ผู้หญิงในประวัติศาสตร์: แพทย์หญิงคนแรกของอินเดีย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


Anandibai Joshi หรือ 'ยะมุนา'

Anandibai Joshi หรือ 'ยะมุนา' จากอินเดียเป็นหนึ่งในสตรีกลุ่มแรกที่มีโอกาสเข้าศึกษาในวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์สำหรับสตรีแห่งแรกของโลก ยะมุนาเป็นชาวฮินดู เกิดเมื่อ 31 มีนาคม 1865 ในเมืองเล็กๆชื่อ Kalyan ใกล้กับเมืองมุมไบ ครอบครัวดั้งเดิมของเธอเคยร่ำรวยเป็นเจ้าที่ดิน แต่ต่อมาฐานะตกต่ำลง ยะมุนาแต่งงานเมื่อายุเก้าปี กับพ่อหม้ายวัย 20 ปี หลังแต่งงานเธอเปลี่ยนมาใช้ชื่อ Anandi Jochi

ก่อนแต่งงานยะมุนาอ่านภาษามาราธีแทบไม่ได้เช่นเดียวกับเด็กสาวชาวอินเดียทั่วๆไปในยุคนั้น 'โกปาลเรา' สามีของเธอเป็นผู้ชายที่มีความคิดแปลกแยกจากสังคม เขาสนับสนุนให้สตรีได้รับการศึกษา เขามีความตั้งใจที่จะให้ภรรยาได้เข้าเรียนในโรงเรียนมิชชั่นนารี แต่ไม่สามารถทำตามแผนที่คิดไว้ได้เพราะครอบครัวต้องย้ายที่อยู่ไปต่างเมืองบ่อยครั้ง เขาจึงเริ่มสอนหนังสือเธอที่บ้าน  ยะมุนาไม่รู้ว่าตัวเธออยากเรียนหนังสือหรือไม่ เพราะเธอไม่ได้มีทางเลือกอื่นใด แต่เพราะเขาเป็นสามีเธอและเธอต้องฟังสิ่งที่เขาพูด เธอหวั่นเกรงว่าเขาจะดุด่า แต่เมื่อเธอเริ่มเรียนหนังสือ ยะมุนาก็สามารถอ่านเขียนภาษาสันสกฤตและอังกฤษได้ในเวลาไม่นาน การเรียนของเธอก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โกปาลเราจึงต้องการให้เธอได้รับการศึกษาที่สูงกว่านี้

โกปาลเราใช้ความพยายามอย่างหนักทุกวิถีทางเพื่อให้ภรรยาได้รับทุนการศึกษาในอเมริกา ในที่สุดมีครอบครัวอเมริกันในรัฐนิวเจอร์ซี่ที่รับรู้เรื่องราวของเธอจากข่าวได้เสนอให้ทุนการศึกษายะมุนา แต่ไม่มีงานให้โกปาลเราทำได้ในอเมริกา เขาจึงตัดสินใจส่งยะมุนาเดินทางไปอเมริกาตามลำพัง การตัดสินใจที่แหวกกรอบประเพณีดั้งเดิมนี้ทำให้ทั้งคู่ต้องเผชิญกับการต่อต้านหยามเหยียดของสังคมและคนรอบข้าง บางคนถึงกับขว้างปาก้อนหินและขี้วัวใส่สามีภรรยาคู่นี้

อย่างไรก็ตาม ยะมุนาตัดสินใจเดินทางไปอเมริกาตามความฝันของเธอและสามี เธอฝ่าฟันอุปสรรคขวากหนามทั้งปวงไปถึงอเมริกาในเดือนมิถุนายน 1883 เพื่อเข้าศึกษาในวิทยาลัยการแพทย์สตรีในรัฐเพนซิลเวเนีย เธอได้รับทุนการศึกษาจากทางมหาวิทยาลัยอีกจำนวน 600 ดอลลาร์สำหรับระยะเวลาสามปีที่เธอศึกษาที่นี่

ยะมุนาเลือกที่จะเรียนเป็นแพทย์เพราะเธอสูญเสียลูกชายวัยทารกไปเมื่อเธออายุเพียง 14 ปี ยะมุนาเข้าใจความอายของผู้หญิงที่ไม่กล้าไปให้หมอผู้ชายรักษา และนั่นเป็นสาเหตุของความตายของทารกจำนวนมาก ในการเรียนที่วิทยาลัยการแพทย์แห่งนี้ ยะมุนาเขียนงานวิจัยเกี่ยวกับ "การคลอดของชาวอารายัน-ฮินดู"

แม้การอยู่ท่ามกลางวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่แตกต่างจากสังคมอินเดียของเธอ รวมทั้งภูมิอากาศที่หนาวเย็นจะเป็นอุปสรรคกับการศึกษาและสุขภาพของเธออย่างมาก แต่ยะมุนาก็ต่อสู้ฝ่าฟันจนจบการศึกษาในปี 1886

ในวันที่รับประกาศนียบัตร และมีการประกาศว่าเธอเป็น "แพทย์หญิงคนแรกของอินเดีย" ยะมุนามีสามีอยู่เคียงข้าง โกปาลเราตามมาอเมริกาในปี 1885


Anandibai Joshi หรือ 'ยะมุนา' จากอินเดีย กับเพื่อนชาวญี่ปุ่น และซีเรีย ในวิทยาลัยแพทย์สตรีแห่งแรก

โชคร้ายที่สุขภาพของยะมุนาย่ำแย่ลงเรื่อยๆ หมอตรวจพบว่าเธอเป็นวัณโรคและแนะนำให้เธอเดินทางกลับบ้านที่อินเดีย ระหว่างการเดินทางกลับอินเดีย ยะมุนาต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเพศและเผ่าพันธุ์เมื่อแพทย์ที่โดยสารเรือลำเดียวกันปฏิเสธที่จะดูแลรักษา "ผู้หญิงผิวสี" เมื่อมาถึงแผ่นดินเกิด ยะมุนาถูกนำตัวมารักษาที่เมืองปูเน่ (Punne) แต่แพทย์ชายที่เมืองนี้ปฏิเสธที่จะรักษาเธอด้วยเหตุที่เธอฝ่าฝืนสังคมประเพณีอินเดีย

ยะมุนาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 1887 โดยที่ยังไม่ได้เริ่มต้นประกอบวิชาชีพที่เธอใช้ความพยายามทั้งมวลไขว่คว้ามา

แต่เรื่องราวของเธอเป็นแรงบันดาลใจที่นำพาเด็กสาวชาวอินเดียจำนวนมากมายก้าวเข้าสู่วิชาชีพแพทย์ที่เคยเป็นพื้นที่ที่บุรุษยึดครองไว้นานข้ามศตวรรษ

 

 

หมายเหตุ: นักสตรีนิยมชาวอเมริกัน Caroline Healey Dall เป็นคนแรกที่เขียนประวัติสั้นๆของเธอไว้ในปี 1888 และในปี 1912 Kashibai Kanitkar เขียนประวัติของยะมุนาเป็นภาษามาราธี ซึ่งต่อมาถูกนำไปเขียนเป็นนวนิยายในภาษามาราธี และได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษและตีพิมพ์ในปี1992

 

Sources:
http://www.streeshakti.com/booka.aspx?author=16
http://www.huffingtonpost.com/2014/04/08/19th-century-women-medical-school_n_5093603.html
http://www.docstoc.com/docs/38560831/Iwas-born-on-31st-March_-1865-as-Yamuna-Joshi-in-Kalyan_
http://newsblog.drexel.edu/2013/07/24/from-india-japan-and-syria-19th-century-women-who-trekked-to-philadelphia-for-medical-school/

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท