ความเข้าใจผิดๆ เรื่องพลังงานของนายโสภณ สุภาพงษ์ จากเวที กปปส.

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เวที กปปส. สวนลุม ได้เริ่มพูดเรื่องพลังงาน แต่ไม่วายที่จะป้อนข้อมูลความเข้าใจผิดๆ แก่บรรดาสาวกมวลมหาประชาชนอยู่ดี ทั้งๆ  ที่เมื่อสองเดือนก่อน ได้ตัดสินใจไม่ให้กลุ่ม กคป หรือกลุ่มทวงคืนพลังงานได้ขึ้นเวที กปปส. อาทิ มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นายแพทย์ระวี มาศฉมาดล เป็นต้น [i] ผู้เขียนก็นึกว่า กปปส. เข้าใจเรื่องพลังงานดี เพราะในกลุ่มของ กปปส เอง ก็มีผู้ที่เข้าใจเรื่องพลังงานอย่างดีคือ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ นางอานิก อัมระนันทน์ อดีต สส.ประชาธิปัตย์ และ รองประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร แต่ก็น่าแปลกที่กลุ่ม กปปส กลับไม่ขอข้อมูลจากทั้งสองคนนี้ แต่กลับไปหลงเชื่อกลุ่มทวงคืนพลังงาน อย่างเช่น นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ที่ไปหลงเชื่อกลุ่มทวงคืนพลังงานเพราะระยะหลังๆ พยายามพูดเรื่องพลังงาน [ii] แต่ก็เข้าใจผิดๆ อยู่เหมือนเคย แถมยอมรับอีกด้วยว่า ได้คุยกับ มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี บ่อยๆ  ผู้เขียนขอเรียกว่า “โดนล้างสมอง” ให้เข้าใจข้อมูลพลังงานผิดๆ มากกว่า และโดยเฉพาะล่าสุดให้นายโสภณ สุภาพงษ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่บางจาก ได้ขึ้นเวทีบ่อยๆ  ด้วยความที่ผู้นี้เคยบริหารงานในบริษัทน้ำมัน ทำให้มีเครดิตที่จะพูดเรื่องพลังงาน แต่แล้วก็เข้าใจผิดๆ อย่างไม่น่าเชื่อว่าเคยบริหารงานในบริษัทน้ำมัน เพียงเพราะต้องการโยงสาเหตุกำไรของ ปตท. และน้ำมันแพง มาจากระบอบทักษิณ [iii] [iv]

ขอยกตัวอย่างสัก 3 ประเด็นก่อนละกัน

ประเด็นที่ 1
ข้อเสนอให้ใช้ราคาหน้าโรงกลั่นที่ราคา Export Parity นั้น ไม่น่าเชื่อว่าเป็นคำพูดที่ออกมาจากปากของผู้ที่เคยบริหารงานในบริษัทน้ำมัน การคิดราคา Export Parity นั่นหมายถึง เรากำลังเป็นผู้ส่งออกแข่งกับประเทศสิงคโปร์

โรงกลั่นในประเทศไทยนั้นสร้างขึ้นเพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป โดยเราจะนำเข้าน้ำมันดิบมากลั่นเองแทน ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการในประเทศก็คือ ให้กำหนดราคาหน้าโรงกลั่นตามหลักการ Import Parity คือราคาเทียบเท่านำเข้า เพราะต้นทุนโรงกลั่นในประเทศไทยสูงกว่า ทั้งเรื่องการขนส่ง เพราะต้องขนส่งน้ำมันดิบเข้ามากลั่นไกลกว่าสิงคโปร์ กำลังการกลั่นที่ต่ำกว่า คุณภาพน้ำมันที่ใช้ก็สูงกว่า (ไทยกลั่นยูโร 4 สิงคโปร์กลั่นยูโร 2) ไทยต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการสำรองน้ำมันตามกฎหมาย (สิงคโปร์ไม่ต้องสำรองน้ำมัน) และ ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่่ประเทศไทยก็สูงกว่าอีก ดังนั้น ค่าใช้จ่ายที่บวกใน Import Parity คือค่าขนส่ง ค่าประกัน ค่าสูญเสีย และค่าปรับปรุงคุณภาพ ซึ่งรวมๆ กันอยู่ประมาณ 80-90 สตางค์ต่อลิตร โดยเป็นค่าปรับปรุงคุณภาพเป็นยูโร 4 เสียส่วนใหญ่ประมาณ 50-60 สตางค์ต่อลิตร จึงไม่ใช่ค่าใช้จ่ายเทียมหรือค่าใช้จ่ายสมมติที่นายโสภณกล่าวอ้าง แต่เป็นค่าใช้จ่ายที่มีอยู่จริง ซึ่งอาจจะบวกน้อยกว่าภาระค่าใช้จ่ายต้นทุนที่มากกว่าสิงคโปร์ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นด้วยซ้ำไป แต่ถ้าโรงกลั่นคิดค่าใช้จ่ายสูงกว่า Import Parity ก็จะแข่งขันกับน้ำมันนำเข้าจากสิงคโปร์ไม่ได้ จึงเป็นเพดานราคาที่โรงกลั่นจะคิดเกินกว่านี้ไม่ได้ ต่อให้โรงกลั่นถูกผูกขาดก็ตาม สุดท้ายราคาน้ำมันก็ต้องเป็นไปตามกลไกลของตลาด จะเห็นว่าธุรกิจโรงกลั่นไม่ได้กำไรงามเลย ครึ่งปีแรกขาดทุนยับ ครึ่งปีหลังกลับมามีกำไรบ้าง

ถ้าไปบังคับให้โรงกลั่นขายราคา Export Parity จะกลายเป็นว่า ประเทศเพื่อนบ้านจะแห่กันมาซื้อน้ำมันจากโรงกลั่นไทยจนหมด เพราะราคาเท่ากับที่สิงคโปร์แถมหักค่าขนส่งอีก กลายเป็นประเทศไทยไม่มีน้ำมันใช้ ต้องนำเข้าจากสิงคโปร์ในราคานำเข้าอยู่ดี และสุดท้ายโรงกลั่นไทยก็อยู่ไม่ได้เพราะค่าการกลั่นที่ต่ำจนแข่งขันกับสิงคโปร์ไม่ได้ก็ต้องปิดตัวลง ส่งผลทำให้ Supply ในภูมิภาคหายไปกว่า ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ราคาน้ำมันสิงคโปร์ปรับตัวสูงขึ้นไปกันใหญ่

แล้วมีคำถามต่อมาว่าในเมื่อต้องใช้ราคาเท่ากับนำเข้า แล้วจะสร้างโรงกลั่นทำไม คำตอบก็คือ การที่รัฐส่งเสริมให้มีโรงกลั่นในประเทศเพราะ โรงกลั่นสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มของน้ำมันดิบให้เป็นน้ำมันสำเร็จรูป ทำให้ประเทศมีรายได้เพิ่ม ลดการสูญเสียเงินตราไปต่างประเทศ โดยการนำเข้าน้ำมันดิบแทนน้ำมันสำเร็จรูป และเป็นการสร้าง GDP ให้กับประเทศ สร้างงาน สร้างรายได้ ให้คนไทย และรัฐก็เก็บภาษีได้อีก ดังนั้นการมีโรงกลั่นในประเทศ ย่อมมีประโยชน์กว่าไม่มี

ประเด็นที่ 2
เปลี่ยนระบบสัมปทานขุดเจาะน้ำมันไปเป็นระบบแบ่งผลผลิตหรือ Production Sharing ที่นายโสภณกล่าวอ้างว่า ตัวเองพยายามผลักดันระบบนี้ แต่ไม่สำเร็จ ก็ไม่น่าจะสำเร็จอยู่แล้ว เพราะประเทศไทยเคยนำระบบ Production Sharing จากมาเลเซียมาประยุกต์ใช้ครั้งหนึ่งใน Thailand 2 จนเจ๊ง เพราะไม่มีใครมาพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในประเทศไทยถึง 7 ปี เพราะรัฐเก็บส่วนแบ่งมากจนบริษัทเอกชนไม่สามารถลงทุนขุดเจาะน้ำมันและได้ผลตอบแทนที่คุ้มต่อการลงทุน นายโสภณ อ้างว่า ระบบสัมปทานทำให้เราไม่รู้ข้อมูลราคาซื้อขาย ขณะที่ระบบแบ่งผลผลิตจะทำให้เรารู้ข้อมูลราคาซื้อขาย ซึ่งก็ไม่เป็นความจริงอีก เพราะราคาซื้อขายต้องเปิดเผยต่อรัฐ และประกาศราคาอยู่ในหน้าของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติทุกๆ เดือน [v] และกล่าวถึงระบบสัมปทานปัจจุบันว่า “แอบขายน้ำมันที่ขุดได้ในราคาถูกๆ เพื่อมาแบ่งถูกๆ” ที่น่าแปลกมากก็คือ บริษัทจะไปแอบขายน้ำมันที่อื่นถูกๆ ทำไมโดยไม่มีเหตุผล เพราะยิ่งขายได้แพง ก็ได้กำไรมากขึ้นอยู่ดี ถึงแม้ว่าจะต้องแบ่งให้รัฐเพิ่มขึ้นก็ตาม จึงเป็นตรรกะที่ไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง

แล้วมันต่างกันตรงไหนที่รัฐเก็บส่วนแบ่งในรูปตัวเงิน กับเก็บส่วนแบ่งในรูปของน้ำมัน เพราะน้ำมันที่ขุดเจาะขึ้นมาได้นั้น มันมีมูลค่าด้วยตัวของมันเองคือราคาตลาดโลก ถ้ารัฐขอแบ่งน้ำมันไป ก็ไม่ต่างกับขอแบ่งเงินในรูปมูลค่าของน้ำมันนั้น ถ้าอ้างว่า รัฐแบ่งน้ำมันไปขายถูกๆ ให้ประชาชนได้ ก็ไม่ต่างอะไรที่รัฐกำลังอุดหนุนราคาในรูปส่วนต่างของราคาขายกับราคาตลาดโลก เพราะรัฐก็สามารถขายน้ำมันในราคาตลาดโลกได้เช่นกัน

ประเด็นที่ 3
ยกกำไร ปตท. ว่ากำไรปัจจุบันเพิ่มขึ้นเกือบสิบเท่าหลังการแปรรูป โดยพยายามโยงที่มาของกำไรมาจากการขายน้ำมันแพงจากสูตรราคาอ้างอิงสิงคโปร์บวกค่าขนส่งเทียมว่าเป็นผลพวกจากระบอบทักษิณ แต่พูดแต่เลขกำไรอยู่มุมเดียว ไม่พูดตัวเลขอื่นๆ  เช่น ยอดขาย อัตรากำไร หนี้สิน และสาเหตุ ? เอาง่ายๆ  กำไร ปตท. จากงบการเงินปี 2556 [vi] หลังหักภาษีส่งเข้ารัฐแล้ว มีกำไรอยู่ 115,125.20 บาท จากยอดขาย 2,842,688 ล้านบาท คิดเป็นผลตอบแทน 4% เท่านั้นเอง ผุ้เขียนกลับมองว่า ปตท.ไม่ได้กำไรมหาศาลเลย สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และที่ ปตท. มีรายได้มาก ก็เพราะรายได้ส่วนใหญ่มาจากการค้าระหว่างประเทศ เพราะ ปตท.มีการลงทุนในต่างประเทศจำนวนมากด้วย รวมทั้งกำไรส่วนใหญ่ก็มาจาก ปตท.สผ.ที่มาจากการลงทุนทั้งในและต่างประเทศมากกว่า 40 โครงการ ไม่ได้เกิดจากการขายน้ำมันแพงเกินจริงของ ปตท.เลย ถ้าดูงบการเงินส่วนที่เป็นการขายน้ำมัน ปตท. ขาย 617,305 ล้านบาท แต่มีกำไรก่อนหักภาษีเพียง 10,716 ล้านบาท คิดเป็น 1.7% เท่านั้น น้อยกว่าฝากธนาคารประจำเสียอีก !!!

ถ้าคิดจะเอากำไรทั้งหมดแสนล้านบาทมาลดราคาน้ำมันในประเทศลง ก็ลดได้แค่เพียงลิตรละ 2 บาทเท่านั้นเองจากการใช้น้ำมันประมาณ 50 ล้านลิตรต่อปีของประเทศไทย และสุดท้าย ปตท. ก็เจ๊ง แข่งขันกับบริษัทน้ำมันต่างชาติไม่ได้ และระบบพลังงานของไทยจะถูกครอบงำโดยต่างชาติ ถ้าเป็นแบบนั้น เราก็จะกลับไปสู่อดีตในยุคที่บริษัทน้ำมันต่างชาติผูกขาดสามารถตั้งราคาได้ตามใจชอบ และขาดความมั่นคงทางพลังงาน อาจจะได้ต่อคิวเติมน้ำมันตามโควต้ากันอีก และแน่นอนคงไม่มีใครยอมขายก๊าซ NGV กับ LPG ขาดทุนแบบที่ ปตท. ทำอยู่ทุกวันนี้ที่ยอมขายขาดทุนให้ประชาชนรวมกันกว่า 3 หมื่นล้านบาทต่อปี ที่ไม่มีใครพูดถึงมุมนี้ของ ปตท.เลย [vii]

เอาแค่เบาะๆ  3 ประเด็นก่อน แค่นี้ก็ทราบแล้วว่า นายโสภณ ยังคงมีความเข้าใจในเรื่องพลังงานผิดๆ  ไม่ได้รู้จริงอย่างที่กล่าวอ้างเลย ทั้งๆ ที่เคยเป็นอดีตผู้บริหารบริษัทน้ำมันบางจาก หรือทั้งหมดเป็นเพราะความมีอคติต่อ ปตท. เพียงเพราะคิดว่าเป็นตัวแทนของระบอบทักษิณเท่านั้นเอง พออ้างชื่อทักษิณเท่านั้น มวลมหาประชาชนก็เชื่อนายโสภณทันทีอย่างไม่ลืมหูลืมตา ช่างน่าเป็นห่วงจริงๆ  ประเทศไทย !!!

.................................................

 

[i] กังขาเวที กปปส.ปทุมวัน บีบห้ามพูดเรื่องพลังงาน พบ “ปิยสวัสดิ์” นั่งหลังเวที
[ii] “อรรถวิชช์” ลั่นปฏิรูปพลังงาน “เอาคืนท่อก๊าซ-ปิโตรเคมีจ่ายแพงขึ้น” วอน ASTV อย่าระแวง
[iii] โสภณ สุภาพงษ์ เวที กปปส สวนลุมพินี 11 4 57 ล้วงลึกพลังงานไทย
[iv] โสภณ สุภาพงษ์ เวที กปปส สวนลุมพินี 21 4 57 ทำไมราคาน้ำมันไทยแพง
[v] ประกาศราคาปิโตรเลียมรายเดือน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน
[vi] งบการเงิน ปตท. ปี 2556
[vii] ปตท.อ่วมขาดทุน NGV 2 หมื่นล้าน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท