เจาะ ‘พิงคนคร’ (1) : แนวคิด ‘องค์การมหาชน’ ปั้นเชียงใหม่เมืองท่องเที่ยวระดับโลก ?

เจาะลึกองค์กรมหาชนแห่งแรกที่จะเข้าไปสร้างสารพัด เมกกะโปรเจ็กท์ ในเชียงใหม่ เพื่อปั้นให้เป็นเมื่องท่องเที่ยวระดับโลก พร้อมสำรวจประวัติศาสตร์การบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวสำคัญนี้ว่าเคยมีนโยบายและโครงการอะไรมาบ้างในรอบทศวรรษ

ในช่วงต้นปี 2556 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง สำนักงานพิงคนคร (องค์การมหาชน) พ.ศ.2556 เพื่อดูแลและพัฒนาพื้นที่เชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียง

ความน่าสนใจของการตั้งองค์กรแห่งนี้คือ จะเป็นองค์กรมหาชนแห่งแรกจาก 50 กว่าองค์กรที่เข้ามาพัฒนาพื้นที่เฉพาะในท้องถิ่น และมีอำนาจที่มากไปกว่าการประสานงานและสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการทำกิจการต่างๆ โดยมีอำนาจวางแผน พัฒนา และบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว ที่พัก ศูนย์ประชุม และกิจการที่ต่อเนื่องเพื่อการ ‘พัฒนาพิงคนคร’ รวมถึงพัฒนาโครงข่ายการคมนาคม การขนส่ง และการสาธารณูปโภค

รายงานชิ้นนี้ จึงเป็นความพยายามที่จะสืบเสาะเข้าไปเพื่อฉายภาพให้เห็นว่า โครงสร้างองค์การมหาชนแบบใหม่นั้นมีลักษณะอย่างไร อะไรเป็นแนวคิดเบื้องหลัง ปฏิบัติการจากอำนาจขององค์กรนี้จะเข้าไปชนกับอำนาจของท้องถิ่นอย่างไร  จะทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง และท้ายที่สุดแนวโน้มข้างหน้าขององค์กรนี้จะเป็นอย่างไร

 

ก่อนจะมีพิงคนคร : นโยบายการท่องเที่ยวไทยกับการสร้าง ‘เชียงใหม่เวิลด์’

หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540  รัฐบาลไทยใช้การท่องเที่ยวเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2541-2542 ประกาศให้เป็นปีส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย (Amazing Thailand) สองปีถัดมาหลังจากนั้น มีการรณรงค์การท่องเที่ยวภายใต้สโลแกนที่ว่า ‘Unseen Thailand’

ในปี 2545 มีการรณรงค์ให้เกิดการท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบมากขึ้นโดยเฉพาะการลงไปเที่ยวใน ‘ชนบท’

และในปี 2547 มีการให้มาตรฐานโฮมสเตย์ หรือเรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘ที่พักสัมผัสวัฒนธรรมชนบท’

ล่าสุดในปี 2556 มีการผลักดันการท่องเที่ยวที่ควบคู่ไปกับการจัดงานประชุม หรือที่เรารู้จักกันในนาม ‘MICE’ (Meetings, incentives, conferences, and exhibitions)

ด้วยนโยบายเหล่านี้ทำให้เกิดการผลักดันและพัฒนาสถานที่ต่างๆ ให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว จังหวัดที่ขึ้นชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มีธรรมชาติสวยงาม ผนวกกับมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับอยู่แล้ว อย่างเชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ ฯลฯ ก็ถูกทุ่มงบประมาณลงไปเพื่อให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก

กรณีของเชียงใหม่ มีแนวคิดที่จะทำโครงการ ‘เชียงใหม่เวิลด์’ ซึ่งได้ไอเดียมาจาก ‘Man made destination’ คือ การทำให้สถานที่ที่ไม่มีจุดเด่นอะไร สามารถกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อกระฉ่อนได้ด้วยการสร้างของมนุษย์ ซึ่งในสมัยนั้น รัฐบาลทักษิณได้ไปเห็นตัวอย่างจากประเทศสิงคโปร์และฮ่องกง ประเทศที่ไม่มีจุดเด่นอะไร แต่ก็สามารถสร้างสิ่งก่อสร้างขึ้นมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้ เช่น แสดงสัตว์เวลากลางคืน สิงคโปรอาย (ชิงช้าสวรรค์ขนาดใหญ่ชมทิวทัศน์ของเมือง) กระเช้าชมเมือง เป็นต้น 

ด้วยแนวคิดนี้จึงทำให้เกิดแผนการการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่เพื่อให้เชียงใหม่กลายเป็นเมืองระดับโลกในช่วงปี 2548-2549 ได้แก่ [1]

  1. โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี (สวนสัตว์กลางคืน) มูลค่าการลงทุนประมาณ 1,155.9 ล้านบาท  
  2. โครงการอุทยานช้าง ในเนื้อที่ 6.000 ไร่ ติดกับไนท์ซาฟารี 600 ล้านบาท  
  3. โครงการพืชสวนโลก ภายใต้การดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์   งบประมาณ 500 ล้านบาท  
  4. โครงการสปา ระดับโลก   ใกล้โครงการพืชสวนโลก (ไม่ทราบงบประมาณ)  
  5. โครงการอควาเรี่ยม ภายในสวนสัตว์เชียงใหม่ 300 ล้านบาท  
  6. โครงการพัฒนาลานครูบาศรีวิชัย บริเวณเชิงดอยสุเทพ เพื่อเป็นคอมเพล็กซ์รับสถานีรถไฟฟ้า  
  7. โครงการธีมปาร์ค  หรือสวนสนุกและเครื่องเล่นระดับโลก (ไม่ทราบงบประมาณ)  
  8. โครงการพัฒนระบบขนส่งมวลชนแบบโมโนเรล (รถไฟรางเดี่ยว) เชื่อมระหว่างเชิงดอยสุเทพเข้าสู่เมืองเชียงใหม่ 200 ล้านบาท  
  9. โครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ 1,450 ล้านบาท  
  10. โครงการศูนย์กลางไม้ตัดต่อประดับพืชเกษตร 300 ล้านบาท  
  11. โครงการถนนวงแหวน ด้านตะวันตกหางดง-มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 322 ล้านบาท  
  12. โครงการถนนเลี่ยงเส้นทางหลักเชียงใหม่-แม่ริม 4 ช่องจราจร จากกองพันสัตว์ต่าง โค้งผ่านป่าสมบูรณ์ของดอยสุเทพ-ฟาร์มงูแม่ริม 340 ล้านบาท
  13. โครงการห้องพักสไตล์รีสอร์ท-ร้านอาหารภายในสวนสัตว์ 715 ล้านบาท  
  14. โครงการกระเช้าลอยฟ้า เชื่อมต่อแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ รอบดอยสุเทพ ระยะทาง 15 กิโลเมตร 8 สถานี  ได้แก่  ไนท์ซาฟารี-อุทยานช้าง-น้ำตกห้วยแก้ว-สวนสัตว์เชียงใหม่-ธีมปาร์ค-สปา-พืชสวนโลก-ลานครูบา   โดยจะเป็นเคเบิลคาร์ที่วิ่งสวนกันไปมางบประมาณ 1,000 ล้านบาท  
  15. โครงการกระเช้าไฟฟ้าเชียงดาว  
  16. โครงการทุบรื้อฝายเพื่อการท่องเที่ยวทางน้ำ  

ปัจจุบัน ในจำนวนโครงการเหล่านี้มีบางโครงการที่สำเร็จไปแล้ว ได้แก่ เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี (สวนสัตว์กลางคืน)  โครงการพืชสวนโลก (อุทยานราชพฤกษ์) โครงการอควาเรี่ยมภายในสวนสัตว์เชียงใหม่  โครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมฯและแสดงสินค้านานาชาติ โครงการถนนวงแหวน ด้านตะวันตกหางดง-มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (กำลังสร้างต่อเชื่อมไปถึงถนนเชียงใหม่-จอมทอง บริเวณ อ.ดอยหล่อ) ส่วนโครงการที่เหลือนั้นอยู่ในแผน แต่ยังไม่ได้สร้าง

อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะทำให้เชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก โดยการสร้างเมกะโปรเจ็คก็ถูกท้วงติงและวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะโครงการพืชสวนโลกและเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี [2] เป็นต้นว่า โครงการเหล่านี้จะทำลายสภาพแวดล้อมและนิเวศวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่ ออกแบบโดยไม่คำนึงถึงถึงธรรมชาติและผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนบริเวณนั้น อาทิ ปัญหาขยะและการแย่งชิงน้ำไปใช้ ส่อแววคอรัปชั่นโดยเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนบางราย รวมถึงขั้นตอนที่รวบรัด ขาดการประเมินผลกระทบและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

นอกจากนี้ ยังมีข้อท้วงติงประการสำคัญ คือการบริหารและจัดการพื้นที่โครงการระยะยาว ในส่วนของพืชสวนโลกนั้น มีความพยายามผลักดันให้เป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์  แต่ก็มีการทักท้วงอีกว่า จะหาเงินหมุนเวียนมาดูแลบำรุงรักษาอย่างไร เพราะมีพื้นที่ขนาดใหญ่และใช้งบประมาณต่อปีค่อนข้างสูง

ส่วนเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ก็มีข้อท้วงติงถึงความล้มเหลวในการจัดการ นอกจากสภาวะการขาดทุนอย่างหนักไม่สมกับราคาคุยตั้งแต่ต้นแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนด้วย

นอกจากนี้ยังได้เสนอการจัดการ 3 รูปแบบ [3] รูปแบบแรกคือ ให้ทางไนท์ซาฟารีดำเนินการต่อไปโดยเปลี่ยนทีมผู้บริหารและเป็นผู้ดำเนินการภายในองค์การเองทั้งหมด รูปแบบที่สองคือ ไนท์ซาฟารีดำเนินงานต่อ แต่จะทำเฉพาะในเรื่องที่ถนัดเท่านั้น เช่น เรื่องสัตว์ การดูแลสัตว์ การให้อาหารสัตว์ ส่วนในเรื่องอื่น ๆ ก็ให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจเข้ามาดูแล และรูปแบบที่สาม คือให้เอกชนที่มีความรู้ความสามารถเป็นผู้บริหารเพื่อตัดปัญหาการดำเนินงานทางธุรกิจ

อาจกล่าวได้ว่า ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ทำให้รัฐต้องคิดวิธีจัดการกับโครงการเมกะโปรเจ็คที่ลงไปมากขึ้น ในแง่หนึ่งเพื่อทำให้เกิดการบริหารแบบมืออาชีพ และทำให้เกิดข้อวิจารณ์โดยเฉพาะแง่ของการบริหารจัดการให้น้อยที่สุด ในอีกแง่หนึ่ง รัฐก็เห็นว่า การบริหารจัดการดูแลโครงการขนาดใหญ่ภายใต้ระบบราชการคงไม่เพียงพอเช่นกัน จึงนำมาสู่แนวคิดการจัดการภายใต้ ‘องค์กรมหาชน’ ทางหนึ่ง และ ‘เอกชน’ อีกทางหนึ่งด้วย

 

‘องค์กรมหาชน’ The chosen one ของรัฐ

อันที่จริง รัฐบาลทราบดีว่า การบริหารภายใต้ระบบราชการไม่สามารถที่จะดูแลจัดการการท่องเที่ยวที่จะให้เป็นโมเดลระดับโลกได้ ดังจะเห็นได้จากการตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เพื่อมาบริหารกิจการการท่องเที่ยวพิเศษ

อพท. เป็นองค์การมหาชนของไทย สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2546 ได้รับงบประมาณ 437.9442 ล้านบาท (ข้อมูลล่าสุดปี 2555) [4] มีหน้าที่บริหารและพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวในเชิงบูรณาการ เป็นองค์กรกลางประสานงานกับท้องถิ่นหรือพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพ ปัจจุบันดำเนินการกำหนดพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ หมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง เมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร จังหวัดเลย

เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีในช่วงแรกเริ่ม ถูกโอนให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กรนี้ ต่อมาในปี พ.ศ.2556 จึงได้โอนไปเป็นภารกิจของสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน)

คำถามที่น่าสนใจคือ เหตุใดรัฐจึงเลือก ‘องค์กรมหาชน’ เพราะมันง่ายและตอบสนองได้รวดเร็วจริงหรือ หรือแท้ที่จริงเป็นตัวเลือกเดียวและดีกว่าตัวเลือกอื่นที่รัฐจะพึงสามารถจัดการได้ หรือว่าเพราะเหตุใดกันแน่

หากเราสำรวจดูแนวคิดและหลักการของการตั้งองค์กรมหาชนในพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 จะพบว่า องค์การมหาชน เป็นหน่วยงานของรัฐบาลไทยประเภทที่สาม นอกเหนือจากส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ จัดตั้งขึ้นเพื่อให้เกิดความคล่องตัวและเพื่อให้ใช้ประโยชน์ในทรัพยากรและบุคลากรให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ตลอดจนเพื่อบูรณาการให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าร่วมกันทำงานอย่างมีเอกภาพ และประสานงานกันเพื่อความรวดเร็วในการดำเนินงานที่ต้องอาศัยความเร่งด่วน

นอกจากนี้องค์การมหาชนเป็นนิติบุคคล จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 [5] และพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งหน่วยงาน กำหนดขึ้นเพื่อทำบริการสาธารณะที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องการประสิทธิภาพสูง เฉพาะด้านที่ภาครัฐยังจำเป็นต้องดำเนินการและจัดให้มี หรือภาครัฐต้องมีบทบาทให้การสนับสนุนในเรื่องงบประมาณ เพื่อให้เกิดการดำเนินงาน เป็นบริการในส่วนที่รัฐต้องการส่งเสริม หรือเป็นบทบาทของรัฐในการให้บริการ การแทรกแซงตลาด หรือบริการที่ภาคเอกชนยังไม่สนใจหรือมีศักยภาพที่จะดำเนินการ โดยมิได้ค้ากำไรจากการบริการ มีวัฒนธรรมองค์กรเหมือนภาคธุรกิจ ที่สามารถใช้ประโยชน์ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุดซึ่งมิอาจดำเนินการได้ในส่วนราชการซึ่งเป็นองค์การแบบราชการ (Bureaucratic model)

หลักเกณฑ์พื้นฐานในการจัดตั้งองค์การมหาชน มีบัญญัติไว้ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 [6] ซึ่งสามารถแยกแยะองค์ประกอบในการจัดตั้งได้ 3 ประการ คือ 1) เมื่อรัฐบาลมีนโยบายด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะเพื่อจัดทำบริการสาธารณะ 2) แผนงานการจัดทำบริการสาธารณะนั้นมีความเหมาะสมที่จะจัดตั้งหน่วยงานบริหารขึ้นใหม่ที่แตกต่างไปจากส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ 3) การจัดตั้งหน่วยบริหารขึ้นใหม่นั้น มีความมุ่งหมายให้มีการใช้ประโยชน์ทรัพยากรและบุคลากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์ประจำสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง วิเคราะห์ว่า องค์กรมหาชนเป็นส่วนราชการอย่างหนึ่ง เพียงแต่เปลี่ยนระบบวิธีบริหารและการจ้างงาน กฎหมายนี้เกิดหลังวิกฤตเศรษฐกิจ เนื่องจากเห็นว่า ระบบราชการมันใหญ่ไป และมีภารกิจบางอย่างที่ไม่สามารถใช้โครงสร้างของระบบราชการและรัฐวิสหกิจบริหารได้

“ตอนนั้นมีกระแสการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หมายถึงว่า มันมีองค์กรของรัฐส่วนหนึ่งที่เป็นองค์กรทำกำไร ทั้งที่เป็นองค์กรแบบเดิมอย่างรัฐวิสาหกิจ และองค์กรแบบใหม่ แต่ภารกิจใหม่ที่ต้องทำมันนอกเหนือไปจากเดิม ซึ่งไม่ใช่องค์กรแสวงหากำไร จึงจัดตั้งรูปแบบรัฐวิสาหกิจไม่ได้ จึงเกิดแนวคิดเรื่ององค์การมหาชนเพื่อมาอุดช่องว่าง คือจะเป็นราชการก็ไม่ได้ จะเป็นรัฐวิสาหกิจก็ไม่ไหวเพราะบางอย่างก็ไม่ใช่องค์กรทำรายได้”

อาจกล่าวได้ว่า องค์กรมหาชน กลายเป็นตัวเลือกเดียวของรัฐ หากจะต้องการการบริหารที่ก้าวข้ามความเป็นระบบราชการ เพื่อความรวดเร็วและสะดวกในการบริหาร นอกจากนี้รัฐอาจจะคำนวณบ้างแล้วว่า โมเดลการบริหารสถานที่ท่องเที่ยวประเภทนี้ เป็นบริการที่ ‘ภาคเอกชนยังไม่สนใจหรือมีศักยภาพที่จะดำเนินการ’ เนื่องจากยังไม่สามารถคำนวณกำไร ขาดทุน หรือคำนวณแล้วไม่คุ้มก็เป็นได้ และในช่วงแรกเริ่มของโครงการเหล่านี้ก็ต้องใช้งบประมาณรัฐเข้าไปสนับสนุนจำนวนมาก ซึ่งเราอาจเห็นภาพชัดขึ้น เมื่อมองไปพร้อมกับบริบทการตั้ง ‘สำนักงานพิงคนคร’ องค์กรมหาชนล่าสุด ที่ตั้งขึ้นมาบริหารต่อยอดโครงการเมะโปรเจ็คในเชียงใหม่ที่ค้างคาไว้

 

‘พิงคนคร’ กับแนวคิดเรื่องการจัดการเมืองเชียงใหม่

นอกเหนือจากความพยายามสานต่อความต่อเนื่องโครงการที่ขาดตอนไปในช่วงที่มีการรัฐประหารปี 2549 ดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว การจัดตั้งสำนักงานพัฒนาพิงนคร ยังมีที่มาจากแนวคิดการจัดการเมืองเชียงใหม่ด้วย ซึ่งแนวคิดนี้มีมาพร้อมๆ กับโครงการก่อนหน้าการรัฐประหาร หรือเพิ่งมามีที่หลังนั้นมิอาจพิสูจน์ได้ แต่เป็นที่ชัดเจนว่า แนวคิดนี้ถูกนำเสนอต่อสาธารณะเมื่อปลายปี 2555 และค่อนข้างเป็นเอกภาพระหว่างกลุ่มการเมืองที่ครองอำนาจในท้องถิ่น และกลุ่มการเมืองระดับชาติ ซึ่งแน่นอนว่า กลุ่มการเมืองเหล่านี้ก็แยกไม่ออกจากกลุ่มทุนท้องถิ่นและในระดับประเทศ

จุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเห็นการก่อตัวของแนวคิดการจัดการเมืองที่ค่อนข้างมีเอกภาพ คือเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2555 มีการประชุมระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองเชียงใหม่สู่เมืองมรดกแห่งล้านนา (The Glory of Lanna Heritage) โรงแรมเชียงใหม่ออร์คิด จ.เชียงใหม่ [7] ซึ่งมีนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เขต 3 เชียงใหม่ ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ระหว่างถูกตัดสิทธิทางการเมืองนั่งเป็นประธานข้างนายธานินท์ สุภาแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดขณะนั้น พร้อมด้วยนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ส.ส. และตัวแทนจากหลายหน่วยงาน

ในการประชุมครั้งนั้นมีการนำเสนอโครงการประสานแผนพัฒนาท้องถิ่น ภายใต้ยุทธศาสตร์การบริหารงานของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เพื่อทําให้เชียงใหม่เป็นจุดหมายของการท่องเที่ยว การศึกษา การทํางานและการลงทุน และการสร้างสมดุลวิถีชีวิตล้านนากับยุคสมัยปัจจุบัน และรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 โดยมีข้อเสนอแนวทางการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ การยกระดับองค์การมหาชนด้านท่องเที่ยวพื้นที่พิเศษ เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เป็น ‘สำนักงานพัฒนาพิงคนคร’ (ซึ่งขณะนั้นอย่รูะหว่างการยกร่างพระราชกฤษฎีกาของรัฐบาล) โดยจะมีการควบรวมการบริหารเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ และอุทยานหลวงราชพฤกษ์หรือพืชสวนโลกเข้าด้วยกันเพื่อสร้างเอกภาพในเชิงการบริหารจัดการด้านท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ยังมีการวางกรอบร่วมกันในการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ ได้แก่ การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดในเขตเมือง การจัดระบบผังเมืองให้ตอบสนองความต้องการและการใช้ประโยชน์ของเมือง การจัดโซนนิ่งสถานบริการและสถานบันเทิง การนําสายไฟและเคเบิลสื่อสารลงใต้ดิน การพัฒนาคูเมืองที่จะไม่ให้มีการติดตั้งป้ายโฆษณาทุกประเภท ยกเว้นป้ายประชาสัมพันธ์งานเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ การปรับภูมิทัศน์รอบคูเมือง และการปลูกตันไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ความร่มรื่น การสร้าง Branding เชียงใหม่ที่คงกลิ่นอายความเป็นล้านนา การพัฒนาข่วงเวียงหรือลานเมือง การแก้ไขปัญหาการบุกรุกกําแพงดิน การพัฒนาโบราณสถานเวียงกุมกาม การนําของดี 25 อำเภอมาจัดแสดงไว้ในศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ และการรณรงค์ให้รักษาเอกลักษณ์การแต่งกายพื้นเมืองและอู้กำเมือง

หลังการประชุมครั้งนั้น มีการรับลูกจากทางจังหวัด อบจ, เทศบาลนครเชียงใหม่กันอย่างแข็งขัน

11 กุมภาพันธ์ 2556 ครม.ประกาศจัดตั้งสำนักงานพิงคนคร (องค์การมหาชน) พ.ศ.2556 [8] พัฒนาพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ที่เชื่อมโยงหรือต่อเนื่องกับเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยให้ขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี และอยู่ในความดูแลของนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี

9 เมษายน 2556 เทศบาลนครเชียงใหม่เสนอร่างเทศบัญญัติคุมตึกสูงฯ [9] โดยทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมพิจารณาร่างเทศบัญญัติ กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารบางชนิด หรือบางประเภท ในท้องที่เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ และผ่านมติที่ประชุมในเวลาต่อมา

สาระสำคัญของร่างเทศบัญญัติฉบับนี้ คือ ในสี่เหลี่ยมคูเมือง จะทำให้ตึกมีความสูงไม่เกิน 12 เมตร และรูปแบบของตึกจะต้องมีรูปแบบของสถาปัตยกรรมล้านนา สีของอาคารจะต้องเป็นไปในแนวทางเดียวกัน คือหากเป็นโทนน้ำตาลก็ต้องโทนน้ำตาลเหมือนกัน ส่วนพื้นที่นอกบริเวณสี่เหลี่ยมคูเมืองทุกจุดในจังหวัดเชียงใหม่ จะควบคุมตึกสูง คือจะไม่ให้เกิน 23 เมตร ส่วนบริเวณศาสนสถานสำคัญบางแห่งในรัศมี 200 เมตร ห้ามมิให้ก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารที่มีความสูงเกิน 9 เมตร และศาสนสถานอื่นๆ อีกบางแห่งในรัศมี 100 เมตร ห้ามมิให้ก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารที่มีความสูงเกิน 12 เมตร(รายละเอียดร่างเทศบัญญัติฯ นี้ สามารถโหลดได้ที่ลิงก์ฝากไฟล์ด้านล่าง [10] )

4 พฤษภาคม 2556 บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เสนอแนวคิดเรื่องระบบขนส่งมวลชน ดันรถไฟฟ้ารางเดี่ยว มูลค่าโครงการ 8,000 ล้านบาท [11] ระยะเวลาสร้างเสร็จภายใน 5 ปี  โดยแบ่งการเดินรถออกเป็น 2 เส้นทาง เชื่อมต่อในเขต อ.เมือง ระยะทางประมาณ 28 กิโลเมตร จะเริ่มต้นเส้นทางตั้งแต่บริเวณอุทยานหลวงราชพฤกษ์ ปลายทางศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา โดยผ่านรอบคูเมืองเชียงใหม่และท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ เพื่อรองรับผู้โดยสารและนักท่องเที่ยว

รถไฟฟ้าดังกล่าวจะเป็นรางเดี่ยว ให้บริการเที่ยวละ 3 โบกี้ รองรับผู้โดยสารได้โบกี้ละ 40 คน แต่ละเที่ยวจะรองรับผู้โดยสารได้ 120 คน หากเป็นช่วงเวลาเร่งด่วน จะเพิ่มโบกี้อีก 2 โบกี้ ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารได้ 200 คน ความเร็ว 28 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะจอดรถไฟฟ้าทุกๆ 500 เมตร ซึ่งจะกำหนดเวลาและจุดจอดรถไฟฟ้าอย่างชัดเจน เบื้องต้นคาดการณ์ว่า แต่ละรอบจะใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที โดยรถไฟฟ้าดังกล่าว จะควบคุมด้วยระบบสัญญาณจราจร เมื่อถึงสี่แยกไฟแดงจะได้รับสิทธิ์ให้ไปก่อนไม่ต้องติดสัญญาณไฟจราจร

หลังแนวคิดนี้ออกมาได้ไม่นานก็ถูกโจมตียับว่า นึกถึงแต่เรื่องท่องเที่ยว จึงถูกปรับให้มี 4 เส้นทางในเวลาต่อมาโดยเชื่อมจากวงแหวนรอบสองเข้ามาในเมือง [12] เริ่มจาก A1 สายสีทอง สนามกีฬา 700 ปี – เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี A2 สายสีทับทิม สนามกีฬา 700 ปี-ตลาดสามแยก A3 สายสีไพลิน สวนสัตว์เชียงใหม่-บวกครก A4 สายสีมรกต ท่าแพ-เจริญประเทศ และช้างคลาน

ทั้ง 4 เส้นทางนี้จะครอบคลุมพื้นที่ในเขตเทศบาลเชียงใหม่และเชื่อมต่อไปยังเขตอำเภอรอบนอกของจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้การเดินทางของคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งรถไฟฟ้ารางเดี่ยวที่ว่านี้จะให้บริการเที่ยวละ 3 โบกี้ รองรับผู้โดยสารได้โบกี้ละ 40 คน แต่ละเที่ยวจะรองรับผู้โดยสารได้ 120 คน แต่หากเป็นช่วงเวลาเร่งด่วนจะเพิ่มโบกี้อีก 2 โบกี้ ทำให้รับผู้โดยสารได้ถึง 200 คน โดยใช้ความเร็วเพียงแค่ 28 กิโลเมตร/ชั่วโมง และจะจอดรับผู้โดยสารทุกๆ 500 เมตร โดยกำหนดจุดจอดรถที่ชัดเจน คาดว่าในแต่ละรอบจะใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที

 


ภาพ-แผนเส้นทางเชื่อมรถไฟฟ้าโมโนเรล (ที่มา : รายการครอบครัวข่าว 3)

 

นอกจากนี้ ยังได้เสนอแนวคิดในการจัดทำวงแหวนรอบที่ 4 และวงแหวนรอบที่ 5 เพื่อแก้ปัญหาการจราจรบริเวณชานเมืองไม่ให้เข้ามาในตัวเมือง และได้วางแนวทางและสำรวจเส้นทางแล้ว โดยจุดแรกจะเริ่มต้นจาก อ.หางดง อ.สารภี อ.สันกำแพง อ.ดอยสะเก็ด อ.สันทราย และสิ้นสุด อ.แม่ริม ส่วนจุดตัดยังไม่มีการสรุปที่แน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะเลยจาก อ.แม่ริมไปเล็กน้อย

17 กรกฎาคม 2556 มีการจัดเสวนาในหัวข้อ ‘เส้นทางสู่มรดกโลก’ เพื่อหาแนวทางผลักดัน ‘เชียงใหม่-ลำพูน’ สู่การเป็นมรดกโลก [13] ซึ่งเป็นโครงการประชุมสัมมนาสืบสานและผลักดันเมืองเชียงใหม่-ลำพูนสู่มรดกโลก ภายใต้โครงการ A Tale of Two Cities (ตำนานสองนคร เชียงใหม่-ลำพูน) ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทางจังหวัด

ภาพที่นำเสนอ จะเห็นว่า ‘สำนักงานพิงคนคร’ เป็นสับเซตหนึ่งของแนวคิดพัฒนาเมืองเพื่อทำให้เชียงใหม่กลายเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยว การศึกษา การทํางาน และการลงทุน ซึ่งแนวคิดนี้นอกจากจะเชื่อมโยงกับโครงการเมกะโปรเจ็คเดิมที่คั่งค้างอยู่แล้ว ยังน่าจะเชื่อมโยงกับนโยบายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเมืองให้เชื่อมโยงกับนโยบายรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่จะเข้ามา หรือการรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพราะนโยบายเหล่านี้จะนำมาซึ่งความความเปลี่ยนแปลงมหาศาล ตั้งแต่มูลค่าพื้นที่ของเมือง จนถึงการเคลื่อนย้ายของคน ซึ่งหากเร่งปรับให้รองรับ และให้เข้าทางกับการประกอบการธุรกิจของกลุ่มตน ย่อมนำมาซึ่งผลกำไรอย่างมหาศาล ดังจะกล่าวรายละเอียดต่อไปในบทท้ายๆ

 

สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน): โครงสร้างองค์กรและการบริหาร

สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) หรือ สพค. (Pinkanakorn Development Agency (Public Organization)) เรียกโดยย่อว่า ‘PDA’ เป็นองค์การมหาชนภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี   โดยมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ที่เชื่อมโยงหรือต่อเนื่องกับเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพการเป็นแหล่งท่องเที่ยวกับทั้งเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว โดยทดลองดำเนินกิจการ 5 ปี จากนั้นจึงจะมีการประเมินผลความคุ้มค่าอีกครั้ง

พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสํานักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) พ.ศ.2556 [14] ระบุว่า วัตถุประสงค์ในการตั้งสำนักงานนี้ คือ

  1. วางแผน พัฒนา และบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว ที่พัก ศูนย์ประชุม และกิจการที่ต่อเนื่องเพื่อการ ‘พัฒนาพิงคนคร’ (พิงคนคร หมายถึงจุดมุ่งหมายที่กล่าวข้างต้น)
  2. พัฒนาโครงข่ายการคมนาคม  การขนส่ง และการสาธารณูปโภคเพื่อส่งเสริมภารกิจตามข้อ 1)
  3. ประสานงานและสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาพิงคนคร
  4. อนุรักษ์และส่งเสริมศิลปะ จารีตประเพณี  ภูมิปัญญาท้องถิ่น  และวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นในพื้นที่การพัฒนาพิงคนคร
  5. ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานและยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่การพัฒนาพิงคนคร โดยคํานึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน

และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว พรฎ.ฉบับนี้ได้ให้สำนักงานนี้มีอำนาจถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง  และทรัพยสินต่างๆ สามารถทํานิติกรรมได้ทุกประเภท รวมถึงทำข้อตกลงความร่วมมือกับองค์การหรือหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถจัดให้มีและให้ทุนเพื่อสนับสนุนการดําเนินงานของสํานักงาน สามารถเข้าร่วมทุนกับนิติบุคคลอื่นในกิจการที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของสํานักงาน สามารถกู้ยืมเงินเพื่อประโยชน์ในการดําเนินการตามวัตถุประสงค์ของสํานักงาน และสามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียม  ค่าบํารุง  ค่าตอบแทน  หรือค่าบริการในการดําเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ของสํานักงาน (ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่คณะกรรมการกําหนด)

งบประมาณ

ในส่วนของงบประมาณและรายได้ มาตรา 9 10  11 และ 12 ของ พรฎ.ฉบับนี้ [15] ระบุโดยมีสาระสำคัญ คือ เงินทุน รายได้ หรือทรัพย์สินของสำนักงานพัฒนาพิงคนครในส่วนของรัฐมาจาก 1) การโอนย้ายทรัพย์สินและงบประมาณของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีที่เดิมอยู่กับที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)   2) เงินอุดหนุนจากรัฐบาล ซึ่งงบประมาณในปี 2557 นั้น อยู่ในวงเงิน 744.3119 ล้านบาท [16]  3) เงินอุดหนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ไม่บังคับ)

ในส่วนของเอกชน เปิดให้สำนักงานพัฒนาพิงคนคร สามารถรับเงินอุดหนุนจากเอกชน องค์กรจากต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ และเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้ได้ โดยมีข้อแม้ว่า ต้องไม่สูญเสียความเป็นอิสระและความเป็นกลางของสำนักงาน

ส่วนทรัพย์สินและเงินรายได้อีกส่วน มาจากการดำเนินกิจการของสำนักงานเอง เช่น ค่าธรรมเนียม ค่าบํารุง  ค่าตอบแทน ค่าบริการ ฯลฯ โดยรายได้เหล่านี้ไม่ต้องส่งคืนให้รัฐ

โครงสร้างการบริหาร

โครงสร้างองค์กร ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสํานักงานพัฒนาพิงคนคร(องค์การมหาชน) พ.ศ. 2556 [17] กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหาร เรียกว่า ‘คณะกรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนคร’  รวม 11 คนประกอบไปด้วย

  1. ประธานกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง
  2. กรรมการโดยตําแหน่งจํานวนสามคน ได้แก่ ผู้อํานวยการสํานักงบประมาณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่
  3. กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากภาคเอกชนในพื้นที่การพัฒนาพิงคนครจํานวนสามคน
  4. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ  จํานวนไม่เกินสามคน  ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านการบริหารจัดการ  การเกษตร  การพัฒนาสังคมกฎหมาย การท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ การประชุม หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อกิจการของสํานักงาน  โดยในจํานวนนี้ต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมิใช่ข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐที่มีตําแหน่งหรือเงินเดือนประจําร่วมอยู่ด้วย
  5. ผู้อำนวยการที่ถูกแต่งตั้งจากคณะกรรมการชุดนี้  (ดูผังประกอบ)

ซึ่งประธานกรรมการและกรรมการมีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี ดำรงตำแหน่งไม่เกินสองวาระติด

ในช่วงโยกย้ายข้าราชการปลายปี 2556 ครม.ได้อนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนคร จำนวน 7 ราย ตามที่สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) [18] เสนอ ได้แก่ 1.นายอุดม พัวสกุล เป็นประธานกรรมการ 2.นางชูจิรา กองแก้ว เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 3.นายโชติศักดิ์ อาสภวิริยะ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 4.น.ส.เสาวนีย์ จิรพวุฒิกุล เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5.นายชัยธวัช เสาวพนธ์ เป็นกรรมการภาคเอกชน 6.นางอรกนงค์ มณีกาญจน์ เป็นกรรมการภาคเอกชน และ 7.นายโชติโรจน์ วงศ์วรรณ เป็นกรรมการภาคเอกชน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป

 


ภาพแผนผังคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนคร
[19]

 

‘คณะกรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนคร’ มีอํานาจหน้าที่ควบคุมดูแลสํานักงานให้ดําเนินกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ที่กําหนดไว้  อาทิ กําหนดนโยบายการบริหารงานและให้ความเห็นชอบแผนการดําเนินงานของสํานักงาน   อนุมัติแผนการลงทุน แผนการเงิน โครงการ  และงบประมาณประจําปีของสํานักงาน ให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์การจัดเก็บและอัตราค่าธรรมเนียม  ค่าบํารุง  ค่าตอบแทน หรือค่าบริการในการดําเนินกิจการของสํานักงาน ควบคุมดูแลการดําเนินงานและการบริหารงานทั่วไป ตลอดจนออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ เป็นต้น

ในส่วนของการบริหารนั้น คกก.พิงคนคร จะแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงาน และผู้อำนวยการสำนักงาน แต่งตั้งรองผู้อำนวยการ (โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการ) อีกครั้งหนึ่ง

จากนั้นวางแผนการบริหารโดยจ้างเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้าง (ผู้ซึ่งปฏิบัติงานโดยได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างจากงบประมาณของสํานักงาน) ที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญ (ผู้ซึ่งสํานักงานจ้างให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญโดยมีสัญญาจ้าง) และเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมาปฏิบัติงานของสํานักงานเป็นการชั่วคราว เพื่อขับเคลื่อนนโยบายตามแผนงานต่างๆ

ในการบริหารนั้น ผู้อํานวยการมีหน้าที่บริหารกิจการของสํานักงานให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ของสํานักงาน ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกําหนด นโยบาย มติ และประกาศของคณะกรรมการ และเป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่และลูกจ้างทุกตําแหน่ง  เว้นแต่ผู้ดํารงตําแหน่งผู้ตรวจสอบภายใน รวมถึงต้องเสนอแผนงาน เป้าหมาย และโครงการต่อคณะกรรมการทุกปี พร้อมทั้งเสนอรายงานประจําปีเกี่ยวกับผลการดําเนินงานด้านต่าง ๆ ของสํานักงาน  และความเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงกิจการและการดําเนินงานของสํานักงานให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งรายงานการเงินและบัญชี  ตลอดจนเสนอแผนการเงินและงบประมาณของปีต่อไปต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาด้วย

 


ภาพโครงสร้างการบริหารของสำนักงานพัฒนาพิงคนคร ตามที่บัญญัติไว้ในพรก.ฯและปรากฏ ณ ตอนนี้

 

การตรวจสอบ

ในหมวด 5-6 ของ พรฎ.ฯ [20]  ระบุให้มีการตรวจสอบภายในเกี่ยวกับการเงิน  การบัญชี  และการพัสดุของสํานักงาน  ตลอดจนรายงานผลการตรวจสอบให้คณะกรรมการทราบอย่างน้อยปีละครั้ง

ในการตรวจสอบภายใน ให้มีผู้ปฏิบัติงานของสํานักงานทําหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบภายในโดยเฉพาะ และให้รับผิดชอบขึ้นตรงต่อคณะกรรมการตามระเบียบหรือข้อบังคับที่คณะกรรมการกําหนด

และในทุกรอบปี ให้สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือบุคคลภายนอกตามที่คณะกรรมการแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีและประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของสํานักงาน  โดยให้แสดงความคิดเห็นเป็นข้อวิเคราะห์ว่า การใช้จ่ายดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ประหยัด และได้ผลตามเป้าหมายเพียงใด  แล้วทําบันทึกรายงานผลการสอบบัญชีเสนอต่อคณะกรรมการ

นอกจากนี้ ให้สํานักงานจัดให้มีการประเมินผลการดําเนินงานตามระยะเวลาที่คณะกรรมการกําหนด แต่ต้องไม่นานกว่า 3 ปีและต้องจัดทําโดยสถาบัน  หน่วยงาน  องค์กร  หรือคณะบุคคลที่เป็นกลางและมีความเชี่ยวชาญในด้านการประเมินผลการดําเนินงาน โดยมีการคัดเลือกหรือแต่งตั้งตามวิธีการที่คณะกรรมการกําหนด

ด้านการกำกับดูแล มาตรา 38 -39 ระบุว่า ให้รัฐมนตรีมีอํานาจหน้าที่กํากับดูแลการดําเนินกิจการของสํานักงานให้เป็นไปตามกฎหมาย และให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสํานักงาน  นโยบายของรัฐบาล และมติของคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับสํานักงาน โดยให้รัฐมนตรีมีอํานาจสั่งให้สํานักงานชี้แจงแสดงความคิดเห็น ทํารายงาน หรือยับยั้งการกระทําของสํานักงานที่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสํานักงาน นโยบายของรัฐบาลหรือมติของคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับสํานักงาน ตลอดจนสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดําเนินการของสํานักงานได้

นอกเหนือจากโครงสร้างดังกล่าว นายอุดม พัวสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนคร ยังเปิดเผยถึงแผนงานในการบริหารของคณะกรรมการ ภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2556 [21] ว่า แนวคิดการจัดตั้งสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) เกิดขึ้นเนื่องจากรัฐบาลเล็งเห็นว่าจังหวัดเชียงใหม่มีศักยภาพในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวและด้านอื่นๆ เพื่อก่อให้เกิดรายได้ อย่างไรก็ตามหากใช้กระบวนการดำเนินงานตามปกติอาจจะทำให้การพัฒนาไม่ต่อเนื่อง จึงมีแนวคิดในการจัดตั้งองค์การมหาชนเข้ามาดูแลเพื่อให้การทำงานเกิดความคล่องตัวและต่อเนื่อง

“ในเบื้องต้นสำนักงานพัฒนาพิงคนครจะเป็นเหมือนบริษัทแม่ โดยมีบริษัทลูกในเครือ 2 องค์กร ได้แก่ เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ซึ่งหน้าที่ของสำนักงานพัฒนาพิงคนคร คือทำให้องค์กรที่อยู่ในสังกัดมีความแข็งแรงและสามารถเลี้ยงดูตนเองได้ รวมทั้งพัฒนาให้ไปสู่จุดหมายทั้งในด้านการท่องเที่ยวและด้านอื่นๆ อีกหลายด้านตามที่รัฐบาลกำหนดไว้ และในอนาคตก็จะมีการนำองค์กรอื่นๆ เข้ามาอยู่ในสังกัดเพิ่มขึ้นอีกตามความเหมาะสม”

โปรดติดตามตอนต่อไป  เจาะองค์การมหาชน ‘พิงคนคร’ (2) : ปฏิบัติการทางอำนาจ: ความเหลื่อมซ้อนระหว่างอำนาจส่วนกลาง-ภูมิภาค-ท้องถิ่น?-รอยปะทะและความขัดแย้ง กรณีสวนสัตว์เชียงใหม่ ข่วงหลวงเวียงแก้ว กระเช้าลอยฟ้า

 

อ้างอิง:

  1. สิริมงคล จันทร์ขาว. 2549. เมื่อ  ‘ทักษิณ’...ทําผิด ‘ทักษา’.. ความ ‘ขึด’ จึงบังเกิด. แหล่งที่มา : http://www.thaingo.org/cgi-bin/content/content2/show.pl?0399. 3 พฤศจิกายน 2556
  2. ประชาธรรม. 2550. คนเชียงใหม่ถกแนวทางจัดการพื้นที่พืชสวนโลก. แหล่งที่มา : http://www.prachatham.com/detail.htm?code=n6_06032007_02 . 3 พฤศจิกายน 2556
  3. ประชาธรรม. 2550. ฮักเจียงใหม่แนะ ‘ปิดไนท์ซาฟารี’ ระบุระยะยาวได้ไม่คุ้มเสีย. แหล่งที่มา : http://www.prachatham.com/detail.htm?code=n1_30112007_01 . 3 พฤศจิกายน 2556
  4. องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน). 2546. แหล่งที่มา. http://www.dasta.or.th/th/aboutus.html . 4 พฤศจิกายน 2556
  5. พระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542.  (2542,13 กุมภาพันธ์).  ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 116  ตอนที่ 9ก.,  หน้า 5-16.
  6. เรื่องเดียวกันกับเชิงอรรถที่ 5
  7. สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 เชียงใหม่. 2555. เชียงใหม่ถกยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองเชียงใหม่สู่เมืองมรดกแห่งล้านนา (The Glory of Lanna Heritage ). แหล่งที่มา : http://region3.prd.go.th/ct/news/viewnews.php?ID=121021165908 . 4 พฤศจิกายน 2556
  8. วิกิพีเดีย. 2556. สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน). แหล่งที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A3_(%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%99) . 4 พฤศจิกายน 2556
  9. ASTVผู้จัดการออนไลน์. 2556. ทน.เชียงใหม่ขยับคุมตึกสูง เดินหน้าร่างเทศบัญญัติแล้ว. แหล่งที่มา : http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9560000043449 . 4 พฤศจิกายน 2556
  10. ทัศนัย บูรณุปกรณ์.  2556. ร่างเทศร่างเทศบัญญัติเรื่องกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง หรือดัดแปลง อาคารบางชนิดหรือบางประเภทในท้องที่เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ฯ. http://www.4shared.com/office/bHp0CxY7/__online.html . 5 ตุลาคม 2556
  11. คมชัดลึกออนไลน์. 2556. 'บุญเลิศ'ขายฝัน'รถไฟฟ้ารางเดี่ยว'. แหล่งที่มา : http://www.komchadluek.net/detail/20130504/157601/%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%8D%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%9D%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%96%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7.html . 4 พฤศจิกายน 2556
  12. ครอบครัวข่าวสาม. 2556. สกู๊ป..ขายฝันระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่. แหล่งที่มา : http://www.krobkruakao.com/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87/76625/%E0%B8%AA%E0%B8%81%E0%B8%B9%E0%B9%8A%E0%B8%9B--%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%9D%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%82%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88.html . 4 พฤศจิกายน 2556
  13. ASTVผู้จัดการออนไลน์. 2556.  เชียงใหม่จัดเสวนานำร่อง ‘เชียงใหม่-ลำพูน’ มรดกโลก นักวิชาการแนะต้องเตรียมพร้อมหลายด้าน. แหล่งที่มา : http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9560000087677&Html=1&TabID=3& . 4 พฤศจิกายน 2556
  14. อ้างแล้ว
  15. อ้างแล้ว
  16. พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557. (2556,11 ตุลาคม). เล่ม 130 ตอนที่ 93ก, หน้า 6.
  17. อ้างแล้ว
  18. มติครม.1 ตุลาคม 2556. ‘การแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนคร’
  19. เขียนขึ้นโดยผู้เขียนจากการอ่านพรก.ฉบับนี้
  20. อ้างแล้ว
  21. ASTVผู้จัดการออนไลน์. 2556.  ปธ.บอร์ด ‘พิงคนคร’ แจงยังไม่คุยเรื่องโอนย้ายสวนสัตว์เชียงใหม่-ดูแค่ไนท์ซาฟารี-ศูนย์ประชุมฯ. แหล่งที่มา : http://www.manager.co.th/Local/viewnews.aspx?NewsID=9560000128074 . 8 พฤศจิกายน 2556

 

โครงการให้ทุนเพื่อทำข่าวเชิงลึกได้รับการสนับสนุนทุนจากโครงการสะพาน โดยการสนับสนุนจากองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา โดยเปิดรับสมัครผู้สนใจเสนอประเด็นเพื่อขอรับทุนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 โดยคณะกรรมการได้คัดเลือกประเด็นจำนวน 41 ประเด็น จากผู้สมัครเข้าขอรับทุนทั้งหมด 39 ราย จนได้ผู้มีสิทธิได้รับทุนจำนวน 10 ราย และผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพียงพอที่จะนำเผยแพร่จำนวน 8 ประเด็น  โดยเว็บไซต์ประชาไทได้ทยอยนำขึ้นเผยแพร่ ดังปรากฏอยู่ในหน้านี้แล้ว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท