สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: กปปส.คราวถอยรูด

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


แฟ้มภาพ: ประชาไท

เมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมานี้ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถามถึงนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะเลขาธิการ กปปส.(คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข)ว่า นายสุเทพต้องยกระดับการต่อสู้อีกกี่ครั้ง จึงจะถึงครั้งสุดท้ายจริงเสียที โดยอธิบายให้เห็นว่า เมื่อวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์สิ้นสุดลง ชีวิตคนกรุงเทพฯก็กลับมาเป็นปกติ คือ ตื่นเช้า ฝ่ารถติด ทำงาน กลับบ้าน นอน เพื่อตื่นมาในวันรุ่งขึ้น แล้วทำเหมือนเดิม ซ้ำซากจำเจอยู่อย่างนี้ แต่ความซ้ำซากจำเจนี้รวมถึง ม็อบ กปปส.ด้วย ที่ประกาศชุมนุมครั้งสุดท้าย ขอแรงพี่น้องเพื่อโค่นระบอบทักษิณครั้งแล้วครั้งเล่าจนกลายเป็นเรื่องจำเจ
ต้นเรื่องมาจากคำปราศรัยของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในวันที่ 16 เมษายน ที่เวทีชุมนุมสวนลุมพินีว่า กปปส.จะเริ่มปฏิบัติการต่อสู้ใน”ขั้นสุดท้าย” โดยจะมีการออกไปตามสถานที่และหน่วยงานต่างๆ เพื่อพบทั้งประชาชน ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และบริษัทห้างร้านต่างๆ เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจว่า เป็นหน้าที่ของคนไทยที่ต้องร่วมมือกันปฏิบัติเพื่อชาติเพื่อแผ่นดินในการโค่นล้มระบอบทักษิณและปฏิรูปประเทศ นายสุเทพ อธิบายว่า จะไม่ยอมรับการเจรจายกเว้นแต่ว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาเจรจาด้วยตัวเอง และจะต้องมีการถ่ายทอดสดให้ประชาชนทั่วประเทศ ต่อมาในวันที่ 20 เมษายน นายสุเทพก็ยังย้ำลักษณะจำเจว่า การนัดชุมนุมใหญ่ครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งถ้าทำได้สำเร็จก็จะจัดตั้งสภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย และว่า ถ้าหากปฏิรูปประเทศไม่ได้ ก็จะไม่มีการเลือกตั้งเด็ดขาด

แต่กระนั้น ก็เป็นที่อธิบายกันว่า การเคลื่อนไหวทั้งหมดของนายสุเทพขณะนี้ เป็นเพียงการกลบเกลื่อนความพ่ายแพ้เสื่อมถอยที่เกิดขึ้นอย่างน้อยตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมเป็นต้นมา ที่ กปปส.ต้องประกาศเลิกการปิดล้อมกรุงเทพฯ ยุบเวทีใหญ่ที่แยกปทุมวัน ราชประสงค์ อโศก และถอยเข้าไปหลบมุมอยู่ในสวนลุมพินี ทิ้งให้ม็อบเล็กน้อย เช่น คปท. และ กองทัพธรรม ปิดถนนราชดำเนินจนกลายเป็นถนนร้าง ยึดกระทรวงมหาดไทยอันว่างเปล่า และทิ้งให้พระพุทธอิสระ ปิดถนนก่อกวนอยู่ที่ถนนแจ้งวัฒนะ หรือเท่ากับว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ลดลักษณะของการชุมนุมมวลมหาประชาชนอันคึกคัก เหลือทิ้งไว้แต่ขบวนการม็อบอันธพาลกวนเมืองที่เกะกะระราน ที่ยังคงสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนต่อไป

ย้อนกลับไปดูการเคลื่อนไหวของ กปปส. ที่เริ่มต้นจากม็อบพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มชุมนุมในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2556 ที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าสามเสน ข้ออ้างในการชุมนุมขณะนั้น คือ การคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ต่อมาวันที่ 4 พฤศจิกายน จะเป็นการยกระดับการชุมนุมครั้งแรก โดยย้ายเวทีมาชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ปรากฏว่าการชุมนุมได้รับการตอบรับเกินคาดจากประชาชนชนชั้นกลางในเมือง ทำให้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ประกาศตัวลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นแกนนำการชุมนุม ประกาศยกระดับการเคลื่อนไหวไปสู่การขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และล้มล้าง”ระบอบทักษิณ” มีสถิติว่า ในเดือนพฤศจิกายนเพียงเดือนเดียว นายสุเทพประกาศยกระดับการชุมนุมอย่างน้อย 8 ครั้ง และยืนยันที่จะปิดฉากระบอบทักษิณภายในเดือนนั้น แม้ว่าจะมีประชาชนมาร่วมการชุมนุมจำนวนไม่น้อย และนายสุเทพได้นำพาประชาชนไปปิดสถานที่ราชการสำคัญได้หลายแห่ง โดยเฉพาะที่กระทรวงการคลัง และศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ แต่นายสุเทพก็ยังไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ตามปรารถนา

การเคลื่อนไหวเข้าสู่เดือนธันวาคม พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมช่วยกดดันสถานการณ์โดยในวันที่ 8 ธันวาคม ส.ส.ประชาธิปัตย์ 153 คน ประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่ กปปส.นัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 9 ธันวาคม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงตัดสินใจประกาศยุบสภาเพื่อคืนอำนาจการตัดสินใจแก่ประชาชนในเวลาเช้าวันนั้น แต่กลุ่ม กปปส.ของนายสุเทพกลับเสนอแนวทางปฏิเสธระบอบรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเสนอคำขวัญ”ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” แล้วเสนอสภาแต่งตั้งของมวลมหาประชาชนขึ้นมาแทน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า แนวทางการเคลื่อนไหวของนายสุเทพ มิได้หวังพึ่งอำนาจประชาชนอย่างแท้จริง แต่เป็นการสร้างเงื่อนไขที่จะเรียกร้องให้กองทัพกระทำรัฐประหารโค่นรัฐบาลเป็นสำคัญ

ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม ม็อบ กปปส.หันไปใช้ยุทธศาสตร์ขัดขวางกระบวนการเลือกตั้งในทุกขั้นตอน และนำมาสู่ความรุนแรงจนถึงขั้นบาดเจ็บล้มตาย นายสุเทพอาจจะเห็นว่ามาตรการยังไม่รุนแรงกดดันเพียงพอ จึงประกาศ”ชัตดาวน์กรุงเทพฯ”ในวันที่ 13 มกราคม ร่วมกับแนวทาง“อารยะขัดขืนขั้นสำคัญ” คือตัดน้ำ-ตัดไฟ สถานที่ราชการ บ้านนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ยืนยันว่า มาตรการนี้จะทำให้โค่นระบบทักษิณได้ในเร็ววัน

การปิดกรุงเทพฯดำเนินการโดยจัดการชุมนุมประชาชนปิดสี่แยกสำคัญที่เป็นย่านธุรกิจ หรือเป็นชุมทางของการเดินทาง คือ แยกปทุมวัน ราชประสงค์ อโศก แยกลาดพร้าว อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และแจ้งวัฒนะ ซึ่งสร้างความเดือดร้อนอย่างหนักแก่พ่อค้าประชาชน แต่กระนั้น การเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้ กลับไม่ได้สร้างความเดือดร้อนแก่ฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตามที่อ้าง เพราะกลุ่ม กปปส.มิได้มี”หมัดเด็ด”ที่จะล้มรัฐบาลได้ กลับกลายเป็นว่า การปิดกรุงเทพฯนอกเหนือจากการสร้างความเดือดร้อน และทำให้เศรษฐกิจเสียหายเหลือคณานับแล้ว ม็อบ กปปส.ไม่ได้บรรลุเป้าหมายอะไรเลย กองทัพก็ไม่อยู่ในเงื่อนไขที่พร้อมจะทำรัฐประหารตามคำสั่งนายสุเทพ การขัดขวางการเลือกตั้งส่วนใหญ่ก็ไม่สำเร็จ การเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ผ่านไปโดยเรียบร้อย โดยมีประชาชนทั่วประเทศมาใช้สิทธิมากถึง 20 ล้านคน ข้อเสนอ”ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”กลายเป็นเรื่องตลก แม้ว่าจะมีสถิติว่า นายสุเทพได้ประกาศชัยชนะมาแล้วมากกว่า 21 ครั้งก็ตาม ในที่สุด ม็อบ กปปส.จึงต้องยอมคืนพื้นที่กรุงเทพฯในวันที่ 3 มีนาคม

ตั้งแต่นั้นมา การดำเนินการล้มล้างประชาธิปไตยได้หลุดจากมือของ กปปส.ไปสู่บทบาทขององค์กรอิสระและฝ่ายตุลาการ คือ ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ศาลแพ่งและศาลอาญา เป็นต้น องค์กรเหล่านี้ได้ให้ความร่วมมือในการสร้างความชอบธรรมแก่การชุมนุมของ กปปส. และช่วยทำให้แกนนำและการ์ดของ กปปส.ที่ก่อการละเมิดกฎหมายหลายครั้ง ไม่ต้องถูกดำเนินคดี แต่กระนั้น นายสุเทพและ กปปส.ก็ไม่เคยที่จะสร้างกระแสประชาชนได้ในระดับเดิมที่เคยทำได้ในช่วงแรกของการชุมนุม ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความเบื่อและความชินชาแม้กระทั่งจากผู้สนับสนุน กปปส. เพราะได้มีการเคลื่อนไหวชุมนุมมาแล้วถึง 6 เดือน ก็ไม่สามารถที่จะล้มรัฐบาลได้ดังใจหมาย การยืนหยัดของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ได้กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญในการรักษาระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย น้ำหนักในการเคลื่อนไหวของฝ่ายนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จึงลดลงทุกที

บทเรียนแห่งการเคลื่อนไหวของฝ่ายขวามีมาแล้วก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่นำโดย นายสนธิ ลิ้มทองกุล และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ซึ่งเคยสร้างผลสะเทือนอย่างมากใน พ.ศ.2551 แต่วันนี้สิ้นความหมาย การชุมนุมของคณะเสนาธิการร่วมกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ ที่นำโดย พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ (เสธ.อ้าย) ที่เคยหวือหวาเมื่อ พ.ศ.2555 ก็ถูกลืมไปแล้วเช่นกัน

ม็อบ กปปส.ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็กำลังเดินอยู่บนเส้นทางเช่นนั้น!
 

จาก โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 461 วันที่ 26 เมษายน 2557

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท