Skip to main content
sharethis

17 เม.ย. 2557 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วยรองเลขาธิการและผู้บริหารระดับสูงของ สปสช. แถลงข่าวและตอบข้อซักถามของสื่อมวลชน กรณีปลัดกระทรวงสาธารณสุขยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อมายังบอร์ด สปสช. และให้ตอบภายใน 2 สัปดาห์ โดยปลัด สธ.อ้างถึงกรณีที่ สตง. ทักท้วงการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในส่วนบัญชี 6 ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในฐานะ สปสช. สาขาจังหวัด และรองปลัด สธ.เสนอให้ยกเลิกการมอบหมายให้ สสจ.เป็นสาขาจังหวัดของ สปสช.เพราะผิดหลักการแยกผู้ซื้อและผู้ให้บริการออกจากกัน

นพ.วินัย กล่าวว่า ประเด็นที่ สตง.ทักท้วงการใช้จ่ายเงินนั้น ไม่มีประเด็นการทุจริต แต่เป็นการใช้จ่ายเงินไม่ตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่ตรงตามประกาศ สปสช.

“เมื่อมีการทักท้วงการบริหารเงินบัญชี 6 ของสาขาจังหวัด จาก สตง.จึงจำเป็นต้องตั้งบุคคลภายนอกที่เป็นกลางร่วมดูข้อเท็จจริงและถ้าเป็นการเข้าใจผิดหรือไม่จงใจให้เกิดความเสียหาย ก็จะได้ชี้แจงกับ สตง.ได้” เลขาธิการ สปสช.

เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ปัญหาการทำงานร่วมและความเห็นที่แตกต่างระหว่าง สปสช.และ สธ.ที่เกิดขึ้นตั้งแต่มีกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต่อเนื่องมาสิบกว่าปี แม้ว่าก่อนหน้านี้หลายอย่างได้คลี่คลายดีขึ้น แต่เมื่อมีการหยิบยกปัญหาขึ้นมาแล้ว ทาง สปสช.ก็ได้ให้ความสำคัญด้วยการตั้งทีมเจรจาไว้แล้วทั้งหมดเป็นผู้บริหารระดับสูง คือ เลขาธิการ รองเลขาธิการและผู้ช่วยเลขาธิการ เพื่อหาข้อสรุปร่วมกับ สธ. และถ้าเป็นประเด็นที่เกินอำนาจหน้าที่ ก็จะเสนอบอร์ด สปสช.พิจารณาต่อไป

“หลักการทำงานของ สปสช.คือยึดถือประโยชน์ของประชาชนและผู้ป่วย โดยการแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุขที่ดูแลหน่วยบริการสาธารณสุขกว่า 800 แห่งและเครือข่าย รพ.สต.กว่า 12,000 แห่งทั่วประเทศ” เลขาธิการ สปสช.ย้ำ

ต่อประเด็นข้อทักท้วงของ สตง. นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการสปสช. กล่าวว่า สตง.ได้ตรวจสอบการใช้งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2555 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการสุ่มตรวจสอบลงไปในระดับจังหวัด ทั้งหมด 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี ราชบุรี สมุทรสาคร ระยอง จันทบุรี และตราด โดยตรวจพบว่าสาขาจังหวัดมีการใช้เงินในบัญชี  6 ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ หรือไม่มีระเบียบ ประกาศของ สปสช.รองรับ ซึ่งไม่ใช่ประเด็นการทุจริต และเสนอให้ สปสช. และ สธ. ตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยคณะกรรมการชุดนี้ มีองค์ประกอบนอกจาก สปสช. และ สธ. แล้ว ยังมีตัวแทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด ตัวแทนกรมบัญชีกลางและตัวแทนจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรียน(กพ.) ร่วมด้วย ทั้งนี้จะมีการประชุมครั้งแรกในวันที่ 30 เม.ย.นี้ โดยกระบวนการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้จะทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นที่ สตง.ทักท้วงมา เพื่อเสนอ บอร์ด สปสช.พิจารณาต่อไป

“การทักท้วงของ สตง. ส่วนใหญ่เกิดจากการตีความในมุมมองของ สตง. แต่หากเป็นคณะกรรมการที่อยู่ในสายงานด้านสาธารณสุข และผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก ก็อาจจะมีมุมมองและความเห็นอีกแบบเพื่อไปอธิบายและชี้แจงในสิ่งที่ สตง.ทักท้วงได้” รองเลขาธิการ สปสช.กล่าว

สำหรับประเด็นที่ปลัด สธ.ยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ และรองปลัด สธ.ต้องการให้ สสจ.ยุติการทำหน้าที่เป็น สปสช.สาขาจังหวัด เพราะเป็นทั้งผู้ให้บริการและผู้ชื้อบริการ ทำให้ไม่ตรงกับหลักการแยกผู้ซื้อบริการและผู้ให้บริการออกจากกัน หรือที่เรียกว่า Provider Purchaser Spilt นั้น นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช. ตระหนักถึงปัญหาความทับซ้อนในบทบาทหน้าที่ของ สสจ.ดังกล่าวมาโดยตลอด และเห็นด้วยในหลักการที่ สธ.เสนอให้แยกบทบาทออกจากกัน รวมทั้งให้ยกเลิกประกาศหรือระเบียบการจัดสรรเงินผ่านบัญชี 6  อย่างไรก็ตามประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญที่อาจกระทบต่อหน่วยบริการและประชาชนในพื้นที่ จึงต้องมีเวลาตระเตรียมขยายความพร้อมของ สปสช.เขตพื้นที่ที่มีอยู่แล้ว 13 เขต รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือจากภาคีต่างๆ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจะนำข้อเสนอทั้งหมดของปลัด สธ.เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในต้นเดือน พค.นี้ เพื่อให้ทันกับการประกาศใช้ ต.ค.ต้นปีงบประมาณ 2558 นี้

สำหรับข้อเสนอให้ สปสช.ยกเลิกการจ่ายค่าตอบแทนล้างไตหรือค่าตอบแทนอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกันนั้น รองเลขาธิการ สปสช. ชี้แจงว่าเป็นการจ่ายตามภาระงานเพื่อกระตุ้นให้ขยายการให้บริการและลดการรอคิวรับบริการของผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายและอื่นๆที่ถ้าไม่ได้รับบริการแล้วจะเสียชีวิตหรือพิการ ซึ่งในอดีตมีปัญหาการบริการมีจำกัด และปัจจุบันปัญหาคิวรอรับบริการลดลงอยู่ในระดับปกติแล้ว สปสช. ก็ได้ยกเลิกหรือปรับให้หน่วยบริการเป็นผู้จ่ายค่าภาระงานด้วยตัวเองแล้ว ปี 57 นี้จึงไม่มีการมอบหมายให้ สปสช.สาขาจังหวัดจ่ายค่าภาระงานให้บุคคลากรโดยตรงแล้ว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net