Skip to main content
sharethis

15 พ.ค.2557 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกแถลงการณ์ เรื่อง ข้อห่วงใยและข้อกังวลในสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่มีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และขอประณามการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ เรียกร้องกลุ่มผู้ชุมนุมที่เคลื่อนไหวตามบริเวณของสถานีวิทยุโทรทัศน์ต่างๆ ต้องไม่คุกคามการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน และสื่อมวลชนเองต้องรักษาจรรยาบรรณ และจริยธรรมในวิชาชีพ โดยไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใด พร้อมเรียกร้องให้ผู้จัดการชุมนุมหรือผู้นำการชุมนุมต้องควบคุมพฤติกรรมของผู้รักษาความปลอดภัยกลุ่มผู้ชุมนุม (การ์ด) ในการปฏิบัติต่อประชาชนหรือบุคคลทั่วไปเพื่อขอความร่วมมือเกี่ยวกับการขอตรวจค้น 

กรรมการสิทธิฯ ระบุด้วยว่า ขอประณามการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการใช้อาวุธสงคราม ต่อบุคคล กลุ่มบุคคล และที่ชุมชน และขอให้ยุติการกระทำดังกล่าว และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายด้วยความรวดเร็ว 
 
สุดท้าย กรรมการสิทธิฯ ระบุว่า ขอความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วนได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ และช่วยกันประณามการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ตลอดจนต้องเรียกร้องแต่ละฝ่ายอย่าให้เกิดการเผชิญหน้า และยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังจนนำไปสู่การใช้ความรุนแรง ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติเกิดความเสียหายอย่างรุนแรงในทุกด้าน

 

แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)
เรื่อง ข้อห่วงใยและข้อกังวลในสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่มีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และขอประณามการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ

       
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง โดยยึดหลักความเป็นกลาง อิสระ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทุกฝ่าย โดยไม่เลือกปฏิบัติ และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยึดแนวทางสันติในการแก้ปัญหา มีความเอื้ออาทร เคารพในคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ และเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน
       
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมามีการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง เช่น กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องให้สื่อมวลชน โดยเฉพาะสถานีวิทยุโทรทัศน์ต่างๆ ให้ความร่วมมือในการเสนอข่าวสาร ซึ่งลักษณะดังกล่าวอาจเป็นการคุกคามสิทธิและเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร รวมถึงการที่รัฐบาลไม่พยายามให้มีการนำเสนอข่าวทางการเมืองแบบรอบด้าน นอกจากนี้การทำหน้าที่ของผู้รักษาความปลอดภัยกลุ่มผู้ชุมนุม (การ์ด) ได้ใช้มาตรการที่รุนแรงต่อประชาชน ในทางกลับกันกลุ่มบุคคลได้ใช้ความรุนแรงต่อผู้รักษาความปลอดภัยกลุ่มผู้ชุมนุม (การ์ด) ในยามวิกาลด้วย อีกทั้งเหตุการณ์ การใช้ความรุนแรงหรือการก่อการร้าย โดยใช้อาวุธสงคราม ทำให้มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บมาหลายครั้งอย่างต่อเนื่อง และนับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในความเป็นอยู่ส่วนตัว ในเกียรติยศชื่อเสียงเป็นรายบุคคล เป็นการเฉพาะกรณีอย่างหลากหลาย นั้น
       
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงมีข้อห่วงใยและข้อกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองดังกล่าวที่เกิดขึ้นเรื่อยมา และขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องคำนึงและสมควรดำเนินการที่ต้องระมัดระวังไม่ก่อให้เกิดการยั่วยุด้วยวิธีการใดๆ ไม่เป็นการละเมิดสิทธิซึ่งกันและกัน และไม่มีการเผชิญหน้าของแต่ละฝ่าย โดยต้องไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงหรือกระทำการใดๆ ที่ผิดกฎหมายและเป็นการกระทบสิทธิและเสรีภาพซึ่งกันและกัน เพื่อมิให้เกิดความสูญเสียอันไม่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้นในฐานะที่ต่างเป็นชนชาวไทยด้วยกัน ดังนั้นจึงขอเรียกร้องในข้อที่ควรปฏิบัติ ดังนี้
        
1.กลุ่มผู้ชุมนุมที่เคลื่อนไหวตามบริเวณของสถานีวิทยุโทรทัศน์ต่างๆ ต้องไม่คุกคามการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน ต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพในการเสนอข้อมูลข่าวสาร เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะเป็นการรอบด้าน ไม่กระทำการในลักษณะที่เข้าข่ายการคุกคามสื่อ โดยทุกฝ่ายต้องให้โอกาสสื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริง อย่างเป็นอิสระ เที่ยงตรง โดยไม่เลือกข้าง ไม่ใช้ถ้อยคำที่รุนแรงที่จะสร้างความแตกแยกให้ร้าวลึกยิ่งขึ้น และสื่อมวลชนเองต้องรักษาจรรยาบรรณ และจริยธรรมในวิชาชีพ โดยไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใด
       
2.ผู้จัดการชุมนุมหรือผู้นำการชุมนุมต้องควบคุมพฤติกรรมของผู้รักษาความปลอดภัยกลุ่มผู้ชุมนุม (การ์ด) ในการปฏิบัติต่อประชาชนหรือบุคคลทั่วไปเพื่อขอความร่วมมือเกี่ยวกับการขอตรวจค้น การตรวจค้นต้องไม่กระทำความรุนแรง และไม่ใช้กำลังหรืออาวุธหรือสิ่งเทียมอาวุธ ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และก่อให้เกิดความชิงชังในสังคมเพิ่มยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดความตึงเครียดในสภาวะที่สังคมมีความระแวงซึ่งกันและกัน เป็นเหตุให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงเพิ่มขึ้น
     
3.ขอประณามการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการใช้อาวุธสงคราม ทั้งการใช้ระเบิด เครื่องยิงลูกระเบิด รวมถึงการใช้อาวุธปืนต่อบุคคล กลุ่มบุคคล และที่ชุมชน ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง ที่สังคมทั้งในประเทศและสากลไม่ยอมรับ ขอให้ผู้กระทำและผู้ที่ยุยง สนับสนุนให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในลักษณะก่อการร้ายเพื่อสังหารบุคคล ก่อกวนให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมืองได้ยุติการกระทำโดยทันที
       
4.จากหลายเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ของรัฐยังไม่สามารถติดตามจับกุมผู้กระทำผิด มาลงโทษตามกฎหมายได้อย่างทันท่วงที จึงขอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีหน้าที่รักษาความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด ด้วยความมุ่งมั่นในภารกิจที่ต้องนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายด้วยความรวดเร็ว ทั้งต้องติดตาม สืบสวนสอบสวนและจับกุมผู้กระทำผิด เพื่อนำตัวมาดำเนินคดี เพื่อลงโทษตามกฎหมาย อันจะก่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อสังคม และพร้อมกันนี้ต้องให้การปกป้องและคุ้มครองความปลอดภัยและสวัสดิภาพของประชาชนโดยทั่วไปในคราวเดียวกันด้วย
        
5.ขอความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วนได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ และช่วยกันประณามการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ตลอดจนต้องเรียกร้องแต่ละฝ่ายอย่าให้เกิดการเผชิญหน้า และยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังจนนำไปสู่การใช้ความรุนแรง ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติเกิดความเสียหายอย่างรุนแรงในทุกด้าน
       
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการชุมนุมและการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมและประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้สถานที่ชุมนุมจะเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน อันจะนำมาซึ่งความสงบสุขของสังคมและของประเทศชาติต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกฝ่ายจะตระหนักในการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน พยายามหลีกเลี่ยงความรุนแรง และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะเร่งดำเนินการการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามอำนาจหน้าที่ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว และจะรายงานให้สาธารณชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ทราบในโอกาสต่อไป 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net