Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


“One is not born, but rather becomes a woman.” – Simone de Beauvoir, The Second Sex, p.267


การมองสิ่งปกติจากสายตาของมนุษย์ทั่วไปเกี่ยวกับร่างกายของตนเองนั้นคงจะหลีกหนีไม่พ้นการพินิจถึงความแตกต่างทางกายภาพของตนเองและของมนุษย์คนอื่นๆ แต่ถามว่านั้นหมายความว่าเราได้สร้างความตระหนักรู้ในการนิยามความแตกต่างหลากหลายของผู้คนในสังคมได้โดยตนเองเลยหรือไม่ คงต้องตอบว่าไม่ การแบ่งแยกลักษณะทางกายภาพของมนุษย์นั้นส่งผลต่อการจัดระเบียบทางสังคมโดยการระบุลักษณะเฉพาะของประชากรว่าเป็น ชาย หรือ หญิง การสร้างสภาวะการรับรู้ความเป็นชายและความเป็นหญิงถูกผลิตสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อการจัดระเบียบสังคมโดยรัฐที่ยังมีฐานความคิดแบบชายหญิง (heterosexism) ที่พร้อมจะผลักไสและสร้างความแปลกแยกให้กับบุคคลที่ไม่ถูกจัดแจงให้อยู่ในสารระบบที่กำหนด เป็นที่แน่ชัดผ่านการระบุเพศสรรพนามสำหรับพลเมืองชายและหญิงที่ชัดเจน หรือแม้กระทั่งคำลงท้าย ค่ะ คะ ครับ ก็ยังบ่งบอกถึงนัยยะของการแสดงอัตลักษณ์เฉพาะชายหรือหญิงเท่านั้น

ด้วยประการฉะนี้เองสภาวะ “เบี่ยงเบนทางเพศ” จึงกลายมาเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐและสังคมที่สมาทานชุดความคิดนี้ก็เพราะสภาวะความเป็นมนุษย์ปกตินั้นถูกกำหนดสรรสร้างพื้นที่ไว้ให้เพียงกับแค่มนุษย์เพศชาย และเพศหญิง บุคคลอื่นใดที่เบนเบี่ยงไปการการจัดจำแนกสิ่งมีชีวิตสองจำพวกนี้นั้นจะถูกจัดออกไปสู่สภาวะเบี่ยงเบนทางเพศ เพราะดันนิยามหรือแสดงออกซึ่งตัวตนของตนเองต่างจากความเป็นผู้ชายและผู้หญิง ปัญหาของความเบี่ยงเบนทางเพศจึงก่อกำเนิดมาจากผู้ที่คิดว่าตนนั้นเป็นปกติ เที่ยงตรงที่สุด

จากการพิจารณาคำอธิบายของ Beauvoir นักสตรีนิยมชาวฝรั่งเศสผู้เขียนหนังสือ The Second Sex ได้อธิบายสภาวะของสตรีไว้ว่าเราหาใช่เป็นสตรีมาแต่กำเนิดแต่กลายมาเป็นสตรีโดยมีการสร้างความเป็นอื่น (otherness) ให้แก่ปัจเจกบุคคลที่ถูกอธิบายว่าเป็นสตรีตลอดเวลาเรามนุษย์ถูกสังคมผลิตสร้างและกล่อมเกลาบทบาททางเพศมาตั้งแต่ยังแบเบาะ ตั้งแต่วัยเด็กจนโตมาตลอดเวลาให้เราคิดว่าตัวเราเองนั้นเกิดมาเป็นมนุษย์ชายหรือหญิง สิ่งเหล่านี้ทำให้เราควรมาตั้งคำถามต่อว่าสภาวะการรับรู้ในเรื่องเพศซึ่งเป็นสิ่งพื้นฐานที่สุดของมนุษย์ว่าแท้จริงแล้วความตระหนักว่าเราเป็นหญิงหรือชายนั้นใช่สัจธรรมสูงสุดแล้วหรือไม่  ? หรือนั้นเป็นเพียงการระบุตัวตนตามที่สังคมนิยามให้เราเป็นและเราคิดว่าเราเป็นเช่นนั้นจริงๆ กันแน่

ตลอดเวลาที่เรายังเชื่อในความจริงนี้ว่าสัจธรรมอันจริงแท้และปกติที่สุดของการระลึกตัวตนว่าด้วยเรื่องพื้นฐานอย่างเพศคือการมี ชาย และ หญิง อันถูกแบ่งแยกบทบาทและหน้าที่ทางสังคมที่ต่างกันไปโดยมีฝ่ายหนึ่งเป็นผู้มีอำนาจเหนือกว่า การพยายามอธิบายความเป็นชายให้มีความห้าวหาญ แข็งแกร่ง มีเหตุผล ซื่อตรง และสร้างคำอธิบายความเป็นหญิงให้อ่อนแอ นุ่มนวล เต็มไปด้วยอารมณ์ และเอนเอียงไปเรื่อย ทำให้การจำกัดความในการรับรู้ทางเพศจึงถูกแบ่งเป็นเพศที่หนึ่งที่อนุมานกันเป็นชาย และเพศที่สองตามมาว่าเป็นหญิงซึ่งตรงกับชื่อเรื่องของ Beauvoir ที่แสดงสัญญะของการกดทับมนุษย์ที่ถูกนิยามว่าเป็นเพศหญิงผ่านการแบ่งแยกและสร้างความเป็นอื่นออกไปจากความเป็นชาย

กระนั้นเองฐานวิธีคิดนี้ก็ยังถูกใช้กันอยู่มากในสังคมไทย แต่ในไทยเองกลับมีมิติของการแบ่งแยกและเหยียดหยามที่มากกว่าการกดทับเพียงแค่โครงสร้างทางอำนาจของเพศสองเพศ แต่คำว่า เพศที่ 3 เป็นคำในสังคมกระแสหลักที่เราสร้างกันขึ้นมาตีขลุมกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศให้อยู่ในตะกร้าของความพิเศษ และนัยยะของความพิเศษนั้นคือการผลิตซ้ำการรับรู้อัตลักษณ์ของปัจเจกบุคคลกลุ่มนี้ให้ผิดแผลกไปจากความปกติหรือความเป็นชายและหญิงนั้นเอง ทำให้การประกอบสร้างตัวตนของคนกลุ่มนี้ต้องตกอยู่ในสภาวะเบี่ยงเบน และการกดทับทางเพศที่ขยายตัวออกไปนี้เองจึงเป็นที่มาของการจัดลำดับของสังคมที่เรายังมองผู้คนให้มีสถานะทางอำนาจที่เหนือกว่า และต้องมีผู้ที่ต่ำกว่า และที่สำคัญคือผู้รอคอยการยอมรับจากสังคม

หากอ่านจากสิ่งที่ได้เขียนไว้เราคงจะคิดว่าทำไมผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ถูกนิยามให้เป็นเพศที่สามจึงยังไม่ถูกยอมรับจากสังคมจริงหรือ ? คงต้องบอกว่าจริง ก่อนที่เราจะเห็นว่าการประกอบสร้างตัวตนของคนกลุ่มนี้นั้นต้องอาศัยพึ่งพิงปัจจัยอะไรเพื่อที่จะดันตัวเองเข้ามาอยู่กลายสังคมแบบชายหญิงเหล่านี้ โดยทั่วไปแล้วสังคมไทยไม่ได้มีรากฐานความคิดที่อิงจากคติของคริสตจักร (Christianity) ที่มีรากฐานที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความเป็นคนรักเพศเดียวกันมาอย่างยาวนาน ทำให้กระแสการต่อต้านบุคคลเหล่านี้ในไทยไม่ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มที่ชัดเจนในจุดยืนและอุดมการณ์ต่อต้านคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และรูปแบบทางเพศวิถีที่แตกต่างจากชายหญิงเช่นในสหรัฐอเมริกา และในยุโรป

ด้วยการเปรียบเทียบเช่นนี้แล้วมันจึงชัดเจนว่าในบริบทของสังคมไทยปัจจุบันเรายอมรับการมีเพศที่สามได้อย่างโจ่งแจ้ง แม้ว่าในอดีตกาลของสังคมไทยการเป็นเพศที่สามนั้นถือว่าเป็นเรื่องของความน่าละอายไม่อาจยอมรับได้แม้กระทั่งในหมู่กระแสของปัญญาชนชายในประวัติศาสตร์ไทยอย่างปรีดี พนมยงค์ ก็ยังสะท้อนวิธีคิดที่ไม่ได้ยอมรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ การใช้ความเป็นเพศที่ 3 ที่เอนไปทางผู้หญิงก็กลายมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเช่น การใส่ร้ายพระพิมลธรรม อันสอดคล้องกับการใช้คำเช่น ประเทือง ใจตุ้ด ในการด่าประณามผู้ที่ไม่มีความกล้าหาญในสังคม

ด้วยเหตุที่ว่าการมองบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศให้เป็นคนอื่น (the others) เหมือนที่ Beauvoir พยายามอธิบายกับการกดทับเพศหญิง ไม่ใช่ว่าเราอยู่ดีๆ มนุษย์ก็กลายเป็นโดนแบ่งแยกโดนกดทับโดยไร้สาเหตุ แต่การเกิดสภาวะการกดขี่หรือกดทับเช่นนี้มันเกิดจากการที่เราตกอยู่ภายใต้โครงสร้างรัฐที่ป้อนข้อมูล องค์ความรู้ที่มีอำนาจต่อสำนึกการรับรู้ของเรา ความรู้คืออำนาจ การที่รัฐได้ผลิตโรงเรียนขึ้นมาก็เพื่อที่จะป้อนข้อมูลที่รัฐอยากให้พลเมืองรู้ แต่ที่สำคัญคือรัฐกำลังเข้าไปจัดการบทบาทและร่างกายของพลเมืองโดยกำหนดวิธีคิดและบทบาททางเพศให้แก่เด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายที่แตกต่างกันไป สำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นกลับถูกผลักไสให้กลายเป็นปัญหาและตกอยู่ภายใต้การนิยามว่าเป็นผู้เบี่ยงเบนทางเพศ เป็นความเจ็บป่วยบ้าง

สภาวะความแปลกแยกเช่นนี้ที่เกิดกับผู้มีความหลากหลายทางเพศจึงมีที่มาจากการที่รัฐไทยไม่ได้ใส่ใจต่อคนกลุ่มนี้ แม้กระทั่งแบบเรียนเพศศึกษาก็สอนเพียงแต่เรื่องของการร่วมเพศแต่ชายหญิง กายสรีระแบบชายหญิง และหากเป็นคนรักเพศเดียวกันก็จะจัดไปอยู่ในสถานะที่ว่างเปล่าพร้อมอาจต้องถูกดูถูกจากตำราเรียนที่บอกว่าคนกลุ่มนี้ผิดปกติ รวมทั้งคติทางศาสนาพุทธก็ยังมีการกดทับคนกลุ่มนี้ เช่น การที่ลูกชายบวชไม่ได้พ่อแม่ก็จะไม่ได้ขึ้นสวรรค์ ทำให้ความเชื่อที่ว่าเกิดมาเป็นกะเทยก็บาปอยู่แล้วเป็นสิ่งที่คอยกดทับคนกลุ่มนี้รวมทั้งกะเทยเองหลายๆ ครั้งก็ใช้คำพูดเช่นนี้ในการดูถูกตนเองอันสะท้อนอำนาจแห่งการควบคุมที่แฝงลึกลงไปถึงในจิตใจให้ผู้ที่ถูกกดขี่สร้างม่านกั้นการปลดแอกตนเองโดยการพยายามตรวจจับความผิดปกติของคนเองที่อาจจะเข้าข่ายการออกจากกรอบโครงสร้างของการกดทับ

ดังนั้นการจะรื้อสร้างความคิดในสังคมให้เห็นหัวคนกลุ่มนี้อย่างแรกคือต้องปฏิรูปตัวรัฐไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม และต้องพยายามสร้างจิตสำนึกที่ไม่สอนสั่งให้คนเราเห็นเรื่องการเหยียดเพศ (sexism) เป็นเรื่องปกติ อันไม่ต่างจากการที่เราพยายามทำให้ความรุนแรงอย่าง hate speech คำแห่งความเกลียดชัง ดูถูกชนชั้นอื่นเป็นเรื่องปกติ ด้วยเหตุนี้ในประเทศที่อยู่ภายใต้สหภาพยุโรปจึงมีกฎที่สามารถเอาผิดผู้ที่เหยียดหยามผู้อื่นด้วยเรื่องของเพศสภาพได้ เราเรียกกฎพวกนี้ว่า Anti-discrimination laws อันรวมการเหยียดหยามเพื่อนมนุษย์ทางด้านอื่นๆ เช่น ชาติพันธ์ สีผิว เข้าไปด้วย ซึ่งสำหรับเรื่องเพศแล้วนั้นมันไม่อาจถูกละเลยในฐานะที่เราปัจเจกบุคคลอันพึงมีเสรีภาพและอำนาจในการตัดสินใจในตนเองต้องการนิยามความเป็นมนุษย์ผ่านความตระหนักรู้ของเรา หาใช่การรอให้ใครสักคนมาขีดเขียนชะตาให้เราเป็น

 

 

ติดตามบทความตอนที่2 : จากเพศที่ 2 สู่เพศที่ 3 : สภาวะการกดขี่กับวาทกรรมของเสรีภาพ (2)ปัญหาของมดลูก, คุณค่าความเป็นหญิง และการสร้างตัวตนของกะเทยในสังคม  ได้ที่นี่เร็วๆนี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net