สปสช.ช่วยเบื้องต้น 2 จนท.สาธารณสุขนราธิวาส ถูกจ่อยิงหน้า รพ.

 

จากกรณีเหตุการณ์เจ้าหน้าที่สาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ถูกคนร้ายจ่อยิง 2 ราย บริเวณตลาดนัดหน้าโรงพยาบาลศรีสาคร อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ซึ่งถูกนำเข้ารักษายังโรงพยาบาลศรีสาครและได้ส่งต่อเข้าโรงพยาบาลปัตตานี เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา โดย น.ส.จริยา พรหมนวล อายุ 29 ปี ตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ถูกยิงเข้าที่ขมับได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา ขณะที่ น.ส.พิณยุพา วชิรกิจโกศล อายุ 25 ปี ลูกจ้างสาธารณสุข ถูกยิงเข้าที่แก้ม อาการล่าสุดยังคงสาหัสและอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่เป็นการสูญเสียบุคลากรในวิชาชีพสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังนับเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือน ทำลายขวัญกำลังใจบุคลากรในแวดลงสาธารณสุขอย่างมาก เป็นที่ทราบดีว่าวิชาชีพแพทย์ พยาบาล ตลอดจนบุคลากรในวิชาชีพสาธารณสุข ซึ่งทำหน้าที่ด้านการรักษาพยาบาลและดูแลสุขภาพประชาชน ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้หน่วยงานสังกัดใดหรือฝ่ายใด ในการทำงานแม้ว่าจะอยู่ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้ง จะได้รับการยกเว้นการทำร้าย และถือเป็นหลักสากลที่ปฏิบัติแม้ในภาวะสงครามระหว่างประเทศก็ตามเหตุการณ์ดังกล่าวยิ่งสร้างความเศร้าสลดใจเพิ่มมากขึ้น เพราะนอ กจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ถูกทำร้ายทั้ง 2 รายเป็นผู้หญิงแล้ว น.ส.จริยา เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เสียชีวิตลง ยังอยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ได้ 2 เดือน จึงขอร่วมประณามเหตุการณ์ความรุนแรง ซึ่งเชื่อว่าคงไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น พร้อมขอแสดงความเสียใจกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ถูกทำร้ายจากเหตุการณ์นี้ รวมถึงเจ้าหน้าที่สาธาธารณสุขที่เสียชีวิตลงและครอบครัว

นพ.วินัย กล่าวว่า น.ส.จริยา และ น.ส.พิณยุพา เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยในช่วงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่าอยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งตาม “ข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้ให้บริการได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข พ.ศ. 2556” ซึ่งเป็นกฎหมายเพื่อให้การดูแลผู้ให้บริการในหน่วยบริการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยจะให้การชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการให้บริการสาธารณสุขกับผู้ให้บริการหรือทายาท ซึ่งจะได้รับการชดเชยเช่นเดียวกับ มาตรา 41 พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ในการเยียวยาความเสียหายเบื้องต้นให้กับผู้รับบริการ  

ทั้งนี้ในกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพอย่างถาวร หรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิต และมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือได้ตั้งแต่ 240,000 บาท แต่ไม่เกิน 400,000 บาท กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ 100,000บาท แต่ไม่เกิน 240,000 บาท และกรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งทางคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องของรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นระดับจังหวัดจะเป็นผู้พิจารณาตามหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเบื้องต้นดังกล่าว

วันเดียวกัน (30 เม.ย.57) ณ โรงแรมลีการ์เด้นท์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลานพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เป็นประธานเปิดการประชุมคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพเขต(อปสข.) เขต 11 สุราษฎร์ธานี และเขต 12 สงขลา วาระพิเศษ เพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุขในพื้นที่ และระดมความเห็นการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพในบริบทพื้นที่ภาคใต้ โดยมีคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพเขต(อปสข.) หน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ภาคใต้ และภาคประชาชน กว่า 70 คน เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว โดยก่อนการประชุมที่ประชุมได้ยืนไว้อาลัยให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ถูกยิงเสียชีวิตจากเหตุความไม่สงบทางการเมือง ที่อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส

นายชัยพร จันทร์หอม ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน กล่าวว่า ในพื้นที่ภาคใต้นั้น ยังมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของประชาชน โดยมีอัตราการเข้าถึงต่ำกว่าประชาชนในภาคอื่นๆ แม้ว่าประชาชนไทยจะมีหลักประกันสุขภาพ คือ ไม่ต้องจ่ายเงินเมื่อไปรับการรักษาพยาบาล เป็นสิทธิที่รัฐดูแลให้ แต่พื้นที่ภาคใต้ก็ยังพบปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุขที่สำคัญ ซึ่งนี่เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องปฏิรูปเพื่อให้ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาได้รับการรักษาตามที่จำเป็นทันที ดังนี้

1.ปัญหาการเข้าถึงบริการโรคค่าใช้จ่ายสูง เช่น กลุ่มโรคหัวใจและระบบหลอดเลือด 2.ปัญหายาเสพติดในพื้นที่โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนใต้ 3.การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นกำลังเป็นปัญหาสำคัญในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างในขณะนี้ จึงต้องมีมาตรการเร่งด่วนให้วัยรุ่นสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ได้อย่างเหมาะสม และป้องกันการทำแท้งเถื่อนที่พบว่ามีอัตราสูงเช่นกันตามมา

4.ปัญหาตาต้อกระจก เขต 12 สงขลา มีอัตราการเข้าถึงต่ำมากในอันดับท้ายๆ ของประเทศมาตลอด อย่างไรก็ตาม 5.สุขภาพช่องปากของคนใต้ก็นับเป็นอีกปัญหาสำคัญ อัตราการมีฟันผุสูงกว่าเขตอื่นๆของประเทศ และพบการสูญเสียฟันสูงด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ แต่การได้รับการใส่ฟันปลอมในกลุ่มผู้สูงอายุนี้ยังค่อนข้างต่ำกว่าเป้าหมายมากพอสมควรในปีที่ผ่านมาเพียงร้อยละ 70 เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ให้บริการได้เพียงประมาณร้อยละ 55 ของเป้าหมายเท่านั้น

 “จากปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุขดังกล่าว และจากที่กระทรวงสาธารณสุขมีกลไกปฏิรูปแบบเขตสุขภาพ และอปสข.ที่มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เชื่อว่าน่าจะเพิ่มประสิทธิภาพให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้มากขึ้น ผ่านกลไกด้านการเงินการคลังที่สปสช.รับผิดชอบอยู่ ซึ่งอยากให้ทั้ง 2 หน่วยงานร่วมมือเดินหน้าเพื่อให้ประชาชนในภาคใต้เข้าถึงบริการสาธารณสุขมากขึ้น”นายชัยพร กล่าว

ด้านเลขาธิการสปสช.กล่าวว่า ปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ภาคใต้นั้น สปสช.ตระหนักดีว่ายังมีการเข้าถึงในระดับที่ต่ำ กลไกที่สำคัญที่จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงได้ อปสข. ซึ่งเป็นกลไกที่สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในพื้นที่เพื่อการออกแบบระบบสาธารณสุขที่เหมาะสมกับท้องถิ่น แต่สิ่งที่สำคัญคือต้องพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อให้ อปสข.สามารถติดตามกำกับการเข้าถึงบริการของประชนในเขตรับผิดชอบให้ดียิ่งขึ้น สปสช.จะมีการจัดเวทีการปฏิรูปโดยเน้นกลไกอปสข. โดยสัญจรไปยังภาคอื่นๆ เพื่อรวบรวมข้อเสนอจากภาคส่วนต่างๆ ทำเป็นแผนการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ต่อไป สอดคล้องกับทิศทางการปฏิรูปคือ การทำให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็น

“สปสช.ยึดหลักการแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะจากกระทรวงสาธารณสุขภายใต้เงื่อนไขที่เอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง โดยหลักการปฏิรูป คือ การลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชน และป้องกันการล้มละลายจากการเจ็บป่วยเป็นเป้าหมายหลัก โดยใช้ยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจและความเข้มแข็งอปสข.และเขตสุขภาพ การร่วมมือและบูรณาการกับทุกกองทุนสุขภาพเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ การขยายและพัฒนาบริการสุขภาพปฐมภูมิใกล้บ้านใกล้ใจ และเชื่อมประสานการทำงานกับอปท.เพื่อการเข้าถึงบริการ และเตรียมรองรับสังคมผู้สูงอายุ”นพ.วินัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมดังกล่าวมีนายแพทย์สสจ.ในพื้นที่ภาคใต้เข้าร่วมน้อยมาก ผอ.รพ.ชุมชนแห่งหนึ่งเปิดเผยว่า เป็นเพราะมีคำสั่งจากปลัดสธ.ไม่ให้เข้าร่วมเวทีการประชุมของสปสช. ทั้งเวทีอปสข. และเวทีรับฟังความคิดเห็น ทำให้การประชุมวันนี้ขาด นพ.สสจ.และ ผอ.รพ.ศูนย์หลายคน แต่รพ.ชุมชนยังคงยืนยันเข้าร่วมเพราะมีวาระสำคัญเกี่ยวกับ รพ.และผู้ป่วย และไม่เห็นด้วยที่มีคำสั่งห้ามไม่ให้เข้าร่วมประชุมจากผู้มีอำนาจ เพราะทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ รพ.ขาดงบประมาณ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท