Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สิ่งที่แปลกใจกับดิฉันมากๆ เกี่ยวกับ การเลือกตั้ง สมาชิกวุฒิสภา ในประเทศไทย ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคมนี้ (ตัวดิฉันอาจจะไม่เข้าใจหลักการ เพราะไม่เคยประสบกับระบบที่ "พิลึกกึกกือ" ขนาดนี้ ) ก็เลยขอเขียนแบบเปิดใจหน่อยนะคะ:

1. ทางการใช้คำว่า "การเลือกตั้ง" แต่กลับห้ามทำการ "หาเสียง" เพื่อประกาศให้ผู้คนที่จะออกไป "เลือกตั้ง" ได้ทราบกันว่า "ผู้สมัคร" แต่ละคน มีนโยบายอย่างไร ซึ่งทำให้ประชาชนอย่างเราๆ และท่านๆ ไม่รู้จักบุคคลชื่อเสียงเรียงนามเหล่านี้ว่า เป็นใคร มาจากไหน มีคุณสมบัติอย่างไร เพราะไม่เคยมีการขึ้นเวทีปราศรัยหรือตอบคำถามจากประชาชน ด้วยการแนะนำตนเองให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบเกี่ยวกับประวัติพื้นเพหรือสิ่งที่ตนเองต้องกระทำ เมื่อชนะการเลือกตั้งแล้ว

2. การที่ สมาชิกวุฒิสภา ไม่สามารถจะสังกัดพรรคการเมืองได้นั้น ดิฉันสงสัยเหมือนกันว่า เวลาพวกนี้เขาไปโหวดในการเลือกตั้งใหญ่ (อย่างเช่นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์) เขาหรือเธอก็ต้องเลือกพรรคที่ตนชื่นชอบ แต่ตัวผู้สมัครเองกลับสังกัดพรรคการเมืองไม่ได้อย่างนั้นหรือ? (จะมาอ้างว่า คนที่สมัครพวกนี้ โหวต "โน" เพื่อแสดงความ "เป็นกลาง" ในทางการเมือง มันก็กระไรอยู่นะคะ)

3. ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาไม่สามารถประกาศอย่างเปิดเผยได้ว่า จะทำงาน "ร่วมกัน" อย่างไรกับพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร มันก็ทำให้ประชาชนรู้สึกแปลกๆ เพราะ หน้าที่หลักของสมาชิกวุฒิสภา ก็เป็นเรื่องการปรึกษาและออกกฎหมาย ซึ่งต้องประสานงานกับทางสภาผู้แทนราษฎรแทบทั้งสิ้น เมื่อไม่สามารถป่าวประกาศว่า จะทำงานร่วมกันกับสภาผู้แทนราษฎรหรือแม้กับรัฐบาลได้อย่างไร มันไม่มีความ "เข้าท่า" เลยในเรื่องนี้

ขนาดตัวผู้สมัคร ก็ยังไม่สามารถประกาศนโยบายได้ว่า ถ้าตนเองได้รับเลือกเข้าไปแล้ว จะทำอะไรในสภาบ้าง พูดง่ายๆ คือ ไม่สามารถทำสัญญาประชาคมได้เลย แต่เมื่อได้รับเลือกเข้าไป ก็กินเงินภาษีจากประชาชนเป็นเงินเดือนค่าตอบแทนอยู่ดี

แต่มันแปลกหรือไม่ ที่สมาชิกวุฒิสภาที่มาจาก "การแต่งตั้ง" นั้น กลับป่าวประกาศนโยบายอย่างชัดเจน (จากการให้สัมภาษณ์หรือออกข่าวแบบ 40 สว ในอดีต) ว่า เป็นปรปักษ์กับฝ่ายประชาธิปไตย เพราะพวกนี้ จะทำการค้านมันแทบทุกเรื่องเช่นกัน

4. พรรคการเมืองที่ประกาศบอยคอทท์การเลือกตั้งใหญ่ กลับเห็นเรื่อง "การเลือกตั้ง" อย่างนี้ กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่มีการประกาศทักท้วงแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่มันก็เป็น "การเลือกตั้ง" ในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งเกิดขึ้นจากการ "กาบัตร" อย่างนี้มันต่างกับการเลือกตั้งใหญ่ตรงไหนหรืออย่างไร? จะต้อง "ปฎิรูป" การเลือกตั้งก่อนอย่างนั้นหรือเปล่า?

5. ระบบการเลือกตั้ง สว แบบนี้ เป็นเรื่องที่แย่มาก เพราะ เหมือนกับว่า ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง ไม่มี "ความมั่นใจ" แต่อย่างใด เมื่อตอนที่จะลงคะแนนเสียงให้กับบุคคลๆ ใดคนหนึ่ง

ข้อมูลที่บุคคลผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งได้รับ ก็มาจาก "การฟอร์เวิร์ด" ข้อความหรือ จากอีเมล์ หรือ จากภาพที่แชร์กันบนหน้า Facebook ซึ่งสร้างด้วย "ความเชื่อ" จากคนอื่นๆ (ไม่ใช่จากการตัดสินใจของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งเอง) พูดง่ายๆ ก็คือ ท่านไม่ได้ตัดสินใจเลือก สว คนนี้ด้วยตัวท่านเอง ส่วนใหญ่มาจาก "ความเชื่อ" จากอีเมล์หรือการโพสต์หน้า Facebook แทบทั้งสิ้น ใช่ไหมคะ?

เรื่องนี้มันกลับกลายเป็นวิธีการที่กระทำตาม "คำบอกเล่า" หรือ "ข่าวลือ" เกี่ยวกับคุณสมบัติของบุคคลผู้สมัครเพื่อเป็นสมาชิกวุฒิสภา ดังนั้น เหตุผลที่จูงใจให้เรา "กา" คะแนนให้นั้น เป็นเรื่องของ "ความเชื่อ" จาก "ตัวหนังสือ" แทนที่จะเหมือนกับ ผู้แทนราษฎรที่เรา "มั่นใจ" ว่า เรา "กา" ให้กับคนที่เราชื่นชอบจริงๆ

เราถึงเห็น การ "ถามคำถาม" ตามหน้าเว็บกันให้วุ่นว่า "จะเลือกใครดี" หรือ "ใครเป็นผู้สมัครฝ่ายประชาธิปไตย" กันบ้าง? งงไหมคะ กับ ตรรกะแบบนี้?

สรุปแล้วก็คือ การ "กา" ให้กับ ผู้สมัคร สว คนใดคนหนึ่งนั้น ทำไมต้องถามกับตนเองด้วยว่า เรา "กา" ถูกคนหรือเปล่า? นี่คือ สิ่งที่แปลกประหลาดที่สุดในการ "เลือกตั้ง" ที่ไม่มีการออกหาเสียง สังกัดพรรคการเมืองก็ไม่ได้ และประชาชนก็๋เลยไม่ทราบว่า เขาจะทำงานร่วมกันกับอีกสภาหนึ่งได้อย่างไร

น่าจะส่ง บทบาทของการ "เลือกตั้ง" แบบนี้ ไปให้กับ Ripley's Believe it or not เพื่อตีพิมพ์เรื่องที่ ประหลาดๆ ที่สุดในโลกกัน...

 

ที่มา: https://www.facebook.com/doungchampa/posts/598398640257039

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net