Skip to main content
sharethis

 

“เกียรติภูมิอยู่กลางสนาม นักสู้นิรนามไม่สิ้น ผองธุลีดิน จะพลิกชะตา”


เสียงเพลง”นักสู้ธุลีดิน”ของจิ้น กรรมาชน ที่ร้องสดุดีในงานฌาปนกิจศพของไม้หนึ่ง ก.กุนที เมื่อวันที่ 28 เมษายน ท่ามกลางสายฝนยามบ่าย พี่น้องประชาชนคนเสื้อแดงนับหมื่นคนมาร่วมงานจนล้นวัด สะท้อนถึงจิตใจอันเป็นหนึ่งเดียวของคนเสื้อแดงที่มาร่วมงานส่งวิญญาณวีรชนของประชาชนและกวีฝ่ายประชาชนคนสำคัญ คือ คุณไม้หนึ่ง ก.กุนที

ตามประวัติ คุณไม้หนึ่ง มีชื่อเดิมว่า กมล ดวงพาสุข หรือชื่อเล่นว่า ไผ่ เป็นชาวอัมพวา สมุทรสงคราม เกิดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2512 ได้รับการศึกษาในขั้นต้นที่สมุทรสงคราม และได้เรียนจบปริญญาตรีจากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สมรสกับ คุณจุริรา หรือ คุณจิ๋ว มีบุตรด้วยกัน 2 คน ประกอบอาชีพขายข้าวหน้าเป็ดอยู่ที่ศาลายา ใช้ชื่อร้านว่า Duck Poets Society แต่ด้วยการที่คุณกมลมีความสนใจในด้านการเขียนบทกวี และมีความสามารถในด้านนี้ จึงได้เขียนบทกวีมาลงมติชนสุดสัปดาห์อยู่เสมอ และในที่สุด หนังสือรวมบทกวีเล่มแรกคือ บางเราในนคร ของเขาก็ได้รับการตีพิมพ์ใน พ.ศ.2541 ต่อมา รวมบทกวีเล่มที่สอง ชื่อ รูปทรง มวลสาร พลังงาน และความรัก ก็ได้ตีพิมพ์ใน พ.ศ.2544 ทำให้คุณไม้หนึ่งเริ่มเป็นที่รู้จักในชื่อที่เรียกกันว่าเป็น”กวีข้าวหน้าเป็ด”ความโดดเด่นของไม้หนึ่งก็คือ เขาเป็นกวีหัวก้าวหน้าที่มีความสามารถสูงจนก้าวพ้นกรอบกฎเกณฑ์ของกวีนิพนธ์ไปได้อย่างสง่างาม และพยายามที่จะใช้รูปแบบของฉันทลักษณ์รับใช้ศิลปะ มีชีวิตชีวา มากกว่าเพียงแค่การตกแต่งถ้อยคำไพเราะเพราะพริ้ง

ไม่เคยมีหลักฐานที่ใดที่เห็นได้ว่า คุณไม้หนึ่งจะมีการเกี่ยวข้องใดๆ กับรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และถ้าไม่มีเหตุการณ์รัฐประหาร 9 กันยายน พ.ศ.2549 คุณไม้หนึ่งก็คงดำเนินชีวิตแบบกวีสามัญชนต่อไป แต่การรัฐประหารที่เกิดขึ้น ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของเขา คุณไม้หนึ่งได้เริ่มออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านรัฐประหารร่วมกับประชาชน คุณไม้หนึ่งมีความประทับใจอย่างมากกับคุณนวมทอง ไพรวัลย์ สามัญชนที่เป็นคนขับแท็กซี่ แต่มีจิตใจกล้าหาญที่จะต่อสู้คัดค้านรัฐประหาร โดยขับรถแท็กซี่ชนกับรถถัง ที่ฝ่ายทหารนำมาใช้ในการยึดอำนาจ และต่อมาก็ได้ผูกคอตายประท้วงการรัฐประหาร คุณไม้หนึ่งเป็นคนผลักดันให้ปั้นรูปคุณนอมทองขึ้นมาเป็นที่ระลึก และเขียนบทกวีให้แก่รูปปั้นที่มีข้อความตอนหนึ่งว่า


“ขึ้นรูปลุงนวมทอง  ตระกองดินเริ่มตั้งต้น ปฏิมาสามัญชน  ประชาทิพย์ พิทักษ์ไทย”

นอกจากนี้ คุณไม้หนึ่งยังแสดงความสนใจเรื่องการก่อตั้งพรรคการเมืองแนวสังคมนิยมขึ้นมาเป็นพรรคทางเลือกในสังคมไทย ในที่สุด คุณไม้หนึ่งก็ได้เข้าร่วมก่อตั้งพรรคแนวร่วมสังคมประชาธิปไตย ซึ่งเปิดตัวในวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2553 โดยมี ประชา อุดมธรรมานุภาพ เป็นหัวหน้าพรรค คุณไม้หนึ่งเป็นรองหัวหน้าพรรค และคุณสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน เป็นสมาชิกสำคัญ แต่ต่อมาพรรคนี้ไม่สามารถหาสมาชิกได้ตามเงื่อนไขภายใน 1 ปี จึงต้องถูกยุบไป

นอกจากนี้ ใน พ.ศ.2553 ได้เกิดการเหตุการณ์ร้ายแรงจากการที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใช้กองทัพติดตั้งอาวุธร้ายแรงเข้าปราบปรามประขาชน จนมีผู้เสียชีวิตถึง 99 คน และบาดเจ็บนับพันคน หลังจากนั้นก็ได้กวาดล้างปราบปรามคนเสื้อแดงจำนวนมาก คุณไม้หนึ่งซึ่งเข้าร่วมการเคลื่อนไหวโดยตลอด ต้องหนีไปลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้าน ในระหว่างนี้ได้มีการพิมพ์ผลงานเล่มสำคัญของเขาซึ่งเป็นการรวมบทกวีท่ามกลางการต่อสู้ คือ สถาปนาสถาบันประชาชน (2554)

จนเวลาผ่านไป เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2554 สถานการณ์กลับคืนสู่ปกติ เมื่อพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้น คุณไม้หนึ่งได้เดินทางกลับประเทศไทย และเข้ามอบตัวสู้คดีในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 ในขณะนั้น เกิดการเคลื่อนไหวอดอาหารประท้วง 112 ชั่วโมง ที่หน้าศาลอาญา ของปณิธาน พฤษาเกษมสุข บุตรของคุณสมยศ กรณีนี้ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งกลุ่มปฏิญญาหน้าศาลนำโดย ดร.สุดา รังกุพันธุ์ (อ.หวาน) คุณไม้หนึ่งก็ได้เข้าร่วม และกลายเป็นสมาชิกคนสำคัญที่ร่วมจัดงานปฏิญญาหน้าศาล ด้วยการจัดงานวิชาการที่หน้าบาทวิถีของศาลอาญาทุกวันอาทิตย์ เพื่อเป็นการคัดค้านความไม่ชอบธรรมจากการตัดสินของศาล ซึ่งนับเป็นกลุ่มที่มีการเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างท้าทาย เพราะก่อนหน้านี้ คำตัดสินของศาลมักเป็นที่ยอมรับโดยไม่มีการตั้งคำถามเสมอ

การเคลื่อนไหวเรื่องนักโทษการเมือง ซึ่งกลายเป็นประเด็นสำคัญของกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล นำมาสู่การยกระดับการต่อสู้ โดยการชุมนุมเรียกร้องต่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นครั้งแรกในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2556 ซึ่งคุณไม้หนึ่งตั้งชื่อว่า “ขบวนการ 29 มกรา หมื่นปลดปล่อย” มีเป้าหมายที่จะรวมประชาชนคนเสื้อแดงให้ได้หมื่นคน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยนักโทษการเมือง ในที่สุดจึงได้นำมาสู่การที่ ส.ส.หลายคน ได้เสนอกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสู้สภาผู้แทนราษฎรเช่น ฉบับของคุณณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ฉบับ พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน และ ข้อเสนอของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นต้น แต่ฉบับที่ได้รับการยอมรับและผ่านมติของพรรคเพื่อไทย คือ ฉบับ วรชัย เหมะ ที่เสนอนิรโทษกรรมแก่นักโทษการเมืองทั้งหลาย โดยไม่รวมนักโทษมาตรา 112 แต่ในที่สุด ร่าง พรบ.นี้กลายพันธุ์เป็นนิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง ก่อให้เกิดการคัดค้านและประท้วงไปทั่ว แล้วนนำมาสู่วิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

แม้ว่าการเคลื่อนไหวในเรื่องนักโทษการเมืองจะยังๆไม่บรรลุ ประเด็นเกี่ยวกับสิทธิของนักโทษการเมืองถูกข้ามไปในภาวะแห่งการเผชิญหน้า แต่คุณไม้หนึ่งก็ยังคงร่วมต่อสู้กับคนเสื้อแดง คุณไม้หนึ่งได้กลายเป็นด้านกลับของกวีรุ่นใหญ่ทั้งหลาย ที่เดินทางไปพบประชาชนคนเสื้อแดง และอ่านบทกวีสดุดีประชาชนตามงานต่างๆ นอกจากนี้ เขายังมีรายการโทรทัศน์ชื่อ “ทันเกมสื่อ”จัดที่ช่องเอเชียอัพเดทร่วมกับ อ.สุดา รังกุพันธุ์ และยังเตรียมการที่จะจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชนแห่งใหม่เพื่อเผยแพร่ความรู้กับประชาชน

แต่ปรากฏว่า ในเวลาบ่ายวันที่ 23 เมษายน คนร้ายกลุ่มหนึ่งได้ใช้ปืนยิงคุณไม้หนึ่ง ที่ลานจอดรถของร้านอาหาร ครกไม้ไทยลาว จนเสียชีวิต

การสังหารไม้หนึ่งไม่ว่ามาจากกลุ่มใดก็ตาม เป็นสิ่งที่จะต้องประณาม เพราะความรุนแรงทางการเมืองอย่างไร้เหตุผลเช่นนี้ไม่อาจยอมรับได้ และคงไม่อยากให้การสังหารไม้หนึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการล่าสังหารทางเมืองต่อไป เพราะจะเป็นการนำประเทศไปสู่ภาวะบ่อนระเบียบมิคสัญญี

บทความนี้ขอจบจากบทกวีไว้อาลัยของ “ยังวัน”ในท่อนสุดท้าย ที่มีข้อความว่า

“มันอาจพรากไม้หนึ่งถึงไม้สิบ ยื่งเถื่อนดิบดุบาปยิ่งหยาบต่ำ
ไม้อีกแสนแค้นอีกคั่งยิ่งฟังจำ  ลุกตอบคำตามตื่นคืนไม้ตาย”


เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 462 วันที่ 3 พฤษภาคม 2557

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net