Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ตามเรื่องยูเครนมาแบบห่างๆ พยายามอ่านในสื่อไทยก็พบว่าคุณภาพไม่ค่อยถึง (โดยเฉพาะสื่อค่าย ... ที่ชอบอ้างตัวว่าเชี่ยวชาญด้านต่างประเทศ ฮา) ปัญหาของสื่อไทยคือรายงาน "สิ่งที่เกิดขึ้น" (what's happened) แต่ไม่สามารถอธิบายเหตุผลหรือที่มาที่ไป (why it's happened) ได้เลย


เมื่อสื่อไทยไม่ตอบโจทย์ก็อ่านสื่อฝรั่ง (เช่น Economist) และ Wikipedia อ่านแป๊บเดียวก็รู้เรื่องแล้ว สรุปสั้นๆ คือ "ปูติน" ฉวยโอกาสได้เก่งแบบสุดๆ

 

Cold War

การจะเข้าใจปัญหาของยูเครนได้ ต้องเข้าใจเรื่องสงครามเย็นก่อนครับ เพื่อให้เข้าใจง่ายดูแผนที่ประกอบ (source)

ยุโรปช่วงสงครามเย็นแบ่งออกได้เป็นส่วนๆ ตามภาพ

  • กลุ่มยุโรปตะวันตก (สีเทาในภาพ) โลกเสรี พวกเยอรมนีตะวันตก ฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ อันนี้คงไม่ต้องอธิบายกันมาก
  • กลุ่มยุโรปตะวันออก (สีชมพูในภาพ) พวกนี้คือ "พันธมิตร" ของโซเวียตเดิม (แต่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโซเวียต) ได้แก่ โปแลนด์ เชค ฮังการี โรมาเนีย ฯลฯ
  • กลุ่มยูโกสลาเวียเดิม (สีม่วงในภาพ) กลุ่มนี้เป็นเผ่าสลาฟที่อยู่ตอนใต้ ปกครองแบบสังคมนิยมเหมือนกัน ถือเป็นพันธมิตรแบบห่างๆ ของโซเวียต แต่ไกลกว่ากลุ่มสีชมพูหน่อย
  • กลุ่มอดีตโซเวียตเดิม (สีแดงในภาพ ไม่นับรัสเซีย) หลังโซเวียตล่มสลายในปี 1991 ก็แยกออกเป็นหลายประเทศ ส่วนประเทศที่อยู่ติดขอบยุโรปก็ตามในภาพ เช่น ยูเครน ลิธัวเนีย เอสโตเนีย แลตเวีย เบลารุส ฯลฯ


สมัยสงครามเย็น ยุโรปตะวันตก (western bloc) พยายามต่อสู้ช่วงชิงกับโซเวียต โดยมีกลุ่มประเทศสีชมพูที่เป็นยุโรปตะวันออก (eastern bloc) เป็นสมรภูมิ เรื่องนี้จบด้วยโซเวียตแพ้ พรมแดนตะวันตกของตัวเองแยกตัวเป็นอิสระ

หลังสงครามเย็น ช่วงเวลาประมาณ 20 กว่าปีที่ผ่านมา โลกตะวันตกพยายาม "ดูด" ชาติพันธมิตรของโซเวียตเดิมเข้ามาเป็นพวก โดยผ่านกลไกต่างๆ โดยเฉพาะ NATO

ถ้าลองดูแผนที่ NATO ในปัจจุบัน (source) จะเห็นว่าชาติยุโรปตะวันออก (สีชมพูเดิม) กลายมาเป็นสมาชิก NATO (สีน้ำเงินเข้ม) กันไปเยอะแล้ว มิหนำซ้ำ ชาติอดีตโซเวียตเดิม (สีแดงเดิม) สายที่ติดกับทะเลบอลติกคือ เอสโตเนีย แลตเวีย ลิธัวเนีย ก็ไปเป็นสมาชิก NATO กันหมดแล้ว จ่อคอหอยรัสเซียแล้ว (ซึ่งรัสเซียเองในช่วงที่บอบช้ำก็ทำอะไรไม่ได้มากนัก)

อีกภาพที่ดีคือลำดับการเข้าเป็นสมาชิก EU ของประเทศต่างๆ ในยุโรป จะเห็นว่ามันรุกเข้ามากินแดนรัสเซียไปเรื่อยๆ (source)

กรณีของยูเครน (สีเหลืองก้อนซ้ายสุดในภาพ) ก็อยู่ในสถานะก้ำกึ่ง คือยังไม่เป็นสมาชิก NATO เต็มตัว แต่ก็มีความร่วมมือบางอย่างกับ NATO บ้างเหมือนกัน เรื่องนี้แหละที่เป็นปัญหาสำคัญของยูเครน

เข้าเรื่องยูเครนสักทีครับ

 

ยูเครน


คนไทยไม่ค่อยรู้จักยูเครนมากนัก (ผมก็ด้วยแหละนะ) นอกจากเชฟเชงโก้และไดนาโมเคียฟแล้ว เราก็แทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับยูเครนเลย

ยูเครนเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในอดีตโซเวียตสายยุโรป (ซึ่งต้องพิจารณาแยกกับอดีตโซเวียตสายเอเชีย เพราะเป็นคนละส่วนกัน) ถือเป็น "รัฐ" ที่สำคัญมากในสมัยโซเวียต

การที่ยูเครนเป็นรัฐสำคัญของโซเวียต ทำให้มีปัญหาเรื่องความแตกต่างของ "ชาติพันธุ์" เพราะมีคนเชื้อสายรัสเซียเข้ามาอยู่เยอะ สถิติอย่างเป็นทางการ (สำรวจปี 2001) บอกว่ายูเครนประกอบด้วยคนเชื้อสายยูเครนประมาณ 78% และเชื้อสายรัสเซีย 17%

ส่วนความหนาแน่นของประชากรเชื้อสายรัสเซียก็ตามภาพ (source)

จากแผนที่จะเห็นว่า สีเข้ม (รัสเซียเยอะ) ก็อยู่ติดกับพรมแดนฝั่งรัสเซียตามธรรมชาติ แต่ที่คนเยอะจริงๆ ก็คือแหลมไครเมียทางใต้สุด ที่เพิ่งประกาศแยกตัวไปรวมกับรัสเซียเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี่เอง

 

การเมืองยูเครน

วิกฤตการเมืองไทยเป็นความขัดแย้งที่ว่าด้วย "ประเทศไทยจะไปทางไหน" ในแง่การปกครอง ส่วนวิกฤตการเมืองยูเครนที่เกิดขึ้นในช่วงไล่เลี่ยกัน เป็นความขัดแย้งที่ว่าด้วย "เราจะอยู่กับยุโรปหรืออยู่กับรัสเซีย" ซึ่งฝั่งที่สนับสนุนการเข้าหายุโรปนั้นมีชื่อเรียกรวมๆ ว่า Euromaidan (แปลว่า Eurosquare ซึ่งหมายถึงจัตุรัสในเมืองเคียฟที่ผู้ชุมนุมฝ่ายยุโรปไปรวมตัวกัน)

ความขัดแย้งเรื่องทิศทางของยูเครนนี่มีตั้งนานแล้วไม่ใช่เพิ่งเกิด ถ้าลองดู ประวัติการเลือกตั้งของยูเครน จะเห็นว่าประเทศแบ่งออกเป็น 2 ซีก (ซ้ายยุโรป ขวารัสเซีย) มาตั้งแต่ปี 2002 ลองดูตัวอย่างภาพผลการเลือกตั้งในปี 2007 (source)

 

เทียบกับการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ปี 2012 ก็ไม่ต่างกันมากนัก (source)

ตัวละครสำคัญๆ ของการเมืองยูเครน แบ่งออกเป็น 2 ขั้วคือ

ฝ่ายสนับสนุนยุโรป

มีพรรค Fatherland (Batkivshchyna) เป็นแกนหลัก ตัวละครนำคือ อดีตนายกหญิง Yulia Tymoshenko และอดีตประธานาธิบดี Viktor Yushchenko ที่เป็นพันธมิตรกัน

ฝ่ายสนับสนุนรัสเซีย

มีพรรค Party of Regions เป็นแกนหลัก ตัวละครนำคือ Viktor Yanukovych อดีตนายกและประธานาธิบดี (2010-2014)

 

Timeline


สองขั้วนี้เขาซัดกันมาตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2004 (Viktor สองคนสู้กัน) และจบลงด้วยชัยชนะของ Viktor Yushchenko ฝ่ายนิยมยุโรป ตอนนั้นคนประท้วงใช้สีส้ม เลยกลายเป็นชื่อเรียก Orange Revolution

แต่หลังจากนั้น สายนิยมรัสเซียก็ตีกลับ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2010 และเลือกสภาผู้แทนปี 2012 พรรค Party of Regions ชนะทั้งคู่ ครองทั้งตำแหน่งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี แต่ก็ชนะแบบเฉียดๆ เฉือนๆ ไม่เด็ดขาด ทำให้ฝ่ายค้านรัสเซียก็ถือว่ามีพลังอยู่พอตัว

ฝั่งรัฐบาลเองก็ทำตัวไม่ค่อยดีนัก พอขึ้นมามีอำนาจก็สั่งจำคุกอดีตนายกหญิง Tymoshenko ในปี 2011 ทำให้ฝ่ายค้านไม่พอใจเป็นทุนอยู่แล้ว พอมีประเด็นเรื่องการกู้เงินจาก EU เข้ามาในปี 2013 (และรัสเซียก็เสนอให้กู้บลัฟกลับ) ทำให้ความไม่พอใจปะทุขึ้นมากลายเป็นความขัดแย้งและความรุนแรงบนท้องถนนช่วงปลายปี 2013 จนถึงต้นปี 2014

ผลของการปะทะใหญ่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2014 (2014 Ukrainian revolution) ฝ่ายค้านชนะ (แน่นอนว่าชาติตะวันตกก็ช่วยเต็มที่) ยึดครองนครหลวงเคียฟเอาไว้ได้ ฝ่ายรัฐบาลแพ้ ประธานาธิบดี Viktor Yanukovych ลี้ภัยไปรัสเซีย

รัฐสภายูเครนประกาศเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่เดือน พ.ค. 2014, เอาผิดประธานาธิบดี Viktor Yanukovych และคนของพรรค Fatherland มานั่งเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ

เรื่องเหมือนจะจบแต่ก็ไม่จบ เพราะฝ่ายรัฐบาลยูเครนก็ใช่ว่าจะอ่อนแอ (เพราะคะแนนเสียงอิงตามภูมิภาคและชาติพันธุ์ ไม่ได้อิงตามความนิยมที่ขึ้นๆ ลงๆ ไปซะทั้งหมด) และยังมี "พี่ใหญ่" อย่าง "ปูติน" อยู่

 

ไครเมีย


ถึงแม้ Yanukovych จะพ่ายแพ้ในนครหลวง แต่ประชาชนในโซนที่ใกล้ชิดรัสเซียยังสนับสนุนแนวทางของเขาอยู่ และโซนที่รัสเซียเข้มข้นที่สุดคือไครเมีย

จะไปคุยกันหลังฉากอย่างไรก็ไม่ทราบ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหน้าฉากคือปูตินส่ง "คน" (ซึ่งก็คือทหารที่ไม่แต่งเครื่องแบบกองทัพรัสเซีย) เข้าไปในไครเมีย และรัฐสภาไครเมีย (ที่พรรค Party of Regions ครองเสียงส่วนใหญ่) ก็สอดรับจังหวะกันเป็นอย่างดี (ราวกับเป็นองค์กรอิสระของไทย) เสนอญัตติให้แยกตัวเป็นอิสระจากยูเครน

ที่ประชุมลงมติแยกตัวในวันที่ 16 มีนาคม 2014 ด้วยคะแนนเสียง 96% และประเทศอิสระแห่งใหม่ "สาธารณรัฐไครเมีย" (Republic of Crimea) ก็เกิดขึ้นในวันที่ 17 มีนาคม

แต่ประเทศนี้อายุสั้นมากแค่ 1 วันเท่านั้น เพราะในวันที่ 17 มีนาคม สาธารณรัฐไครเมียก็ประกาศขอเข้าร่วมสหพันธรัฐรัสเซียทันที และวันที่ 18 มีนาคม ผู้นำของไครเมียก็มานั่งเท่ๆ เซ็นสัญญาเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียกับปูติน

ฝ่ายยูเครน (ที่ปัจจุบันปกครองโดยสายนิยมตะวันตก) เห็นดินแดนเสียไปต่อหน้าต่อตา แต่ทำอะไรมากไม่ได้เพราะสถานการณ์ในบ้านตัวเองยังไม่เรียบร้อยดี จะส่งกำลังเข้าไปในไครเมียก็ทำไม่ได้เพราะปูตินชิงจังหวะส่งคนเข้าไปยึดไว้หมดแล้ว สุดท้ายต้องสั่งถอนทหารกลับแบบน้ำตาตกใน

ฝ่ายอเมริกา-ยุโรปเองก็โมโหแต่ทำอะไรมากไม่ได้เช่นกัน อย่างเก่งก็ยึดทรัพย์-ขับไล่ทูตรัสเซียนิดหน่อยเท่านั้น

 

สรุป

สรุปเรื่องนี้คือ

  • การเมืองสองขั้วในยูเครน แบ่งเป็นสายนิยมตะวันตกและนิยมรัสเซีย ซัดกันมานาน
  • สายนิยมรัสเซียครองอำนาจ แต่โดนประท้วงจนรัฐบาลล้ม ประธานาธิบดีหนีไปรัสเซีย
  • สายนิยมตะวันตกยึดยูเครนกลับมาได้ และกำลังจะเริ่มต้นกระบวนการกวาดล้าง เช็ดบ้าน ปรับอำนาจเข้ามาอยู่ในระบบ สร้างเสถียรภาพ
  • แต่ยังไม่ทันทำอะไร ปูตินจับมือกับฝ่ายรัฐบาลเดิม ยึดไครเมียมาแบบง่ายๆ เลย
  • ชาติตะวันตกก็ทำอะไรไม่ได้มากนัก อย่างเก่งก็ด่าว่า ไครเมียลงมติโดยไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญยูเครน (คือจะมาจู่ๆ อยากโหวตแยกตัวก็ทำไม่ได้)
  • การที่ "รัสเซียได้ดินแดน" ถือเป็นชัยชนะครั้งแรกของรัสเซียหลังปี 1991 ซึ่งส่งผลต่อ "ระเบียบโลก" หลังสงครามเย็นที่รัสเซียพ่ายแพ้ อิทธิพลหดหาย และโลกถูกปกครองโดยชาติตะวันตกที่มีอเมริกา-ยุโรปเป็นผู้นำ (Washington Consensus) มายี่สิบกว่าปี

การได้แดนของรัสเซียจึงมีความหมายอย่างมาก เพราะถือเป็น "ก้าวแรก" ที่รัสเซียสามารถกลับมาสร้างอิทธิพลต่อโลกตะวันตกได้อีกครั้ง จน The Economist ต้องพาดหัวว่า The New World Order คือปูตินสามารถทำลายระเบียบโลกก่อนหน้านี้ (post-Soviet order) ลงได้สำเร็จ (ด้วยรถถังไม่กี่คันและกำลังทหารไม่เยอะนัก)

ปูตินเก่งมากในเรื่องจังหวะ เพราะ

  • ชาติตะวันตกอ่อนโทรมลงมากในรอบ 20 กว่าปีที่ผ่านมา อเมริกาติดหล่มสองสงคราม เจอวิกฤตเศรษฐกิจทั้งแฮมเบอร์เกอร์และยูโร
  • รัสเซียฟื้นตัวขึ้นมาได้เยอะ เศรษฐกิจดีจากการขายทรัพยากร และกำลังเป็นประเทศดาวรุ่งในกลุ่ม BRIC
  • ปูตินไม่ได้บุกใครก่อน (แบบหนังหรือการ์ตูนสงครามโลกที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์มีผู้นำบ้าอำนาจ) แต่ฉวยโอกาสจากปัญหาในยูเครน (ที่ฝ่ายนิยมรัสเซียพ่ายแพ้) แล้ว "บิด" นิดเดียวโดยอาศัยความเป็นชาติพันธุ์รัสเซีย ผนวกเอาไครเมียเข้ามาได้


สื่อนิยมตะวันตกอย่าง Economist จึงเต้นทันที ในบทบรรณาธิการฉบับล่าสุด Diplomacy and security after Crimea: The new world order จึงออกมาด่าปูตินว่าจะสร้างสงครามเย็นครั้งใหม่ ทำลายกฎหมายระหว่างประเทศ (ปูตินโต้ชาติตะวันตกว่า คลินตันสั่งบุกยูโกสลาเวียปี 1999 ก็ไม่เห็นต้องขอใครเหมือนกันนิ) และเรียกร้องให้โอบามาต้อง "ทำอะไรบางอย่าง" ที่ไม่ใช่แค่การขอความร่วมมือกับรัสเซีย สร้างมิตรภาพจ๊ะจ๋าแบบที่เคยทำๆ มา

 

ก้าวต่อไป

แน่นอนไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ประเด็นที่ถูกจับตามองมากที่สุดคือ ยูเครนส่วนที่เหลือจะแยกออกเป็น 2 ประเทศหรือไม่ (ไครเมียเป็นติ่งเล็กนิดเดียว มีความหมายในเชิงการทหารบ้างเพราะติดทะเลดำ แต่มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์มากกว่า)

โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่า ยูเครนไม่น่าจะแยกประเทศในเร็ววัน และปูตินน่าจะใจเย็นพอที่จะ "รอ" ไปได้อีกนาน คือยูเครนเสียไครเมียไป ชาติตะวันตกยังพอรับได้ แต่ถ้ายูเครนต้องแบ่งเป็น 2 ซีก และส่วนหนึ่งไปรวมกับรัสเซีย ชาติตะวันตกน่าจะทำสงครามแน่ ดังนั้นวิธีการเดินหมากของปูตินน่าจะเป็นว่า "ผมพอแล้ว" และไม่ผนวกยูเครนเข้ามา ปล่อยให้ยูเครนแตกแยกภายในไปอีกพักใหญ่ๆ จะดีกว่า

ปัญหาในยูเครนเองก็ไม่น่าจะจบง่ายๆ เพราะความขัดแย้งมันร้าวลึกไปถึงระดับชาติพันธุ์และแนวคิดทางการเมือง (อันนี้จะคล้ายๆ กับปัญหาในเมืองไทย) ดังนั้นต่อให้ฝ่ายค้านยูเครนยึดเมืองหลวงได้ก็จะเจอปัญหาไม่สามารถปกครองทั้งประเทศได้อยู่ดี ต้องรอดูกันต่อไปอย่างใกล้ชิดว่าจะเกิดอะไรต่อ (ผมไม่เชี่ยวชาญเรื่องยูเครนมากนัก แต่ระยะยาวอีก 10-20 ปี ก็มีโอกาสที่จะแยกประเทศได้จริงๆ)

 

หมายเหตุ: ไครเมียมีบทบาทในเชิงสัญลักษณ์ของโซเวียตยุคสุดท้ายด้วย เพราะในการปฏิวัติเดือนสิงหาคม 1991 ประธานาธิบดีกอร์บาชอฟไปพักผ่อนในไครเมีย และโดนลูกน้องก่อรัฐประหาร จนกลายมาเป็นการล่มสลายของสหภาพโซเวียตหลังจากนั้นไม่กี่วัน

 

ที่มา: http://www.isriya.com/node/4039/ukraine-crisis-putin-great

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net