ปิยบุตร แสงกนกกุล: 'อ่าน' คำวินิจฉัยจากใบแถลงข่าว

เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2557 ปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการจากคณะนิติราษฎร์ และอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมเสวนาในหัวข้อ "ฤาตุลาการจะทำให้ประเทศแตกแยก" ซึ่งจัดโดยสถาบันพัฒนาประชาธิปไตย โรงแรมมิราเคิลแกรนด์

ตอนหนึ่ง ปิยบุตรวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีลงมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ให้พระราชกฤษฎีกายุบสภา ในส่วนของการกำหนดวันเลือกตั้ง ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยข้อมูลจากใบแถลงข่าวของศาลรัฐธรรมนูญ 'ประชาไท' เก็บความมานำเสนอ ดังนี้

000000

เรื่องคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 ถ้าลองย้อนกลับไปดูอารมณ์ความรู้สึกร่วมของทั้งฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย ฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย ฝ่ายสนับสนุนการเลือกตั้ง และไม่สนับสนุนการเลือกตั้ง ทั้งสองฝ่ายมีอารมณ์ร่วมปนกันหมด พูดกันไปทันทีว่าการเลือกตั้ง “โมฆะแน่นอน” แล้วพอศาลวินิจฉัยเมื่อวานนี้ (21 มี.ค.) ทุกคนก็พร้อมจะบอกว่า 6 ต่อ 3 เป็นโมฆะ แต่เราลองไปดู นี่เป็นความบกพร่องของศาลรัฐธรรมนูญทำอย่างนี้มาหลายคดี ซึ่งไม่ถูกต้องเลย คือพบว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ออกมานั่งอ่านคำวินิจฉัยเต็มๆ และคำวินิจฉัยเต็มไม่เห็น จริงๆ แล้ว ในรัฐธรรมนูญบังคับให้มีคำวินิจฉัยเต็มๆ ถ้ายังไม่ลงราชกิจจานุเบกษา อาจจะไปเขียน หรือจะพิมพ์มา แต่วันที่ลงมติ ตุลาการท่านหนึ่งจะต้องอ่านให้คนฟัง ถ้ามันยาวมากก็แบ่งกันอ่าน 

แต่ในระยะหลังคดีสำคัญๆ หลายคดี ไม่มีการออกมาอ่านแล้วก็ใช้วิธีปล่อยใบแถลงข่าว เอาโฆษกศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมานั่งอ่าน แล้วก็แจกสื่อมวลชน เมื่อวาน (21 มี.ค.) ก็เป็นแบบนี้เช่นกัน คำวินิจฉัยเต็มเรายังไม่เห็น อีกสักพักก็อาจจะลงราชกิจจานุเบกษา แต่อย่างน้อยถ้ามีการนั่งอ่านคำวินิจฉัย ตุลาการทั้ง 9 ท่านก็จะคำวินิจฉัยที่เป็นวัตถุแห่งการอ่านมายืนยันให้สาธารณชนฟัง เมื่อวานไม่มีคำวินิจฉัย ใช้เพียงแค่ใบแถลงข่าวออกมา แล้วใบแถลงข่าวที่เขียนนี้ตกลงแล้วเขียนอะไร เราก็เลยต้องวิจารณ์จากวัตถุพยานคือใบแถลงข่าวนี่เพราะเราไม่เห็นคำวินิจฉัย

และเมื่ออ่านใบแถลงข่าวนั้นถ้าสังเกตให้ดีไม่มีตรงไหนสักประโยคเดียวที่บอกว่าการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 เป็นโมฆะ หรือถูกเพิกถอนไป ไม่มีเลย แต่ว่าสังคมเราเดาไปล่วงหน้ากันแล้วว่าเป็น “โมฆะแน่” จึงทำให้ทุกคนคิดว่า เป็น “โมฆะ” แต่ในใบแถลงข่าวนั้นไม่ได้บอกเลยว่าการเลือกตั้งโมฆะ

ทีนี้ วินิจฉัยเรื่องอะไร เรื่องนี้เหมือนขึ้นรถไฟความเร็วสูงมาตัดสิน โดยก่อนหน้านั้น คุณถาวร (เสนเนียม) พรรคประชาธิปัตย์เคยไปร้องผู้ตรวจการฯ แต่ผู้ตรวจการไม่ส่ง แต่พอมีอาจารย์ มธ. คนหนึ่งไปร้องผู้ตรวจการฯ ผู้ตรวจการฯ รับคำร้องและส่งศาลรัฐธรรมนูญ ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเมื่อวันพุธที่แล้ว  วันพุธที่ผ่านมานัดไต่สวน วันศุกร์ตัดสินคดี ตุลาการท่านหนึ่งก็บอกว่าจำเป็นต้องรีบตัดสิน เพราะถ้าสมมติว่าโมฆะจริง จะได้ไม่ต้องเลือกตั้งกันต่อให้เสียเงินเสียทองอีก

คำวินิจฉัยนี้ผิดตั้งแต่หัวยันท้าย ตั้งแต่หัวคือ ผู้เสนอคำร้อง คือผู้ตรวจการฯ ไม่มีอำนาจในการเสนอเรื่องนี้ มาตรา 245 วรรค 1 ระบุว่า ถ้าผู้ตรวจการฯ เห็นว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่ขัดกับรัฐธรรมนูญให้เสนอคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้

บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เขียนในรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับ หมายถึง พ.ร.บ. พ.ร.ก. ประกาศคณะปฏิวัติที่มีสถานะแทบเท่า พ.ร.บ. หรือพูดง่ายๆ คือกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ ถ้าผู้ตรวจฯ เห็นว่า เรื่องพวกนี้น่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญ ก็สามารถส่งไปศาลรัฐธรรมนูญได้

ตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่ตั้งขึ้นมา ไม่ว่าจะชุดไหนก็ตาม วางแนวคำวินิจฉัยตรงกันหมดว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายเท่ากับ พ.ร.บ. เท่านั้น แต่ผู้ตรวจการฯ เสนอเรื่องการเลือกตั้ง แล้วการเลือกตั้งเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายตรงไหน เป็น พ.ร.บ. ฉบับไหน การเลือกตั้งคือคนที่เขาไปกากบาทลงคะแนน มีการประกาศวันเลือกตั้ง มีการจัดการเลือกตั้ง จัดคูหา ประกาศรับสมัครต่างๆ มันเป็น พ.ร.บ. ตรงไหน ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่มีอำนาจใดๆ ตั้งแต่แรก ตั้งแต่ชั้นผู้ตรวจ คุณก็ส่งไม่ได้ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ต้องพิจารณาอะไรมาก ก็ปฏิเสธไม่รับคำร้องเลย เพราะไม่อยู่ในอำนาจ แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็รับ ทั้งที่ตัวเองไม่มีอำนาจ พอรับมา กระบวนการพิจารณาก็ทำด้วยความรวดเร็วมาก ใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น ให้เวลารัฐบาลทำคำชี้แจง ส่งศุกร์เช้า บ่ายตัดสิน

ตัวคำวินิจฉัยในใบแถลงข่าว อธิบายว่า มาตรา 108 ในรัฐธรรมนูญบอกว่า การยุบสภาฯ ให้ทำเป็นพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) พ.ร.ฎ.ต้องกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป และการเลือกตั้งทั่วไปต้องกำหนดให้เป็นวันเดียวทั่วราชอาณาจักร คำสำคัญของมาตรา 108 มีแค่นี้

ทีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญก็มาบอกว่า พ.ร.ฎ.เฉพาะในส่วนกำหนดวันเลือกตั้งขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 108 ถามว่า พ.ร.ฎ. นี้มันขัดรัฐธรรมนูญตรงไหน ลองไปเปิดดู พ.ร.ฎ. ยุบสภาเมื่อ 9 ธ.ค. 56 เขียนเอาไว้ชัดว่า “กำหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ. 57” แล้วตรงไหนที่บอกว่า มีการกำหนดวันเลือกตั้งหลายวัน เพราะได้เขียนวันไว้ชัดเจนแล้วว่า “กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ. 57”  ไม่มีตรงไหนเลย

ศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลจากข้างหน้าถอยกลับไปหลัง โดยบอกว่าเนื่องจากเมื่อเกิดการเลือกตั้งแล้ว มีการจัดการเลือกตั้งไม่ครบทุกเขต มี 28 เขต ซึ่งประกาศรับสมัครไม่สำเร็จ ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้โหว่ไป 28 เขต ดังนั้นเท่ากับว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เกิดพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ จึงขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 108 แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ได้เกิดขึ้นทั่วประเทศแล้ว มีเพียงแค่ 28 เขตที่มีปัญหาในการลงคะแนน แต่ก็สามารถเลื่อนลงคะแนนเลือกตั้งได้ในวันอื่นต่อไป

ทีนี้ ถ้าเชื่อตามศาลรัฐธรรมนูญ ถ้ามีปัญหาในเรื่องการเลือกตั้ง ก็โทษการเลือกตั้งไปว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย แล้ว พ.ร.ฎ. เกี่ยวอะไรด้วย เพราะในพ.ร.ฎ. เขียนชัดเจนว่า 2 ก.พ. 57 คือ วันเลือกตั้งทั่วประเทศ วันเดียว แล้วศาลตัดสินว่า พ.ร.ฎ. นี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 108 แค่นี้ จบ

ในใบแถลงข่าวไม่มีตรงไหนที่บอกว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นโมฆะ แล้วตัดสินทิ้งคาไว้อย่างนั้น คนที่รับไปปฏิบัติต้องไปคิดต่อว่าตกลงศาลตัดสินว่าอย่างไร แล้วถ้าคุณบอกว่า พ.ร.ฎ. ในส่วนนั้น ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญตกไป แล้วมันตกไปตั้งแต่เมื่อไหร่ สิ้นผลตั้งแต่วันไหน

ตามประเพณีปฏิบัติของศาลรัฐธรรมนูญไทย ถ้าบอกว่า กฎหมายขัดรัฐธรรมนูญแล้วนั้น กฎหมายจะสิ้นผลตั้งแต่มีคำวินิจฉัย ถ้าเราเชื่อตามศาลรัฐธรรมนูญว่า พ.ร.ฎ.ยุบสภาและกำหนดวันเลือกตั้งขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 108 พ.ร.ฎ.นี้ก็ต้องสิ้นสุดตั้งแต่เมื่อวานนี้ แล้วเกี่ยวอะไรกับ 20 ล้านเสียงที่ไปกากบาทกัน ไม่มีตรงไหนบอกเลยว่ากระทบถึงหีบบัตรที่ไปกากบาทกัน ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้บอกว่าให้ถอยหลังย้อนไปถึงหีบบัตรที่ไปกากบาทกัน ดังนั้นคำตัดสินนี้มีปัญหา ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้บอกว่าย้อนไปไหน

แต่เพราะว่าผู้คนในสังคมมีอารมณ์ร่วม ทั้งฝ่ายสนับสนุนและต่อต้านต่างคิดตรงกันไปแล้วว่าการเลือกตั้งครั้งเป็นโมฆะ ศาลออกมาอย่างนี้ปุ๊บ คนก็คิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ ทั้งที่ดูในคำตัดสินแล้ว ไม่มีตรงไหนบอกเลยว่า “การเลือกตั้งเป็นโมฆะ” ศาลตัดสินอะไรก็ไม่รู้บอกว่า พ.ร.ฎ.ข้อนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญก็จบ แล้วไม่ได้บอกว่าตกลงการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะหรือไม่โมฆะ ไม่ได้พูดถึง

เมื่อเทียบเคียงกับตอนศาลรัฐธรรมนูญเล่นงานการเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย. 49 ซึ่งครั้งนั้นเขียนไว้ชัดเจนว่า การเลือกตั้งจัดคูหาไม่ลับ ส่งผลต่อการเลือกตั้งทั่วประเทศ จึงต้องเพิกถอนการเลือกตั้งทั่วประเทศ เขียนไว้ในคำวินิจฉัยอย่างชัดเจน แต่ครั้งนี้ไม่มีเขียน ไม่รู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญคิดอะไร ทำไมถึงตัดสินแบบนี้ ถ้าจะเล่นงานการเลือกตั้งครั้งนี้ให้เป็นโมฆะจริงๆ กล้าๆ เขียนมาเลย

แต่ที่ไม่เขียนมา คิดว่าเกิดจาก หนึ่ง เพราะรู้ว่าตนเองไม่มีอำนาจแต่แรก เพราะผู้ตรวจการฯ ส่งมาได้เฉพาะบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ คุณไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ มันต้องเฉพาะตัวพวกกฎหมายเท่านั้นที่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ช่องนี้รับแล้วมาบอกว่าการเลือกตั้งโมฆะ มันตอบไม่ได้ในตัวเอง เพราะประตูที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องนี้เข้ามา คือเรื่องกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การเลือกตั้ง

สิ่งที่เป็นโมฆะคือคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวานต่างหาก เพราะเขาไม่กล้าตัดสิน เพราะรู้ว่าแต่แรกว่าตัวเองไม่มีอำนาจ ขาเข้าไม่มีอำนาจ ขาออกจึงวินิจฉัยออกไปไม่ได้ ก็เลยไปลากเอาตัวบทบัญญัติกฎหมายสักอันหนึ่ง  คือ บอกว่า พ.ร.ฎ. ในส่วนที่กำหนดวันเลือกตั้งนั่นแหละที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่กล้าพอที่จะบอกว่าอีกว่า มันไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญตั้งแต่เมื่อไหร่ด้วย ตั้งแต่ตอนที่ตรา พ.ร.ฎ.เลย หรือตั้งแต่วันที่ศาลตัดสิน

อีกสาเหตุที่ต้องเป็น พ.ร.ฎ.ยุบสภาบางส่วน เพราะตัดสินแบบนี้ กกต.จะไม่ต้องโดนอะไร ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเหมือนการเลือกตั้ง 2 เม.ย.49 ที่โมฆะ กกต.จัดการเลือกตั้งผิด กกต.ชุดนั้นติดคุก แล้วสุดท้ายศาลฎีกาเพิ่งมายกฟ้องเมื่อปลายปีที่แล้วเองว่าคนฟ้องไม่มีอำนาจฟ้อง ติดคุกฟรีไป ครั้งนี้เหมือนกัน ถ้าศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะเนื่องจากจัดการเลือกตั้งไม่อยู่ในวันเดียวกัน กกต.เป็นคนจัดการเลือกตั้ง รัฐบาลจึงไม่เกี่ยวอะไร หากใช้บรรทัดฐานเหมือนปี 49 ต้องดำเนินคดีกับ กกต. แต่จะไปดำเนินคดียังไงเพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่าการเลือกตั้งผิด เขาไปโบ้ย พ.ร.ฎ. ว่ามันไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเฉพาะส่วนกำหนดวันฯ เพราะฉะนั้นคำวินิจิฉัยนี้มันจึงหัวมังกุท้ายมังกร มันผิดพลาดตั้งแต่หัวยันจบ

แล้วทีนี้อะไรจะเกิดขึ้นตามมา แน่นอน กกต. คงรอคำวินิจฉัยแบบนี้ เมื่อคำวินิจฉัยแบบนี้เกิดขึ้นปุ๊บ เขาก็ยินยอมพร้อมใจทำตาม แต่ปีกของรัฐบาลล่ะ สมมติถ้าเกิดรัฐบาลยืนยันกลับไปว่าคำวินิจฉัยนี้ตัดสินอะไรไม่รู้ ไม่มีผลอะไรเลย ถามว่า ถ้า กกต. จะนำคำวินิจฉัยนี้ไปถือปฏิบัติตาม กกต.จะปฏิบัติอย่างไร เพราะศาลไม่ได้บอกว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมา ทั้งการไปลงคะแนนล่วงหน้าและการลงคะแนน 2 ก.พ. สิ้นผล คะแนนทุกบัตรยัง valid ยังสมบูรณ์อยู่

ถ้าสมมติผมเป็น กกต. ที่อยากจัดการเลือกตั้ง ก็จะชนกับศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยการบอกว่า คุณไม่ได้บอกว่าการเลือกตั้งสิ้นผล จะเดินหน้าจัดการเลือกตั้งต่อ  แต่บังเอิญ กกต.ชุดนี้ก็เป็นอย่างที่เห็น

ในปีกของรัฐบาล โอเค ถ้าเราบอกว่า พ.ร.ฎ.สิ้นผลเฉพาะส่วน ก็ไปเติม พ.ร.ฎ. เฉพาะส่วน ทีนี้ถามว่า ที่เหลือ บกพร่องทั้ง 28 เขต ทำอย่างไร ถ้าจัดต่อไป ศาลก็จะบอกว่า ไม่ได้ เพราะกาคนละวัน ปัญหาเลยเป็นงูกินหาง  ถึงได้บอกว่าที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินมาไม่ให้คำตอบอะไรเลย แต่บังเอิญโชคดีว่าสังคมมีอารมณ์ร่วมเกิดขึ้นแล้วว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ

ผมยืนยันไม่มีตรงไหนที่บอกว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ แค่บอกว่า พ.ร.ฎ. กำหนดวันเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่ง พ.ร.ฎ.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญตรงไหน  เพราะก็เขียนไว้ชัดเจนว่า เลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. 57 เพียงแต่เหตุการณ์ที่ตามมา มี 28 เขต ที่ประกาศรับสมัครไม่สำเร็จเพราะมีคนไปขัดขวางเท่านั้นเอง

พอตัดสินออกมา ตั้งแต่รับคำร้องโดยไม่มีอำนาจ ตัดสินไปโดยไม่มีอำนาจ วินิจฉัยแล้วแต่เขียนอะไรก็ไม่รู้ ไม่เข้าใจ การให้เหตุผลมีปัญหาบกพร่อง ทั้งหลายทั้งปวงส่งผลทำลายเอาเจตจำนงของคนที่ไปกากากบาท

ยืนยันว่าไม่มีศาลที่ไหนในโลก ที่จะเพิกถอนการเลือกตั้งทั้งประเทศพร้อมกันโดยศาล ไม่มีทาง มันเป็นเรื่องที่เกิดยากมาก เต็มที่คือเพิกถอนเฉพาะเขต แต่ประเทศไทยประหลาดมาก เป็นประเทศเดียวที่เพิกถอนการเลือกตั้งไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 49 และปี 57 ดูทีท่าว่าจะหมายความว่าอย่างนั้นอีก

มันเป็นไปได้อย่างไร คนกากบาทเป็นการใช้เจตจำนงของตนเองในฐานะผู้ทรงอำนาจอธิปไตย ใช้แล้วต้องไม่มีใครขัดขวาง ใช้แล้วต้องรู้ทันทีว่าผู้แทนฉันเป็นใคร แต่ประเทศไทย ใช้เสร็จปุ๊บ ยังไม่รู้ ต้องพึ่ง กกต. และอาจแจ็กพอตเจอศาลรัฐธรรมนูญ หรือเจอศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ประเทศนี้เอาองค์กรเหล่านี้มาขัดขวางการแสดงเจตจำนงของผู้ใช้สิทธิลงคะแนนได้ตลอดเวลา ครั้งนี้ก็ดูเหมือนว่าจะทำแบบนั้นอีก

ปัญหาที่น่าคิดคือแล้วจะทำอย่างไร ถ้าคิดเล่นๆ คิดเร็วๆ อาจจะหาทางส่งเรื่องไปร้องศาลรัฐธรรมนูญอีกสักรอบหนึ่ง เพื่อถามว่าตกลงคุณตัดสินว่าอะไร เพราะไม่รู้จริงๆ คำวินิจฉัยเต็มยังไม่ออกใช่ไหม ถ้ากล้าๆ ก็เขียนมาว่าเพิกถอนการเลือกตั้งทั้งประเทศ แต่เชื่อว่าเขาไม่เขียน

ตกลงแล้วคำวินิจฉัยนี้ส่งผลต่ออะไรบ้าง แค่ พ.ร.ฎ.เฉพาะมาตรา แล้วต้องไม่ลืมว่า พ.ร.ฎ. ยุบสภาฯ มันเป็นเนื้อเดียวกับการกำหนดวันเลือกตั้ง ไม่มีทางกำหนดวันเลือกตั้งได้ ถ้าไม่ยุบสภา มาตรา 108 ที่บอกให้มี พ.ร.ฎ.ยุบสภา บังคับว่าถ้ายุบสภาเสร็จต้องกำหนดวันเลือกตั้งใน 45-60 วัน มันคือ act หรือการกระทำก้อนเดียวกัน แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับเฉือนเป็นท่อนให้เสร็จ กำหนดวันยุบสภาส่วนหนึ่ง กำหนดวันเลือกตั้งอีกส่วน  แล้วจะทำให้มันไม่สมบูรณ์เฉพาะส่วนกำหนดวันเลือกตั้ง

คือถ้าจะบอกว่า พ.ร.ฎ.ฉบับนี้มีปัญหา มันต้องไปทั้งก้อน ถ้ากล้าบอกว่า พ.ร.ฎ.ฉบับนี้มีปัญหา ต้องเอาสภาฯ กลับมาใหม่ ถามว่าเอาแบบนี้ไหม

สรุปคำวินิจฉัยที่มีปัญหาเมื่อวานนี้ตั้งฐานวิจารณ์จากใบแถลงข่าว เพราะยังไม่เห็นคำวินิจฉัยเต็ม และเชื่อว่าคำวินิจฉัยเต็มคงจะอีกนาน เผลอๆ รัฐบาลรักษาการอาจจะถูกจี้ไปเรียบร้อยแล้ว คือเดี๋ยวนี้มันเลยกลายเป็นเรื่องผิดประเพณีปฏิบัติในแวดวงตุลาการอย่างยิ่ง คือพอมีคนร้องปุ๊บ คุณตัดสินไวมากนี้ แล้วเวลาอ่านคำวินิจฉัย ส่งโฆษกศาลมานั่งแถลงเสร็จ กลับ คือความเป็นศาลอยู่ตรงนี้ คุณต้องมีคำวินิจฉัย แล้วนั่งบัลลังก์อ่าน เพื่อเป็นหลักประกันว่ามีคำวินิจฉัยแล้วอยู่ในมือ ไม่ได้ยกเมฆ 

ถามว่าเมื่อวานนี้ ที่โฆษกอ่าน เราแยกออกไหมว่าตรงไหนเป็นคำวินิจัย ตรงไหนเป็นความเห็นของโฆษกศาล เช่น เมื่อวานตอนท้าย โฆษกพูดทำนองว่า ให้ กกต. และรัฐบาลตกลงกันว่าจะตรา พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งวันไหน อันนี้ไม่ปรากฏในใบแถลงข่าว และส่วนตัวคิดว่าไม่ใช่คำวินิจฉัยด้วย นอกจากนี้ องค์กรที่อยู่ภายใต้ศาลรัฐธรรมนูญจะได้รู้ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร นี่ไม่พูดอะไรเลย มีใบแถลงข่าวใบเดียว

แล้วทำแบบนี้กับทั้งกรณีพ.ร.บ.2 ล้านล้านและคดีอื่นๆ ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง ศาลรัฐธรรมนูญเสียสภาพความเป็นศาลเพราะวิธีอย่างนี้ จริงๆ องค์กรตุลาการมีวิธีปฏิบัติของมันอยู่ ไม่มีศาลไหนหรอกที่ไม่ออกมาหน้าบัลลังก์ ไม่อ่านคำวินิจฉัยแล้วส่งใบแถลงข่าวแบบนี้ ถ้าทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ มันจะกลายเป็นที่ปรึกษากฎหมาย เพราะว่าถ้ามีใครร้องมาก็จะตัดสินเลยโดยไม่มีเหตุผลประกอบใดๆ ทั้งสิ้น

นี่ก็คือฐานการวินิจฉัยจากใบแถลงข่าวเมื่อวาน พูดได้เท่านี้เท่านั้นเพราะยังไม่เห็นคำวินิจฉัยเต็ม แต่ยืนยันว่าถ้าคำวินิจฉัยฉบับเต็มเขียนตามใบแถลงข่าวนี้ ไม่มีตรงไหนบอกว่า การเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือถูกเพิกถอน ไม่มีตรงไหนบอกว่า บัตรคะแนนที่ 20 ล้านคนไปลงสิ้นผล บอกแค่ว่า พ.ร.ฎ. กำหนดวันเลือกตั้งเท่านั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท