Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ปรากฏการณ์แรงงานข้ามชาติ[1] ในสังคมไทยปัจจุบันเป็นที่รู้จัก และมีการกล่าวถึงเป็นอย่างมาก ในมิติมุมมองที่แตกต่างกันออกไปตามสภาวการณ์ หรือบริบทนั้นๆ และในหลายครั้งที่ผมมีโอกาสเข้าร่วมการสัมมนา หรือเวทีประชุมแลกเปลี่ยนแนวทางต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ ทั้งในระดับองค์กรภาคี ระดับจังหวัด ระดับกระทรวงก็ดี ซึ่งก็มักจะมีการนำเสนอแนะแนวทาง วิธีการต่าง ๆ นานา หรือบางท่านกล่าวถึง และกล่าวหาในเชิงลบมากกว่าเชิงบวก

การกล่าวถึงบางครั้งเป็นการตอกย้ำ ตีตราคุณค่าทางสังคมให้กับเพื่อนร่วมสังคมด้วยกัน การอพยพเคลื่อนย้ายของแรงงานข้ามชาติ ไม่มีใครที่จะสามารถระบุได้อย่างชัดเจนถึงสาเหตุ ที่มา และที่สำคัญปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไร ซึ่งก็นานาจิตตังจากเจ้าหน้าที่รัฐ นักวิชาการ หรือกลุ่มองค์กรภาคเอกชน(NGOs)

การเคลื่อนย้ายของกลุ่มคนที่ประสบปัญหาตั้งแต่ คนหนีภัยสงครามเข้ามาบ้าง เนื่องจากประเทศต้นทางไม่มีงานรองรับมาก  ขาดแคลนรายได้   โดยส่วนตัวผมแล้วหากจะมองในมุมเหล่านี้แล้ว ผมเชื่อว่ามนุษย์(คน) ทุกคนก็มีความต้องการที่จะแสวงหาสิ่งที่ดีให้กับตัวเองกันทั้งนั้น

เพียงแต่หากความเป็นคนที่ถูกมองว่าไม่ใช่คน แล้วต้องมีมาตรการ แนวทางเพื่อเข้ามาจัดการ หรือกำจัดออกไปจากสังคมไทย ถือเป็นสิ่งที่ถูกต้องอย่างนั้นหรือ

เป็นที่แน่นอนว่าการเข้ามาแรงงานข้ามชาติทั้ง 3 สัญชาติ เป็นการลักหลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย[2] ด้วยปัจจัยทางภูมิศาสตร์ของประเทศที่ติดกัน หรือบางส่วนของพื้นที่เป็นเพียงลำน้ำที่ขวางกั้นพรมแดนระหว่างกัน  จึงเป็นการเอื้อประโยชน์ตามธรรมชาติ ประกอบกับการเอื้อประโยชน์ที่ผิดธรรมชาติ[3] จึงก่อให้เกิดเป็นปัญหาดาษดาร ที่ไม่มีที่สิ้นสุดและทวีความรุนแรงงานเพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบันการลักหลอบเข้าเมืองของแรงงานทั้ง 3 สัญชาติมีการเข้า และออกอยู่ตลอดเวลา มีการพัฒนารูปแบบ วิธีการอย่างเป็นขั้นตอนมากขึ้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่สอดคล้อง และรองรับกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี จนนำไปสู่การนโยบายนำเข้าไปพร้อมๆ กับเกิดธุรกิจนำเข้าแรงงานข้ามชาติ หรือจัดส่งแรงงานอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ทั้งนี้จะมีการดำเนินการในรูปแบบเบ็ดเสร็จ มีการประสานหางาน การเดินทาง รวมไปถึงการขอ หรือออกบัตรอนุญาตทำงานในประเทศไทย มีการทำเป็นในลักษณะของขบวนการจากการขนย้ายแรงงานข้ามชาติ  บางกรณีผู้นำเข้าแรงงานข้ามชาติที่เป็นลักษณะบุคคลที่แฝงในกระบวนการนี้จะเกาะเกี่ยวกับการกระทำการค้ามนุษย์ไปด้วย

เหตุการณ์เหล่านี้ เจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย จะพยายามปฏิเสธไม่รับไม่รู้ ไม่พบไม่เห็นกับสิ่งเหล่านี้ และหลายครั้งที่เจ้าหน้าที่ หน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งตัวแทนนายหน้าภาคเอกชนบางแห่งก็ดี ต่างก็ปฏิเสธถึงกรณี ประเทศไทยมีปัญหาการบังคับใช้แรงงาน ปัญหาแรงงานเด็ก ปัญหาการค้ามนุษย์ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่สังคมไทยออกสู่สายตานานาประเทศ Trafficking in Persons Report (TIP Report) รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา 4 ปีติดต่อกัน 2010 – 2013 ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่จับตามองเป็นพิเศษ ตกเป็นเป้าในการเฝ้าระวังจากทางการสหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ต่อประเด็นเรื่องของการใช้แรงงานเด็ก การค้ามนุษย์ รวมไปถึงการรับผลประโยชน์ หรือเป็นผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ (เจ้าหน้าที่ตำรวจบางหน่วย)  และหลายครั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต่างก็มักจะตีประเด็น เป็นเรื่องราวเก่า ภาพเก่า ๆ ทั้งนั้น

โดยส่วนใหญ่แล้วก็มักจะกล่าวหาว่าเป็นเพราะกลุ่ม NGOs ที่นำเอามาเสนอเพื่อขายงาน หรือเพื่อให้เกิดประเด็นทางสังคม ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่าเช่นกันว่า แนวทางหรือกลไกในการจัดการปัญหาของหน่วยงานภาครัฐเป็นอย่างไร หรือเพียงแค่ตีประเด็นมาที่หน่วยงาน องค์กรเอกชน NGOs เสร็จแล้วมีการจัดงานเวทีเชิงรณรงค์ ระดับนโยบาย แถลงข่าวปฏิเสธกับประเด็นที่เกิดขึ้นทางสังคม

 สำหรับประเทศไทยแล้วในการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติ ทั้งนี้รัฐไทยได้มีการออกระเบียบ นโยบาย พ.ร.บ.ต่าง ๆ นานา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการควบคุม ป้องกัน โดยอิงใช้ฐานในความมั่นคงเป็นหลัก “ทำผิด ส่งกลับ เอามันไว้ทำไม” เป็นอีกหนึ่งประโยคทางสังคมที่มักจะได้ยินบ่อยครั้ง ทั้งจากเจ้าหน้าที่ในสายการปกครองก็ดี ในทางตรงกันข้ามเมื่อบุคคลกลุ่มนี้ถูกกระทำ จากสังคม หรือเพื่อนร่วมสังคม บุคคลกลุ่มนี้ก็มักที่จะถูกมองข้าม ปฏิเสธ เลือกปฏิบัติจากสังคม และสำคัญไปกว่านั้นคือ เจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และมีบทบาท มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย ในกระบวนการยุติกลับเพิกเฉย ปัดความรับผิดชอบ มองปัญหาเป็นเรื่องวุ่นวาย และไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง ปัจจุบันสถานการณ์ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานมีความซับซ่อนมากขึ้น รวมไปถึงปัญหาการค้ามนุษย์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และเกิดขึ้นได้กับบุคคลทุกเพศ ทุกวัย

จะเห็นได้จากสื่อทุกวันนี้การค้ามนุษย์ไม่ได้จำกัดเพียงแค่แรงงานที่เป็นผู้ชาย หรือลูกเรือประมง ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นเด็กขอทาน หรือแม้แต่เด็ก ผู้หญิงตามสถานบริการต่าง ๆ ที่ผู้ใหญ่นายโต ผู้มีหน้าตาทางสังคมเข้าไปใช้บริการ ซึ่งก็ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนคือ  นายท่านทั้งหลายเหล่านี้จะรับรู้เรื่องราวปัญหา หรือไม่รับรู้ถึงปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ และหลายครั้งเมื่อมีการเข้าช่วยเหลือ หรือตรวจจับ และเมื่อสังคมรับรู้ผ่านสื่อ ทีวี วิทยุ หรืออินเตอร์เนทก็ดี ก็มักที่จะเกิดการจัดการแบบการ “ปลูกผักซีโรยหน้า” เมื่อสิ้นกระแสหรือเงียบหายจากสังคมก็แล้วเสร็จ แต่ผู้เสียหายไม่ได้รับการดูแล คุ้มครองและเยี่ยวยา โดยเฉพาะกรณีการค้ามนุษย์นั้นกระบวนการยุติล้าช้า ในทางกลับกันผู้กระทำความผิดลอยหน้าลอยตาอยู่ในสังคมอย่างงดงามสง่า แต่ผู้เสียหายหรือผู้ถูกกระทำซ้ำกลับไม่สามารถดำเนินชีวิตปกติที่จะอยู่ในสังคมได้เฉกเช่นเดิม

 อนึ่ง ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์(ศปคม.) หรือหน่วยงานต่าง ๆ อีกหลายหน่วยงานที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 [4] ถึงแม้จะมีการเครื่องมือในการปฏิบัติ ดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เสียหาย แต่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมาย หรือมีส่วนเกี่ยวข้อง กับไม่มีความเข้าใจในการบังคับใช้กฎหมาย สังเกตได้จากที่มีการกวดขันจับกุม โรงงาน สถานประกอบการ และเจ้าของเรือประมงก็ดี โดยสถิติแล้วกรณีการค้ามนุษย์มีผู้กระทำความผิดมากพอสมควร ซึ่งในทางกลับกันนี้ มีผู้ที่ได้รับโทษตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบรามการค้ามนุษย์น้อยมาก หรือบางครั้งในกระบวนการคัดแยกผู้เสียหาย นักสังคมสงเคราะห์กลับไม่กล้าที่จะลงความเห็น กรณีของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และในกระบวนการสัมภาษณ์ สอบถามข้อมูลบางครั้งนอกประเด็นทำให้ข้อมูลคาดเคลื่อน เนื่องจากยังขาดกระบวนการเรียนรู้ และขาดประสบการณ์จริง

 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 3 – 5 ปี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้มีการจัดอบรมเจ้าหน้าที่ในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เนื่องกระทรวงฯ นั้นถือเป็นแม้งานหลักในการรับผิดภายใต้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ แต่ในทางปฏิบัติแล้วไม่สามารถขับเคลื่อนกลไกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ด้วยข้อจำกัดของเจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติ และที่เลวร้ายไปกล้านั้นเจ้าหน้าที่ภายใต้ พ.ร.บ.กลับเกรงกลัวในการที่จะให้ความช่วยเหลือผู้เสียในฐานผู้นำพา หรือให้ที่พักพิง จึงอดคิดสงสัยไม่ได้ถึงแนวความคิดชุดนี้ที่ออกมาจากเจ้าหน้าที่ในส่วนของภาครัฐ เมื่อมีผู้เสียหายในกรณีที่ไม่มีเอกสารแสดงตน ทั้งนี้และทั้งนั้นแล้วหากเป็น  ป.วิ อาญามาตรา 157  เหตุใดไม่เกรงกลัวในข้อนี้บ้าง

ปัจจุบันภายใต้การให้ความช่วยเหลือผู้เสียหาย จากการค้ามนุษย์ หรือกรณีการละเมิดสิทธิแรงงาน อีกหนึ่งกลไกในการปฏิบัติงานคือ องค์กรพัฒนาเอกชน(NGOs) ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อมูลในการเข้าจับกุม หรือการสืบหาข้อมูล รวมไปถึงการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจะมีจุดเริ่มมาจากองค์กรพัฒนาเอกชน(NGOs)[5] เนื่องจากการปฏิบัติงานที่มีความคล่องตัวสูงสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ และมีสำคัญกลุ่มเป้าหมายมีความเชื่อถือ และที่กล่าวมานี้ทางผู้เขียนไม่ได้หมายความว่าหน่วยงานภาครัฐไม่มีความสามารถ เพียงแต่รูปแบบการทำงานที่แตกต่างกันจึงทำให้เกิดความแตกต่างในการเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญ

 ทั้งนี้ในการเข้าให้ความช่วยเหลือก็เป็นเป็นหน่วยงานภาครัฐเป็นแกนในการดำเนินการ และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในรูปแบบของทีมสหวิชาชีพที่เข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ หรือกรณีการละเมิดสิทธิแรงงานในกรณีอื่น ๆ  ขณะเดียวกันภายใต้การทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชน(NGOs) ก็อดคิดไม่ได้ว่า การทำงานช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ ณ ปัจจุบันก็เหมือนเป็นการส่งไม้ต่อให้กับทางเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานภาครัฐ ที่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบในกระบวนการทางกฎหมาย หรือที่เรียกตามภาษาชาวบ้านก็คือ “เตะหมูเข้าปากหมา” ซึ่งบางครั้งเองก็ไม่ทราบว่าจะเป็นการ “ยื่นปลาย่างให้แมว” หรือไม่

 จริงอยู่ที่ว่าแรงงานข้ามชาติ กลุ่มเป้าหมายมักที่จะเข้าหา องค์กรพัฒนาเอกชน(NGOs)เป็นหลัก แต่ภายใต้หลักของการปฏิบัติแล้ว สามารถทำได้เพียงให้คำปรึกษา แนะนำแนวทาง ส่วนเป็นเป็นกลไกในการเชื่อมประสานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และแรงงานข้ามชาติ หรือกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้กระบวนการทางกฎหมายที่มีอยู่สามารถขับเคลื่อนได้สะดวกขึ้น ซึ่งมองว่าในการที่จะแก้ไขปัญหาด้านแรงงานข้ามชาติในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิ การค้ามนุษย์ก็ดี หากทุกภาคส่วน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน(NGOs) รวมไปถึงสถานประกอบการ และนายจ้าง ควรที่จะมีการบูรณการในการจัดการแก้ไขปัญหาร่วมกันในรูปแบบสหวิชาชีพอย่างจริงจัง โดยที่ไม่หวังเพียงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากตัวแรงงานทั้งทางตรง และทางอ้อม เพื่อสังคมแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ อย่างพึ่งพาอาศัยกัน

ทั้งนี้ประเทศไทยยังคงต้องการ และยังคงต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติในฐานของการผลิต และขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรม   

หากปัญหาที่รัฐไม่สามารถจัดการได้ จะให้ใครจัดการ หากไม่จัดการกับกลุ่มพวกกันเอง และที่ยากลำบากคือ การขจัดปัญหาคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยบางคนบนการแสวงหาประโยชน์ทุกรูปแบบกับแรงงานข้ามชาติ และเกิดเครือข่ายนายหน้าค้ามนุษย์ในที่สุด

 

 

 

[1] แรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ พม่า ลาว และกัมพูชา

[2] พ.ร.บ.คนเข้าเมือง 2522

[3] การแสวงหาผลประโยชน์จากเจ้าหน้าที่รัฐ หรือการมีส่วนรู้เห็น

[4] ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2551

[5] การเข้าช่วยเหลือกรณีประพาสนาวี โรงงานรัญญาแผ้ว โรงงานอโนมา รวมไปถึงกรณีการค้ามนุษย์ที่ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net