Skip to main content
sharethis

มีเดียมอนิเตอร์ เผยผลวิเคราะห์ บท บก.หนังสือพิมพ์ 11 ฉบับ ตั้งแต่ชัตดาวน์กรุงเทพฯ ถึงเลือกตั้ง 2 ก.พ. พบเสนอประเด็นขัดแย้งการเมืองมาเป็นอันดับ 1 แนะบท บก.ควรเสนอข้อเท็จจริงและหาทางออกให้สังคม

6 พ.ค.2557 มีเดียมอนิเตอร์ เผยผลวิเคราะห์บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวัน 11 ฉบับ ตั้งแต่ 13 ม.ค.ถึง 2 ก.พ.2557 ซึ่งมีเหตุขัดแย้งทางการเมือง 3 เหตุการณ์ คือ กปปส. ชัตดาวน์กรุงเทพฯ ศอ.รส.ประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก. ฉุกเฉิน) และการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป โดยหนังสือพิมพ์ทั้ง 11 ฉบับ ได้แก่ ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน ข่าวสด คมชัดลึก กรุงเทพธุรกิจ ไทยโพสต์ โพสต์ทูเดย์ แนวหน้า บ้านเมือง และสยามรัฐ

มีเดียมอนิเตอร์ รายงานว่า จากการศึกษาบทบรรณาธิการจำนวนทั้งสิ้น 189 ชิ้น พบการนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับความขัดแย้งและปัญหาทางการเมืองของกลุ่มคู่ขัดแย้งต่างๆ มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง 54 ชิ้น, รองลงมาคือประเด็นการเลือกตั้งล่วงหน้าและการเลือกตั้งทั่วไป 2 ก.พ. 33 ชิ้น, ตามด้วยประเด็นความรุนแรงเกี่ยวกับการปะทะ ตัวเลขผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากการชุมนุมทางการเมือง 31 ชิ้น, โครงการรับจำนำข้าว 23 ชิ้น, กปปส.ประกาศ ชัตดาวน์กรุงเทพฯ 14 ชิ้น, พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 12 ชิ้น และการเมืองในประเด็นอื่นๆ จำนวน 14 ชิ้น  และที่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง จำนวน 8 ชิ้น

ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มเกี่ยวข้องในประเด็นทางการเมือง พบว่า ประเด็น กปปส.ประกาศ ชัตดาวน์กรุงเทพฯ ในภาพรวมพบ กปปส. ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด 5 ชิ้น (บ้านเมือง 3 มติชน 1 ข่าวสด 1) วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล 3 ชิ้น (เดลินิวส์ 2 แนวหน้า 1) วิพากษ์วิจารณ์ทั้งรัฐบาลและ กปปส. 1 ชิ้น คือ คมชัดลึก, วิพากษ์วิจารณ์ทหาร 1 ชิ้น คือ มติชน,  วิพากษ์วิจารณ์ตำรวจ/ศอ.รส./ศรส. 1 ชิ้น คือ คมชัดลึก, วิพากษ์วิจารณ์กลุ่มอื่นๆ ได้แก่ กลุ่มปัญญาชน/ นักวิชาการ 1 ชิ้น คือ มติชน  นอกนั้นเป็นบทบรรณาธิการที่ไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายใด 2 ชิ้น คือ ข่าวสด และบ้านเมือง

ประเด็น ศอ.รส.ประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด 10 ชิ้น (ไทยรัฐ 3 โพสต์ทูเดย์ 3 แนวหน้า 2 มติชน 1 คมชัดลึก 1) วิพากษ์วิจารณ์ทั้งรัฐบาล และกปปส. 1 ชิ้น คือ เดลินิวส์ และไม่วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายใด 1 ชิ้น คือ ข่าวสด  

ประเด็นเลือกตั้งล่วงหน้าและเลือกตั้งทั่วไป 2 ก.พ.2557 พบ รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด 8 ชิ้น (แนวหน้า 2 คมชัดลึก 2 ไทยโพสต์ 2 โพสต์ทูเดย์ 1 ไทยรัฐ 1) รองลงมาเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ กปปส. 7 ชิ้น (มติชน 4 ไทยรัฐ 1 เดลินิวส์ 1 และข่าวสด 1) วิพากษ์วิจารณ์ กกต. 7 ชิ้น (ข่าวสด 3 มติชน 2 ไทยรัฐ 1 และสยามรัฐ 1) วิพากษ์วิจารณ์ทั้งรัฐบาลและ กปปส. 4 ชิ้น (ไทยรัฐ 1 กรุงเทพธุรกิจ 1 บ้านเมือง 1 และคมชัดลึก 1) วิพากษ์วิจารณ์ตำรวจ 1 ชิ้น คือคมชัดลึก วิพากษ์วิจารณ์ทหาร 1 ชิ้น คือ โพสต์ทูเดย์ และไม่วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายใด 5 ชิ้น (เดลินิวส์ 2 แนวหน้า 1 บ้านเมือง 1 และมติชน 1) 

ประเด็นความรุนแรงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการปะทะ และตัวเลขผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บจากการชุมนุมทางการเมือง ตำรวจ/ศอ.รส./ศรส. ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด 13 ชิ้น (คมชัดลึก 6 เดลินิวส์  2 และโพสต์ทูเดย์ 2 มติชน 1 ไทยโพสต์ 1 และกรุงเทพธุรกิจ 1) วิพากษ์วิจารณ์ทั้งรัฐบาลและ กปปส. 5 ชิ้น (กรุงเทพธุรกิจ 2 เดลินิวส์ 1 คมชัดลึก 1 และโพสทูเดย์ 1)
วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล 4 ชิ้น (ไทยรัฐ 1 สยามรัฐ 1 ไทยโพสต์ 1 และ โพสต์ทูเดย์ 1)  วิพากษ์วิจารณ์ กปปส. 2 ชิ้น คือ ข่าวสดและมติชน วิพากษ์วิจารณ์กลุ่มอื่นๆ ได้แก่ ข้าราชการ 2 ชิ้น คือ เดลินิวส์และโพสต์ทูเดย์ ไม่วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายใด 5 ชิ้น (สยามรัฐ 2 มติชน 2 และกรุงเทพธุรกิจ 1)   

ประเด็นความขัดแย้ง ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสาเหตุและปัญหาของคู่ขัดแย้งทางการเมืองกลุ่มต่างๆ มีบทบรรณาธิการที่วิพากษ์วิจารณ์ทั้งรัฐบาล และ กปปส.จำนวน 11 ชิ้น (กรุงเทพธุรกิจ 7 เดลินิวส์ 2 ไทยรัฐ 1 และข่าวสด 1) วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล จำนวน 10 ชิ้น (ไทยโพสต์ 4 โพสต์ทูเดย์ 2 แนวหน้า 2 ไทยรัฐ 1 และบ้านเมือง 1) วิพากษ์วิจารณ์ กปปส.  9 ชิ้น (ข่าวสด 7 มติชน 1 และคมชัดลึก 1) วิพากษ์วิจารณ์กลุ่มอื่นๆ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ กลุ่มคนเสื้อขาว จำนวน 5 ชิ้น (แนวหน้า 2 ไทยรัฐ 1 เดลินิวส์ 1 และมติชน 1) วิพากษ์วิจารณ์ทหาร 2 ชิ้น คือ บ้านเมืองและโพสต์ทูเดย์  วิพากษ์วิจารณ์ตำรวจ/ศอ.รส./ศรส. 1 ชิ้น คือ บ้านเมือง นอกจากนั้นเป็นบทบรรณาธิการที่ไม่วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายใด จำนวน 16 ชิ้น (เดลินิวส์ 7 สยามรัฐ 5 ข่าวสด 2 มติชน 1 และบ้านเมือง 1)

ประเด็นโครงการรับจำนำข้าว รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด 21 ชิ้น (กรุงเทพธุรกิจ 5 แนวหน้า 4 โพสต์ทูเดย์ 4  ไทยรัฐ 3 บ้านเมือง 2 เดลินิวส์ 1 สยามรัฐ 1 และไทยโพสต์ 1) นอกนั้นเป็นการวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มอื่นๆ ได้แก่ ปปช. 1 ชิ้นคือ ไทยรัฐ และไม่วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายใด 1 ชิ้น คือ กรุงเทพธุรกิจ

ประเด็นอื่นๆ เช่น การทุจริตคอรัปชั่น พบว่า รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด 7 ชิ้น (โพสต์ทูเดย์ 4 แนวหน้า 2 ไทยรัฐ 1) นอกนั้นเป็นกลุ่มอื่นๆ เช่น ข้าราชการ จำนวน 5 ชิ้น (บ้านเมือง 2 สยามรัฐ 2 และไทยรัฐ 1)  และไม่วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายใด 2 ชิ้น เป็นบท บก.ของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ

นอกจากนี้ มีเดียมอนิเตอร์ยังจัดกลุ่มหนังสือพิมพ์ตามการวิพากษ์วิจารณ์ของบทบรรณาธิการ เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1) บทบรรณาธิการที่วิพากษ์วิจารณ์ กปปส.ในเกือบทุกประเด็น แต่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลค่อนข้างน้อย ได้แก่ มติชนและข่าวสด โดยมติชนวิพากษ์วิจารณ์ความไม่เหมาะสมในการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาล 1 ชิ้น ข่าวสดมีบทบรรณาธิการที่วิพากษ์วิจารณ์ทั้งรัฐบาลและ กปปส.ว่ามีส่วนในการปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชังในสังคม 1 ชิ้น แต่ไม่พบว่ามีบทบรรณาธิการที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในประเด็นโครงการรับจำนำข้าว ในขณะที่บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่มีการพูดถึงประเด็นดังกล่าว

2) กลุ่มหนังสือพิมพ์ที่มีบทบรรณาธิการที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในแทบทุกประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการทุจริตคอรัปชั่นในโครงการรับจำนำข้าว แต่ไม่พบว่ามีบทบรรณาธิการที่วิพากษ์วิจารณ์ กปปส. ได้แก่ ไทยรัฐ แนวหน้า โพสต์ทูเดย์ และไทยโพสต์ กรณีของไทยรัฐพบว่ามีบทบรรณาธิการที่วิพากษ์วิจารณ์ กปปส. 1 ชิ้น และวิพากษ์วิจารณ์ทั้งรัฐบาล และ กปปส.ในประเด็นการเลือกตั้งและการขัดขวางการเลือกตั้ง 1 ชิ้น

3) กลุ่มที่มีบทบรรณาธิการที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มต่างๆ ไม่เฉพาะคู่ขัดแย้งหลัก คือ รัฐบาล และ/หรือ กปปส. ได้แก่ เดลินิวส์ กรุงเทพธุรกิจ คมชัดลึก สยามรัฐ และบ้านเมือง โดยกรุงเทพธุรกิจมีบทบรรณาธิการที่วิพากษ์วิจารณ์ทั้งรัฐบาลและ กปปส.จำนวน 10 ชิ้น คมชัดลึกมีบทบรรณาธิการที่วิพากษ์วิจารณ์ ศอ.รส./ศรส. 8 ชิ้น เดลินิวส์และสยามรัฐมีบทบรรณาธิการที่ไม่วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายใด 9 ชิ้น บ้านเมือง มีบทบรรณาธิการที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และวิพากษ์วิจารณ์ กปปส.กลุ่มละ 3 ชิ้นเท่ากัน

มีเดียมอนิเตอร์ รายงานด้วยว่า บทบรรณาธิการบางชิ้นไม่ใช้การวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา แต่นำเสนอในเชิงวิเคราะห์ ให้ความรู้ความเข้าใจต่อสถานการณ์ทั่วไป และบทบรรณาธิการส่วนใหญ่ไม่ได้เสนอทางออกที่เป็นรูปธรรมชัดเจน นอกจากการเสนอให้คู่ขัดแย้งมาเจรจากัน โดยระบุด้วยว่า ไม่ได้หมายความว่าบทบรรณาธิการนั้นๆ จะมีจุดยืนที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

นอกจากนี้ มีเดียมอนิเตอร์ ยังเสนอให้บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวันใช้สิทธิเสรีภาพทางบวกในการชี้แนะกลุ่มต่างๆ ด้วยการนำเสนอข้อเท็จจริงและความคิดเห็นอย่าง ลุ่มลึก รอบด้าน มีเหตุผล น่าเชื่อถือ เพื่อแสดงจุดยืนของความเป็นสถาบันสื่อสารมวลชน และควรมีจุดมุ่งหมายเพื่อหาทางออกให้สังคม หลีกเลี่ยงการใช้ข้อความหรือถ้อยคำที่เป็นเท็จ ที่มีความรุนแรงและอาจเข้าข่ายการสร้างความเกลียดชัง หรือขยายความขัดแย้งให้มากยิ่งขึ้น

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net