Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ดมิทรี โชสตาโควิก (Dmitri Shostakovich) คือคีตกวีชาวรัสเซียที่ได้ชื่อเสียงว่าโด่งดังที่สุดคนหนึ่งของศตวรรษที่ยี่สิบ ภายหลังปีเตอร์ ไชคอฟสกีกับเซอร์ไก แรคมานินนอฟ และมีชีวิตคาบเกี่ยวกับยุคของอิกอร์ สตราวินสกี (1882-1972 )  เขาผู้นี้ได้ผลิตงานชิ้นหนึ่งที่เป็นที่รู้จักโดยชาวโลกดีคือ เพลง Piano Concerto No.2 ประกอบภาพยนตร์การ์ตูนของค่ายดิสนีย์ นั่นคือ Fantasia 2000 ตอนทหารของเล่นที่ทำจากตะกั่วต้องพบกับชะตากรรมผกผันหลุดเข้าในท้องปลาและสามารถกลับมาอยู่ที่บ้านแสนอบอุ่นได้อีกครั้ง ทั้งนี้ไม่รวมซิมโฟนีจำนวนที่ถือว่ามากถ้าเทียบกับคีตกวีคนอื่นนั่นคือ 15 บท รวมไปถึง Violin Concerto หมายเลข 1 อันมีชื่อเสียง 

โชสตาโควิกแตกต่างจากคีตกวีสามท่านแรกที่กล่าวถึงก็เพราะเขาใช้ชีวิตอยู่ภายใต้แรงกดดันของการเมืองภายในประเทศที่ตะวันตกเรียกว่าหลังม่านเหล็ก ไชคอฟสกีถึงแก่กรรมก่อนการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 ส่วนแรคมานินอฟและสตาวินสกีอพยพไปอยู่ต่างประเทศก่อนหน้านั้นนานแล้ว  โชสตาโควิกเกิดเมื่อวันที่ 25 กันยายน 1906 ที่นครเซนปีเตอร์สเบิร์ก (เปลี่ยนชื่อเป็นเลนินกราดในช่วงปี 1924-1991) เป็นบุตรคนที่สองในบรรดาพี่น้องสามคน บิดาของคนเป็นวิศวกรหัวเสรีนิยมที่สนับสนุนสหภาพแรงงาน มารดาเป็นครูสอนเปียโนซึ่งมีอิทธิลต่อโชสตาโควิกอย่างมาก ถือกันได้ว่าเขาเป็นอัจฉริยะกุมาร (Prodigy child) อีกคนหนึ่งเช่นเดียวกับโมซาร์ต  เมื่อโชสตาโควิกอายุเพียง 8 ขวบก็ได้เรียนเปียโนและเมื่ออายุ 13 ปีก็เข้าเรียนที่โรงเรียนสอนดนตรีเปโตรกราดภายใต้การบริหารงานของอเล็กซานเดอร์ กลาซูนอฟ คีตกวีชื่อดังอีกคนของรัสเซีย แถมในปีเดียวกันนั้นโชสตาโควิกสามารถแต่งเพลงประกอบงานศพเพื่อไว้อาลัยให้กับผู้นำของพรรคคาเดต (1) ที่ถูกพวกบอลเชวิก พรรคซ้ายตกขอบสังหาร เขามีงานนิพนธ์หรือตัวจบคือซิมโฟนีหมายเลข 1 ออกแสดงในปี 1926

รัฐบาลของเลนินซึ่งขึ้นมามีอำนาจตั้งแต่ปี 1917 ได้ถือว่าโชสตาโควิกว่าเป็นบุคลากรที่มีคุณค่ามากคนหนึ่งของโรงเรียน ถึงแม้ในช่วงเรียนเขาจะสอบตกปรัชญาลัทธิมาร์กซ์ ซึ่งถือว่าเป็นวิชาบังคับสำหรับปัญญาชนในรัสเซียยุคใหม่ก็ตาม หน่วยงานทางวัฒนธรรมได้มอบหมายให้โชสตาโควิกแต่งเพลงตามรูปแบบที่ต้องการเช่นเพลงเพื่อการปฏิวัติ หรือสำหรับชนชั้นกรรมาชนซึ่งไม่ใช่ตามรูปแบบที่คีตกวีเอกของเราต้องการเลย งานของเขาในช่วงนั้นมีความแปลกใหม่ ฟังระคายหู อาจเพราะโชสตาโควิกและครอบครัวได้สูญเสียศรัทธาที่มีพรรคบอลเชวิกมาตั้งแต่ต้นและยิ่งรู้สึกในด้านลบเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ

เมื่อ โจเซฟ สตาลินขึ้นครองอำนาจในปี 1922 ชีวิตของโชสตาโควิกต้องพบกับความยากลำบาก ถึงแม้ผลงานจะได้รับความนิยมจากผู้ฟัง ทว่าก็ถูกสั่งระงับการแสดงเสียมากมาย เขาจะต้องทำงานอย่างหนักเพื่อให้ครอบครัวอยู่รอดโดยเป็นนักเล่นเปียโนให้กับภาพยนตร์เงียบ กระนั้นเขาก็ได้รับเกียรติยศจากการชนะเลิศการเล่นเปียโนในรายการแข่งขันที่กรุงวอร์ซอว์ ประเทศโปแลนด์ ปี 1927 เขายังผูกมิตรกับบรูโน แวลเทอร์ วาทยกรชื่อดังชาวเยอรมันเชื้อสายยิวผู้ประทับใจซิมโฟนีบทแรกของเขาจนถึงกลับนำไปออกแสดงที่กรุงเบอร์ลินในปีเดียวกัน

                   

(ภาพการ์ตูนล้อที่แสดงให้เห็นว่าโชสตาโควิกอยู่ภายใต้การคุกคามของสตาลิน)

โชสตาโควิกผลิตผลงานชิ้นสำคัญของเขาในปี 1934 นั่นคือ อุปรากรที่ชื่อ Lady Macbeth of the Mtsensk District เป็นเรื่องราวผู้หญิงผู้ว้าเหว่คนหนึ่งที่ตกหลุมรักคนใช้ของสามี จนนำไปสู่จุดจบคือการฆาตกรรมทั้งพ่อสามีรวมไปถึงตัวสามีเองอันเป็นการสะท้อนถึงผู้หญิงในฐานะที่เป็นเหยื่อของสังคมในยุคของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2   งานชิ้นนี้ถูกนำออกแสดงที่โรงละครเลนินกราด มาลีย์  จนประสบความสำเร็จและได้รับคำชมอย่างมากมาย แต่แล้วในปี 1936 ซึ่งเป็นปีแห่งการกวาดล้างครั้งใหญ่ (Great Purge) ที่ทางการโซเวียตกำจัดผู้ที่มีความคิดไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์ของคอมมิวนิสต์ หนังสือพิมพ์ปราบดา (หรือ Pravda ซึ่งแปลว่าแสงสว่าง)  ของรัฐบาลได้เขียนโจมตีอุปรากรของเขาอย่างรุนแรงพร้อมกับกล่าวหาว่าโชสตาโควิกเป็นพวกรูปนิยมหรือ Formalism ซึ่งเป็นศิลปะแบบชนชั้นกลาง (2) และยังหยาบช้า เลวทราม แน่นอนว่าคนที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีก็คือสตาลินซึ่งว่ากันว่าแอบไปชมอุปรากรเรื่องนี้ด้วยและจู่ๆ ก็เดินออกจากโรงไปอย่างหัวเสีย ที่น่าเศร้าคืออุปรากรยังถูกสั่งห้ามออกแสดงร่วมกว่าสามสิบปี


(ฉากจากอุปรากรเรื่องนี้)

โชสตาโควิกถูกประณามเป็นครั้งแรก รายได้หดหายแถมการแสดงยังถูกห้ามอีกด้วย กระนั้นเขาก็ยังเอาตัวรอดได้ท่ามกลางญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงที่ต้องตายหรือถูกเข้าค่ายกักกันท่ามกลางกระแสกวาดล้าง โชสตาโกวิกจึงก้มหน้าก้มตาสร้างสรรค์งาน ไปตามคำสั่งของพรรคหรือไม่ก็ผลิตผลงานที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง สำหรับคีตกวีที่เป็นพวกอาวองต์ การ์ด (Avant –garde) หรือพวกชอบสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่พบชะตากรรมแบบเดียวกับโชสตาโควิกก็ได้แก่เซอร์ไก  โปโกเฟียบเจ้าของเพลงประกอบนิทานสำหรับเด็กคือ Peter and the Wolf  และอารัม กาจาทุเรียนเจ้าของเพลงประกอบบัลเลต์ชื่อดังคือ Spartacus

ปี 1941 เยอรมันประกาศสงครามกับสหภาพโซเวียตภายใต้ปฏิบัติการณ์บาร์บารอสซา และทำการ   โอบล้อมกับโจมตีเมืองเลนินกราด ปรากฏว่าโชสตาโควิกได้ติดอยู่ในเมืองแห่งนั้น แต่ด้วยไม่หวาดหวั่นต่อชีวิตอันยากลำบากและความอดยาก เขายังสามารถเขียนซิมโฟนีหมายเลข 7  ซึ่งมีชื่อเล่นว่าเลนินกราดตามชื่อเมืองได้ถึง 3 กระบวน งานชิ้นนี้ของโชสตาโควิกถือว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงเพราะถูกนำออกอากาศเพื่อปลุกระดมให้ชาวรัสเซียทั้งมวลเข้าโรมรันกับพวกเยอรมัน ต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์แห่งความกล้าหาญของชาวรัสเซีย

 

(โด่งดังถึงกลับได้ลงนิตยสารของจักรวรรดินิยมอเมริกัน)

ปี 1948 โชสตาโควิกถูกประณามว่าเป็นพวกแบบนิยมเป็นครั้งที่สอง ผลงานทั้งหมดของเขาถูกห้ามนำออกแสดงและยังถูกบังคับให้สารภาพผิดต่อหน้าสาธารณชน ครอบครัวถูกตัดสิทธิประโยชน์ทั้งหมดที่เคยได้ แต่ปีต่อมาสถานการณ์จึงดีขึ้นบ้าง อาจเพราะเขาแต่งเพลงประกอบเสียงร้องที่ชื่อ "บทเพลงแห่งป่า" (Song of the forest) และยกย่องสตาลินว่าเป็น "คนสวนผู้ยิ่งใหญ่"  เมื่อสตาลินถึงแก่อสัญกรรมในปี 1953  และผู้นำคนต่อมาคือครูซชอฟได้กล่าวประณามสตาลินอย่างสาดเสียเทเสียในปี 1956 ทำให้บรรยากาศทางการเมืองของสหภาพโซเวียตมีลักษณะผ่อนคลายมากขึ้น  ชีวิตของโชสตาโควิกก็เริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ  อย่างไรก็ตามในปี 1960  เขาได้สร้างความอื้อฉาวโดยการเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้มีคนกล่าวหาว่าเขาว่าขี้ขลาด แต่ครอบครัวเขาเปิดเผยว่าเกิดจากแรงกดดันทางการเมืองเช่นการข่มขู่จากทางพรรค จนถึงขั้นที่โชสตาโควิกคิดจะฆ่าตัวตาย

ในช่วงท้ายของชีวิตของโชสตาโควิก ถือได้ว่าต้นร้ายปลายดี นั่นคือเขาได้รับการยกย่องอย่างมากมายได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขานุการของสหภาพนักแต่งเพลง ได้รับรางวัลและเหรียญจากทางการของโซเวียต และได้รับปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด ทั้งนี้ไม่นับถึงการแต่งงานเป็นครั้งที่สามในปี 1962 โดยเจ้าสาวอายุเพียง 27 ปี ถึงแม้เขาจะเสี่ยงภัยอยู่บ้างโดยการแต่งซิมโฟนีหมายเลข 13 เพื่อที่อิงกับกวีที่ถูกเขียนเพื่อระลึกถึงการสังหารหมู่ชาวยิวในสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะมีกระแสต่อต้านยิวค่อนข้างรุนแรงในสังคมรัสเซียช่วงนั้น

สุขภาพของโชสตาโควิกทรุดโทรม ลงอย่างรวดเร็ว ป่วยด้วยโรคนานาชนิดเพราะความเครียดและการสูบบุหรี่จัด คีตกวีเอกผู้เคร่งเครียดมาตลอดชีวิตก็ถึงกรรมด้วยโรคมะเร็งที่ปอดในวันที่ 9 สิงหาคม 1975 สิริรวมอายุได้เกือบ 70 ปีเต็ม

หากมองกลับไปจะเห็นได้ว่าโชสตาโควิกนั้นค่อนข้างห่างไกลจากความเป็นศิลปินในอุดมคติ ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามีอยู่หรือไม่เพราะศิลปินก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่ทั้งรู้ร้อนรู้หนาว มีความทะยานอยาก มีตัณหา มีความกลัว ชีวประวัติของเขาได้ทำให้เราเกิดคำถามมากมายเช่นศิลปะนั้นสามารถเป็นกลาง ห่างไกลจากการเมืองได้หรือไม่  ศิลปะควรถูกผลิตขึ้นมาเพื่อตอบสนองแนวคิดสังคมนิยมเหมือนกับที่พรรคคอมมิวนิสต์ปรารถนาหรือว่าต้องเชิดชูผู้นำทางการเมืองที่มีอำนาจในยุคนั้น หรือเพื่อตอบสนองความต้องการแบบพาฝันของประชาชนกลุ่มใหญ่ (ดังเช่นละครหรือเพลงน้ำเน่า)   หรือเพื่อสะท้อนความรู้สึกภายในของตน ที่สำคัญศิลปินสามารถทำทั้ง 4  อย่างพร้อมกันโดยไม่ขัดแย้งกันเองได้หรือไม่ ผู้เขียนมีความเชื่อว่าตลอดเวลาหลายสิบปี ภายใต้การเล่นเกมแบบแมวไล่จับหนูกับสตาลิน ผู้นำของรัฐเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จที่โหดร้ายและกดขี่มากที่สุดในโลกยุคหนึ่ง โชสตาโควิกได้พยายามผสมผสานทั้งหมดนี้ให้กลมกลืนมากที่สุดโดยการชี้นำของสิ่งที่เรียกว่า “จิตวิญญาณ” ของความเป็นศิลปิน

 


(โชสตาโควิก และวาทยากรรวมไปถึงเพื่อนกวีในช่วงก่อนที่จะออกแสดงซิมโฟนีหมายเลข 13 อันอื้อฉาว)

(1) อีกชื่อหนึ่งคือพรรครัฐธรรมนูญประชาธิปไตย (Constitutional Democratic party) ที่มีบทบาททางการเมืองภายหลังจากที่พระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่สองทรงถูกบังคับให้มอบอำนาจให้กับประชาชนภายหลังการปฏิวัติปี 1905

(2) พวกคอมมิวนิสต์จะชื่นชอบศิลปะแบบสัจนิยมสังคมนิยมหรือ Socialist Realism ที่สะท้อนปัญหาสังคมและต่อต้านลัทธิแบบนิยมหรือศิลปะที่ลงตัวอย่างงดงามหรือพาฝันแบบชนชั้นกลาง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net