Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ประเทศไทยจะไม่เป็นรัฐที่ล้มเหลว (Failed State) หากเราสามารถจัดการให้ประเทศกลับสู่ภาวะปกติก่อนสายเกินกาล การเดินสายกลางทางการเมืองจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้ประชาธิปไตยกลับคืนมาจากความขัดแย้งที่ถ่วงรั้งความก้าวหน้าในทางประชาธิปไตยของประเทศ ดังข้อเสนอต่อไปนี้

1. พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคอาวุโสที่สุดของบ้านเมือง (ยกเว้นพรรคข้าราชการที่ไม่ได้จดทะเบียนพรรค) ต้องกลับมามีสัมมาทิฐิทางการเมือง โดยยกเลิกแนวคิดรัฐบาลคนกลางและประเพณีล้าหลังของการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามที่อ้างกันว่าทำได้ตามมาตรา 7 ทั้งๆที่ประเพณีดังกล่าวนี้ถูกยกเลิกไปแล้วโดยรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 แต่มีประเพณีใหม่ที่นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้งและเป็น ส.ส. มาใช้แทนแล้ว และยอมรับการดำรงอยู่ของรัฐบาลปัจจุบันให้ทำหน้าที่ต่อไปตามรัฐธรรมนูญ  

2. พรรคประชาธิปัตย์ (กรรมการพรรคในอดีตและปัจจุบัน และสมาชิกพรรค) และ แนวร่วมต่างๆถอนตัวจากการเข้าร่วมชุมนุมกับกปปส. ยอมรับการเลือกตั้ง ส่งคนสมัครรับเลือกตั้ง และ ไม่ขัดขวางการเลือกตั้งอีกต่อไป และพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคการเมืองอื่นๆ ลงนามสัญญาประชาคมไม่ทุจริตการเลือกตั้งในทุกรูปแบบ และ วุฒิสมาชิกพร้อมทั้งองค์กรอิสระ และองค์กรตามรัฐธรรมนูญสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งโดยไม่ชักช้า (ภายใน 3 เดือนนับจากนี้) (สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของพรรคภายใต้เสื้อคลุมกปปส.ควรกล้าหาญร่วมกันแสดงออกให้พรรคทบทวนตนเองและมีประชาธิปไตยภายในพรรคมากขึ้น อาทิ เข้าชื่อกันให้พรรคจัดประชุมใหญ่สมาชิกพรรคเพื่อทบทวนการนำและการบริหารงานพรรคของกรรมการบริหารและแกนนำทั้งในอดีตและปัจจุบัน)

3. พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์จะต้องเร่งปฏิรูปความเป็นสถาบันพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปประชาธิปไตยภายในพรรคและความเป็นพรรคแบบมวลชนที่แท้จริง เพื่อให้อำนาจการตัดสินใจพรรคเป็นของสมาชิกทั้งมวล

4. ให้พรรคการเมืองทุกพรรคที่แข่งขันกันในการเลือกตั้งลงนามให้สัตยาบันว่ารัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งจะออกกฎหมายจัดตั้ง “สภาปฏิรูปประเทศไทย” ที่เป็นองค์กรอิสระเฉพาะกิจโดยเร็ว และยืนยันไม่ก้าวก่ายการทำงานของสภาปฏิรูปฯ เช่นเดียวกับที่ทุกรัฐบาลชุดต่างๆไม่ได้ก้าวก่ายหรือครอบงำการดำเนินงานขององค์กรอิสระและองค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้งหลายตามที่กฎหมายกำหนด ดังที่เป็นอยู่แล้วในขณะนี้

5. รัฐบาลมอบหมายให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายและคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งทำหน้าที่ปรับปรุงและพัฒนากฎหมายทั้งคู่ ยกร่างกฎหมายว่าด้วย “สภาปฏิรูปประเทศ” โดยอาจดำเนินการร่วมกันหรือแยกกันยกร่างแล้วหาข้อยุติร่วมกันในภายหลัง ผ่านการรับฟังความเห็นขององค์กรอิสระและองค์กรตามรัฐธรรมนูญและประชาชนกลุ่มต่างๆรวมทั้งภาคเอกชนธุรกิจ โดยสาระอย่างน้อยต้องระบุถึงความจำเป็นของประเทศ องค์ประกอบของสภาปฏิรูป ภารกิจ วิธีการดำเนินงาน ระยะเวลาทำงาน และ การสนับสนุนจากรัฐบาลให้เกิดการปฏิรูปประเทศในประเด็นสำคัญๆของชาติ และให้รัฐบาลประกาศใช้เป็นพระราชกำหนด โดยการเห็นชอบของวุฒิสมาชิก

6. คู่ขัดแย้งหลัก คือ พรรคประชาธิปัตย์ กับ กปปส. และ พรรคเพื่อไทย กับ นปช. ตกลงร่วมกันยินยอมให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รับหน้าที่เป็นประธานสภาปฏิรูปประเทศไทย ภายใต้เงื่อนไขให้ กปปส. ยุติการชุมนุมและยอมรับการเลือกตั้ง และ การปฏิรูปประเทศถือเป็นภารกิจสำคัญยิ่งยวดแห่งชาติตามที่ กปปส.และหลายฝ่ายเรียกร้องอย่างแข็งขัน (มิใช่การลับ ลวง พราง ของการแย่งชิงอำนาจการปกครองประเทศ) และเท่ากับยินยอมให้กปปส.สามารถควบคุมการปฏิรูปได้ในระดับหนึ่ง โดยแลกกับการให้รัฐบาลปัจจุบันดำรงอยู่ต่อไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญจนกว่าจะได้รัฐบาลใหม่ที่ไม่แทรกแซงการปฏิรูปหลังการเลือกตั้ง (เพื่อการปฏิรูปเร่งด่วนหรือเฉพาะหน้า) และการเลือกตั้งครั้งถัดไป (เพื่อการปฏิรูประยะกลางและระยะยาว)

7. ให้สภาปฏิรูปประเทศโดยความร่วมมือกับรัฐบาลนำข้อเสนอการปฏิรูปประเทศไทยไปขอประชามติต่อประชาชน (ปวงชนชาวไทยตามมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ) เพื่อให้มีการปฏิรูปในประเด็นสำคัญๆเกิดขึ้นจริง โดยประเด็นการปฏิรูปสำคัญๆเฉพาะหน้า เช่น ระบบการเลือกตั้ง การใช้และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การดำเนินงานขององค์การอิสระ กระบวนการยุติธรรมทางการเมือง และ การป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้เกิดขึ้นจริงภายในกำหนดเวลา 1 ปี ส่วนประเด็นการปฏิรูปอื่นๆที่จำเป็นเร่งด่วนน้อยกว่าก็ให้เกิดขึ้นจริงภายใน 2 ปี นับจากการสิ้นสุดการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูป และให้ผลของประชามติผูกพันต่อพรรคการเมือง รัฐสภา ศาล รัฐบาล องค์กรอิสระ และ องค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้งหมด

8. สนับสนุนแถลงการณ์ของวุฒิสมาชิกวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ข้อที่ว่า “3.วุฒิสภาพร้อมทุ่มเทการทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยจะนำความเห็นและข้อแนะนำจากทุกภาคส่วน มาพิจารณาในการประชุมตามข้อบังคับของวุฒิสภาเป็นกรณีพิเศษเพื่อให้ได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ และประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระดับสากล และประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุของไทยโดยเร็ว  ซึ่งแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวจะสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือของประชาชน”

9. ให้รัฐบาลและรัฐสภาออกกฎหมายนิรโทษกรรมการกระทำผิดต่างๆจากการชุมนุมของกปปส. นปช. และกลุ่มอื่นๆ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 เป็นต้นมา โดยให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรมสอบสวนพิเศษ และอัยการนำเสนอร่วมกันว่าจะยกเว้นการกระทำผิดในเรื่องใดบ้างและเพียงใดของเจ้าหน้าที่รัฐ (ทหาร ตำรวจ และอื่นๆ) ที่กระทำต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและทางราชการโดยมิชอบ

10. พรรคการเมือง และ รัฐบาลในประเทศต่างๆที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติและสหภาพรัฐสภาระหว่างประเทศประกาศสนับสนุนและเน้นย้ำการกลับเข้าสู่การเลือกตั้งของประเทศไทยโดยเร็ว มิเช่นนั้นจะทบทวนความสัมพันธ์กับประเทศไทย

กล่าวโดยสรุปแล้ว การที่ประเทศไทยไม่เป็นรัฐที่ล้มเหลวนั้น ประชาธิปไตยจะต้องได้รับชัยชนะ พรรคการเมืองทุกพรรคต้องมีสัมมาทิฐิทางประชาธิปไตย พลังประชาธิปไตยในประเทศและนอกประเทศต้องช่วยกันแสดงศักยภาพ และหวังว่าข้อเสนอข้างต้นจะเป็นส่วนหนึ่งของบรรดาการกระตุ้นเตือนทั้งหลายจากบุคคลและส่วนต่างๆในสังคมที่จะได้ข้อสรุปที่เหมาะสมที่สุดต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net