Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ในช่วงเทศกาลวิสาขบูชาของทุกปี เรามักเห็นการโปรโมตทำนองว่า “พุทธศาสนาคือศาสนาแห่งสันติภาพ” หรือ “พุทธศาสนาคือคำตอบสำหรับสันติภาพของสังคมไทยและสังคมโลก” ว่ากันว่าเพราะคุณค่าอันยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนาเช่นนี้เอง องค์การสหประชาชาติจึงกำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็น “วันสำคัญสากลของศาสนาพุทธทุกนิกายทั่วโลก”

แน่นอน การโปรโมตศาสนาไม่ได้ผิดอะไร ศาสนาใดๆ ก็โปรโมตตัวเองทั้งนั้น จะว่าไปศาสนานี่แหละที่เริ่มสร้างวัฒนธรรมโปรโมตตัวเอง หรือวัฒนธรรมโฆษณาชวนเชื่อขึ้นมาบนโลกใบนี้ก่อนใครๆ ศาสนาจึงอยู่ในประเพณีการโปรโมต การโฆษณาชวนเชื่อมายาวนานกว่าระบบความเชื่อ อุดมการณ์ใดๆ หรือสินค้าแบรนด์ไหนๆ ในโลกนี้ แต่น่าถามว่าภายใต้วัฒนธรรมโปรโมต โฆษณาชวนเชื่อทางศาสนานั้น ในที่สุดแล้วได้ส่งผลย้อนแย้งอย่างไร

เช่น อะไรคือความเป็นจริงที่แสดงว่า “พุทธศาสนาคือศาสนาแห่งสันติภาพ” หรือ “พุทธศาสนาคือคำตอบสำหรับสันติภาพของสังคมไทยและสังคมโลก” คำตอบของคำถามนี้จะย้อนศรไปที่การโปรโมตนั้นในประเด็นสำคัญว่า คุณกำลังใช้การโปรโมตและการโฆษณาชวนเชื่อที่ทำให้ศาสนากลายเป็น “ยากล่อมประสาท” สำหรับประชาชนหรือไม่ เพราะหากคุณไม่มีหลักฐานแสดงให้เห็นความเป็นจริงของข้อความที่คุณโฆษณา ก็เท่ากับคุณกำลังใช้คำโฆษณานั้นเป็นยากล่อมประสาทที่ทำให้คนหลงผิดและหลอกตัวเอง

สังคมที่อ่อนแอ ไม่มีวุฒิภาวะทางความคิด คือสังคมที่ผู้คนถูกกล่อมเกลาให้หลอกตัวเองโดยคำโฆษณาชวนเชื่อทางศาสนา การหลอกตัวเองก็คือการเชื่อว่า เรามีศาสนาที่ดีที่สุดที่ทำให้สังคมเราและสังคมโลกมีสันติภาพ โดยไม่ตั้งคำถามว่ามันเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ สังคมไทยเป็นสังคมที่มีสันติภาพจริง หรือเรากำลังใช้การโฆษณาทางศาสนาสร้าง “มายาภาพ” ขึ้นมาหลอกตัวเองเท่านั้น

เพราะความจริงคือ มีความรุนแรงในครอบครัว ในวัด ในทางสังคม การกดขี่แรงงาน กดขี่ทางเพศ การลดทอนความเป็นคนให้ไม่สามารถเป็น “คนเท่ากัน” ได้ ด้วยการตั้งข้อรังเกียจในแง่ด้านต่างๆ เช่น โง่ จน ไร้การศึกษา ไม่รู้ประชาธิปไตย ถูกซื้อจึงเป็นผู้ไม่มีเสียงในทางการเมือง (ที่ฟังขึ้น) เป็นต้น หรือในความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นอยู่และผ่านๆ มา ก็ล้วนแต่มีความรุนแรงและการเข่นฆ่า ซึ่งนับวันจะฆ่ากันมากขึ้นๆ อย่างไร้เหตุผล แล้วพุทธศาสนาช่วยให้สังคมไทยมีสันติภาพอย่างไรหรือ?

บางคนอาจบอกว่า “ความรุนแรงในสังคมไทยมันมีปัจจัยจำนวนมาก และซับซ้อนมาก จะโยนความรับผิดชอบให้พุทธศาสนาเท่านั้นไม่ได้” เปล่าครับ ผมไม่ได้โยนความรับผิดชอบให้พุทธศาสนาเลย แต่ผมกำลังถามหา “ความเป็นจริง” ของการโปรโมตว่า “พุทธศาสนาคือศาสนาแห่งสันติภาพ” หรือ “พุทธศาสนาคือคำตอบสำหรับสันติภาพของสังคมไทยและสังคมโลก” ต่างหากเล่า

ถึงตอนนี้เพื่อนชาวพุทธที่น่ารักของผมก็จะพูดขึ้นว่า “คำตอบเรื่องสันติภาพก็อยู่ที่คำสอนของพุทธศาสนาไง ถ้าเรานำคำสอนของพุทธศาสนามาปฏิบัติ สันติภาพก็จะเกิดขึ้นในชีวิตและสังคมแน่ๆ” นี่ก็แปลว่าที่สังคมเราไม่มีสันติภาพ ก็เพราะไม่ได้นำคำสอนของพุทธศาสนามาปฏิบัติดังที่พูดกันเสมอๆ แต่คำถามคือ แล้วพุทธศาสนาตามที่ปรากฏเป็นจริง หรือพุทธศาสนาที่ทำงานอยู่จริงในสังคมไทยได้กลายเป็นส่วนหนึ่ง หรือเป็นเงื่อนไขหลักอย่างหนึ่งของความรุนแรงหรือไม่?

คำถามนี้ได้ฉายให้เรามองเห็นภาพพระแกนนำทางการเมืองขัดขวางการเลือกตั้งที่จะเข้าไปในพื้นที่ห้ามห้ามผู้ชุมนุมบุกรุกของเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วถูกฉีดน้ำและยิงแก๊สน้ำตา แล้วพระก็เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐมาขอขมา โดยมีคำอธิบายทำนองว่า “หลวงปู่ท่านมีเมตตาจิต ต้องการอโหสิกรรมให้ เพื่อบาปกรรมจะไม่ติดตัวผู้กระทำ” ถ้าเป็นประชาชนธรรมดาย่อมไม่มี “อำนาจทางวัฒนธรรม” เป็นฐานอ้างอิงให้ใครมาขอขมาได้ นี่แปลว่าพุทธศาสนาไทยตามที่เป็นอยู่จริงทำให้พระมีอภิสิทธิ์กระทำรุนแรงเชิงนามธรรมที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอื่นได้ (หากเขาไม่เต็มใจ แต่จำใจต้องขอขมาเพื่อให้จบๆ ไป) นี่ยังไม่พูดถึงวาทกรรมอื่นๆ เช่น ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน ที่หลุดออกมาจากปากพระชื่อดังในสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองที่ผ่านๆ มา

อาจมีข้อโต้แย้งอีกว่า “นั่นเป็นเรื่องของบุคคล ไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนา พระบางรูปใช้พุทธศาสนาไปในทางที่ผิด จะมาโทษว่าเป็นความผิดของพุทธศาสนาไม่ได้” ครับ ผมยังไม่ได้โทษว่าเป็นความผิดของ “พุทธศาสนา” แต่ผมก็อดสงสัยต่อไปอีกไม่ได้ว่า การใช้วาทกรรมทางพุทธศาสนาในการต่อสู้ทางการเมือง เช่น ธรรมนำหน้า การอ้างพุทธศาสนายกย่องกษัตริย์ที่ตรวจสอบไม่ได้ว่าสูงส่งด้วยศีลธรรม แต่กล่าวหานักการเมืองที่ตรวจสอบได้ว่าไร้คุณธรรมจริยธรรม การอ้างธรรม อธรรม เทพ มาร อ้างว่ามาชุมนุมขัดขวางการเลือกตั้งคือมาทำบุญ มาบำเพ็ญเพียร เป็นหน้าที่ของคนดีที่ออกมาขจัดคนชั่ว คนดีที่แท้จริงต้องจงรักภักดี ต่อสู้ปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ฯลฯ หรือพูดอีกอย่างคือ วาทกรรมทางศีลธรรมอนุรักษ์นิยมที่นำมาใช้ในการต่อสู้ทางการเมืองในนามปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ที่เป็น “วาทกรรมสะดวกใช้” กันจนเป็นประเพณีมาอย่างยาวนานจนปัจจุบันนี้นั้น มีที่มาจากไหน?

หากไม่ใช่มาจากการปลูกฝังกล่อมเกลาอย่างฝังรากลึกโดยพุทธศาสนาตามที่ปรากฏเป็นจริง หรือพุทธศาสนาที่ทำงานอยู่จริงในสังคมไทยมาเป็นเวลายาวนาน ถามว่า “อุดมคติ” ของพุทธศาสนาเรื่อง “สันติภาพ” ตามที่โฆษณาชวนเชื่อนั้นเคยถูกนำมาใช้เป็น “อุดมคติทางสังคม” ไหม? หรือแม้แต่ใช้ดับร้อนในสถานการณ์ที่สังคมมีความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองหรือไม่? คำตอบรูปธรรมคือ มีแต่การอ้างพุทธศาสนาสนับสนุนอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมตลอดมา

แปลว่าพุทธศาสนาที่ถูกใช้จริง หรือทำงานอยู่จริงในสังคมคือพุทธศาสนาที่มีเนื้อหาสาระสนับสนุนอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม สนับสนุนความเป็นชนชั้น หรือความไม่เท่าเทียม อันเป็นรากฐานของโครงสร้างอำนาจอันอยุติธรรมและรุนแรง นี่คือสิ่งที่พระสงฆ์ ฆราวาส นักวิชาการพุทธศาสนา หรือปราชญ์ทางพุทธศาสนาในบ้านเราไม่เคยตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ เอาแต่โฆษณาชวนเชื่อคุณวิเศษต่างๆ ของคำสอนของพุทธศาสนา แต่ลืมไปว่าในความเป็นจริงคำสอนของพุทธศาสนาก็เหมือนความรู้อื่นๆ ในแง่ที่เป็นสิ่งที่ถูกใช้ “ภายใต้วัฒนธรรม”

กล่าวคือ ไม่มีใครปฏิเสธความเป็นจริงได้ว่า พุทธศาสนาสยามไทยถูกใช้ภายใต้วัฒนธรรมที่ชนชั้นปกครองในระบบเก่ามีอำนาจกำหนดถูก ผิดทางศีลธรรม ถามว่ากำหนดถูก ผิดทางศีลธรรมได้มากขนาดไหน? คำตอบที่มีหลักฐานชัดแจ้งคือ กำหนดได้แม้กระทั่งว่าผู้ปกครองคือ “พระพุทธเจ้าอยู่หัว” และผู้ใต้ปกครองกลายเป็น “ข้าของพระพุทธเจ้าอยู่หัว” ที่มีหน้าที่เชื่อฟัง และกตัญญูต่อผู้ปกครอง ยิ่งกว่านั้นโครงสร้างการปกครองสงฆ์ที่สืบต่อมาถึงปัจจุบัน ก็ยังเป็นโครงสร้างที่กำหนดให้พระสงฆ์มีบทบาทหน้าที่สนับสนุนความชอบธรรมและความศักดิ์สิทธิ์แห่งสถานะและอำนาจเชิงวัฒนธรรมของชนชั้นปกครองในระบบเก่า

การทำงานของพุทธศาสนาภายใต้วัฒนธรรมดังกล่าวนี้ ก่อให้เกิด “อคติทางศีลธรรม” อย่างชัดแจ้งคือ พระสงฆ์ ฆราวาส ปราชญ์หรือนักวิชาการพุทธศาสนาล้วนมีค่านิยมจับผิดบุคคล หรือประชาชนผู้ไร้อำนาจว่าสอนผิด บิดเบือนคำสอนของพุทธศาสนาบ้าง ใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือหากิน เป็นเครื่องมือสถาปนาตนเองให้เป็นผู้วิเศษบ้าง แต่ทว่านอกจากจะไม่มี “ความกล้าหาญทางศีลธรรม” ตั้งคำถามแบบเดียวกันนี้กับชนชั้นปกครองแล้ว ยังสร้างประเพณีสรรเสริญสดุดีว่าชนชั้นปกครองเป็นแบบอย่างทางศีลธรรม และอ้างศีลธรรมโจมตีว่านักการเมืองไม่มีศีลธรรม นี่คือพุทธศาสนาที่ปรากฏอยู่จริง หรือทำงานอยู่จริงที่สัมผัสได้อย่างแท้จริงในสังคมไทย

ฉะนั้น สำหรับวันวิสาขบูชาปีนี้ ผมจึงอยากพูดเพียงสั้นๆ ว่า พุทธะผู้สละฐานันดรมาเป็นสามัญชน ผู้ซึ่งสอนให้คนเป็นตัวของตัวเอง ให้รู้จักใช้เสรีภาพและปัญญาของตัวเองในการเลือกทางเดินชีวิต ผู้ตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ประเพณีที่ปิดกั้นเสรีภาพในการคิด ตั้งคำถามกับระบบชนชั้น ยืนยันความเสมอภาคในความเป็นคน เสนอคำสอนให้ผู้ปกครองถ่อมตนต่อราษฎร ปกครองอย่างยึดหลักความเป็นธรรมแก่คนทุกหมู่เหล่า สนับสนุนสวัสดิภาพ ซื่อสัตย์ โปร่งใสตรวจสอบได้ และอดทนต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ ไม่เบียดเบียนกดขี่ หรือเข่นฆ่าราษฎร์นั้น

เพื่อระลึกถึงและแสดงความเคารพต่อพุทธะ ผมพูดได้เพียงว่า พุทธศาสนาอันเป็นบุคลิกภาพและคำสอนของท่านไม่ได้มีชีวิตชีวาเป็น “อกาลิโก” ดังที่พวกเขาหลอกลวงเลย พุทธศาสนาเช่นนั้นตายไปแล้วตั้งแต่เมื่อไร หรือไม่เคยเริ่มต้นชีวิตในสังคมสยามไทยเลย ผมไม่อาจทราบได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net