Skip to main content
sharethis

ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดงานวิจัยเรื่อง “สยามกับปาตานีในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช : ประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ภายใต้การบูรณาการรัฐชาติ” ชี้ต้องการสร้างการรับรู้หลายระดับ หวังเป็นจุดเริ่มของการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังดำเนินงานวิจัยเรื่อง สยามกับปาตานีในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช : ประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ภายใต้การบูรณาการรัฐชาติ โดย รศ.ดร.ชุลีพร วิรุณหะ ซึ่งเป็นการดำเนินการในชุดโครงการความรู้เรื่อง “การประกอบสร้างประวัติศาสตร์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน” อันมี รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ เป็นผู้อำนวยการชุดโครงการความรู้ฯ

รศ.ดร.สุเนตร กล่าวถึงโครงการวิจัยนี้ว่า มีเป้าประสงค์ให้มีการเปิดพื้นที่ของประวัติศาสตร์ เปิดประเด็น ไม่ให้ประเด็นนี้อยู่กับทางตัน เนื่องจากคนที่มีส่วนร่วมกับปัญหาโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์นั้นจะมีหลายกลุ่ม หลายระดับ มีทั้งแนวร่วมที่เห็นต่างจากรัฐ ประชาชนทั่วไป คนภายนอกทั้งที่อยู่ในพื้นที่และนอกพื้นที่ ปัญหาจะถูกยกระดับขึ้นมา

โครงการนี้ต้องการสร้างการรับรู้หลายระดับ และหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มของการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากวันนี้ทุกคนอึดอัดกับสภาพที่เป็นอยู่ ส่วนจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน ไปสู่อะไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทั้งนี้การดำเนินโครงการนี้ได้มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น เสียงสะท้อนที่เกี่ยวกับแง่มุมทางประวัติศาสตร์หลายครั้ง ทั้งที่กรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งในท้ายที่สุดจะตีพิมพ์งานการศึกษานี้สู่สาธารณะต่อไปเมื่อสิ้นสุดโครงการในเร็วๆ นี้

อ.ชุลีพร “เราต้องยอมรับการดำรงอยู่ของความทรงจำหลักทั้งของปาตานีและสยาม”

รศ.ดร.ชุลีพร ซึ่งเป็นผู้วิจัยในโครงการนี้กล่าวว่า จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่มัสยิดกรือเซะและเหตุการณ์ตากใบเมื่อวันที่ในปี 2547 ทำให้ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในอดีตระหว่างปาตานีกับสยามกลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งแม้ว่าจะมีงานการศึกษาประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างเชื่อชาติปรากฏอยู่พอสมควร แต่ก็พบว่าปัจจุบันได้เกิดการรับรู้มากขึ้นเกี่ยวกับจุดบกพร่องของการศึกษา “ประวัติศาสตร์ชาติ” และเกิดความสนใจและให้ความสำคัญกับ “ประวัติศาสตร์ที่เป็นอิสระ” (autonomous history) ของท้องถิ่นและชุมชน โดยเฉพาะประวัติศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นไม่เกี่ยวข้องเฉพาะกับสยามเท่านั้น แต่ยังผูกพันกับโลกมลายูอย่างแน่นแฟ้น

“เราจะเห็นว่าในระยะนี้จะมีการนำประวัติศาสตร์ที่อยู่บนแนวคิดแบบชาตินิยมมลายูมาสู้กับประวัตศาสตร์กระแสหลัก หรือการถูกจุดประกายโดยเหตุการณ์ความรุนแรงที่เริ่มขึ้นในปี 2547 ทำให้เกิดการแตกแขนงในการจัดการความรู้มากขึ้นโดยไม่ละทิ้งอัตลักษณ์ทางด้านเชื้อชาติและศาสนา ซึ่งการต่อสู้ระหว่างผู้เห็นต่างกับฝ่ายรัฐจึงเป็นการแย่งชิงความทรงจำหลักหรือความทรงจำแรกเริ่ม (core memory) นั่นคือความสัมพันธ์ระหว่างปาตานีกับสยามตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งปาตานีถูกผนวกเป็นของสยาม”

สำหรับการศึกษาครั้งนี้เพื่อค้นหาความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาที่ไปของความขัดแย้ง และพยายามค้นหาและอธิบายตรรกะความคิด เพื่อหาคำอธิบายที่วางอยู่บนพื้นฐานความคิดของคนในอดีต และวิเคราะห์จากบริบท มุมมองและปากคำของคนในอดีตเพื่อนำความรู้มาจัดการเป็นเรื่องเล่าให้เห็นถึง “ตัวตน” ของทั้ง 2 ฝ่าย และเรียนรู้ “ความคิด” และ “ความต้องการ” เพื่อมองหาจุดที่ทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์อย่างสมานฉันท์และจุดที่เป็นความขัดแย้ง

“เป้าหมายสุดท้ายจริงๆ คือต้องการต้องการเปิดกรอบการศึกษาให้กว้างขึ้นเกี่ยวกับพื้นที่ (space) ว่าความสัมพันธ์และความขัดแย้งระหว่างสยามกับปาตานีนั้นเกิดขึ้นภายใต้พลวัตรของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งไม่ควรอธิบายในลักษณะของแค่สยามกับปาตานีเท่านั้น และยังถูกผลักดันโดยพลังขับเคลื่อนอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพียงการเมือง แต่ยังมีเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ศักดิ์ศรีและอำนาจ”

รศ.ดร.ชุลีพรกล่าวถึงแนวทางในการศึกษาครั้งนี้คือการค้นหา “วิธีเล่าเรื่อง” ในความสัมพันธ์ระหว่างปาตานีกับสยามซึ่งพบว่าปัญหาสำคัญอยู่ที่ความทรงจำหลักที่อยู่ในข้อมูลประวัติศาสตร์ของชาวมลายูปาตานีกับสยามนั้นเป็นความทรงจำที่ปฏิเสธซึ่งกันและกัน โดยในมุมองประวัติศาสตร์ชาติของไทยนั้น การผนวกรัฐปาตานีเข้าเป็นดินแดนราชอาณาจักรไทยนั้นเป็นไปอย่างสมบูรณ์ในเรื่องราวของการสร้างรัฐชาติ เป็นบูรณาการอำนาจของรัฐในบริเวณที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพอธิบายว่า “เป็นของไทยมาแต่ดึกดำบรรพ์”

ในขณะที่ประวัติศาสตร์ของชาวมลายูปาตานีเน้นถึง “เอกราชและอธิปไตย” ของปาตานีที่ถูกช่วงชิงไปและถูกยึดครองโดยใช้กำลัง การที่ต้องตกอยู่ใต้ปกครองของสยามเป็นสาเหตุสำคัญของความทุกข์ทรมานและความล้าหลังของชาวมลายูปาตานีจนถึงทุกวันนี้ สมรภูมิของความแตกต่างในการตีความอดีตนี้ ถูกนำไปใช้เพื่อสร้างคำถามถึงความชอบธรรมของรัฐไทยเหนือดินแดนนี้ที่นำไปสู่การเรียกร้องเอกราชและอธิปไตยของปาตานีของกลุ่มที่เห็นต่างและต่อต้านรัฐไทย

“ผู้วิจัยเห็นว่าวิธีที่ดีที่สุดคือการยอมรับการดำรงอยู่ของความทรงจำที่ต่างกัน 2 ชุดนี้ และประโยชน์ที่ได้คือนำข้อมูลทั้งสองด้านมาพิเคราะห์ร่วมกันเพื่อเปิดพื้นที่ “สีเทา” ที่อยู่ระหว่างสองขั้วนี้มาโต้แย้ง อภิปราย ตั้งคำถาม เพื่อให้มีการทบทวนและค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อมาประกอบสร้างภาพในอดีตให้ชัดเจน”

ประวัติศาสตร์ว่าด้วยเรื่องราวของ“สองนคร”

เนื้อหาการวิจัยนี้ต้องการศึกษาประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับปาตานีในยุคสมัยของรัฐราชาธิปไตยแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรื่องการบูรณาการอำนาจที่ราชอาณาจักรและรัฐใหญ่น้อยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้ในการสร้างรัฐชาติ ซึ่งระหว่างสยามและปาตานีนั้นในความเป็นจริงปาตานีเป็นรัฐจารีต ที่มีความแตกต่างกับสยามที่ไม่ใช่ในเรื่องขนาด เชื้อชาติ ศาสนาของผู้คนเท่านั้น แต่เป็นความแตกต่างของรูปแบบและโครงสร้างอำนาจของรัฐ เป็น “สองนครรัฐ” ที่ก่อตัวและเติบโตในสภาพแวดล้อมและภูมิประเทศที่ต่างกัน แต่สัมพันธ์กันในโครงสร้างภูมิรัฐศาสตร์และระบบเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การก่อตัวของปาตานีนั้น พลังในการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นขึ้นอยู่กับการค้าทางทะเล สภาพทางภูมิศาสตร์ ทำเลที่ตั้ง ขนาดและการแข่งขันกันในทางการค้า เป็นการยากที่รัฐค้าขายชายฝั่งเหล่านี้จะรวมตัวกัน หรือถูกรัฐใดรัฐหนึ่งดูดกลืนจนสามารถบูรณาการขึ้นเป็นรัฐขนาดใหญ่ คาบสมุทรมลายูจึงเต็มไปด้วยศูนย์อำนาจที่มีขนาดค่อนข้างเล็กและแตกแยกกระจัดกระจาย เป็นเมืองท่าการค้า มีการแข่งขันกับรัฐอื่นๆ และจะเชื่อมโยงกันทางวัฒนธรรมมากกว่าทางการเมือง

ในกรณีอยุธยา ทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้กับอ่าวไทยซึ่งเป็นทางผ่านของเส้นทางการค้าทางทะเล เป็นเมืองท่าค้าขายชายฝั่งทะเลด้วยตนเอง ขณะเดียวกันก็มีแหล่งผลิตการเกษตรตอนในที่กว้างใหญ่ รับรองผู้คนจำนวนมากได้ อยุธยาจึงเป็นรัฐที่มีความสมบูรณ์ในตัวเองมากที่สุดรัฐหนึ่งในสมัยจารีต

ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับปาตานีตรงกับสมัยอยุธยาของสยามและสมัยราชวงศ์ศรีวังสากับราชวงศ์กลันตันของปาตานี ซึ่งปาตานีในสมัยนั้นเป็นเมืองท่าการค้าที่สำคัญมีความเจริญรุ่งเรืองบนโครงสร้างของ “ราชา ศาสนา และรัฐ” (Raja agama and Negeri) ที่มีแบบแผนและมั่นคง ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 รัฐปาตานีทำสงครามจำนวนมากโดยไม่พียงแต่ทำสงครามกับอยุธยาเท่านั้น แต่ยังขัดแย้งกับอาเจะห์ โปรตุเกตุ ยะโฮร์ กลันตัน สงขลา พัทลุงและนครศรีธรรมราช ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนของรูปแบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจ

คำตอบส่วนหนึ่งคือความสำคัญของการค้าทางทะเล ซึ่งปาตานีอยู่ระหว่างจุดตัดของเส้นทางการค้า (nodal) 2 จุด ได้แก่ บริเวณคอคอดกระ ซึ่งเป็นจุดตัดของเส้นทางการค้าทางทะเลระหว่างสองซีกโลกในช่วงก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 9 และบริเวณปลายแหลมมลายู-ช่องแคบมะละกา-ทะเลชวา ซึ่งเป็นจุดตัดของเส้นทางการค้าตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมา ความเป็นเมืองท่าการค้าทำให้ต้องดำเนินนโยบายสร้างความสัมพันธ์กับดินแดนต่างๆ เพื่อความมั่นคงและการรักษาผลประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นเป้าหมายของการรุกรานจากบริเวณใกล้เคียง เพราะยังมีศูนย์อำนาจน้อยใหญ่เช่นเดียวกับปาตานีอีกจำนวนมาก การแข่งขันทางการเมืองเพื่อช่วงชิงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจึงเกิดขึ้นตลอดเวลา

การบูรณาการ “กระชับอำนาจ” ของสยาม

สงครามระหว่างสยามกับปาตานีสมัน ร.1 (1758-1786) ซึ่งความพ่ายแพ้ของปาตานีเปิดโอกาสให้สยามพยายามกระชับอำนาจโดยให้สงขลาไปควบคุมดูแล แต่เมื่อปาตานีขัดขืนก็ปราบปรามและมีการแบ่งแยกปาตานีออกเป็น 7 หัวเมืองในที่สุด เหตุการณ์ระยะนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการบูรณาการปาตานีเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม ซึ่งเหตุการณ์ในช่วงนี้เป็นตัวอย่างของความทรงจำ 2 ชุดที่แย้งกันอย่างชัดเจน โดยฝ่ายรัฐไทยบันทึกเรื่องราวในลักษณะที่เป็น “การจัดการบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อย” ซึ่งถือเป็นเรื่องภายในของสยามไม่ใช่เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ในทางตรงกันข้าม อิบราฮิม ชุกรีเขียนจากจุดยืนชาตินิยมลายูปาตานีว่าสยามทำลายอธิปไตยของรัฐมลายูปาตานี

งานวิจัยนี้วิเคราะห์การแบ่งแยกปาตานีออกเป็น 7 หัวเมืองว่าเป็นการพยายามที่จะบูรณาการทางอำนาจของศูนย์กลางเหนือท้องถิ่นและรัฐประเทศราชบนคาบสมุทรมลายูโดยผ่านกลุ่มผู้นำที่อาจเป็นคนของส่วนกลาง หรือเป็นคนที่ส่วนกลางสร้างสัมพันธ์ในระบบเครือญาติและระบบอุปถัมภ์ เพื่อความมั่นคงในการปกครองและการจัดสรรทรัพยากรของราชอาณาจักรสยามที่จะขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้นำในท้องถิ่นและผู้นำส่วนกลางที่ใช้อำนาจผ่านผู้นำท้องถิ่นอีกทอดหนึ่ง

ในสมัยรัชกาลที่ 3 ถึงต้นรัชกาลที่ 5 แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะมีความตึงเครียดและขัดแย้งอย่างรุนแรง แต่ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นตลอดไป ในช่วงปลายรัชกาลที่ 3 มีความพยายามของทั้ง 2 ฝ่ายที่หาทางอยู่ร่วมกันอย่างราบรื่น แต่แล้วการเปลี่ยนแปลงใหม่ก็เกิดขึ้นคือการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นปัจจัยนำร่องของการเข้ามาของระบอบอาณานิคมเต็มรูปแบบในภูมิภาคนี้ ซึ่งเกิดความตึงเครียดในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่สงคราม หลังจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง เศรษฐกิจของสยามขยายตัวตอบรับเศรษฐกิจของภูมิภาคและเศรษฐกิจโลก ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อระบบความสัมพันธ์ทั้งภายในรัฐและระหว่างรัฐ

รัชกาลที่ 5 กับ 7 หัวเมือง

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างปาตานีแต่เก่าก่อนหรือหลังการแบ่งเป็น 7 หัวเมืองกับสยามมักจะเกิดขึ้นตรงๆ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ที่ราบรื่นหรือขัดแย้งกัน แต่การปฏิรูปการเมืองการปกครองโดยการกระชับอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางในสมัยรัชกาลที่ 5 มีความแตกต่างตรงที่มีการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง มีคู่กรณีและเวทีต่อรองที่ท้องถิ่นไม่ได้เข้าร่วม แต่กลับเป็นชนวนของการยื้อแย่ง ทำให้บริเวณคาบสมุทรมลายูตอนเหนือมีผู้มีอำนาจมากกว่าเดิม เพื่อแย่งสิทธิครอบครองพื้นที่นี้

เมื่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมในซีกโลกตะวันตกทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกกำหนดบทบาทในกระบวนการค้าโลกอีกครั้งหนึ่ง โดยเป็นแหล่งผลิตดีบุกและยางพาราที่มีแหล่งผลิตสำคัญอยู่บริเวณคาบสมุทรมลายูและภาคใต้ของสยาม

ในขณะเดียวกันอังกฤษสนใจที่จะได้พื้นที่ดังกล่าวไปครอบครอง ในขณะที่สยามจะไม่ยอมสูญเสียสิทธิอำนาจที่มีอยู่ก่อน ผลกระทบจากการเมืองระหว่างอังกฤษกับสยามทำให้การกระชับอำนาจการปกครองเหนือ 7 หัวเมืองจึงเป็นการอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ เพื่อให้สามารถดำเนินนโยบายต่างๆ ต่อพื้นที่นั้นโดยตรง กีดกันผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องและตัดคนกลางที่อยู่ในระบอบการปกครองแบบเดิม ในที่นี้คือเจ้าเมืองของ 7 หัวเมืองออกไป

การกระชับอำนาจการปกครองภายใต้ระบบเทศาภิบาลจึงเป็นการสลายอำนาจเดิมที่มีอยู่ในท้องถิ่น การถอดถอนผู้นำชาวมลายูออกจากตำแหน่งและแทนที่ด้วยขุนนางจากส่วนกลางมาปกครองนับเป็นจุดแตกหักของความสัมพันธ์กับสยาม เพราะหมายถึงการสูญเสียสถานะความเป็นราชา อำนาจในการปกครองตนเองและสิทธิประโยชน์ที่เคยได้

สำหรับผู้นำสยาม การสร้างเอกภาพในการปกครองและการกระชับอำนาจเป็นมาตรการจำเป็นภายใต้แรงกดดันของระบอบอาณานิคมตะวันตก เพราะผู้นำสยามถือว่า มีสิทธิอำนาจการบริหารจัดการใดๆ ที่เป็นสิทธิอำนาจในแบบจารีต ซึ่งได้มาจากการทำสงครามชนะราชอาณาจักรมลายูปาตานีในสมัยรัชกาลที่ 1 และอีกหลายครั้งในเวลาต่อมา

ผู้นำสยามตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องถ่ายโอนสิทธิอำนาจในแบบจารีต (traditional right) มาสู่การสร้างสิทธิชอบธรรมในการปกครอง (modern legitimacy) โดยเครื่องมือใหม่อย่างเช่น การทำสัญญาที่มีผลทางนิตินัย กระทั่งวิธีการที่พระยาศรีสิงหเทพ “ล่อลวง” ให้สุลต่านอับดุล กาเดร์ กามารุดดิน แห่งปาตานีลงนามในหนังสือยอมรับการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมืองปาตานีใน ค.ศ.1901 (พ.ศ.2444) และการที่มีพระบรมราชโองการให้จับกุมและถอดถอนสุลต่านอับดุลกาเดร์ กามารุดดิน แห่งเมืองตานีและพระยาเมืองอีก 3 คนในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1902 อันเป็นเหตุการณ์ที่ “อัปยศ” ที่สุดของครั้งหนึ่งในบันทึกของนักประวัติศาสตร์ปาตานี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net