Skip to main content
sharethis

14 พ.ค.2557 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)   จัด “การประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระดับประเทศ ปี 2557” ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กทม. มี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานในพิธิเปิด ซึ่งมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็นทางฝ่ายผู้ให้บริการและผู้จัดหาบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในระดับต่างๆ ทั้งระดับปฐมภูมิ ทุติยภูม และตติยภูมิ รวมถึงผู้แทนองค์กรวิชาชีพ ผู้แทนหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนภาคประชาชนในฐานะผู้รับบริการ โดยเป็นการประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อสรุปครั้งสุดท้าย ภายหลังจากที่ได้เปิดรับฟังความเห็นในเวทีต่างๆ ทั่วประเทศ

นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545มาตรา 18 (13) กำหนดให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) รับฟังความคิดเห็นทั่วไปในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง เพื่อระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เน้นการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างยั่งยืน โดยกระบวนการรับฟังความคิดเห็นนี้ทางบอร์ด สปสช.ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2548 และต่อเนื่องมาจนถึงปี 2557 นับเป็นปีที่ 9

สำหรับปี 2557 นี้ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.) ได้จัดให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นขึ้นเช่นปีที่ผ่านมา โดยได้จัดเวทีการรับฟังเห็นยัง 13 เขตบริการทั่วประเทศตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาซึ่งได้ผ่านตัวแทนจากทุกภาคส่วน และในครั้งนี้เป็นการเปิดรับฟังความเห็นนัดสุดท้ายในระดับประเทศ เพื่อที่จะนำข้อสรุปที่สะท้อนเข้ามานำเสนอต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่อไป ซึ่งนับว่าเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างมาก

ด้าน นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ประธานคณะอนุกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การเปิดรับฟังความเห็นในปีนี้ ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม เป็นต้นมา โดยเริ่มที่เขต 11จ.สุราษฎร์ธานี และได้ดำเนินการต่อเนื่องจนครบ 13 เขต ซึ่งประเด็นการรับฟังความคิดเห็นในปีนี้ สามารถแยกความเห็นที่นำเสนอเข้ามาออกเป็น 7 ด้านด้วยกัน คือ1.สิทธิประโยชน์ 2.มาตรฐานบริการสาธารณสุข 3.การบริหารจัดการสำนักงาน4.การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพ   5.การบริหารจัดการกองทุนท้องถิ่นฯ6.ด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และ 7.ด้านการรับรู้และคุ้มครองสิทธิ

“ข้อเสนอแนะที่สะท้อนเข้ามาในปีนี้  มีประเด็นที่หลากหลาย อาทิ สปสช.ควรจัดตั้งกองทุนดูแลบุคคลที่รอพิสูจน์สถานะและสิทธิ์, การจัดระบบดูแลผู้สูงอายุโดยร่วมกับกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นและชุมชน, การตรวจสุขภาพประจำปีให้เท่าเทียมทุกสิทธิ, การเพิ่มสิทธิประโยชน์การคลอดไม่จำกัดจำนวนครั้ง และการทบทวนให้ใช้บัญชียาเดียวกันทุกสิทธิ นอกจากนี้ยังมีความเห็นจากฝ่ายผู้ให้บริการสาธารณสุข อาทิ การแยกเงินเดือนออกจากเงินรายหัว, การรวมรายงานทุกงานเป็นโปรแกรมเดียวกัน เช่น E-Claim เป็นต้น และการนำประชากรแผงมาใช้ในการประกานการจัดสรรงบประมาณให้หน่วยบริการ” นพ.จรัล กล่าว และว่า นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอจากผู้แทนภาคประชาชน อาทิ การขยายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนในระดับพื้นที่ให้ครอบคลุม การเพิ่มสิทธิประโยชน์เงินช่วยเหลือเบื้องต้น ม.41 และ ม.18 ให้เท่าเทียมกันทุกสิทธิ โดยความเห็นทั้งหมดนี้ รวมถึงข้อสรุปในการรับฟังความเห็นระดับประเทศในวันนี้ ทางคณะทำงานจะสรุปรวมรวม และคาดว่าจะนำเสนอต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ในเดือนมิถุนายนนี้

ขณะที่ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นระบบการจัดบริการรักษาพยาบาลที่เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ที่เป็นส่วนสำคัญทำให้ สปสช.ในฐานะผู้จัดหาบริการสาธารณสุขสามารถจัดบริการสุขภาพได้ตรงกับความต้องการของประชาชน อย่างการจัดสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาด้วยการจัดทำเป็นนโยบาย นอกจากนี้ยังเป็นข้อมูลเพื่อใช้ในการปรับปรุงการบริหารจัดการที่นอกจากตอบสนองยังฝ่ายผู้ให้บริการสาธารณสุขแล้ว ยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่นำไปสู่การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ประเด็นจากการรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งมีการประกาศนโยบายหรือกำหนดเป็นชุดสิทธิประโยชน์แล้ว ได้แก่ การสนับสนุน เร่งรัดพัฒนาบริการปฐมภูมิใกล้บ้าน ใกล้ใจ, การให้ความคุ้มครองผู้ติดเชื้อ HIV และผู้ป่วยเอดส์, การเพิ่มการเข้าถึงบริการแพทย์แผนไทย, การยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียม 30 บาท, การบริหารจัดการโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงอย่างครบวงจร, การขยายบริการทดแทนไตสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะ, ยกเลิกการจำกัดการคุ้มครองการเจ็บป่วยฉุกเฉินไม่เกิน 2 ครั้งต่อปี, การนำร่องการใช้บัตรประชาชน Smart card แทนบัตรทอง และ การเพิ่มการเข้าถึงยาราคาแพง และยาในบัญชี จ (2) เป็นต้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net