ไทยพุทธที่ชายแดนภาคใต้ (ตอน1) : การตื่นตัวที่สายเกิน?

พุทธในหมู่มุสลิม: ความอยู่รอดของชุมชนไข่แดง

ถนนเล็กๆสายนั้นดูร่มรื่น แดดอ่อนกำลังดีเพราะเงาไม้ครึ้มจากสองข้างทาง แต่ความเงียบสงัดสำหรับเช้าวันนั้นมันกลับสร้างความอึดอัดไม่น้อย ลดทอนสุนทรียภาพของเส้นทางลงไปไม่น้อย 

พวกเราเดินทางไปปะนาเระเพื่อจะเข้าไปในหมู่บ้าน “บ้านทุ่ง” ต.ท่าข้าม อ.ปานาเระ จ.ปัตตานี หมู่บ้านคนไทยพุทธที่ล้อมรอบไปด้วยชุมชนมุสลิม หลายเสียงกล่าวถึงบ้านทุ่งว่า เป็นหมู่บ้านไทยพุทธในปะนาเระที่ยังไม่เคยเกิดเหตุการณ์รุนแรง เราจึงเข้าไปเพื่อจะสำรวจว่าพวกเขาอยู่กันอย่างไร

สองข้างทางของถนนเส้นเล็กดูเขียวชอุ่มไปด้วยทุ่งนา สวนมะพร้าวและสวนยาง ปะนาเระเป็นที่ที่ชาวบ้านทำสวนมะพร้าวกันค่อนข้างมาก แต่ความเขียวชอุ่มอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่การเกษตรดูจะสวนทางกับความเป็นจริงอย่างหนึ่งที่ว่า พื้นที่นี้ มีคนทิ้งถิ่นฐานไม่ต่างไปจากที่อื่น  ประชากรวัยหนุ่มสาวไหลเข้าสู่ตัวเมืองเพื่อประกอบอาชีพแบบใหม่ เพราะอาชีพเดิมไม่อาจตอบโจทย์ให้พวกเขาได้ ทิ้งให้ผู้คนจำนวนหยิบมือซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยอยู่ในหมู่บ้านต่อไปพร้อมกับอาชีพเดิมๆที่ทำรายได้น้อยลงขณะที่ทรัพยากรร่อยหรอลง ปัญหาอย่างเช่นปัญหานาร้างกลายเป็นปัญหาใหญ่

แต่ในพื้นที่แทบทุกแห่งของสามจังหวัดชายแดนใต้ ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่ทำมาหากินด้วยการค้าขายข้ามชุมชนหรือระหว่างหมู่บ้านข้ามเข้าสู่เขตเมือง อีกส่วนหนึ่งเข้าทำงานในเมืองแต่เลือกที่จะเดินทางไปทำงานแบบเช้าไปเย็นกลับ ปะนาเระเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ห่างไกลจากตัวเมืองปัตตานีมากนัก เพียงไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงผู้คนก็สามารถเดินทางเข้าเขตตัวเมืองได้เนื่องจากความสะดวกของถนนหนทางในปัจจุบัน ในยามปกติควรจะมีการสัญจรไปมาไม่น้อยเพราะนักเดินทางเหล่านี้ ทว่าในวันนี้ พวกเราไม่ค่อยพบคนเดินทางสักเท่าไร

เราไม่ทันได้สังเกตเห็นแกนนำในหมู่บ้านที่นัดพบกันด้านนอกถนนสายที่มุ่งตรงเข้าชุมชน ต่อเมื่อเดินทางเข้าไปลึกจนถึงตัวหมู่บ้านจึงได้พบชาวบ้านที่สัญจรไปมาประปราย พวกเขามองเราอย่างคลางแคลงใจ แล้วก็มีคนที่เข้ามาสอบถามตรงๆ ว่าเป็นใคร มาจากไหน เมื่อเห็นว่าเป็นสื่อก็แสดงอาการโล่งใจและช่วยนำพาเข้าไปในหมู่บ้าน สุนัขหลายตัวที่เพ่นพ่านตามถนนเป็นเครื่องยืนยันกับเราว่า นี่คือพื้นที่ชุมชนไทยพุทธอย่างแน่นอน กระบวนการเข้าสู่พื้นที่ไข่แดงจึงผ่านไปได้อย่างเรียบร้อย

ปกติการเข้าสู่หมู่บ้านโดยเฉพาะพื้นที่สีแดงหรือที่ผ่านสีแดงไม่ว่าจะพุทธหรือมุสลิมก็ไม่ต่างกัน การเข้าถึงพื้นที่เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องการการแนะนำตัวกันล่วงหน้าด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง เพราะ “คนใน” จำเป็นต้องรู้ว่าใครจะไปใครจะมา การดุ่มเดินทางเข้าพื้นที่ไปคนเดียวกลายเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะไม่เช่นนั้นความสงสัยอาจนำพามาซึ่งความโชคร้ายให้กับนักเดินทาง

ตำบลท่าข้ามของอำเภอปะนาเระมีหลายหมู่บ้านและส่วนใหญ่เป็นหมู่บ้านมลายูมุสลิมล้วน ส่วนที่เป็นหมู่บ้านไทยพุทธล้วนก็คือหมู่บ้านบ้านทุ่งที่พวกเราเข้าไปเยือนนี่เอง ที่นี่มีผู้คนอาศัยอยู่กันประมาณ 36 ครัวเรือน ช่วงเวลาที่พวกเราไปถึงยังเป็นเวลาเช้า 8 โมงกว่า ชาวบ้านบางรายจึงกำลังออกไปทำงานในที่นาของตนเอง

สมปอง อัดอินโหน่ง หญิงกลางคนร่างเล็กท่าทางทะมัดทะแมงเข้ามาต้อนรับพวกเรา วันนั้นสมปองชวนเพื่อนบ้านมาลงกล้าข้าวในนาซึ่งอยู่ติดริมถนนในหมู่บ้าน  เพื่อนบ้าน2-3 รายกับสมปองลงไปช่วยกันดำนาปักกล้า เราเก็บภาพการทำนาด้วยความทึ่งเพราะได้รับรู้ว่าเธอเป็นผู้ที่คว้ารับรางวัลเกษตรกรที่เป็นผู้พลิกฟื้นนาร้าง อันเป็นปัญหาที่ใหญ่และมีความพยายามที่จะแก้ไขแม้แต่การนำชาวนาในพื้นที่ไปเรียนรู้เทคนิคการทำนาที่จังหวัดภาคกลางอย่างที่สุพรรณบุรีก็เคยมีมาแล้ว

สมปองบอกเล่าเรื่องราวของการทำนาอย่างกระตือรือร้น และเรื่องราวการทำนานี่เองที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบให้กับเราว่า ทำไมบ้านทุ่งจึงยังเป็นพื้นที่ที่คนพุทธ “อยู่ได้” ในสถานการณ์ความรุนแรงแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เธอเล่าว่า ความสำเร็จของเธอมาจากการที่ได้พยายามค้นคว้าหาวิธีการที่จะทำนาให้ได้ผลดีด้วยตัวเองมาเนิ่นนาน ผลผลิตที่สูงกลายเป็นแรงจูงใจสำคัญและกระตุ้นให้เพื่อนบ้านอีกหลายรายหันมาช่วยกันทำนาด้วย และกลายเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยรื้อฟื้นผืนนาใกล้เคียงที่เคยว่างเปล่าให้กลับคืนสู่ชีวิตใหม่ และการทำนายังทำให้พี่สมปองได้ร่วมงานกับเพื่อนบ้านมุสลิมที่อยู่ติดๆกัน

เช้าวันนั้น มาฮามะมุสตามา สามะหรือ “บังมัง” เพื่อนบ้านจากหมู่4 ซึ่งเป็นคนที่สนใจเรื่องการทำนาเช่นกันก็มาร่วมวงคุยกับพวกเรา บังมังกับสมปองบอกว่าพวกเขาได้จับมือกันตั้งกลุ่มคนทำนากลุ่มเล็กๆประมาณ 10 กว่าคน เพื่อจะช่วยกันคิดค้นเทคนิคการทำนาด้วยกัน  พวกเขาเชื่อว่า ในอนาคตพวกเขาจะต้องผลิตข้าวที่มีมูลค่าหรือราคาสูงที่ตลาดระดับบนต้องการ

“เราจับกลุ่มปรึกษาหารือกันเรื่อยๆแก้ปัญหาการทำนา เช่นหาวิธีแก้ปัญหาศัตรูข้าว พัฒนาพันธุ์ข้าว ในเรื่องนี้เรามีแผนจะหาพันธุ์ข้าวใหม่ๆ โดยจะลงแบบไม่ใช้สารเคมี ซึ่งกำลังพยายามอยู่” สมปองเล่า

การมองหาข้าวพันธุ์ใหม่ที่แปลกไปจากที่เพื่อนบ้านใกล้เคียงปลูกกันทำได้หลายวิธี เช่นเมื่อไม่นานมานี้ พวกเขานำข้าวของตัวเองไปขอแลกพันธุ์กับกลุ่มทำนาในที่อื่นๆ บังมังบอกว่าตัวเขาเองปักใจว่าหน้าทำนาหนนี้จะทดลองปลูกข้าวพันธุ์ไรส์เบอร์รี่ซึ่งราคาแพง  สิ่งที่พวกเขาพยายามทำคือการทำให้อาชีพทำนาตอบโจทย์ของตัวเอง สร้างรายได้มากขึ้น เพื่อให้เลี้ยงตัวเองได้ 

“คนแถวบ้านผมเขาก็บอกว่าผมบ้าไปแล้วหรือเปล่า” บังมังเล่า ด้วยเหตุเพราะพฤติกรรมชอบทำอะไรแปลกๆ แต่เขาได้กลุ่มเพื่อนที่ทำนาด้วยกันจากหมู่บ้านทั้งพุทธและมุสลิมที่อยู่ติดกัน ช่วยกันคิดค้นเรื่องการทำนา นับได้ว่าเป็นการรวมกลุ่มกันของคนที่มีความสนใจและมีผลประโยชน์ร่วมกัน

สมปองบอกว่า เมื่อเธอทำนาได้รางวัลก็ได้รถไถนามา เธอใช้รถไถนาคันนั้นเองช่วยชาวบ้านอีกหลายคนไม่ว่าในบ้านเดียวกันหรือข้างเคียง มันกลายเป็นเครื่องมือเชื่อมสัมพันธ์ผู้คนเพราะได้ทำให้พวกเขาช่วยกันทำมาหากิน เป็นการตอบโจทย์ชุมชนด้วยตนเอง

สมปองและเพื่อนๆ เล่าว่า ปัญหาสำคัญของชาวบ้านอยู่ที่ว่า ต้องพัฒนาอาชีพที่ตนเองมีความรู้เบื้องต้นและเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับสภาพภายในพื้นที่ชุมชนของตนเอง อันเป็นเงื่อนไขที่ยังขาดไปสำหรับโครงการพัฒนาหลายอย่างที่หน่วยราชการต่างๆพยายามเข้าไปช่วยชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านไม่อาจต่อยอดหรือขยายผลได้ เนื่องจากมันไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาสนใจจริงๆหรือว่ามีความรู้มากพอเนื่องจากเป็นของใหม่ เช่นการเลี้ยงสัตว์ไม่ว่าสัตว์น้ำหรือสัตว์ปีกหรือแม้แต่วัว หลายชุมชนได้รับความช่วยเหลือในรูปโครงการส่งเสริมอาชีพ แม้ว่าจะมีการอบรม แต่การที่ขาดทรัพยากรหรือองค์ความรู้ดั้งเดิมสนับสนุนก็ทำให้ไม่มีความยั่งยืน เช่นการเลี้ยงสัตว์น้ำก็อาศัยอาหารที่ผลิตเองไม่ได้ การสนับสนุนการปลูกพืชบางชนิดต้องอาศัยกล้าที่มาจากภายนอก รายละเอียดสำคัญของโครงการทำให้งานไม่ยั่งยืนเนื่องจากไม่ได้สร้างมาจากฐานองค์ความรู้หรือทรัพยากรในชุมชนตนเอง พอโครงการจบลงชาวบ้านก็จะเลิกทำไปโดยปริยาย ทิ้งข้าวของอุปกรณ์ต่างๆ ไว้เป็นที่ระลึก แล้วก็ยังต้องออกไปรับจ้างหางานทำที่อื่นต่อไป

หากเป็นมุสลิม พวกเขาก็จะไปรับจ้างทำงานในมาเลเซีย ส่วนคนไทยพุทธก็ต้องไปหางานทำในตัวเมือง แต่ไม่ว่าจะในกรณีใดมันก็หมายถึงการที่ผู้คนทอดทิ้งถิ่นฐานที่อยู่ของตนเอง กลายเป็นต้นเหตุของชุมชนที่อ่อนแอ และพื้นที่ทำกินในหมู่บ้านอย่างเช่นนาข้าวต้องถูกทอดทิ้ง  

ฟื้นนา ฟื้นพื้นที่ปลอดภัย

แต่ปัญหาผู้คนโยกย้ายออกจากหมู่บ้านในช่วงสิบปีให้หลังนี้ ไม่ได้เป็นเพราะการไม่มีทางเลือกในเรื่องอาชีพเท่านั้น เหตุการณ์รุนแรงกลายเป็นปัจจัยสำคัญไม่แพ้กันโดยเฉพาะสำหรับคนไทยพุทธ คนจำนวนหนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อของเหตุการณ์รุนแรงอพยพเข้าเมือง คนในเมืองอพยพไปเมืองอื่น ทว่าในชุมชนเช่นบ้านทุ่ง ปฏิกิริยาคือการเก็บตัวจากโลกภายนอก

“เมื่อก่อนป้าไปขายน้ำตาลแว่นที่ตลาดปาลัส” ป้าพวง สมาชิกอีกคนของบ้านทุ่งเล่าให้เราฟังจากเพิงเคี่ยวน้ำตาลแว่นที่จะเรียกว่าเป็นของประจำตระกูลก็คงจะว่าได้  ไอร้อนและควันจากเตาขนาดใหญ่กระจายไปทั่วเพิงที่เต็มไปด้วยข้าวของเล็กๆน้อยๆเช่นกะลามะพร้าว ไม้ฟืน กระบอกใส่น้ำตาลสด ร่องรอยการทำงานในเพิงบอกเราว่ามันถูกใช้งานมานานปี ป้าพวงรับสืบทอดอาชีพนี้มาจากพ่อแม่ก่อนจะมาถึงช่วงสิบปีให้หลังของเหตุการณ์รุนแรง

“วันหนึ่งไปขายของเจอเหตุการณ์ระเบิด ป้าเองน่ะไม่เป็นอะไร แต่มองออกไปเห็นกล้วยแบะเป็นกองเละ ป้าเลยเก็บของกลับบ้านแล้วก็ไม่ไปอีกเลย”

เพื่อนบ้านของป้าพวงที่ไปขายของด้วยกันก็เช่นกัน รวมทั้งคนทำน้ำตาลแว่นที่บ้านทุ่งและคนอื่นๆที่เคยไปขายของในตลาดที่เลิกไม่ไปขายอีก ระเบิดที่มีเป้าหมายลงพื้นที่ที่มีผู้คนไปรวมตัวทำให้ตลาดเงียบเหงาลง แม่ค้าอย่างป้าพวงและเพื่อนผันตัวเองเป็นคนเคี่ยวน้ำตาลอย่างเดียว แล้วรอแม่ค้าหรือพ่อค้าเข้าไปรับซื้อ

อีกด้านคนในบ้านทุ่งและในหมู่บ้านใกล้เคียงต่างเริ่มสังเกตเห็นว่า อันตรายที่เกิดกับพวกเขา ไม่ได้เกิดขึ้นภายในหมู่บ้าน แต่เกิดข้างนอก โดยเฉพาะบนถนนหนทางอันร่มรื่น เงียบสงบที่เชื่อมต่อระหว่างถนนในหมู่บ้านกับโลกภายนอกนั่นเอง

“ถนนที่เข้ามาเมื่อกี้นี้นั่นแหละที่เกิดเหตุการณ์บ่อย ในหมู่บ้านไม่เคยมีเหตุการณ์เลย”

คำว่า “เหตุการณ์” ของพวกเขาก็คือเหตุการณ์ความรุนแรงนั่นเอง

“เรื่องเหตุการณ์ไม่ค่อยส่งผลกระทบในหมู่บ้านเราเท่าไหร่ เราอยู่กันแบบกันเอง แบบเพื่อนญาติ ไทยพุทธ มุสลิม อยู่เหมือนกัน อยู่อย่างไรยี่สิบปีที่แล้วตอนนี้ก็อยู่อย่างนั้น แต่ถ้าออกนอกหมู่บ้านเรารับผิดชอบไม่ได้” บังมังหรือมาฮามะมุสตามาย้ำ

บังมังมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านด้วย เขาเห็นด้วยกับเพื่อนคนไทยพุทธในบ้านทุ่งว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นผลของความพยายามที่จะทำให้พวกเขาแตกแยกกัน ทุกอย่างตอกย้ำความเชื่อที่ว่า คนที่ลงมือใช้ความรุนแรงคือคนจากข้างนอก พวกเขาเชื่อว่าหากสามารถสานสัมพันธ์พุทธมุสลิมฉันท์เพื่อนบ้านที่ดี ไม่ทอดทิ้งและพึ่งพาอาศัยกัน สิ่งนี้จะเป็นเกราะช่วยป้องกันพวกเขาได้ระดับหนึ่ง

ขณะที่สมปองบอกว่า สถานการณ์รุนแรงทำให้คนในบ้านทุ่งปรับตัวด้วยการพยายามเลี้ยงตัวเองอยู่ในหมู่บ้านให้ได้ พวกเขาพยายามทำงานที่ไม่ต้องเดินทาง ส่วนคนที่ต้องเดินทางก็ลดการเดินทางลง คนที่เคยเดินทางไปทำงานเช้าไปเย็นกลับก็หันไปใช้วิธีนานๆกลับครั้งหนึ่ง หรืออย่างน้อยไม่เดินทางเข้าออกเป็นเวลาประจำ นับเป็นการใช้ชีวิตแบบ “อยู่กับที่”  

ชีวิตที่อยู่กับที่ก็ต้องการอาชีพเพื่อให้อยู่ได้เช่นกัน สมปองเล่าว่าชาวบ้านเริ่มกลับมาทำนากันใหม่และทำกันแทบจะทุกครัวเรือนของจำนวน 36 ครัวเรือนที่อยู่ในหมู่บ้าน การทำนากลายเป็นการตอบโจทย์ให้กับพวกเขาเพราะลดการเดินทางให้น้อยลง ขณะที่ที่ดินทำกินเหล่านี้ก็มีอยู่แล้วเพียงแต่กลับไปรื้อฟื้นมันอีกครั้งเท่านั้น  เมื่อเป็นเช่นนี้อาชีพทำนาในหมู่บ้านนี้จึงคึกคักขึ้น

นอกจากนี้ชาวนาย่านนี้ยังมีอาชีพเสริมเพราะที่ปลายนาแต่ละแห่งมักมีต้นโตนดหรือต้นตาลทำให้นอกจากการทำนาแล้ว พวกเขายังได้เก็บน้ำตาลสดจากต้นตาลไปเคี่ยวทำน้ำตาลแว่นขาย อันเป็นรายได้ที่แม้ไม่มาก แต่เมื่อรวมเข้าแล้วก็ทำให้หลายคนพอจะอยู่ได้

ปัญหามีอยู่แค่ว่าการขึ้นต้นตาลที่สูงลิ่วต้องอาศัยความชำนาญ จึงมีบางรายที่ตกต้นตาลอยู่ในสภาพกึ่งพิการหรือพิการไปก็มี ทำให้คนที่จะขึ้นตาลเพื่อเก็บน้ำตาลสดมีไม่มาก ประกอบกับต้นตาลที่มีอยู่ตามธรรมชาติก็แทบไม่เหลือ จะมีก็แต่ที่ชาวบ้านปลูกไว้ ดังนั้นน้ำตาลแว่นจึงเป็นของกินที่หาได้ไม่ง่ายนักในระยะหลังๆ แต่การที่น้ำตาลแว่นหาได้ยากขึ้นก็ได้ส่งผลให้คนที่ผลิตน้ำตาลแว่นทำราคาได้ไม่เลวร้ายจนเกินไป นอกจากนั้นสมปองและเพื่อนๆเริ่มหาวิธีการสร้างรายได้ใหม่ๆ เช่นหาความรู้เรื่องการสานตะกร้าและหาผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่จะผลิตกันเองให้ได้มากขึ้นเพื่อเพิ่มหนทางหารายได้

“เรารู้ว่าถ้าผลิตอะไรแค่นิดๆหน่อยๆพ่อค้าก็จะมาไม่ถึงเพราะมันไม่คุ้มที่จะเดินทางเข้ามา เราเคยเป็นแม่ค้ามาก่อนเราก็เข้าใจดี เขาจะไปซื้ออะไรในหมู่บ้านถ้าไม่คุ้มค่าน้ำมันก็คงไม่ไป”

ชาวบ้านที่บ้านทุ่งจึงทำหลายอย่าง ทั้งทำนา ทำน้ำตาลแว่น ผลิตภัณฑ์จักสาน ปลูกผัก แปรรูปวัตถุดิบเช่นถั่วลิสง ขณะที่อีกด้านก็พยายามรักษาความสัมพันธ์กับชุมชนใกล้เคียง สิ่งสำคัญที่พวกเขาตระหนักก็คือความสัมพันธ์ที่ดีต้องมีเงื่อนไขหล่อเลี้ยง และสิ่งสำคัญก็คือการมีผลประโยชน์ร่วมกัน การคงอยู่ของฝ่ายหนึ่งต้องเอื้อประโยชน์ต่ออีกฝ่ายหนึ่งจึงจะทำให้พวกเขาอยู่ร่วมกันได้ การอยู่อย่างเป็นเอกเทศไม่ติดต่อสัมพันธุ์กับใครคือหนทางของความโดดเดี่ยวและไม่มีใครเหลียวแลใคร ในสถานการณ์ความขัดแย้ง การคงอยู่ชนิดต่างคนต่างอยู่จึงไม่ใช่คำตอบ

พวกเขายืนยันว่า สิ่งสำคัญอันหนึ่งก็คือพื้นฐานของความสัมพันธ์ของคนสองหมู่บ้านที่เป็นพุทธและมุสลิมที่ใกล้ชิดและพึ่งพาอาศัยกัน ความสัมพันธ์นี้ดำรงอยู่มานานระหว่างคนพุทธดั้งเดิมและมุสลิมในพื้นที่ เช่นเดียวกันกับที่อื่นๆ หลายคนเป็นญาติในครัวเรือนเดียวกันเพราะการแต่งงานที่ข้ามกันไปมา แม้ว่าจะนับถือคนละศาสนาแต่หลายครอบครัวเชื่อมโยงถึงกัน

“ที่นี่ผู้นำชุมชนเขาเคยเป็นพุทธแล้วแต่งงานกับมุสลิม ทำให้เกิดความสัมพันธ์แบบเครือญาติ บรรพบุรุษเขายังเป็นไทยพุทธอยู่” บังมังบอก

“ที่มีปัญหาคือที่อื่นรอบนอกมากกว่า ที่จะสร้างความแตกแยก  แต่เราก็มีจุดแข็งอยู่ตรงที่ว่าเราไปมาหาสู่กันอยู่ พยายามเชื่อมโยงกันเข้าไว้และต้องฟังหูไว้หู และระวัง ไม่ต้องถือปืน แต่ให้เราช่วยกันสังเกตว่าใครที่มาบ้านเรา”

“ผมว่าสาเหตุมันไม่ใช่มุสลิมพุทธทะเลาะกัน มันจะมีมือที่สามมากกว่า ชาวบ้านไม่ทะเลาะกันหรอก”

ขณะที่สมปองเสริมว่าในท่ามกลางความหวาดระแวงชุมชนทั้งสองฝ่ายต้องเข้มแข็ง “ถ้าไม่เข้มแข็งพอก็จะคิด ไม่ใช้ดุลพินิจ มองว่า คนไทยพุทธไปยิงหรือเปล่า หรือคนพุทธก็เหมือนกัน”

ทั้งสองฝ่ายวางแผนกันจัดประชุมคนสองกลุ่มเพื่อปรึกษาหารือสร้างความเข้าใจร่วมกันและเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น นุสนธิ์ เจือจันทน์ ไทยพุทธอีกคนหนึ่งจากปะนาเระที่เป็นเพื่อนของคนทั้งสองหมู่บ้านชี้ว่า การเสริมความสัมพันธ์ของคนสองกลุ่มเช่นนี้หากเริ่มต้นด้วยดี หลังจากนี้อาจจะสามารถขยายผลไปยังที่อื่นๆ ได้ แต่ทั้งหมดนี้พวกเขาเชื่อว่าขึ้นอยู่กับการที่ชุมชนทั้งสองฝ่ายคือพุทธบ้านทุ่งและมุสลิมที่อยู่ล้อมรอบต่างเห็นพ้องว่า อันตรายที่เกิดขึ้นมาจากคนนอกไม่ใช่คนใน

บทสรุปนี้ดูเหมือนจะไม่ต่างไปจากของชุมชนคนไทยพุทธในย่านอื่นๆ โดยเฉพาะที่อยู่ท่ามกลางชุมชนมลายูมุสลิมอันเป็นปรากฏการณ์ “ไข่แดง” ซึ่งที่จริงแล้วก็เป็นลักษณะการอยู่อาศัยของชุมชนคนไทยพุทธที่อยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนมากโดยเฉพาะที่อยู่นอกเมือง ในขณะที่หมู่บ้านที่มีลักษณะผสมผสานพุทธกับมุสลิมกำลังหดเล็กลงเพราะคนไทยพุทธที่ย้ายออก พื้นที่ชุมชนพุทธล้วนหรือพุทธส่วนใหญ่ยังคงหลงเหลืออยู่ก็เพียงประปรายและมีขนาดเล็กลง พวกเขาต่างต้องปรับตัวกันทั้งสิ้นเพื่อรักษาความปลอดภัย

ตัวอย่างที่เห็นได้อยู่ในย่านที่ไม่ไกลกันนักคือที่หมู่บ้าน “บ้านนอก” ที่อยู่ในเขตอำเภอปะนาเระ ที่นั่นผู้ใหญ่สมใจ ชูชาติ ผู้ใหญ่บ้านหญิง ซึ่งเป็นคนไทยพุทธ ดูแลลูกบ้านที่มีพุทธเป็นส่วนใหญ่และมีมุสลิมไม่กี่ครัวเรือนอยู่ในหมู่บ้านด้วยการดึงความช่วยเหลือจากผู้นำศาสนาของหมู่บ้านมุสลิมที่อยู่รอบๆ มาช่วย เธอดูแลพวกเขาไม่ให้น้อยหน้าไปกว่าคนไทยพุทธในหมู่บ้านเดียวกัน แม้กลุ่มมุสลิมในหมู่บ้านจะมีเพียงไม่กี่ครัวเรือน ผู้ใหญ่สมใจก็มองเห็นความสำคัญและความจำเป็นของการที่ต้องหางบประมาณไปสร้างบาลาเซาะ คือสถานที่ละหมาดให้กับพวกเขาพร้อมทั้งต้องชี้แจงให้บรรดาลูกบ้านไทยพุทธในหมู่บ้านให้เข้าใจเพื่อให้สนับสนุนการตัดสินใจอันนั้น พร้อมกันนั้นตัวเธอเองยังช่วยดูแลลูกบ้านมุสลิมในชุมชนรอบข้างที่มีปัญหาในการติดต่อกับราชการ  เป็นที่รู้กันว่าการติดต่อสัมพันธ์กับราชการเป็นเรื่องที่ไทยพุทธทำได้ถนัดและง่ายกว่ามากนัก มันเป็นส่วนหนึ่งของการเกื้อกูลของคนสองชุมชนที่ทำให้สายสัมพันธ์ยังคงอยู่ 

แนวความคิดของผู้ใหญ่สมใจก็คือความคิดอันเดียวกันกับคนในบ้านทุ่ง หลักการของพวกเขาก็คือชุมชนที่แปลกแยกและโดดเดี่ยวตัวเองจากเพื่อนบ้าน หรือที่ไม่มีประโยชน์ร่วมจะไม่มีใครมองเห็นความสำคัญของพวกเขาอีกต่อไป นั่นคือการอยู่อย่างไม่มีเพื่อนและไม่มีใครจะช่วยป้องกันอันตรายให้ยามเมื่อภัยมา

บทสรุปเช่นนี้ไม่ใช่ว่าจะเกิดได้ทุกพื้นที่ หรือเป็นบทสรุปที่ใช้ได้ทุกแห่ง แม้แต่ในอำเภอปะนาเระเองที่ได้ชื่อว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง มีหลายแห่งที่หย่อมบ้านคนไทยพุทธถูกลบหายไปเพราะผลกระทบจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น

ที่ตำบลปะนาเระ ในอำเภอปะนาเระ เดิมมีคนไทยเชื้อสายจีนหนาแน่นในตลาดและรอบตลาดสดที่อยู่ห่างจากตัวที่ว่าการอำเภอไปไม่กี่ร้อยเมตร ปัจจุบันเป็นที่รู้กันว่าไม่มีคนไทยพุทธหรือคนไทยเชื้อสายจีนหลงเหลืออยู่อีกต่อไป

เจ้าหน้าที่เล่าว่า ชาวบ้านคนไทยหรือคนพุทธในย่านตลาดสดนี้โยกย้ายออก บ้างก็ขายบ้าน บ้างก็ปล่อยให้เช่า ซึ่งในกรณีหลังแม้จะยังมีชื่อและทะเบียนบ้านอยู่แต่ตัวคนไม่มีใครอยู่แล้ว ที่อื่นๆในอำเภอปะนาเระซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีชุมชนคนไทยพุทธอยู่หลายหย่อมต่างก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน แม้ว่าจะไม่ทั้งหมด แต่การหดตัวลงของชุมชนคนไทยพุทธในพื้นที่ก็ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดในช่วง 3 หรือ 4 ปีให้หลังมานี้ จนเป็นที่รู้กันในหมู่คนที่ทำงานสนับสนุนในเรื่องความสัมพันธ์พุทธ-มุสลิม หมู่บ้านที่ยังเหลืออยู่จึงมักได้รับความสนใจจากสื่อในฐานะที่เป็นเสมือนตัวแทนของกลุ่มคนที่ยังปรับตัวจนอยู่ได้ในปัจจุบัน

พื้นที่รอยต่อระหว่างปะนาเระ มายอ และสายบุรีของปัตตานี ซึ่งอยู่ติดกับอำเภอไม้แก่น ถัดไปข้างๆของมายอคือทุ่งยางแดง ทั้งหมดนี้รวมกันเป็นพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงบ่อยครั้งและกลายเป็นตัวอย่างของการปรับเปลี่ยนของประชากรไทยพุทธที่เห็นได้เด่นชัด

ที่สายบุรี เมืองเก่าแก่ที่มีคนเชื้อสายจีนตั้งรกรากอยู่มาเนิ่นนานนั้น จำนวนประชากรคนไทยเชื้อสายจีนหดตัวลงอย่างฉับพลัน หลังเหตุการณ์ระเบิดใหญ่ที่ถนนสายหลักในตัวเมืองเมื่อเดือนกันยายนปี2555 อันเป็นเหตุการณ์ก่อนที่จะนำไปสู่การหยุดงานวันศุกร์อย่างกว้างขวางทั่วสามจังหวัดในเวลาต่อมา ผลกระทบจากเหตุการณ์หนนั้น ทำให้คนเชื้อสายจีนในสายบุรีย้ายออกไปหลายราย แต่จะเท่าไรแน่นอนไม่มีใครบอกได้ ผู้คนรู้แต่ว่าจำนวนคนพุทธลดลงเพราะคนจำนวนหนึ่งย้ายออกโดยไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้าน มีอีกจำนวนหนึ่งที่ขายบ้านและย้ายออกไป

มันคือภาพคร่าวๆของการหดตัวของชุมชนไทยพุทธที่เกิดขึ้นในพื้นที่บางส่วนของปัตตานี ซึ่งอาจจะถือเป็นตัวแทนของปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนไทยพุทธในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คงจะไม่เกินเลยไป สภาพของชุมชนคนไทยพุทธดั้งเดิมที่นี่จึงอยู่ในอาการถอยร่นจนในปัจจุบันตัวเลขประชากรน่าจะน้อยลงไปกว่าเดิมค่อนข้างมาก

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (ซีเอสซีดี) ระบุว่า คนไทยพุทธซึ่งเดิมเคยมีประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดจำนวน 2 ล้านคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ขณะนี้ตัวเลขน่าจะลดลงเหลือแค่หนึ่งหรือสองแสนคนเท่านั้น เท่ากับว่าลดลงไปร่วมครึ่งหนึ่ง

 

โครงการให้ทุนเพื่อทำข่าวเชิงลึกได้รับการสนับสนุนทุนจากโครงการสะพาน โดยการสนับสนุนจากองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา โดยเปิดรับสมัครผู้สนใจเสนอประเด็นเพื่อขอรับทุนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 โดยคณะกรรมการได้คัดเลือกประเด็นจำนวน 41 ประเด็น จากผู้สมัครเข้าขอรับทุนทั้งหมด 39 ราย จนได้ผู้มีสิทธิได้รับทุนจำนวน 10 ราย และผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพียงพอที่จะนำเผยแพร่จำนวน 8 ประเด็น  โดยเว็บไซต์ประชาไทได้ทยอยนำขึ้นเผยแพร่ ดังปรากฏอยู่ในหน้านี้แล้ว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท