คนดีกับพลเมืองดี

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เรื่องพื้นๆที่มีการกล่าวถึงและโต้แย้งกันมายาวนานสามารถสืบสาวลงไปถึงสมัยกรีกโบราณ คือ เรื่องความเป็นพลเมือง (citizenship) ซึ่งถือเป็นการเริ่มคำว่า “สิทธิและหน้าที่”ก่อนนำไปสู่คำว่า “ยุติธรรม” ในเวลาต่อมา

ความเป็นพลเมืองเกิดจาก “สังคม” ที่หมายถึงการอยู่ร่วมกัน คือ เมื่อคนในสังคมอยู่ร่วมกันมากเข้าโอกาสที่ปัญหา ซึ่งก็คือความขัดแย้งจะเกิดขึ้นก็มากตามไปด้วย ดังนั้น จึงเกิดการจำกัดความของคำว่าพลเมืองโดยปราชญ์หลายท่านในช่วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา และประวัติศาสตร์ที่ว่าก็น่าจะเป็นประวัติศาสตร์ตะวันตกเสียเป็นส่วนมาก

สังคมกรีกและโรมัน ที่ถือเป็นต้นแบบระบอบประชาธิปไตยและมีพัฒนาการทางการเมืองเชิงการเรียนรู้ตามกาลเวลา ปราชญ์หรือนักคิดต่างๆ มีความรู้ความเข้าใจสภาพการณ์ทางสังคมกว้างขวางมากขึ้น เป็นผลมาจากพลวัตทางสังคม ส่วนหนึ่งเนื่องจากการติดต่อสื่อสารระหว่างกันของผู้คนในสังคม จนก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้าน เศรษฐกิจ การเมืองและการปกครอง  รวมถึงด้านวัฒนธรรมความเป็นอยู่ จึงมีการหยิบยกเอา “ความเป็นพลเมือง” เป็นเครื่องมือพัฒนาระบบการเมืองการปกครองจนก้าวสู่การอยู่ร่วมกันของผู้คนในสังคมในรูปแบบประชาธิปไตย 

การปกครองระบอบประชาธิปไตยจะประสบความสำเร็จได้ ประชาชนต้องมีคุณลักษณะการสำเหนียกถึงของความเป็น พลเมือง ซึ่งประกอบไปด้วยสิทธิและหน้าที่  ขณะที่ในส่วนของประชาชนเองมีความแตกต่างหลากหลายภายใต้หลักสิทธิเสรีภาพ และหลักความเสมอภาค โดยความคิดดังกล่าวนี้ถูกพัฒนามาในโลกตะวันตกเป็นส่วนใหญ่  เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ไม่ว่าจะเป็นในยุโรปหรือในอเมริกาก็ตาม

สิ่งที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองว่าด้วยความเป็นพลเมือง คือ “การกล้าตั้งคำถาม” ต่อกระบวนการและความเป็นไปด้านการเมืองการปกครองในขณะนั้นๆ จากฐานเดิมศักดินา จนกลายเป็นการให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจกชนที่เท่าเทียมกัน ซึ่งเรื่องนี้ผูกโยงไปที่หลักความยุติธรรมหรือหลักความเสมอภาค  และก่อนที่จะเกิดความเสมอภาคขึ้นนั้น ประชาชนในสังคมก็ต้องมีการต่อสู้เพื่อสิทธิความเป็นพลเมืองของตนเองเสียก่อนแทบทั้งสิ้น

Thomas Humphrey Marshall กล่าวถึงสิทธิพลเมืองไว้ 3 ประการ คือ (1) Civil rights หมายถึงสิทธิบุคคลในกฎหมาย เสรีภาพบุคคลที่จะเลือกดำรงอยู่ ความเสมอภาคความเป็นธรรม (2) political rights หมายถึงสิทธิการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง และการแสดงความเห็นต่อรัฐบาลหรือผู้ปกครอง และ (3) social rights หมายถึงสิทธิเกี่ยวกับเศรษฐกิจ สวัสดิการ ความมั่นคง การดูแลด้านสุขภาพ รวมถึงการดูแลหากเกิดการเลิกจ้างงาน หรือการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งรัฐต้องให้การคุ้มครอง แต่นี่ก็เป็นการผูกนิยามของคำว่าสิทธิของความเป็นพลเมืองขึ้นมาภายหลัง

ดูเหมือนโลกตะวันตก จะก้าวหน้าไปมากกว่าโลกตะวันออก กับเรื่อง“ของกลาง”ของสังคมมนุษย์ คือ ความเป็นพลเมือง ขณะที่โลกตะวันออกยังคงถกเถียงหรืออภิปรายกันถึงการรู้แจ้งหรือการแก้ไขปัญหาส่วนบุคคลมากกว่าการมองในแง่ของปัญหาการอยู่ร่วมกันของสังคม  พูดง่ายๆ คือ โลกตะวันออกมองแกนของปัญหาว่าเกิดจากปัจเจกบุคคล ส่วนโลกตะวันตกมองแกนของปัญหาว่าเกิดจากการกระทำร่วมของคนหลายคนในสังคม  โดยเฉพาะคนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับคนหลายคนในสังคมขนาดต่างๆ ตั้งแต่ระดับครอบครัวขึ้นไปจนถึงระดับรัฐ ซึ่งในประเด็นหลังหมายถึง ผู้ปกครอง

ในแง่ของพัฒนาการ ก็คือ ตะวันตกแยกสกัดประเด็นด้านศีลธรรมซึ่งว่าด้วยการวัตรปฏิบัติเชิงปัจเจกออกจากการเมืองการปกครอง หลังจากผ่านยุคสว่างทางปัญญา (Age of Enlightenment) มาแล้ว จนเกิดสิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองขึ้นมา ซึ่งสิทธิและหน้าที่ดังกล่าว “เป็นของกลาง” ที่อยู่นอกเหนือไปจากวัตรปฏิบัติทางด้านศีลธรรมเชิงปัจเจก
วัตรปฏิบัติส่วนตนทางด้านศีลธรรมอาจมีความสัมพันธ์กับสิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองบ้าง แต่ก็น่าจะเป็นแบบคนละเรื่องเดียวกันมากกว่า เป็นความเหมือนที่แตกต่าง ระหว่างความดีกับการเป็นพลเมืองดี พลเมืองดีไม่ได้หมายถึงคนดี (เชิงศีลธรรม)และคนดี (เชิงศีลธรรม) ก็ไม่ได้หมายถึงพลเมืองดี

พลเมืองจึงหมายถึง “ของกลางที่ทุกคนพึงเข้าถึงด้วยความเสมอภาค” นั่นคือ สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ ขณะที่ “คนดี” เป็นเรื่องของปัจเจก เป็นเรื่องวัตรปฏิบัติส่วนตน ใครจะเข้าถึงความเชื่อของตนอย่างไรก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล

ในยุคศาสนาของยุโรปหรือยุคกลาง (Middle Ages) เป็นของการเรียนรู้(บทเรียน)และเป็นช่วงของการแยกตัวออกมาระหว่าง “ศีลธรรมเชิงปัจเจก”กับ “ความเป็นพลเมือง” หลังจากยุโรปได้รับบทเรียนการตีความคำสอนหรือหลักศาสนาที่แผ่ขยายอิทธิพลคลุมไปถึงความเป็นพลเมือง จนท้ายที่สุดกลายเป็นการจองจำพลเมืองให้ปราศจากเสรีภาพไปโดยปริยาย จึงมีการกบฏด้วยการถอดสลักการควบคุมของศาสนาที่เกิดจากการตีความเข้าข้างตัวเองของบุคคลในทางศาสนา แต่แล้วก็มาติดกับดักศักดินาอีกจนกระทั่งนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงบ้าง ไม่รุนแรงบ้าง เรียกว่าเป็นยุคเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย โดยการเปลี่ยนผ่านที่รุนแรง ได้แก่การปฏิวัติฝรั่งเศสในระหว่างปีค.ศ. 1789  ถึง 1799 จนกลายเป็นโมเดลสำคัญของการปฏิวัติประชาชนของโลกไป

การปฏิวัติประชาชน เริ่มต้นจากการสำเหนียกในความเป็นพลเมืองของประชาชนจำนวนหนึ่ง ในสมัยที่มีการให้ค่ากับสิทธิมนุษยชนว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด  ด้วยพื้นฐานการมองว่าคนทุกคนเท่าเทียมกันในเรื่องการเป็นมนุษย์ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไรก็ตาม จนแม้เมื่อความเป็นทุนนิยมเริ่มเข้มข้นมากขึ้นในอเมริกาแต่ความเชื่อเรื่องความเป็นพลเมืองก็กลับเข้มข้นมากขึ้นเช่นกัน โดยถึงกับกลายเป็นหนึ่งในความหมายของลัทธิอเมริกัน (Americanism) คือ ความหมายที่ว่า สิทธิควบคู่ไปกับหน้าที่ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอเมริกัน ซึ่งอย่างน้อยในส่วนของรัฐธรรมนูญอเมริกันในทางปรัชญา ได้กำหนดถึงการปกป้องคุ้มครองความมีเสรีภาพของพลเมืองอเมริกันไว้ด้วยแล้ว ทำให้สิทธิและหน้าที่ของพลเมืองอเมริกันถูกขับให้โดดเด่น จนกลายเป็นโมเดลหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยเช่นเดียวกันกับฝรั่งเศส

ความสำเหนียกในความเป็นพลเมือง ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อพูดถึงสิทธิของความเป็นพลเมืองแล้ว ก็ยังมีหน้าที่ของความเป็นพลเมืองอีกด้วย อย่างน้อยหน้าที่ในขั้นพื้นฐานคือ การเคารพต่อสัญญาประชาคม หรือกฎของการอยู่ร่วมกัน หมายความว่านอกเหนือไปจากความเคารพต่อความเป็นปัจเจกซึ่งกันและกันแล้ว พลเมืองยังต้องมีหน้าที่ต่อกันด้วย ซึ่งการมีหน้าที่ต่อกันดังกล่าว โยงไปที่ศูนย์กลางคือ รัฐ ดังนั้นหน้าที่ต่อรัฐ ก็มีคือหน้าที่ต่อเพื่อนพลเมืองด้วยกัน ในการที่จะช่วยให้สังคมอยู่ร่วมกันบนโลกแห่งความเป็นจริงและสามัญด้วยสันติภาพ  และสันติภาพจะเกิดขึ้นได้ถ้าพลเมืองสำเหนียกถึงสิทธิและหน้าที่ของตน

ความจริงกรอบการสำเหนียกแบบคนดีต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมหรือในรัฐ ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดแต่อย่างใด หากแต่ “ความดีเชิงปัจเจก” มักถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง (เช่น การตีความ) อยู่เนืองๆตลอดมา ความดีเชิงปัจเจกหรือเชิงศาสนา ในแง่ของความเป็นพลเมืองดีจึงอธิบายโดยการสกัดออกมาเป็นหลักธรรมต่างๆเท่านั้น ซึ่งเท่ากับต้องนำหลักธรรมไปสู่กระบวนการตีความ “ความเป็นพลเมือง” เสียใหม่ให้สอดคล้องกับกระแสประชาธิปไตย เช่น ในเรื่องของเสรีภาพ ความเสมอภาค ความเคารพซึ่งกันและกันในฐานะของความเป็นมนุษย์โดยปราศจากเงื่อนไขชนชั้นวรรณะ รวมถึงความยุติธรรมเชิงประชาธิปไตยตามพลวัตของโลก ซึ่งหากเป็นในกรณีของพุทธศาสนา ดร.อัมเบดการ์ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีเพียงฉบับเดียวของอินเดียที่ไม่เคยมีประวัติการฉีกทิ้งเลย ได้แสดงให้เห็นว่าพลังในการตีความคำสอนทางศาสนาจำเป็นและยิ่งใหญ่เพียงใด 

แต่กระนั้นก็ยังดูเหมือนเป็นปัญหาว่าคนดีในรูปแบบศาสนาเป็นได้แค่ “ขบวนการ” หนึ่งที่ออกมาขับเคลื่อนสังคมเท่านั้น ยังไม่ใช่สำนึกโดยรวมของความเป็นพลเมือง

สังคมตะวันตกอย่างเช่นอเมริกา มีการแยกพลเมืองออกจากคนดี เพื่อให้เกิดสำนึกร่วมของความพลเมืองที่มีต่อรัฐหรือประเทศ ภายใต้กระบวนการประชาธิปไตยซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการที่ยิ่งใหญ่ในทางโลก ซึ่งส่วนหนึ่งของความยิ่งใหญ่เกิดจากความใจกว้าง

ความใจกว้างที่แม้แต่คนไม่ดีในเชิงศีลธรรมซึ่งไม่เลยเถิดไปถึงขึ้นละเมิดความเป็นพลเมืองของบุคคลอื่นของรัฐยังสามารถดำรงสิทธิของความเป็นพลเมืองอยู่ได้

เพราะหากมีการนำความเป็นคนดีเชิงศีลธรรมมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับความเป็นพลเมืองดีของรัฐ เมื่อนั้นปัญหาเรื่อง “การประเมินค่าของคน”ก็จะเกิดขึ้นทันที ลามไปจนถึงความยุติธรรม และส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในสังคมอย่างเลี่ยงไม่ได้.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท