Skip to main content
sharethis
สืบเนื่องจากกรณีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัดสินใจไม่ต่อสัญญา ผศ.ดร.สุดา รังกุพันธ์ุ อาจารย์ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงและกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล โดยให้เหตุผลว่า น.ส. สุดา ไม่สามารถทำงานให้กับภาควิชาตามความรับผิดชอบที่คาดหวัง และไม่ได้คุมวิทยานิพนธ์นศ. หลายปีติดต่อกัน คณะกรรมการประเมินผลการทำงาน จึงไม่ต่อสัญญาการทำงานนั้น
 
สุดา ให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า การตัดสินดังกล่าวของภาควิชาถือว่าไม่เป็นธรรม เนื่องจากตามที่ระบุไว้ใน พรบ.จุฬาฯ นั้น หลังจากการสิ้นสุดสัญญาในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยสามารถต่อสัญญาให้แก่พนักงานได้อีก 3 ปี 2 ครั้ง รวมทั้งสิ้นเป็น 6 ปี ทั้งนี้ สัญญาการจ้างในระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์ของสุดาหมดลงในวันที่ 31 มี.ค. 2557 แต่คณะกรรมการฯ กลับไม่ให้โอกาสต่อสัญญาตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย การเร่งรีบในการเลิกจ้างเช่นนี้ จึงเป็นที่น่าสงสัยว่ามีการกดดันทางการเมืองมายังผู้บริหารระดับต้นหรือไม่
 
ต่อเรื่องการคุมวิทยานิพนธ์ที่จุฬาฯ อ้างว่าเป็นเหตุผลหนึ่งที่ไม่ต่อสัญญาจ้างนั้น เธอกล่าวว่า ปัญหาการคุมวิทยานิพนธ์ปริญญาโท และปริญญาเอก นั้น มีความซับซ้อน และเกี่ยวพันกับการหาทุนของอาจารย์ ที่ในปัจจุบัน มีความเป็นอิสระได้ยาก หากอาจารย์คนใดไม่ได้เข้าไปอยู่ใน "เครือข่าย" ก็อาจส่งผลต่อการได้ทุนการศึกษาของนิสิต ซึ่งถือเป็นปัจจัยหนึ่งของการตัดสินใจของนิสิตในการเลือกแนวทางการทำวิทยานิพนธ์ ทั้งนี้ สุดายืนยันว่าพร้อมทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ แต่ไม่ได้รับมอบหมายให้เป็นกรรมการวิทยานิพนธ์ หรือที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ จากกรรมการบริหารหลักสูตร การอ้างเหตุผลการไม่มีวิทยานิพนธ์ในการไม่ต่อสัญญา จึงไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง
 
น.ส. สุดายืนยันว่า ตนทำตามหน้าที่ของตนเองตามความรับผิดชอบที่กำหนดอย่างเต็มที่แล้ว แต่ยอมรับว่าบทความทางวิชาการที่กำลังดำเนินการเพื่อตีพิมพ์ มีความล่าช้ากว่ากำหนดเนื่องจากกิจกรรมอาสาเรื่องการปลดปล่อยนักโทษการเมือง ที่เป็นผู้ด้อยโอกาส และเหยื่อทางการเมือง แต่ในประเด็นนี้ คณะอักษรฯ ก็ได้ให้บทลงโทษด้วยการขึ้นเงินเดือนในอัตราที่ต่ำมากในปีที่งานล่าช้าอยู่แล้ว การนำผลการประเมินเพียง 1-2 ปี มาตัดสินผลงานและศักยภาพของตนทั้งหมดที่ได้ทำมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาร่วม 14 ปี ถือว่าไม่เป็นธรรม เพราะนี่เป็นการประเมินการต่อสัญญา ไม่ใช่การประเมินเพื่อขึ้นเงินเดือน ผู้บริหารควรมองภาพรวมของบุคคลากรมากกว่าใช้ผลการประเมินเพียงครั้ง หรือสองครั้ง ทั้งนี้ เธอกล่าวว่าจะอุทธรณ์มติดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาเรื่องอุทธรณ์และร้องทุกข์การบริหารงานของจุฬาฯ ต่อไป
 
โดยเมื่อวันที่ 18 เม.ย. นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ได้อ้างแหล่งข่าวอาจารย์ในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ว่าการไม่ต่อสัญญาสุดา ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องการทำงานที่ไม่รับผิดชอบได้ตามหน้าที่ที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ยังระบุว่า การที่สุดาไปจัดรายการประจำทางสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งซึ่งได้รับค่าตอบแทน และไม่เข้าประชุมภาควิชา รวมทั้งเข้ามหาวิทยาลัยน้อยมาก เป็นการไม่ยุติธรรมต่อจุฬาฯ 
 
ด้านน.ส. สุดากล่าวต่อประเด็นนี้ว่า การที่ตนเองไปจัดรายการในสื่อภาคประชาชน เป็นการทำแบบอาสาสมัครและไม่เคยได้รับค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังใช้เวลานอกราชการเป็นส่วนใหญ่ ส่วนในบางครั้งที่เป็นเวลาราชการ ก็ได้พยายามยื่นใบลา แต่มักถูกปฏิเสธไม่ให้ยื่น เนื่องจากผิดธรรมเนียมปฏิบัติ เนื่องจากอาจารย์ท่านอื่นก็มีภารกิจนอกสถานที่เช่นกัน แต่ไม่ยื่นใบลา ประเด็นนี้จึงเป็นการโจมตีที่ไม่ตรงตามความจริงและไม่เป็นธรรม
 
เธอยังกล่าวด้วยว่า ได้รับแจ้งจากผู้บริหารว่าอธิการบดี ถูกคณะกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภาที่พิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งมีกรรมการภายนอกหลายคน เช่น นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม เรียกไปให้ปากคำเนื่องจากที่น.ส. สุดาได้ไปเล่นงิ้วธรรมศาสตร์ในงานรำลึก 6 ตุลาปีที่แล้ว จึงสงสัยว่ามีการกดดันให้เร่งรัดไม่ต่อสัญญาจ้างของตนเองหรือไม่ 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net