Skip to main content
sharethis
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2557 วินิจฉัยให้ พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร ส่วนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป 2 ก.พ. 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะไม่สามารถจัดการให้เป็นการเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

25 มี.ค. 2557 - วันนี้เว็บไซต์สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่คำวินิจฉัยกลาง "สรุปคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2557 (อย่างไม่เป็นทางการ) เรื่อง  "ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 245 (1) ว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 2กุมภาพันธ์ 2557 ตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 เป็นการเลือกตั้งที่ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือไม่" โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

ประเด็นอํานาจการรับคําร้อง

ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 245 (1) บัญญัติให้ผู้ร้องมีอํานาจเสนอเรื่องให้ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้ “เมื่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วย  รัฐธรรมนูญ”ซึ่งมีความหมายกว้างกว่ากรณีที่ศาลอ่ืจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตาม  รัฐธรรมนูญ มาตรา 211 ว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ถึงแม้ตามคําร้อง  เป็นกรณีที่ผู้ร้องได้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า การดําเนินการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ.2556  มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรคสอง มาตรา 93 วรรคสอง มาตรา 30  วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 235 และมาตรา 236  (1) และ (2) หรือไม่

แต่เมื่อพิจารณาเนื้อความในคําร้องทั้งหมดแล้วเห็นได้ว่า ผู้ร้องมีความประสงค์จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556  เฉพาะในส่วนที่กําหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2  กุมภาพันธ์ 2557  ด้วย เนื่องจากการดําเนินการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการ เลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2  กุมภาพันธ์  2557  อันเป็นประเด็นปัญหาตามคําร้อง เป็นการดําเนินการที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการกําหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ.2556  จึงเป็นประเด็นปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ พระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว

และถึงแม้พระราชกฤษฎีกาเป็นกฎหมายที่มีศักดิ์ต่ํากว่าพระราชบัญญัติ แต่พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้มิใช่พระราชกฤษฎีกาที่ตราขึ้นโดยอาศัยอํานาจตามพระราชบัญญัติ หรือกฎหมายที่มีฐานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติซึ่งอยู่ในอํานาจตรวจสอบของศาลปกครอง หากแต่เป็นพระราชกฤษฎีกาที่ตราขึ้นโดยอาศัยอํานาจตามรัฐธรรมนูญ และด้วยเหตุที่พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ เป็นกฎหมายเฉพาะที่มีลักษณะพิเศษซึ่งออกโดยอาศัยอํานาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรคสอง อันเป็นส่วนหนึ่งของบทบัญญัติในหมวด 6 ว่าด้วยรัฐสภา และเป็นส่วนที่สําคัญของบทบัญญัติเกี่ยวกับการยุบสภาผู้แทนราษฎร จึงถือได้ว่าเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 245 (1 ) ที่ผู้ร้องอาจเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้

ประกอบกับการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันที่2 กุมภาพันธ์  2557 ไม่สามารถดําเนินการให้เสร็จสมบูรณ์ในวันเดียวกันได้ ทั้งยังทําให้เกิดปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามมาอีกหลายประการ ซึ่งไม่มีองค์กรอื่นใดนอกจากศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีอํานาจตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ได้คดีจึงอยู่ในอํานาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะรับพิจารณาวินิจฉัยไว้ได้กรณีจึงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา  245 (1) ประกอบข้อกําหนดศาลรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทําคําวินิจฉัย พ.ศ. 2550  ข้อ 17  (18 ) ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคําสั่งรับคําร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย

 

ประเด็นวินิจฉัย

พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556  เฉพาะในส่วนที่กําหนดให้มี การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2  กุมภาพันธ์  2557  มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือไม่

ในการพิจารณาประเด็นตามคําร้องนี้ มีเหตุแห่งคําร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยก่อนว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์  2557 ได้กระทําเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 108  วรรคสอง หรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556  ได้กําหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2  กุมภาพันธ์  2557  ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ดําเนินการจัดการเลือกตั้งโดยกําหนดวันที่พรรคการเมืองจะยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อตั้งแต่วันที่23  ธันวาคม 2556  ถึงวันที่ 27 ธันวาคม 2556  และกําหนดวันรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ตั้งแต่วันที่ 28ธันวาคม 2556 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2557  แต่ปรากฏว่ามีการชุมนุมทางการเมืองประท้วงและขัดขวางการสมัครรับสมัครเลือกตั้ง เป็นผลให้เขตเลือกตั้งจํานวน 28  เขต ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง

รัฐธรรมนูญ มาตรา 108  วรรคสอง บัญญัติชัดแจ้งว่า “...วันเลือกตั้งนั้นต้องกําหนด เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร” การที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรคสอง ให้กําหนดวันเลือกตั้งเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร นั้น มีเจตนารมณ์เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปตามหลักพื้นฐานของ การเลือกตั้งที่สําคัญ ได้แก่ หลักการเลือกตั้งโดยเสรี กล่าวคือ ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทุกคนย่อมใช้สิทธิโดยปราศจากการบังคับ หรือกดดันทางจิตใจหรือการใช้อิทธิพลใด ๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจ  ไม่ว่าการใช้อิทธิพลเหล่านี้จะมาจากฝ่ายใด ๆ ทั้งระหว่างการเลือกตั้งและภายหลังการเลือกตั้ง   ต้องไม่ให้มีการควบคุมทิศทางการลงคะแนนเสียงไม่ว่าจะเป็นโดยการกระทําในรูปแบบใด

ผู้ออกเสียงเลือกตั้งต้องตัดสินใจลงคะแนนได้อย่างอิสระภายใต้กระบวนการสร้างความคิดเห็นทางการเมืองที่เปิดเผยหลักการเลือกตั้งโดยเสรีนี้จึงครอบคลุมถึงการตระเตรียมการเลือกตั้งและโดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบคลุมถึงการหาเสียงเลือกตั้งด้วยจึงเห็นได้ว่าการกําหนดวันเลือกตั้งเป็นการทั่วไปมากกว่าหนึ่งวันจะทําให้พฤติกรรมการหาเสียงพฤติกรรมการลงคะแนนเลือกตั้ง หรือบรรดาเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในวันเลือกตั้งเป็นการทั่วไปที่กําหนดขึ้นในวันหนึ่งจะมีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งที่กําหนดขึ้น ในอีกวันหนึ่งได้ วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปตามที่กําหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา ที่ตราขึ้นโดยอาศัยอํานาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรคสอง เป็นวันที่เมื่อกําหนดขึ้นแล้ว    ผู้เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งมีหน้าที่ต้องไปดําเนินการต่าง ๆ เพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่กําหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกานั้น คือ การรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้ง การประกาศชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง และการกําหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเลือกตั้ง

ส่วนวันลงคะแนนเลือกตั้งนั้นกําหนดขึ้นโดยอาศัยอํานาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกับการดําเนินการจัดการเลือกตั้งทั่วไปตามที่พระราชกฤษฎีกากําหนดไว้ การกําหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่ออํานวยความสะดวกให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการใช้สิทธิเลือกตั้งซึ่งวันลงคะแนนเลือกตั้งอาจมีได้หลายวัน เช่น การลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งตามมาตรา 94  การลงคะแนนเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งตามมาตรา  95 แต่การใช้สิทธิเลือกตั้งนั้น จะมีได้ก็ต่อเมื่อมีผู้สมัครรับเลือกตั้งอยู่ในวันที่ลงคะแนนเลือกตั้งเพื่อให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งสามารถลงคะแนนเลือกตั้งได้ในขณะที่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปจะต้องมีเพียงวันเดียวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 108  วรรคสอง

กรณีปัญหาที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งใน 28  เขตเลือกตั้งนั้น เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา  พ.ศ. 2550  ในส่วนที่กําหนดอํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการดําเนินการจัดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งใหม่แล้วเห็นว่ามาตรา 78 เป็นบทบัญญัติที่ให้อํานาจคณะกรรมการ การเลือกตั้งกําหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ในกรณีที่การลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งแห่งใด ไม่สามารถกระทําได้เนื่องจากเกิดจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจําเป็นอย่างอื่น  ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันเลือกตั้ง และมาตรา  108 เป็นบทบัญญัติที่ให้อํานาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง กําหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ในกรณีก่อนวันเลือกตั้ง ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้ง ในหน่วยเลือกตั้งใดหรือในเขตเลือกตั้งใดจะมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม อันเกิดจากการกระทําของเจ้าพนักงานผู้ดําเนินการเลือกตั้งหรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

ส่วนการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่นั้น มาตรา  88  เป็นบทบัญญัติที่ให้อํานาจคณะกรรมการ การเลือกตั้งประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งคนเดียว และ ผู้สมัครนั้นได้รับคะแนนเลือกตั้งน้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจํานวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น หรือไม่มากกว่าจํานวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนน มาตรา 103 วรรคหก เป็นบทบัญญัติที่ให้อํานาจคณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งใดที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคําสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งภายหลังวันลงคะแนนเลือกตั้งแต่ก่อนวันประกาศผลการเลือกตั้ง มาตรา 109  เป็นบทบัญญัติที่ให้อํานาจคณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือนับคะแนนใหม่ในหน่วยเลือกตั้งใดหรือทุกหน่วยในเขตเลือกตั้งใดกรณีเมื่อได้มีการนับคะแนนเลือกตั้งแล้วปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมหรือการนับคะแนนเป็นไปโดยไม่ถูกต้อง และมาตรา 111 เป็นบทบัญญัติที่ให้อํานาจศาลฎีกาสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในกรณีเมื่อประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว

ถ้าปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า การเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ใดหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดกระทําการใดๆโดยไม่สุจริตเพื่อที่จะให้ตนเองได้รับเลือกตั้ง หรือได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่สุจริตโดยผลของการที่บุคคลหรือพรรคการเมืองได้กระทํา ทั้งนี้ อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550  ระเบียบหรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้น ให้อํานาจคณะกรรมการการเลือกตั้งในการ กําหนดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งใหม่หรือจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ รวมทั้งให้อํานาจศาลฎีกา  สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ เฉพาะในกรณีที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งแล้ว แต่มีเหตุตามที่กฎหมายกําหนด ทําให้ไม่อาจลงคะแนนเลือกตั้งได้หรือมีข้อเท็จจริงที่ทําให้การเลือกตั้งนั้นไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ทว่าเหตุแห่งคําร้องในคดีนี้ เขตเลือกตั้งที่เป็นปัญหาทั้ง 28  เขต ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง ถือว่า  ยังไม่มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปใน 28  เขตเลือกตั้งนี้มาก่อนเลย จึงไม่อยู่ในอํานาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งและศาลฎีกาที่จะให้จัดการเลือกตั้งใหม่ได้

ประกอบกับเมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญ มาตรา 93 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจํานวนห้าร้อยคน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจํานวนสามร้อยเจ็ดสิบห้าคน และสมาชิก ซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจํานวนหนึ่งร้อยยี่สิบห้าคน” และมาตรา 93 วรรคหก ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่มีเหตุการณ์ใด ๆ ทําให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใดมีจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ถึงห้าร้อยคน แต่มีจํานวนไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบห้าของจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด ให้ถือว่าสมาชิกจํานวนนั้นประกอบเป็นสภาผู้แทนราษฎร แต่ต้องดําเนินการให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ครบจํานวนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันและให้อยู่ในตําแหน่งได้เพียงเท่าอายุของสภาผู้แทนราษฎรที่เหลืออยู่”เห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่จะให้สภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ครบตามจํานวนห้าร้อยคนโดยต้องมาจากการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรตามรัฐธรรมนูญมาตรา 108  วรรคสอง ด้วย

ดังนั้นการจัดการเลือกตั้งเพื่อให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใน 28  เขตเลือกตั้งที่เป็นปัญหา จึงต้องจัดให้มีขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557  เมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ.2550  มิได้ให้อํานาจคณะกรรมการการเลือกตั้งและศาลฎีกาในการจัดการเลือกตั้งใหม่ใน 28 เขตเลือกตั้งดังกล่าว การที่จะดําเนินการจัดการเลือกตั้งใน 28 เขตเลือกตั้งนั้นต่อไป จําเป็นต้องมีวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็น การเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่อีกวันหนึ่งย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและก่อให้เกิดข้อโต้แย้งทางกฎหมายต่อไปไม่มีที่สิ้นสุดซึ่งเป็นผลที่ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่แท้อันจะทําให้วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้มีสองวัน คือวันที่ 2  กุมภาพันธ์  2557  ตามที่กําหนดไว้ใน พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 และวันที่จะกําหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ สําหรับ 28  เขตเลือกตั้งที่ยังไม่เคยมีการรับสมัครรับเลือกตั้งมาก่อนเลย ซึ่งเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 108  วรรคสอง ที่บัญญัติให้กําหนดวันเลือกตั้งทั่วไปเป็นวันเดียวกัน ทั่วราชอาณาจักร

แต่ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจะได้ดําเนินการจัดการเลือกตั้งตามอํานาจหน้าที่แล้วก็ตาม เมื่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2  กุมภาพันธ์ 2557  ไม่สามารถที่จะดําเนินการให้เป็นไปในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 108  วรรคสองได้ เนื่องจากปัญหาดังกล่าวเกิดจากมูลเหตุสําคัญคือ การกําหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556  ที่กําหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2  กุมภาพันธ์  2557  ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งและความแตกแยกของชนในชาติอย่างรุนแรง

และมีการขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้งการจัดการเลือกตั้งภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวย่อมทําให้ การจัดการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคําวินิจฉัยที่   2/2557  ว่า หากมีความจําเป็นที่จะต้องกําหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ต่างจากวันเลือกตั้งทั่วไปเดิมที่กําหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรก็สามารถกระทําได้โดยเป็นอํานาจหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกันของนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นผู้รักษาการ ตามกฎหมาย เพื่อให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปสําเร็จลุล่วงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น การที่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 กําหนดให้มี การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่  2 กุมภาพันธ์ 2557 และมี การดําเนินการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไปแล้วแต่ไม่สามารถจัดให้มี การเลือกตั้งสําหรับ  28 เขตเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่เคยมีการรับสมัครรับเลือกตั้งมาก่อนเลย จึงถือได้ว่า ในวันที่ 2  กุมภาพันธ์  2557  มิได้เป็นวันที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ไม่ถือเป็นการเลือกตั้งที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นผลให้พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556  เฉพาะในส่วนที่กําหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2  กุมภาพันธ์  2557 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 108  วรรคสอง

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่าพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556  เฉพาะในส่วนที่กําหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่   2  กุมภาพันธ์  2557  มิได้จัดการให้เป็นการเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร อันเป็นการไม่ชอบ ด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรคสอง การพิจารณาวินิจฉัยเหตุแห่งคําร้องในข้ออื่น ๆ ไม่อาจ ทําให้ผลการวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จําต้องวินิจฉัยเหตุแห่งคําร้องในข้ออื่น ๆ อีก

ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยโดยเสียงข้างมากว่า พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร  พ.ศ. 2556  เฉพาะในส่วนที่กําหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557  ไม่สามารถจัดการให้เป็นการเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร  จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรคสอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net