหม้บ่อขยะที่แพรกษาเป็นกากอุตสาหกรรมที่ลักลอบมาจากนิคมอุตสาหกรรมบางปูนำขยะมาทิ้งไว้ แต่เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามจาก ดร.สุรพล ซามาตย์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม คำตอบในขั้นต้นคือ ยังไม่ทราบว่ามีกากอุตสาหกรรม เท่าที่ตนทราบคือเป็นขยะเทศบาล
 
ไฟจากหลุมฝังกลบ (Landfill fire) นั้นอยู่คู่กับสังคมมนุษย์สมัยมานับทศวรรษแล้ว มันเป็นปัญหาที่สลับซับซ้อน ไฟจากหลุมฝังกลบเป็นภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อเกิดขึ้นจะมีการปล่อยสารพิษออกสู่อากาศ น้ำและดิน ที่สำคัญมีความเสี่ยงต่อนักผจญเพลิงและประชาชนโดยรอบที่สูดหายใจเอาสารพิษเข้าไป
 
ในสหรัฐอเมริกา การแบ่งแยกที่ชัดเจนระหว่างหลุมฝังกลบขยะเทศบาล (Municipal Waste Landfill) หลุมฝังกลบขยะอุตสาหกรรม (Industrial Waste) ทำให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลอย่างองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (USEPA) สามารถระบปัญหาและติดตามตรวจสอบการเกิดไฟจากหลุมฝังกลบ อย่างน้อยก็ทันท่วงที
 
ข้อมูลในด้านองค์ประกอบของขยะ แหล่งที่มา จำนวนของหลุมฝังกลบแต่ละประเภท ตลอดจนนโยบาย ข้อบังคับ บทลงโทษ และมาตรการที่ชัดเจนในการจัดการขยะและกากของเสีย ประกอบเข้ากับการมีบัญชีรายชื่อการปล่อยสารพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมที่เรียกว่า Toxic Release Inventory (หรือในระดับระหว่างประเทศที่ใช้ระบบ Pollutant Release and Transfer Register - PRTR) ที่สาธารณะชนมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลได้นั้น ได้เอื้อให้ USEPA บริการจัดการกับไฟจากหลุมฝังกลบอย่างค่อนข้างมีประสิทธิภาพ
 
ถ้าระดับผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม หรือแม้แต่กรมควบคุมมลพิษยังไม่รู้ว่ามีอะไรอยู่ในหลุมฝังกลบขยะที่แพรกษา และต่อไปถ้ายังไม่สามารถใช้มาตรการทางกฎหมายที่มีอยู่เพื่อลงโทษผู้ละเมิด เราก็เชื่อแน่ว่าภัยพิบัติครั้งนี้ (ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรก) จะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้น และนี่คือความละเลยของนโยบายสิ่งแวดล้อมโดยแท้
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net