Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกปปส. ประกาศมาหลายเดือนแล้วว่า จะไม่หยุดม็อบจนกว่าจะกำจัด“ระบอบทักษิณ” ออกไปจากประเทศไทย ทีนี้ก็มีปัญหาสิครับว่าระบอบทักษิณท่ี่สุเทพหมายถึง มันคืออะไร

1. คำนิยามของระบอบทักษิณ

มีคนให้คำนิยามไว้หลายแบบกับคำว่า “ระบอบทักษิณ” นิยามที่สุดโต่งมากที่สุดที่ผู้เขียนได้ยินมา คือ ระบอบที่คนตระกูลชินวัตรหรือหุ่นเชิดของทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งวิธีการ แก้ปัญหาก็ง่ายๆ จะเอาคนตระกูล ชินวัตร ออกจากประเทศไทยทั้งหมด ถึงแม้จะดูง่ายไปซักหน่อย แต่คนจำนวนมากเชื่อแบบนี้จริงๆ และแม้แต่สุเทพเองก็กล่าวไว้เช่นนี้ด้วย

ส่วน นิยามที่ผู้เขียนเห็นว่า ที่ดูจะชัดเจนและวิเคราะห์ได้ถึงแก่นมากที่สุด น่าจะเป็นนิยามของอ.เกษียร เตชะพีระที่เขียนในบทความเรื่อง “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิทุนจากการเลือกตั้ง (Elected Capitalist Absolutism)”โดยให้ความหมายทำนองว่า เป็นส่วนประกอบของ “หัวหน้าฝ่ายบริหารของคณะกรรมการจัดการผลประโยชน์ร่วมของชนชั้นนายทุนใหญ่ ไทย (capitalist political CEO), ผู้ได้อำนาจมาจากการเลือกตั้ง (elected) และใช้อำนาจนั้นแบบอาญาสิทธิ์ (absolute power)”

แล้วก็ยังมีหลายๆนิยามมากมาย ซึ่งผู้เขียนขอสรุปเอาเอง สั้นๆ ว่า

“ระบอบทักษิณคือ มีการใช้เงินเป็นใหญ่ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ (ไม่ว่าจะเป็นการใช้เงินของรัฐผ่านนโยบาย เช่น นโยบาย ประชานิยม หรือใช้เงินส่วนตัว ที่เรียกกันว่า น้ำเลี้ยง) เพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง เมื่อได้เข้ามากุมอำนาจทางการเมือง ก็ใช้อำนาจการเมืองในการบริหารบ้านเมืองโดยมีการใช้อำนาจเพื่อเอื่้อผล ประโยชน์ให้กลุ่มธุรกิจและพวกพ้องของตน”

คำนิยามคร่าวๆ ที่เป็นคีย์เวิร์ดของความหมายของระบอบทักษิณในที่นี้ ก็มี “ทักษิณ” “เงิน” “การเลือกตั้ง” และ “อำนาจการเมือง”

เรื่องเงินกับเรื่องการเลือกตั้ง เราคงไม่สามารถแก้ไขแต่ประการใดได้เพราะมีความพยายามที่จะแก้ไขเรื่อง ทักษิณ และเงินของทักษิณแล้วในอดีต ผ่านทั้ง คำพิพากษาจำคุกของทักษิณ ชินวัตร ในคดีที่ดินรัชดา และการยึดทรัพย์สี่หมื่นล้านหกพันล้านบาทในคำพิพากษายึดทรัพย์ แต่ก็ไม่สามารถกำจัดทั้งตัวทักษิณ และเงินทักษิณให้ออกจากระบอบการเมืองไทยได้

ความพยายามแก้ไขระบบเลือกตั้งก็มีมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่า จะเป็นการรัฐประหารปี 2549 เพื่อร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 ซึ่งเป็นกฎการเมืองฉบับใหม่เพื่อกำจัดระบอบทักษิณ แต่ก็ไร้ผล เมื่อการเลือกตั้งปี 2550 ซึ่งเป็นจัดการเลือกตั้งโดยกกต.ของคณะรัฐประหารในปี 2550 เราได้รัฐบาลพรรคพลังประชาชนของทักษิณ ชินวัตร การแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่เกี่ยวกับกฎของการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ แต่สุดท้ายก็ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรก็ชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี 2554 จะเห็นได้ว่า ไม่จะเขียนกฎการเลือกตั้งแบบไหน อย่างไร รัฐบาลของทักษิณก็กลับมาเป็นรัฐบาลและดำเนินระบอบทักษิณต่อไปเช่นเดิม

ยังเหลืออีกตัวแปรหนึ่งที่เราอาจจะยังไม่ได้ไปแตะต้องมากนัก นั้นคือ “อำนาจการเมือง”จริงๆก็มีความพยายามจะกำจัดระบอบทักษิณด้วยอำนาจทางการเมือง อยู่บ้าง คือมีการถ่วงดุลด้วยพวกที่อยู่ตรงข้ามระบอบทักษิณให้เข้ามาอยู่ในอำนาจในรูป แบบของศาล องค์กรอิสระ และ วุฒิสภาในระบบสรรหา หรือ แม้แต่ส่งรัฐบาลของอภิสิทธิ์เข้ามาใช้อำนาจรัฐเพื่อกำจัดทักษิณ แต่อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเชื่อว่าปัญหาของระบอบทักษิณ ไม่ใช่ปัญหาที่ตัว"บุคคล" แต่เป็นปัญหาที่"ระบบ" ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า หัวใจสำคัญของปัญหาการเมืองตลอดกาลของประเทศไทย คือ การใช้อำนาจของรัฐบาลแบบกระจุกตัวและรวมศูนย์ (Highly Concentrated and Centralized Power)

2. ปัญหาของระบอบทักษิณ

ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตอนนี้ คือรัฐบาลเป็นรัฐบาลกลางที่มีอำนาจมากเกินไป สิ่งที่หลายๆคนพูดกันว่า ประเทศไทยเป็นระบอบทักษินนั้นผู้เขียนเห็นด้วยว่าเป็นเรื่องจริงที่สุด เพราะรัฐบาลทักษิณที่อยู่ในอำนาจนั้น ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างในระบอบราชการในประเทศไทยไม่ว่า จะเป็นตำรวจ ผู้ว่าราชการจังหวัด สาธารณสุข กระทรวง กรม กอง ต่างๆ ทั่วประเทศ
แต่พอเปลี่ยนรัฐบาล อย่างเช่น เมื่อปี 2553 ประเทศก็เป็นระบอบอภิสิทธิเช่นกัน (แต่อาจไม่ได้ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเนื่องจากประชาธิปัตย์ต้องเป็นการรวมกลุ่ม ที่ความหลากหลายทางการเมืองที่มากกว่า)และถ้าสุเทพล้มรัฐบาลได้ ได้รัฐบาลของตัวเองโดยไม่มีการปรับเปลี่ยนแก้ไข เราก็จะได้ระบอบสุเทพ ที่สุเทพจะเป็นคนชี้เป็น ชี้ตาย ในทุกๆส่วนของระบบรัฐบาลเช่นกัน

เรียกได้ว่าระบบการเมืองของประเทศไทยที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เป็นระบอบที่ผู้ ชนะได้ทุกสิ่งทุกอย่าง (Winner takes all) และผู้แพ้ไม่ได้อะไรเลย เช่นกัน สิ่งที่ประชาธิปัตย์จะได้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า มีเพียงแค่ตำแหน่ง ส.ส. พรรคฝ่่ายค้าน ที่มีอำนาจยกมือ ออกกฎหมาย (ซึ่งกฎหมายก็คงไม่ได้ออก เพราะเสียงตัวเองย่อมสู้เสียงพรรคเพื่อไทย ไม่ได้อยู่แล้ว) เหลือเพียงหน้าที่อยู่อย่างเดียวตัวเองจะทำได้ ตรวจสอบรัฐบาล ซึ่งเมื่อฟังดูเผินๆ ก็เหมือนว่า ฟังดูดี ทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตของรัฐบาล โดยหวังว่า เมื่อรัฐบาลหมดความนิยม ประชาชนส่วนหนึ่งจะหันมาเลือกตนเองเพื่อไปเป็นรัฐบาลแทน

ซึ่งคำถามที่เกิดขึ้นก็คือ มันเป็นไปได้หรือที่ความนิยมของพรรครัฐบาลจะลดลง แต้ถ้าความนิยมของพรรครัฐบาลไม่ลดลง หรือไม่ได้เสื่อมไปในระยะเวลาอันสั้น จะเกิดอะไรขึ้น พรรคฝ่ายค้านจะเป็นฝ่ายค้านเพื่อตรวจสอบรัฐบาลไปตลอดชีวิตอย่างนั้้นหรือ เราต้องยอมรับว่าในระบอบการเมืองของไทยที่เป็นอยู่ตอนนี้นั้น ฝ่ายรัฐบาลมีความได้เปรียบในการเลือกตั้งทุกครั้งอย่างมาก เนื่องจากมีทั้งอำนาจรัฐและผลงานที่ทำมาตลอดสมัยของรัฐบาลอยู่ในมือ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงตั้งแต่ ปี 2544-2549 ที่พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งถึงสามครั้งติดๆกันและเมื่อพรรคฝ่ายค้านไม่มี แรงจูงใจ (Incentive) ที่จะชนะการเลือกตั้งในสภา พรรคเสียงข้างน้อยอย่างประชาธิปัตย์จึงต้องออกมาเล่นนอกสภา ม้อบจึงเกิดขึ้นบนถนน เป็นสงครามที่มีขึ้นแบบ All or nothing ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

เพราะเหตุนี้ เมื่อมีใครก็ตามชนะเป็นรัฐบาล อีกฝั่งจึงพยายามก่อม็อบ ออกมาไล่รัฐบาลให้เร็วที่สุด เพราะ ไม่ว่าฝ่ายไหนก็รู้ตัวว่า หากปล่อยให้อีกฝ่ายเป็นรัฐบาล โอกาสที่ตนจะต้องเป็นฝ่ายค้าน นั่งตบยุงไป 4-8ปี มีค่อนข้างสูงทีเดียว นอกจากกระสุน(ทุน)จะร่อยหรอไปทุกวันแล้ว โอกาสที่จะแสดงฝีมือให้ชาวบ้านเห็นว่า พรรคของตนมีฝีมือก็จะไม่มีด้วย

 

(ยังมีต่อ)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net