Skip to main content
sharethis
ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวภูเก็ตหวาน (WWW.PHUKETWAN.COM) ร้องเรียนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หลังกองทัพเรือเข้าแจ้งความในข้อหาหมิ่นประมาทและพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
 
 
4 เมษายน 2557 นายอลัน จอห์น มอริสันและนางสาวชุติมา สีดาเสถียร ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวภูเก็ตหวาน (WWW.PHUKETWAN.COM)  ซึ่งเป็นสำนักข่าวท้องถิ่นขนาดเล็กในจังหวัดภูเก็ตยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ณ ห้อง 709 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  เรื่อง ร้องขอความเป็นธรรมกรณีละเมิดสิทธิการนำเสนอข่าวโดยใช้มาตรการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
 
ทั้งนี้ การยื่นหนังสือและชี้แจงกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ร่วมกับทีมทนายความ จากสำนักงานกฎหมาย เอสอาร์ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และ iLaw เข้าร่วมชี้แจง ซึ่งมีรายละเอียดในการหารือและชี้แจงดังนี้
 
นายอลัน จอห์น มอริสันและนางสาวชุติมา สีดาเสถียร ชี้แจงว่า สำนักข่าว ภูเก็ตหวาน ได้ติดตามข่าวเรื่องโรฮิงญามาตั้งแต่ปี 2551 และเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2556 ได้นำเสนอรายงานข่าวอ้างอิงข้อความตามรายงานพิเศษของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ WWW.REUTERS.COM โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของทางการไทยเข้าไปพัวพันกับการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงยาและเผยแพร่ข่าวดังกล่าวทางเว็บไซด์WWW.PHUKETWAN.COM  ต่อมาทางกองทัพเรือเข้าแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีผู้สื่อข่าวทั้งสอง ในข้อหาหมิ่นประมาท และ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 14 (1) ซึ่งเรื่องก็ยังคงอยู่ที่สำนักงานอัยการจังหวัด โดยจะมีนัดฟังคำสั่งอัยการในวันที่ 17 เมษายน 2557 นี้
 
โดยนางสาวชุติมาได้ชี้แจงว่า จะไม่ขอประกันตัวเอง เนื่องจากไม่ได้มองว่าตนนั้นกระทำความผิด เพราะเนื้อหาข่าวที่ได้นำเสนอนั้น ตนไม่ได้เป็นคนเขียนขึ้นมาเอง เป็นการอ้างข่าวของรอยเตอร์เท่านั้น และอีกประเด็นหนึ่งนางสาวชุติมาได้กล่าวว่าการบังคับใช้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 นั้น เหมือนเป็นการคุกคามและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อที่จะนำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริง โดยมองว่าการค้ามนุษย์เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนและเป็นประเด็นสาธารณะที่สำคัญและมีคุณค่าต่อสังคมไทย แทนที่เจ้าหน้าที่จะไปตรวจสอบการปฎิบัติหน้าที่ว่าเป็นจริงตามข้อกล่าวหาหรือไม่ แต่ทางทหารเรือไม่ไปตรวจสอบ กลับใช้ข้อกฎหมายที่ไม่มีความชัดเจนมาดำเนินคดีกับผู้สื่อข่าว ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าเป็นการปิดปากสื่อที่เผยแพร่ข้อเท็จจริงตรงนี้หรือเปล่า
ด้านนายอลัน จอห์น มอริสัน ได้ชี้แจ้งเพิ่มเติมว่าตนรู้สึกเสียใจ เพราะตนไม่ได้รู้สึกว่าตนได้กระทำผิดอะไร ทั้งที่ตนและทหารเรือเองก็มีความสัมพันธ์ที่ดีซึ่งกันและกัน และเรื่องนี้ไม่สมควรจะเกิดขึ้น
 
นายพนม บุตะเขียว ผู้ประสานงานฝ่ายคดี สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ชี้แจงถึงประเด็นเรื่องการนำ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ไปใช้นั้นผิดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งประเด็นนี้มีความเกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน เพราะโดยแท้จริงแล้ว พระราชบัญญัติดังกล่าวต้องการจะป้องกันปัญหาเกี่ยวกับ การโจรกรรมข้อมูลทางคอมพิวเตอร์หรืออาชญากรทางคอมพิวเตอร์ หรือการกระทำผิดที่เป็นการเผยแพร่สื่อลามกอนาจาร หรือการกระทำที่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ  แต่ในกรณีนี้กลับนำมาบังคับใช้เช่นเดียวกับ กฎหมายหมิ่นประมาทในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งผิดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย นอกจากนี้ได้มีการเสนอให้มีการปรับปรุงกฎหมายได้กล่าว ให้ใช้ให้ถูกตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
 
ทนายของผู้ร้องจากสำนักงานกฎหมายเอสอาร์ ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ประเด็นที่จะร้องเรียนนั้นเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ส่วนในกรณีนี้ว่าเนื้อหาข่าวหมิ่นหรือไม่ เป็นอีกกรณีหนึ่ง ดังนั้นประเด็นที่ร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คือเรื่อง การบังคับใช้กฎหมายผิดเจตนารมณ์ ซึ่งทางทนายได้อ้างถึงเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวโดยย่อเพื่อป้องกันและปรามการการโจรกรรมทางคอมพิวเตอร์ แต่ทั้งนี้การฟ้องคดีดังกล่าวเป็นการฟ้อง ในมาตรา 14 (1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งในส่วนนี้จะมีความคล้ายคลึงกับ กฎหมายอาญา มาตรา 264 ที่ระบุว่า ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน  ซึ่งจากการประกาศใช้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มา 5  ปี กลับถูกนำมาใช้ในเรื่องเนื้อหาเสียมาก  ขณะที่มีความพยายามแก้ไขพระนราชบัญญัติฉบับนี้โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) เนื่องจากเกิดปัญหาจากพนักงานสอบสวนนำไปใช้ผิดวิธี  อีกทั้งการดำเนินคดีด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ไม่สามารถยอมความได้และเงินค่าปรับยังสูงถึงหนึ่งแสนบาท และยังไม่มีอายุความอีกด้วย ขณะที่ความผิดฐานหมิ่นประมาทสามารถยอมความได้
 
ทั้งนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ได้สอบถามและให้คำแนะนำแก่ผู้ร้อง โดยคณะกรรมการมองว่าเรื่องนี้สามารถนำมาพิจารณาได้สองประเด็น คือ เรื่องของสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน โดยพิจารณา ในมาตรา 45 และมาตรา 46 และ ผลกระทบจากการใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ที่ขัดต่อเจตนารมณ์ที่แท้จริงของพระราชบัญญัตินี้ นอกจากนี้ยังมีประเด็นเพิ่มเติม ว่า ประเด็นนี้ค่อนข้างเป็นประเด็นที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ในข้อที่ 19 ที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกโดยประเด็นนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสามารถนำมาใช้ได้ในการเข้าไปมีบทบาทต่อกรณีดังกล่าว เพราะเป็นการละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีอยู่ ในกรณีที่สื่อนำเสนอการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐ และถูกฟ้องในลักษณะนี้ มันก็จะนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานที่อันตรายของสิทธิเสรีภาพของสื่อและประชาชนอีกด้วย
 
หลังการชี้แจงต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในการเรียกร้องขอความเป็นธรรมกรณีละเมิดสิทธิการนำเสนอข่าวโดยใช้มาตรการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับเรื่องไว้พิจารณาเพื่อทำการตรวจสอบต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net