Skip to main content
sharethis

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยเสาร์ 10 พ.ค. ดาวเสาร์จะอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี หลังพระอาทิตย์ลับจะเห็นปรากฏชัดสีเหลืองสว่างสุกใส ดูได้ตลอดทั้งคืนด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้หลังดวงอาทิตย์ตก

ดาวเสาร์ (ที่มา: Wikipedia/NASA)

6 พ.ค. 2557 - ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่าในค่ำคืนวันเสาร์ที่ 10 พฤษภาคม 2557 ดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ โดยเป็นตำแหน่งที่ดาวเสาร์ โลก และดวงอาทิตย์ เรียงอยู่ในเส้นตรงเดียวกัน มีโลกอยู่ตรงกลาง ซึ่งจะส่งผลให้ดาวเสาร์อยู่ในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ที่ระยะทางประมาณ 1,331 ล้านกิโลเมตร จึงมองเห็นดาวเสาร์พร้อมวงแหวนที่มีความสว่างมากและชัดเจน ทั้งนี้ตามรายงานของ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย 

นอกจากนี้ ดาวเสาร์ยังจะปรากฏบนท้องฟ้ายาวนานตลอดทั้งคืน ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกไปจนถึงอาทิตย์ขึ้นในเช้าวันถัดไป ในคืนวันที่ 10 พฤษภาคม ดาวเสาร์จะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณกลุ่มดาวคันชั่ง (Libra) ตั้งแต่เวลา 18.47 น. มีสีเหลืองสว่างสุกใส สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และจะตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก ในเวลา 05.52 น. ของเช้าวันที่ 11 พฤษภาคม ทำให้มีระยะเวลาสังเกตการณ์ค่อนข้างยาวนานและมากพอที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการชมด้วยตาเปล่า มองผ่านกล้องโทรทรรศน์ หรือการถ่ายภาพวงแหวนดาวเสาร์ หากดูด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก หรือกล้องสองตา จะสามารถมองเห็นวงแหวนของดาวเสาร์ได้อย่างชัดเจน ซึ่งปกติแล้วดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ หรือใกล้โลกที่สุดเป็นประจำทุกปี ครั้งล่าสุดคือวันที่ 28 เมษายน 2556 และครั้งต่อไปในวันที่ 23 พฤษภาคม 2558

ดร. ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในค่ำคืนของวันที่ 10 พฤษภาคม นอกจากดาวเสาร์แล้วยังมีดาวเคราะห์ที่น่าสนใจปรากฏบนท้องฟ้าอีกสองดวง คือ ดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี โดยในช่วงหัวค่ำ ดาวอังคารจะปรากฏเกือบกลางศีรษะค่อนไปทางทิศใต้ อยู่เคียงดวงจันทร์และดาวรวงข้าว (Spica) สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าเช่นกัน หากใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องดูจะสามารถเห็นขั้วน้ำแข็งของดาวอังคารได้อย่างชัดเจน ส่วนดาวพฤหัสบดี จะปรากฏอยู่บนท้องฟ้าทางทิศตะวันตกในกลุ่มดาวคนคู่

ข้อมูลจากวิกิพีเดียนั้น ดาวเสาร์เป็นดาวเคราะห์ ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 6 ที่ระยะทาง 1,433 ล้านกิโลเมตร จัดเป็นดาวเคราะห์แก๊ส มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองในระบบสุริยะรองจากดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์มีวงแหวนขนาดใหญ่ ที่ประกอบขึ้นจากก้อนหินที่มีน้ำแข็งปะปน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net