Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

มีภาพถ่ายภาพหนึ่งซึ่งอื้อฉาวมากในอินเทอร์เน็ตคือภาพของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาโรนัลด์ เรแกนขณะเยือนกรุงมอสโคว์เมื่อปี 1988  ในขณะนั้นเขากำลังเอื้อมลงไปจับมือกับเด็กชายผู้หนึ่งกลางจตุรัสแดง ประกอบกับการบอกเล่าต่อๆ กันมาสำหรับบรรดาผู้ท่องเน็ตว่าผู้ชายที่ยืนอยู่ข้างหลังเด็กชายคนนั้นและมีกล้องถ่ายรูปห้อยคอคือวลาดิเมีย ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียคนปัจจุบันแหล่งที่มาของการเล่าลือคือคนที่ถ่ายภาพนี้หรือช่างภาพประจำทำเนียบขาวของสหรัฐฯ ซึ่งยังคงทำงานจนถึงปัจจุบันคือพีท ซัวซ่า ได้เล่าให้ฟังว่าบรรดาชาวรัสเซียในฐานะนักท่องเที่ยวที่อยู่ใกล้ตัวเรแกนล้วนแต่เป็นเจ้าหน้าที่เคจีบีที่ปลอมตัวมาและตั้งข้อสังเกตว่าผู้ชายคนนั้นเหมือนกับปูติน อย่างไรก็ตามก็มีผู้แสดงความไม่เห็นด้วยอย่างมากต่อข้ออ้างเช่นนี้เพราะปูตินนั้นเมื่อตอนยังหนุ่มๆ เป็นเพียงเจ้าหน้าที่เคจีบีที่ประจำการอยู่ที่เมืองเดรสเดน เยอรมันตะวันออกในปีดังกล่าวและไม่ได้มีความเก่งกาจอะไรที่จะมาทำงานใหญ่เช่นนี้ นอกจากนี้ทรงผมและรูปร่างลักษณะยังมีความแตกต่างกันอยู่มาก

บทความนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์จะพิสูจน์ว่าปูตินแอบลูบคมเรแกนหรือไม่แต่จะกล่าวถึงอัตชีวประวัติของเรแกนเป็นหลักว่ามีบุคลิกลักษณะที่ผู้เขียนเห็นว่าคล้ายคลึงกับปูตินหลายอย่างโดยเฉพาะการดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่ซับซ้อนคือดุดันสลับกับอ่อนโยน เน้นการทหารสลับกับการทูต แม้ว่าปูตินจะเป็นคนรัสเซียแต่ว่าไม่น่าจะประทับใจกับมิคาอิล กอร์บาชอฟ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์คนสุดท้ายของสหภาพโซเวียตเท่าไรนักเพราะกอร์บาชอฟเป็นมักถูกกล่าวหาว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลาย ผู้เขียนเลยเดาเล่นๆ ว่าในฐานะที่ปูตินเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองซึ่งควรรู้เรื่องเกี่ยวกับโลกเสรีดี นโยบายต่างประเทศของเขาน่าจะได้แรงบันดาลใจมาจากเรแกนมาไม่มากก็น้อย (เช่นเดียวกับมุมมองแบบอนุรักษ์นิยมเช่นยกย่องคุณค่าทางศาสนา)  การเข้าใจว่าปูตินยืนอยู่ไม่ไกลจากเรแกนเป็นการยอมรับแบบกลายๆ ถึงแนวคิดดังกล่าว

บทความนี้ต่อไปนี้บางส่วนเป็นการกล่าวถึงและวิจารณ์หนังสือ Reagan's War: The Epic Story of His Forty-Year Struggle and Final Triumph Over Communism (สงครามของเรแกน : มหากาพย์การต่อสู้กว่าสี่สิบปีและชัยชนะครั้งสุดท้ายเหนือลัทธิคอมมิวนิสต์)สลับกับความคิดเห็นของผู้เขียนเอง  หนังสือเล่มนี้เขียนโดยปีเตอร์ ชไวเซอร์ นักวิจัยของ Hoover Institution on War ,revolution and Peace แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด หนังสือเล่มนี้สามารถอธิบายให้เราได้เห็นถึงชีวิตและบทบาทของประธานาธิบดีคนที่สี่สิบที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ เจ้าแห่งค่ายโลกเสรีและสหภาพโซเวียตในช่วงท้ายของสงครามเย็น

โรนัลด์  วิลสัน เรแกน (1911-2004) ถือได้ว่าเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯที่ผู้เขียนรู้จักดีที่สุดอาจเพราะได้เติบโตในยุคที่เขาดำรงตำแหน่งคือช่วง 1981-1989 ลักษณะที่โดดเด่นของเรแกนได้ทำให้ตัวเขากลายเป็นสัญลักษณ์ของอเมริกาในทศวรรษที่แปดสิบ  มีการสำรวจความคิดเห็นจากหลายแหล่งพบว่าคนอเมริกันยกย่องว่าเรแกนคือประธานาธิบดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ ยิ่งกว่าแฟรงคลิน ดี รุสเวลท์หรือจอห์น เอฟ เคนนาดีเสียด้วยซ้ำ  อดีตดาราหนังที่กลายมาเป็นประธานาธิบดีคนที่สี่สิบนี้เองยังเป็นขวัญใจของพวกนวอนุรักษ์นิยม(Neo-Conservative)หรือกลุ่มนักคิดทางการเมืองที่ทรงอิทธิพลในสมัยจอร์จ ดับเบิลยู  บุชประธานาธิบดีคนที่สี่สิบสาม และเป็นบุชผู้ลูกนี้เองที่มักจะประกาศว่าเรแกนเป็น "วีรบุรุษ" ของเขา คนที่เกลียดบุชไม่น้อยต่างโจมตีว่า บุชไม่อาจมาเทียบได้กับเรแกน แต่เขาเป็นผู้ทรยศมรดกของเรแกนต่างหาก ผลงานชิ้นโบว์แดงของเรแกนคือการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯในช่วงสงครามเย็นได้อย่างปราดเปรื่องจนคนอเมริกันจำนวนมากมีความเชื่อว่าเขาได้นำสหรัฐฯและโลกเสรีในการเอาชนะโลกค่ายคอมมิวนิสต์ได้ในที่สุด

สำหรับหนังสือของชไวเซอร์ไม่ได้ตั้งใจเขียนถึงชีวประวัติของเรแกนตั้งแต่ยังเยาว์วัยเท่าไรนัก แต่เขาจะเริ่มต้นการเล่าเรื่องชีวิตของเรแกนในช่วงเป็นหนุ่มวัยฉกรรจ์ที่เริ่มเข้ามาข้องเกี่ยวกับการเมืองเช่นเรแกนต้องพบกับปัญหาชีวิตการเป็นดาราในช่วงฮอลลีวูดเพราะถูกแทรกแซงจากพรรคอมมิวนิสต์ในปลายทศวรรษที่สี่สิบ และเรแกนก็เลือกข้างที่จะเป็นฝ่ายของทางการจนกลายเป็นพวกต่อต้านคอมมิวนิสต์ตัวฉกาจ ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจว่าในช่วงที่ฮอลลีวูดกำลังเผชิญกับลัทธิล่าแม่มด (Witch hunt)เรแกนจะกลายเป็นดาราส่วนน้อยที่ไม่ลังเลใจที่ไปให้ปากคำกับคณะกรรมการตรวจสอบกิจกรรมที่ไม่เป็นอเมริกัน (House Committee on Un-American Activities หรือ HUAC)ส่วนเพื่อนร่วมอาชีพของเขาจำนวนมากไม่ยอมให้ความร่วมมือด้วยเลยจึงต้องติดคุกกันแต่แล้วตัวของเรแกนเองก็ต้องหย่าร้างกับเจน ไวน์แมนภรรยาคนแรกเพราะความทะเยอทะยานทางการเมือง และได้มาพบรักกับดาราสาวนามว่าแนนซี เดวิด หรือเป็นที่รู้จักดีในนามของแนนซี เรแกนและได้กลายเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อสามีในช่วงดำรงตำแหน่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกัน

ถึงแม้อาชีพการเป็นดาราหนังเกรดบีของเรแกนจะไม่รุ่งเรืองและไม่น่าพูดถึงนัก เขาก็เจริญเติบโตในอาชีพทางการเมืองอย่างรวดเร็วด้วยปัจจัยสำคัญคือการผสมผสานหน้าตาและการแสดงท่าทางหรือวาทศิลป์ลงไปในการดำเนินกิจการทางการเมือง    เรแกนนั้นเคยอุทิศตนให้กับเดโมแครตและเป็นหนึ่งในดาราฮอลลีวูดที่สนับสนุนประธานาธิบดี เฮนรี ทรูแมนแต่แล้วเขาก็หันมาสนับสนุนพรรครีพับลิกันในภายหลังเพราะเห็นว่าเดโมแครตอ่อนข้อให้กับพวกคอมมิวนิสต์มากเกินไป  เรแกนก้าวจากตำแหน่งประธานสหภาพภาพยนตร์ของฮอลลีวูดหรือ Screen Actors Guild มาเป็นผู้ว่าการรัฐแคริฟอร์เนียในปี 1966 (จึงไม่ต้องน่าสงสัยว่าเขาจะเป็นแบบอย่างให้แก่ดารารุ่นน้องอย่างเช่นอาโนลด์ ชวาเซเนเกอร์) ในช่วงที่อเมริกากำลังวุ่นวายอยู่กับสงครามเวียดนาม เรแกนได้หันมาวิจารณ์นโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ว่าอ่อนข้อกับพวกคอมมิวนิสต์เกินไปและยังเสนอว่าควรจะทำการบุกเวียดนามเหนือครั้งใหญ่ อันเป็นที่แน่ชัดว่าเขาไม่หวาดเกรงสหภาพโซเวียตซึ่งหนุนหลังเวียดนามอยู่ จนในปี 1976 เรแกนได้พยายามแข่งขันกับประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ดเพื่อเป็นตัวแทนของพรรครีพับลิกันเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ถึงแม้จะไม่สำเร็จแต่ในปี 1980 เขาก็สามารถเอาชนะจิมมี คาร์เตอร์จนได้เป็นประธานาธิบดีที่อายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของอเมริกาคืออายุถึง 69 ปี(1)

ในปี 1981 เรแกนถูกลอบยิงจากมือปืนโรคจิตแต่รอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิด ทำให้เขาเชื่อมั่นว่าพระเจ้าทรงไว้ชีวิตของเขาเพื่อที่จะปราบปรามพวกคอมมิวนิสต์ที่ไร้ศาสนา ความเชื่อเช่นนี้เองมีส่วนสำคัญที่ทำให้เขาดำเนินนโยบายการต่างประเทศจากเดิมแบบอดีตประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์คือเน้นการอยู่ร่วมกันแบบสันติภาพ (Detente)กับสหภาพโซเวียต มาเป็นก้าวร้าวมากขึ้น ชไวเซอร์ได้ยกย่องนโยบาย"ข้ามาคนเดียว"ของเรแกนนั่นคือเขามีความมุ่งมั่นอย่างมากในการปราบคอมมิวนิสต์จนไม่สนใจเสียงคัดค้านของลูกน้องหรือเสียงของประชาชนที่ต่อต้านการสะสมหัวรบนิวเคลียร์ จนยอมเสี่ยงที่ไม่ได้รับการรับเลือกเป็นประธานาธิบดีในสมัยที่สอง เรแกนยังหาญกล้ายิ่งกว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯคนไหนในช่วงสงครามเย็นที่กล้าเรียกสหภาพโซเวียตว่า "อาณาจักรปีศาจ" หรือ Evil Empire และเรียกร้องให้ผู้นำของโซเวียตทำลายกำแพงเบอร์ลินเสีย คำนี้ไม่ต้องสงสัยว่าจะส่งอิทธิพลต่อนโยบายของบุชในการขนานนามรัฐอันธพาลอย่างเช่นอิรัก อิหร่านและเกาหลีเหนือว่าอักษะแห่งปีศาจหรือAxis of Evilในปี 2002

ชไวเซอร์นั้นยังได้นำเสนอให้ผู้อ่านเห็นถึงความเป็นไปของประเทศที่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับสหรัฐฯ นั้นคือสหภาพโซเวียต โดยการลงทุนไปค้นคว้าจากเอกสารของ ประเทศยุโรปตะวันออกที่เคยเป็นคอมมิวนิสต์รวมไปถึงหน่วยสืบราชการลับเคจีบีของโซเวียตเกี่ยวกับตัวของเรแกนเองแสดงให้เห็นถึงความหวาดกลัวของชนชั้นปกครองในมอสโคว์ต่อความเป็นคนจริงของเรแกน หนังสือเล่มนี้ได้ชี้ให้เห็นว่าสหภาพโซเวียตนั้นเปรียบไดัดังยักษ์ป่วยนั้นคือมีความยิ่งใหญ่ภายนอกแต่ภายในเต็มไปด้วยความอ่อนแอเปราะบาง การทุ่มเงินเพื่อแข่งขันกับสหรัฐฯในเรื่องการทหาร การสำรวจอวกาศและการสะสมหัวรบนิวเคลียร์ได้ทำให้ระบบเศรษฐกิจของโซเวียตมีปัญหา ในปี 1983 เรแกนได้เสนอแผนที่เรียกว่า SDI (Strategic Defense Initiative) อันมีชื่อเรียกไม่เป็นทางการว่า  Star Wars นั้นคือการสร้างสถานีอวกาศที่ใช้แสงเลเซอร์ทำลายหัวรบนิวเคลียร์ของศัตรูนอกอวกาศ  ถึงแม้โครงการนี้จะยังไม่บรรลุผลเพราะต้องใช้งบประมาณมากและยังต้องใช้เวลาในการวิจัยอีกยาวนานว่าจะสามารถเป็นจริงได้หรือไม่ แต่แผนนี้ก็สามารถสร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้นำของโซเวียตได้อย่างมากมายและพบว่าแท้ที่จริงขีดความสามารถทางเศรษฐกิจและการทหารของโซเวียตไม่อาจเทียบกับสหรัฐฯได้เลย

อย่างไรก็ตามเรแกนก็ยังต้องการบรรเทาหวาดหวั่นของสาธารณชนในเรื่องอันตรายจากหัวนิวเคลียร์โดยการเปลี่ยนนโยบายจากแข็งกร้าวเพียงอย่างเดียวเป็นการหันมาเจรจากับสหภาพโซเวียตในการลดการสะสมหัวรบนิวเคลียร์และประสบความสำเร็จในปี 1987 โดยเฉพาะขีปนาวุธพิสัยกลาง (INF)  อันเป็นผลมาจากการประชุมสุดยอดระหว่างเรแกนกับกอร์บาฟชอฟที่เมืองเรยก์ยาวิค  ไอซ์แลนด์เมื่อ  1  ปีก่อนหน้านี้  เรแกนยังประสบความสำเร็จในการเจรจากับกอร์บาชอฟอันส่งผลให้มีการลงนามสนธิสัญญา START  (Strategic Arms Reduction Treaty) ในช่วงจอร์จ เฮช ดับเบิลยู บุช เมื่อปี 1991  อันนำไปสู่การลดหัวรบนิวเคลียร์ของทั้งสหรัฐฯ และโซเวียตเหลือฝ่ายละ6,000 ลูก  แต่เราก็ไม่สามารถยกย่อง เรแกนได้แต่เพียงฝ่ายเดียวเพราะก่อนหน้าปี 1985 ที่กอร์บาชอฟจะขึ้นมามีอำนาจ การเจรจาไม่ประสบความสำเร็จเอาเสียเลย

(เรแกนขณะกล่าวคำปราศรัยหน้าประตูแบรนเดนเบิร์กในปี 1987 เพื่อท้าทายให้กอร์บาชอฟรื้อกำแพงเบอร์ลินเสีย อันถือได้ว่าเป็นคำปราศรัยที่โด่งดังที่สุดชุดหนึ่งในประวัติศาสตร์)

ชไวเซอร์ยังชี้ให้เห็นว่าถึงแม้หลายต่อหลายครั้ง รัฐบาลของเรแกนจะทำท่าปรองดองกับสหภาพโซเวียต แต่เรแกนก็วางแผนแบบเหนือเมฆไม่ว่าการการสนับสนุนแบบลับ ๆ ต่อพวกที่อยู่ตรงกันข้ามกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในประเทศโลกที่สามไม่ว่ากลุ่มกองโจรมูจาเฮดดินในอัฟกานิสถานเมื่อโซเวียตส่งกองกำลังเข้าไปในประเทศแห่งนี้เพื่อช่วยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในปี 1979 ก็ไม่สามารถรบเอาชนะได้ในอีกกว่าทศวรรษต่อมา จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สหภาพโซเวียตนอกจากจะสูญเสียงบประมาณมหาศาลแล้วยังเสียความน่าเชื่อถือในฐานะกองทัพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งแน่นอนว่าเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้รัฐบริวารของโซเวียตกล้าประกาศนโยบายแยกตัวออกจากโซเวียตได้ในปลายทศวรรษที่แปดสิบ

นอกจากนี้เรแกนยังมุ่งเน้นปลุกระดมให้ประชาชนในยุโรปตะวันออกเช่นโปแลนด์ลุกขึ้นมาต่อสู้กับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ไม่ว่าการส่งสัญญาณวิทยุด้วยคลื่นแรงสูงหรือเผยแพร่เอกสารเกี่ยวกับลัทธิประชาธิปไตย เรแกนยังเข้าเฝ้าสันตะปะปาจอห์น พอลที่สองอยู่บ่อยครั้งจนสนิทสนมกันอย่างดีอันเป็นการตอกย้ำความเป็นหัวอนุรักษ์นิยมของเรแกนที่เน้นจารีตและคุณค่าแบบเก่าๆ รวมไปถึงการเคร่งครัดในศาสนา  นอกจากนี้สันตะปะปาจอห์น พอลยังทรงเป็นชาวโปแลนด์และต้องการให้ประเทศของพระองค์เปิดเสรีภาพต่อการนับถือศาสนาทำให้คนโปแลนด์พลอยชื่นชอบเรแกนไปด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกต้องล่มสลายในปี 1989   นอกจากการที่พรรคคอมมิวนิสต์ทั้งหลายถูกสหภาพโซเวียตงดให้การช่วยเหลือในทุกด้าน (ดังที่เรียกกันว่า "ลัทธิทางใครทางมัน " หรือ Sinatra doctrine)เพราะขาดเงินจากปัญหาเศรษฐกิจที่ย่ำแย่เกินกว่าจะเยียวยาได้นับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจทดถอยในทศวรรษที่ 70แม้ผู้นำคนใหม่ของโซเวียตคือ มิกเคล กอร์บาชอฟจะพยายามกอบกู้โซเวียตโดยการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคม

ชไวเซอร์ยังชี้ให้เห็นว่าการพบกันหรือการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำทั้งสองคือเรแกนและกอร์บาชอฟนั้น  เรแกนล้วนเอาชนะทางวาทะและครอบงำกอร์บาชอฟซึ่งอ่อนวัยกว่าและมีหัวเสรีนิยมได้เสมอ เรแกนยังสนับสนุนให้กอร์บาชอฟทำการปฏิรูปสหภาพโซเวียตครั้งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกนโยบายกลาสนอสต์หรือการเปิดให้ประชาชนชาวโซเวียตมีเสรีภาพในการแสดงออก และกอร์บาชอฟยังเปิดให้มีการเลือกตั้งเสรีในปี 1989 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่พรรคบอลเชวิกยึดอำนาจได้ในปี 1917  (ดังนั้นจึงไม่ยุติธรรมหากเราไม่ยกย่องตัวกอร์บาชอฟด้วย)  แต่ในที่สุดแล้วกอร์บาชอฟก็ไม่สามารถช่วยสหภาพโซเวียตจากการล่มสลายแตกเป็น 15 ประเทศ ในปี 1991 สามปีหลังจากที่เรแกนพ้นจากตำแหน่ง 
เรแกนถึงแก่อสัญกรรมด้วยสาเหตุสำคัญคือโรคอัลไซเมอร์ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ปี 2004 สิริรวมอายุได้ 93 ปี  ท่ามกลางพิธีศพอันยิ่งใหญ่ของเขาที่จัดโดยรัฐบาลหนึ่งในแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงานศพของเขาคืออดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ที่ชื่อกอร์บาชอฟนั้นเอง

เป็นที่แน่ชัดว่าหนังสือเล่มนี้ของชไวเซอร์จะเปรียบเหมือนกับโฆษณาชวนเชื่อของพวกแนวอนุรักษ์นิยมที่แนบเนียนเพราะมีหลักฐานมากมายมาสนับสนุนเพื่อบทสุดท้ายที่ถือได้ว่าเป็นการเทิดทูนเรแกนอย่างสุดจิตสุดใจและยังเป็นความพยายามตอบโต้พวกที่เห็นว่าเรแกนนั้นไม่ต่างอะไรกับตลกทางการเมืองที่ไร้ซึ่งความสามารถนอกจากการขายหน้าตา มุมมองของชไวเซอร์สามารถสะท้อนถึงแนวคิดของคนอเมริกันหัวอนุรักษ์นิยมดังเช่นพรรครีพับลิกันที่เน้นนโยบายการต่างประเทศแบบเชิงรุก และสามารถทำนายได้ว่าหากรัสเซียภายใต้อำนาจของปูตินยังคงแพร่ขยายอำนาจไปเรื่อยๆ  และสหรัฐฯ ได้ถือว่ารัสเซียเป็นศัตรูตัวฉกาจเช่นเดียวกับช่วงสงครามเย็นแล้ว ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากบารัก โอบามาในปี 2017  น่าจะมีบุคลิกและนโยบายการต่างประเทศเช่นเดียวกับเรแกน อันเป็นการหมุนเข็มนาฬิกาย้อนกลับ เพียงแต่เปลี่ยนศัตรูจากคอมมิวนิสต์มาเป็นเผด็จการแบบอำนาจนิยม

 

เรแกนและกอร์บาชอฟในการประชุมสุดยอดที่กรุงเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ ปี 1985

ด้วยการพยายามโฆษณาชวนเชื่อตัวเรแกนนี้เอง ทำให้ชไวเซอร์มองข้ามประธานาธิบดีก่อนคนอื่นๆ อย่างเช่นริชาร์ด นิกสัน ว่าควรจะได้รับคำยกย่องเหมือนกันในการมีส่วนต่อความสัมพันธ์กับสหภาพ         โซเวียต นอกจากนี้ชไวเซอร์ยังละเลยความบกพร่องในการบริหารแผ่นดินของเรแกนเช่นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคเอดส์อย่างเชื่องช้าเพราะความเกลียดชังพวกรักร่วมเพศหรือข่าวอื้อฉาวหลายเรื่อง ๆ เช่นกรณีอิหร่านคอนทรา (Iran-Contra affair) (2)  ที่เกือบทำให้เขาต้องพบกับชะตากรรมเดียวกับนิกสันมาแล้ว  ที่สำคัญนโยบายของเรแกนในการสนับสนุนฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้ามกับคอมมิวนิสต์ไม่ว่ารัฐบาลหรือกองโจรได้ทำให้มีการฆ่าฟันกันอย่างโหดเหี้ยมและมีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ที่โด่งดังที่สุดคือประเทศในอเมริกากลางอย่างเช่นนิการากัวและกัวเตมาลา  อันสะท้อนให้เห็นว่าที่เรแกนขนานนามสหภาพโซเวียตว่าอาณาจักรปีศาจนั้นบางทีเขาอาจจะต้องหันมามองประเทศของตัวเองบ้าง

 

เชิงอรรถ

(1) เป็นข้อกล่าวหาที่ยังพิสูจน์ไม่ได้นอกจากทฤษฎีสมคบคิดที่กล่าวหาว่า เรแกนขณะรณรงค์หาเสียงเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแข่งกับจิมมี คาร์เตอร์ในปี 1980 ได้แอบตกลงกับทางการอิหร่านเพื่อไม่ให้การเจรจาของคาร์เตอร์ที่จะปล่อยตัวประกันจากสถานทูตสหรัฐฯ ภายใต้การควบคุมของทางการอิหร่านประสบความสำเร็จอันเป็นผลให้คาร์เตอร์สูญเสียคะแนนเสียงไปเป็นจำนวนมาก  ข้อกล่าวหานี้ยิ่งทำให้คนเชื่อมากขึ้น เมื่อทางการอิหร่านได้ปล่อยตัวประกันไปเพียง 20 นาทีภายหลังจากที่เรแกนได้กล่าวคำสุนทรพจน์เพื่อรับตำแหน่ง

(2)  กรณีอิหร่าน คอนทราคือการที่รัฐบาลของเรแกนได้แอบขายอาวุธให้กับทางการอิหร่านและนำเงินที่ได้ไปสนับสนุนพวกขบถคอนทราในนิการากัวที่ต้องการโค่นล้มรัฐบาลฝ่ายซ้ายของนายดาเนียล ออร์เตกา การที่รัฐบาลของเรแกนทำเช่นนี้ก็เพื่อที่จะเป็นการปล่อยตัวประกันชาวอเมริกันที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่อิหร่านในเลบานอน แต่เป็นการขัดกับสภาคองเกรสที่ต้องการคว่ำบาตรอิหร่าน เรื่องนี้เป็นที่รับรู้ต่อสาธารณชนอเมริกันในปี 1986 ถึงแม้การไตร่ส่วนจะพิสูจน์ไม่ได้ว่าเรแกนมีส่วนรับรู้หรือเกี่ยวข้องจริง แต่คะแนนความนิยมของเขาก็ตกกราวรูด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net