ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช: ตอบอาจารย์กิตติศักดิ์ ปรกติกรณี Lecture Notes เรื่อง อนุสัญญาว่าด้วยเรื่องซื้อขายระหว่างประเทศ (CISG)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผมชั่งใจอยู่นานว่าจะเขียนเรื่องนี้ดีหรือไม่เพราะเหตุการณ์ผ่านมานานหลายปีแล้ว และหลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ผมก็ไม่เคย take action ต่อเลยเพราะถือว่าผมทำหน้าที่ของผมเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อไม่กี่วันมานี้เกิดประเด็นสงสัยเกี่ยวกับงานเขียนของ อ. กิตติศักดิ์ ปรกติชิ้นหนึ่งใน social media และผมอ่านคำชี้แจงของ อ.กิตติศักดิ์ทาง facebook แล้วเห็นว่า สมควรมีคำอธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้สาธารณชนได้ข้อมูลและความเห็นในมุมของผมดังนี้ครับ

ตอนที่ผมเป็นอาจารย์ใหม่ๆ ผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการประจำคณะกับอาจารย์รุ่นพี่อีก 2 ท่านเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบภาระงาน (workload) ของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วยงานสอน งานกรรมการและงานเขียน เพื่อประเมินความดีความชอบประจำปี ในปีนั้น อ.กิตติศักดิ์ส่งมาช้าเลยเวลาที่กำหนดไว้แต่กรรมการก็ไม่ serious ผ่อนผันให้ ตอนที่ผมตรวจเป็นการตรวจงานของอาจารย์ที่ส่งมาทีหลัง อาจารย์ท่านอื่นๆ ตรวจเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผมจำได้ว่า อ.กิตติศักดิ์ส่งงานเขียนมามากสูงเท่าศอก ถ้าจำไม่ผิดมีทั้งภาษาไทย เยอรมันและอังกฤษ การตรวจงานเริ่มจากอาจารย์ผู้ใหญ่สองท่านก่อน ผมเข้ามาใหม่ตรวจคนสุดท้าย อาจารย์ 2 ท่านก็อ่านๆๆๆและก็ส่งต่อๆมา ผมก็อ่านๆ ๆละเอียดบ้างไม่ละเอียดบ้างพลิกไปพลิกมา ในใจเวลานั้นผมยังชม อ.กิตติศักดิ์ว่า ผลงานเยอะจริงๆ อาจารย์แกคงขยันมาก อ่านไปสักพักผมก็มาสะดุดงานชิ้นหนึ่งที่ผมใช้เวลาอ่านสักไม่ถึงนาทีผมก็บอกกับกรรมการว่า “ผมคุ้นๆ กับงานชิ้นนี้” อาจารย์ 2 ท่านมองหน้าผมด้วยตาเขม็ง มีสีหน้าสงสัย ผมก็ย้ำอีกว่าผมคุ้นๆ ว่าเคยอ่านบทความนี้น่ะ แล้วผมก็บอกอาจารย์ทั้งสองว่ารอแป็บนึง เผอิญห้องที่ตรวจงานใกล้กับห้องผม เพื่อความแน่ใจเพราะการตรวจงานเขียนที่มีพิรุธต้องมีพยานหลักฐานที่ชัดเจนแน่นอน ผมก็ไปห้องผมเอาบทความของ Professor Peter Schlechtriem มาให้อาจารย์ทั้งสองท่านดู อาจารย์ท่านหนึ่งยังเปรยๆขึ้นว่า อาจารย์เยอรมันอาจลอก อ.กิตติศักดิ์ก็ได้ หรืออาจใกล้เคียงกันก็ได้ (ต่างคนต่างเขียนเผอิญคล้ายกันพอดี) ผมก็เลยยื่นต้นฉบับให้ดู อาจารย์ทั้งสองอ่านสักครู่ ก็ไม่พูดอะไร บอกแต่เพียงว่าให้ทำเป็นข้อสังเกตและให้ผมเป็นผู้ชี้แจงในที่ประชุมตอนพิจารณาความดีความชอบประจำปี ขั้นตอนนี้ผมจะข้ามไปไม่อยากกล่าวถึงในรายละเอียด ต่อไปนี้คือความเห็นผม

1. หลายคนสงสัยมาถามผมรู้ได้อย่างไร เพราะมีบทความเกี่ยวกับ CISG เป็นพันชิ้น เหตุผลที่ผมทราบมีสองประการ คือ ประการแรก ผมเพิ่งอ่านบทความนี้ประมาณ 3-4 อาทิตย์ก่อนตรวจงานของ อ.กิตติศักดิ์ ฉะนั้นข้อความสำนวนและเนื้อหายังติดตาอยู่ ประการที่สอง ผมอ่านบทความของ อ.กิตติศักดิ์แป็บเดียวก็รู้ว่า “ผิดปกติ” เพราะเชิงอรรถตัวเลขมีกรอบสี่เหลี่ยม ต้นฉบับก็เป็นสี่เหลี่ยม ผมคิดเอาเองว่าเทคนิคนี้น่าจะมาจากการคลิ๊ก copy select all (คนใช้ program word จะเข้าใจ) หรือไม่ก็รูดเมาส์ copy ลงมา จากนั้นก็มา paste ใหม่ ด้วยวิธีการนี้ “เชิงอรรถ” ก็เลยติดมาทั้งดุ้นจาก Internet

2. อ.กิตติศักดิ์ได้เปลี่ยนชื่อบทความ เปลี่ยนเนื้อหาบางส่วนจาก “เยอรมัน” เป็น “ไทย” แล้วก็รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ และงานชิ้นนี้อาจารย์ไปนำเสนอในงานที่ประชุมระหว่างประเทศแห่งหนึ่งด้วย แต่ที่สำคัญที่สุดและร้ายแรงที่สุดคือ อ. กิตติศักดิ์เปลี่ยนชื่อเจ้าของบทความจาก “Professor Peter Schlechtriem” มาเป็น “Kittisak Prokati” คำชี้แจงที่ว่าเป็นเรื่องของผู้ช่วย Teaching assistance หรือ “ผมรีบร้อนไม่ทันระมัดระวัง” หรือความผิดพลาดทางเทคนิคอะไรทำนองนี้นั้น ผมว่าฟังไม่ขึ้น เรื่องแบบนี้ ผมว่า TA ไม่มีความสามารถและไม่กล้าทำแน่นอน ส่วนที่บอกว่ารีบร้อน ไม่ดูให้ดีนั้น ผมสงสัยว่า “รีบร้อนตอนทำ” หรือ “รีบร้อนตอนส่งให้คณะกรรมการตรวจ” แต่ไม่ว่าจะรีบร้อนตอนไหนก็ตาม ก็ไม่ถูกอยู่ดี คนจะทำแบบนี้ได้ต้องใช้เวลาอ่านเพื่อที่จะหาช่องว่าจะแก้ไขจะเพิ่มคำไหนจะลบคำไหนดี ถ้ารีบร้อนทำไม่ได้แน่นอน

3. ที่ อ.กิตติศักดิ์ชี้แจงว่า ต้องการเผยแพร่ผลงานของ Professor Peter Schlechtriem คำถามมีว่าถ้าต้องการเผยแพร่ผลงานของ Prof. Schlechtriem จริง ทำไมต้องแก้ชื่อเจ้าของบทความจาก “Professor Peter Schlechtriem” มาเป็นของตนเองแทน อีกอย่างการสัมมนาหรือการเรียนการสอน อาจารย์ผู้สอนก็สามารถแจกเอกสารประกอบซึ่งเขียนโดยนักวิชาการท่านอื่นได้เป็นปกติทั่วไปได้อยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องแจกงานเขียนของตนเอง ทำไมไม่เลือกวิธีการนี้?

จริงๆ ผมมีข้อสังเกตมากกว่านี้แต่ไม่อยากเขียน สุดท้ายผมขอกล่าวว่า กรณีของ อ.กิตติศักดิ์ ไม่ใช่เป็นรายแรกและรายสุดท้าย งานเขียนวิชาการที่ดีต้องใช้เวลา ใช้ความอุตสาหะ หมกตัวเองอยู่ในห้องสมุด ทั้งค้นคว้าทั้งอ่าน rewrite หลายรอบ ทำงานอย่างโดดเดี่ยวมีวินัย (โดยเฉพาะการทำ citation) ขั้นตอนเหล่านี้เป็นขั้นตอนที่ผู้คนทั่วไปไม่เห็น ไม่โด่งดัง ผมเชื่อว่ามีนักวิชาการที่ดีหลายท่านผ่านขั้นตอนนี้  (แม้ว่านักวิชาการที่ดีจำนวนมากไม่ดังทางสื่อก็ตาม) แต่นักวิชาการบางคนไม่อยากผ่านขั้นตอนนี้ แต่อยากได้รับการยอมรับเร็ว อยากมีผลงานเขียนเร็วๆมากๆ จึงใช้วิธีการทางลัดรวดเร็วทันใจดี แต่ไม่หยั่งยืนและที่สำคัญขาดความภาคภูมิใจในผลงานของตนเองครับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท