Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
นักรัฐศาสตร์จากศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกตในเฟซบุ๊กต่อคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการชี้ให้การเลือกตั้ง 2 กุมภา เป็นโมฆะ ประชาไทเห็นว่ามีประเด็นที่เป็นประโยชน์จึงได้ขออนุญาตผู้เขียนนำมาเผยแพร่ต่อสาธารณะ

 

 

1. “สาเหตุการเป็นโมฆะ”: ไม่ได้ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง วันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

หากอ่านคำวินิจฉัย จะเห็นว่า เหตุผลที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใช้อธิบายคือ พระราชกฤษฏีกายุบสภาผู้แทนราษฏร พ.ศ. 2556 เฉพาะในส่วนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 108 วรรคสอง เนื่องจากมิได้มีการเลือกตั้งทั่วราชอาณาจักรในวันเดียวกัน

นั่นแสดงว่า พระราชกฤษฏีกายุบสภาผู้แทนราษฏร พ.ศ. 2556 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2556 ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2557 และไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เนื่องจากมิได้มีการเลือกตั้งทั่วราชอาณาจักรในวันเดียวกัน

คำถามคือ ความไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วราชอาณาจักรในวันเดียวกัน ส่งผล “ย้อนหลัง” ต่อความชอบหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชกฤษฏีกายุบสภาได้หรือไม่? อย่างไร?

ที่จริง หากศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า เนื่องจากไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วราชอาณาจักรในวันเดียวกันได้ การเลือกตั้งจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามมาตรา 108 วรรคสอง จะฟังดูเป็นเหตุเป็นผลกว่า

แต่หากเป็นเช่นนี้ ก็ต้องมีคำถามต่อไปว่า เพราะเหตุใดจึงไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วราชอาณาจักรในวันเดียวกันได้ ใครควรเป็นผู้รับผิดชอบ และจะมีบทลงโทษอย่างไร?

2. "วิธีการยื่นคำร้อง"  คำร้องนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดิน (โดยประชาชนร้องขอ) เสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 245 (1) ซึ่งบัญญัติว่า

ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครองได้ เมื่อเห็นว่ามีกรณีดังต่อไปนี้

(1)บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

คำร้องนี้ ทำให้ต้องย้อนกลับไปที่ข้อสังเกตที่ 1 คือ พระราชกฤษฏีกายุบสภาผู้แทนราษฏร ให้ไว้ ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2556 นั้น มิได้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ สิ่งที่อาจไม่ตรงตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดคือ ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งทั้ง 475 เขตในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง---หลังจากวันที่ 9 ธันวาคม แน่นอน

คำถามคือ การยื่นคำร้องเช่นนี้ เป็นไปตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 245 (1) หรือไม่?

ที่จริงแล้ว คำร้องนี้ น่าจะเข้าข่ายมาตรา 245 (2) ซึ่งบัญญัติว่า
(2) กฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดของบุคคลใดตามมาตรา 244 (1) (ก) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง และให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

กล่าวคือ ยื่นคำร้องให้ศาลปกครองวินิจฉัยว่าบุคคลตามมาตรา 244 (1) ว่าได้ ละเลยการปฎิบัติหน้าที่หรือการปฎิบัติบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net