กานดา นาคน้อย: ระบบเกาะภาษีกิน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

นโยบายประชานิยมโดนวิพากษ์วิจารณ์ในหลายด้าน อาทิเป็นภาระทางการคลัง  ยังไม่จำเป็นสำหรับไทย  ทำให้ประชากรเสียนิสัยงอมืองอเท้าไม่ช่วยตัวเองน่าแปลกใจว่าผู้วิจารณ์นโยบายประชานิยมพร้อมใจกันมองข้ามความจริงที่ว่าภาระทางการคลังคือหัวใจของระบบเศรษฐกิจไทยมานานเป็นศตวรรษ 

ระบบเศรษฐกิจแบบเกาะภาษีกิน
ก่อนกรมกรมพระคลังมหาสมบัติได้รับการยกระดับเป็นกระทรวงการคลังในยุครัชกาลที่ 5 การจัดเก็บภาษีดำเนินการโดยเจ้าภาษีนายอากรผู้รับสัมปทานจัดเก็บภาษีจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ  ในกรณีนี้ภาคเอกชนรับสัมปทานรัฐโดยไม่คิดค้นสินค้าและบริการใหม่เรียกได้ว่าภาคเอกชนเกาะภาษีกิน  นอกจากสัมปทานภาษีอากรแล้ว สัมปทานหลักในยุคล่าอาณานิคมได้แก่สัมปทานขุดเจาะเหมืองแร่และสัมปทานป่าไม้เพื่อส่งออก

ปัจจุบันไทยได้รับสมญานามว่าเป็น “ประเทศอุตสาหกรรมใหม่” เพราะมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสูงกว่าสินค้าภาคเกษตร  แต่การกระจายทรัพยากรยังใช้สัมปทานเป็นกลไกหลัก  ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคมขนส่ง การสื่อสาร การก่อสร้างสนามบินและท่าเรือ  การสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ ฯลฯ ภาคเอกชนผลิตสินค้าอุตสาหกรรมด้วยการนำเข้าเทคโนโลยีต่างชาติโดยไม่ลงทุนวิจัยคิดค้นสินค้าใหม่ ภาคบริการก็นำเข้าปัจจัยจากต่างประเทศ  อาทิบริการคมนาคมใช้ยานพาหนะต่างชาติ  บริการสื่อสารใช้อุปกรณ์ต่างชาติ บริการก่อสร้างใช้เครื่องจักรกลต่างชาติ  บริการบันเทิงใช้กล้องต่างชาติ

รัฐบาลทุกประเทศจำเป็นต้องเก็บภาษีเพื่อการบริโภคและลงทุนในภาครัฐ  ที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศคือกลไกการกระจายทรัพยากรในไทยภาครัฐมีอิทธิพลต่อการกระจายทรัพยากรผ่านการให้สัมปทานเพื่อลงทุนในกิจการต่างๆมากมายนอกจากนี้การจัดซื้อเพื่อบริโภคในภาครัฐเป็นเส้นเลือดใหญ่ของระบบราชการ  ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์  เครื่องมือแพทย์  ยารักษาโรค อุปกรณ์การศึกษา  งานอีเวนท์  ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชน  โครงการรับเหมาโดยเอ็นจีโอ ฯลฯ 

การปฎิรูปการศึกษาโดยการนำมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐออกนอกระบบก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างดังกล่าว  เพราะมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐยังรับงบประมาณภาษีและพนักงานบางกลุ่มก็ยังมีสิทธิรับบำนาญเหมือนข้าราชการในอดีต   กล่าวได้ว่า  การลงทุนและบริโภคซึ่งตัดสินใจโดยข้าราชการคือหัวใจของระบบเกาะภาษีกิน

นโยบายประชานิยมเป็นเพียงวิวัฒนาการของระบบเกาะภาษีกินที่มีมานานแล้ว  เพียงแต่นโยบายประชานิยมลดอำนาจของข้าราชการและเพิ่มอำนาจให้กลุ่มต่อรองทางการเมืองสารพัดกลุ่ม ผู้วิจารณ์นโยบายประชานิยมจำนวนมากก็ไม่ตระหนักว่าตนก็เกาะภาษีกินเหมือนกัน

ระบบครอบครัวแบบเกาะพ่อแม่กิน
ทำไมประชากรไทยจำนวนมากจึงเกาะภาษีกิน (ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม)?  บทความนี้ขอเสนอว่าเพราะระบบครอบครัวไทยไม่สอนให้ลูกหลานพึ่งตนเอง   แต่สอนให้พึ่งพาพ่อแม่และคาดหวังมรดกทรัพย์สินและมรดกเป็นกลไกที่พ่อแม่ใช้ควบคุมลูกในลักษณะคล้ายคลึงกับการที่งบประมาณภาษีเป็นกลไกที่ภาครัฐใช้ควบคุมระบบเศรษฐกิจ

ในไทยพลเมืองอายุ 18 ปีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเหมือนพลเมืองอเมริกัน  แต่ความรับผิดชอบตนเองของคนไทยต่างจากคนอเมริกันมาก  ตอนสหรัฐฯเป็นประเทศกำลังพัฒนาคนอเมริกันอายุ 18 ก็ทำงานเลี้ยงตัวเองแล้ว  แม้แต่ปัจจุบันคนอเมริกันไม่มีแนวคิดที่ว่าพ่อแม่มีหน้าที่ส่งเสียลูกให้เรียนจบปริญญาตรีและไม่มีแนวคิดว่าทรัพย์สินของพ่อแม่คือทรัพย์สินของลูก หน้าที่ของพ่อแม่ชาวอเมริกันจบลงเมื่อลูกอายุ 18 ปีถ้าพ่อแม่มีฐานะก็ส่งลูกเรียนปริญญาตรี ถ้าไม่มีฐานะลูกก็กู้ยืมเพื่อการศึกษาด้วยทำงานด้วย  บ้างก็เรียนวิทยาลัยเทคนิคไปทำงานไปเพื่อเก็บเงินก่อนแล้วค่อยเรียนมหาวิทยาลัยทีหลัง 

นอกจากนี้เด็กอเมริกันโดนสอนให้ช่วยตัวเองตั้งแต่เด็ก  กิจกรรมลูกเสือหรือชมรมกีฬาก็ฝึกให้เด็กขายสินค้าเพื่อระดมทุน ลูกค้าคือคนในชุมชนที่อุดหนุนเพื่อร่วมกันปลูกฝังค่านิยมการพึ่งตัวเอง  เมื่อเข้าชั้นมัธยมก็รับจ้างทำงานค่าแรงต่ำ เช่น รับจ้างตัดหญ้า ทำความสะอาดสนามกอล์ฟ ทำงานในห้องสมุดชุมชน รับจ้างเป็นพนักงานขายและบริการ ฯลฯ  ลูกคนชั้นกลางค่อนไปทางสูง(วัดโดยรายได้)ทำงานรับจ้างไม่ต่างจากลูกคนชั้นกลางหรือลูกคนชั้นล่าง  บางคนก็จ้างลูกทำงานบ้านคนรายได้สูงบางคนก็บังคับลูกให้ทำงานและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในระดับปริญญาตรีเพื่อฝึกให้รับผิดชอบตัวเอง  ยามชราพ่อแม่ก็ไม่คาดหวังให้ลูกรับภาระทางการเงิน  คนชราอเมริกันไม่ได้อยู่อย่างเปล่าเปลี่ยวเดียวดายอย่างที่คนไทยบางคนเข้าใจผิด  คนชรามีกิจกรรมกับเพื่อนคนชราด้วยกัน เวลาเทศกาลสำคัญลูกหลานก็ไปเยี่ยมเขาหรือเขาไปเยี่ยมลูกหลานเองเมื่อเพื่อนล้มหายตายจากไปก็ย้ายไปอยู่บ้านพักคนชราใกล้ลูก

ส่วนที่ญี่ปุ่น  เด็กญี่ปุ่นเริ่มทำงานพิเศษช้ากว่าเด็กอเมริกันและไม่โดนสอนให้ขายของเพื่อระดมทุนตั้งแต่ระดับประถมแบบเด็กอเมริกัน  แต่เด็กญี่ปุ่นก็โดนสอนให้พึ่งตัวเองและไม่เป็นภาระแก่สังคม  ความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นค่านิยมที่คนญี่ปุ่นปลูกฝังกันแต่เด็ก  คนญี่ปุ่นคิดเหมือนคนอเมริกันตรงที่ว่าพ่อแม่ไม่มีหน้าที่ส่งลูกให้เรียนจบปริญญาตรีและไม่คิดว่าทรัพย์สินพ่อแม่คือทรัพย์สินลูกแม้ว่าคนญี่ปุ่นจะคิดเช่นนั้นเหมือนคนอเมริกันแต่คนญี่ปุ่นไม่มีสิทธิเลือกตั้งจนอายุ 20 ปี 

ส่วนคนไทยมีสิทธิเลือกตั้งเมื่ออายุ 18 ปีแต่ไม่พึ่งตนเองเท่าคนญี่ปุ่นหรือคนอเมริกัน  สุภาษิตที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” หรือ “อัตตาหิอัตโนนาโถ”เป็นแนวคิดจากศาสนาพุทธ  แต่ระบบครอบครัวเมืองพุทธอย่างไทยกลับไม่สอนให้ลูกพึ่งพาตนเองเท่าไรนัก  คนไทยอายุ 18 มีสิทธิเลือกตั้งแล้วแต่จำนวนมากยังพึ่งพาพ่อแม่ด้านการเงิน  บางครอบครัวอุปถัมภ์ดูแลกันไปถึงสินสอด เรือนหอ บ้างก็อุปถัมป์ไปถึงรุ่นหลาน

บทความนี้ไม่มีเจตนาเสนอให้เพิ่มอายุผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง  แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่าความรับผิดชอบตนเองไม่ใช่ค่านิยมไทย  การเกาะพ่อแม่กินและการเกาะภาษีกินต่างหากคือค่านิยมไทย ระบบครอบครัวไทยสอนลูกให้แบมือขอเงินพ่อแม่ส่วนพ่อแม่ก็ใช้เงินและทรัพย์สินเป็นการต่อรองให้ลูกเชื่อฟังและดูแลยามชราพอลูกโตก็กลายเป็นฟันเฟืองของระบบเกาะภาษีกิน ไม่มีนักการเมืองหน้าไหนทำให้คนไทยเกาะภาษีกิน  แต่ระบบครอบครัวสอนให้เยาวชนไทยเติบโตมาเป็นประชากรที่เกาะภาษีกินมาหลายชั่วคนแล้วเมื่อไรคนไทยสอนลูกให้รับผิดชอบตัวเองเมื่อนั้นประชากรไทยถึงเกาะภาษีกินน้อยลง

รักวัวให้ผูก รักลูกให้มรดกน้อย
ตราบใดที่ไม่มีภาษีมรดกลูกย่อมคิดว่าทรัพย์สินพ่อแม่คือทรัพย์สินของตน  ก็ไม่พยายามพึ่งตนเองเท่าประชากรในประเทศที่มีภาษีมรดก การจัดเก็บภาษีมรดกแบบสหรัฐฯ ญี่ปุ่น (และอีกหลายชาติ) จะช่วยส่งเสริมให้ประชากรรับผิดชอบตนมากขึ้นแม้ว่าเศรษฐีอเมริกันบางคนเรียกร้องให้ยกเลิกภาษีมรดกด้วยเหตุผลที่ว่าทำให้ไม่มีแรงจูงใจในการออม  แต่เศรษฐีอเมริกันจำนวนมากคัดค้านการยกเลิกภาษีมรดกด้วยเหตุผลด้านความรับผิดชอบตนเองอีกเหตุผลหนึ่งคือด้านความรับผิดชอบต่อสังคม  เศรษฐีอเมริกันจำนวนมากยอมรับว่าทรัพย์สินบางส่วนมาจากการใช้ทรัพยากรส่วนรวมจึงสมควรคืนให้ส่วนรวมในรูปภาษีมรดก นอกจากนี้การสร้างระบบสวัสดิการคนชราจะช่วยให้พ่อแม่ลดความหวาดกลัวว่าลูกจะไม่รักไม่ดูแลยามชราถ้าไม่มีมรดกให้ลูก
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท