Skip to main content
sharethis
มาร์ค สตีเฟนจากองค์กรจีเอนไอซึ่งสนับสนุนเสรีภาพสื่อและสิทธิความเป็นส่วนตัว วิจารณ์แนวคิดที่สามารถให้บุคคลร้องเรียนลบผลการค้นหาของเว็บไซต์ค้นหาอย่างกูเกิลว่าอาจจะเอื้อประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจและนักธุรกิจระดับสูงเท่านั้น อีกทั้งยังขัดหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและสิทธิในการเข้าถึงข่าวสารข้อมูล
 
เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมามาร์ค สตีเฟน ทนายความและคณะกรรมการขององค์กรการริเริ่มเครือข่ายหรือ จีเอนไอ ซึ่งเป็นองค์กรคุ้มครองเสรีภาพสื่อและความเป็นส่วนตัว นำเสนอบทความเกี่ยวกับคำตัดสินของศาลยุโรปซึ่งอ้างอิง "สิทธิในการถูกลืม" โดยบอกว่าการอ้างสิทธิ์ในเรื่องนี้เป็นอันตราย
 
ก่อนหน้านี้ศาลยุโรปได้ตัดสินโดยให้ประโยชน์แก่ชาวสเปนผู้เรียกร้องให้กูเกิลนำผลการค้นหาที่เกี่ยวกับอดีตของตนออก ซึ่งอ้างถึง "สิทธิในการถูกลืม" ที่อนุญาตให้ใครก็ตามสามารถร้องเรียนเว็บไซต์ค้นหาให้นำผลการค้นหาที่ถูกร้องเรียนออกได้ อย่างไรก็ตามสตีเฟนวิจารณ์ว่า ถึงแม้การตัดสินจะเป็นไปอย่างเที่ยงตรงและเป็นไปตามหลักกฎหมาย แต่อาจจะถูกผู้ที่เคยกระทำความผิดนำไปใช้เพื่อบิดเบือนหรือปกปิดข้อมูลการกระทำผิดในอดีตได้
 
สตีเฟนระบุว่านับตั้งแต่การตัดสินคดีดังกล่าวก็มีหลายคนใช้ "สิทธิในการถูกลืม" ร้องเรียนกับกูเกิลให้นำผลการค้นหาเกี่ยวกับตัวพวกเขาออก คนแรกๆ ที่ร้องเรียนในเรื่องนี้ได้แก่อดีตนักการเมืองที่ต้องการลงแข่งขันเลือกตั้งครั้งใหม่ ชายที่ถูกกล่าวหาว่ามีรูปภาพการทารุณกรรมเด็กไว้ในครอบครอง และแพทย์ที่ต้องการลบคำวิจารณ์จากผู้ป่วย
 
"สิทธิความเป็นส่วนตัวเป็นสิทธิในระดับสากลที่ต้องมีการคุ้มครอง แต่การตัดสินที่เกินเลยมากไปจะกลายเป็นการช่วยเหลือผู้มีอำนาจที่พยายามเขียนประวัติศาสตร์ใหม่มากกว่าที่จะทำให้ปัจเจกชนทั่วไปมีความสามารถควบคุมตัวตนในโลกออนไลน์ของตัวเอง" สตีเฟนระบุในบทความ
 
อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องการขัดกับหลักการเสรีภาพสื่อและข้อมูลข่าวสาร ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน มิ.ย. 2556 ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของสหภาพยุโรปเคยคัดค้านว่าการสั่งให้เว็บไซต์ค้นหาจำกัดผลการค้นหาอาจนับเป็นการ "เซนเซอร์" อย่างหนึ่ง ซึ่งจากคำตัดสินระบุให้ปัจเจกบุคคลใดๆ ก็ตามสามารถร้องเรียนให้เว็บไซต์ค้นหา รวมถึงเว็บอย่างเฟซบุ๊ก, ไมโครซอฟท์, ไป่ตู้ และอื่นๆ ต้องถอดเนื้อหาที่เข้าข่าย "ไม่ครบถ้วน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือเคยมีส่วนเกี่ยวข้องเพียงแค่ในอดีต"
 
นอกจากนี้สตีเฟนยังวิจารณ์อีกว่าหลักการ "สิทธิในการถูกลืม" ทำให้บริษัทไอทีเจ้าของเว็บเหล่านี้อยู่ในไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าข้อมูลใดที่ถือว่าเข้าข่าย เป็นการให้ "คนกลาง" ผู้อื่นทำหน้าที่ตัดสินใจแทนสาธารณชนถือเป็นเรื่องอันตรายและเป็นเรื่องที่ไม่อาจทำได้จริง เนื่องจากมีการค้นหาจำนวนมากเกิดขึ้นในอินเทอร์เน็ต ยกตัวอย่างกรณีของกูเกิลซึ่งมีการค้นหาหลายแสนล้านครั้งในแต่ละเดือน ซึ่งในเชิงทฤษฎีแล้วจะเป็นการขอพิจารณาข้อมูลเป็นรายกรณีเพื่อดูเรื่องความเหมาะสมและความเกี่ยวข้อง มากกว่าความแม่นยำของข้อมูลหรือเรื่องที่ข้อมูลละเมิดกฎหมายหรือไม่
 
"การผลักภาระให้กับ 'คนกลาง' ในโลกออนไลน์โดยศาลนั้น อาจสร้างความเสียหายต่ออินเทอร์เน็ตในมุมมองของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมดโดยเฉพาะที่อาศัยในยุโรป นวัตกรรมออนไลน์เริ่มมาจากอินเทอร์เน็ต จากเว็บไซต์ค้นหา มาจนถึงโซเชียลมีเดีย เราคงไม่อาจมาถึงตรงนี้ได้หากไม่มีการคุ้มครอง 'คนกลาง' ซึ่งการคุ้มครองที่ว่าคงไม่ใช่การกระตุ้นให้พวกเขาเซนเซอร์ข้อมูล" สตีเฟนกล่าว
 
สตีเฟนระบุในบทความอีกว่าคนที่มีแรงจูงใจให้ร้องเรียนเรื่องเหล่านี้คงหนีไม่พ้นนักการเมืองและนักธุรกิจระดับสูงซึ่งไม่ต้องการให้ชื่อเสียงตนเองด่างพร้อย ทำให้บริษัทไอทีถูกกดดันให้นำข้อมูลออกแลกกับการต้องจ่ายค่าต่างๆ เมื่อมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น
 
"คำตัดสินของศาล (เกี่ยวกับสิทธิในการร้องเรียนให้ลบข้อมูล) ไม่ได้จำกัดแค่กับภาพถ่ายที่น่าอายที่เราอยากให้เอาออกจากโซเชียลมีเดียเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเนื้อหาข่าวและเนื้อหาอื่นๆ ที่มีความสำคัญอย่างมากและเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์อย่างตรงไปตรงมา" สตีเฟนระบุในบทความ
 
ถึงแม้ว่าคำตัดสินจะให้มีการยกเว้นข้อมูลที่ "ใช้เพื่อจุดประสงค์ด้านการข่าวเท่านั้น" แต่ก็ไม่มีการนิยามข้อความนี้ ซึ่งสตีเฟนมองว่ามีปัญหามากในยุคที่ผู้คนสามารถเข้าถึงเครื่องมือในการนำเสนอ "ข่าวสาร" ของตนเอง ทำให้การยกเว้นที่ว่านี้อาจจะไม่ได้ปกป้องการทำข่าวได้จริง นอกจากนี้เว็บไซต์ค้นหายังเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างยิ่งสำหรับนักข่าวทั้งมืออาชีพและนักขาวพลเมือง รวมถึงมีบทบาทสำคัญในการขยายฐานผู้ชมขององค์กรข่าวอิสระ แต่ "สิทธิในการถูกลืม" กำลังจะทำให้การทำข่าวและการรับข่าวเกิดความเสียหาย
 
สตีเฟนชี้อีกว่าความเสียหายนี้อาจจะส่งผลไปถึงวงการวิชาการผู้ที่ต้องทำงานโดยอาศัยเว็บไซต์ค้นหา เช่นนักประวัติศาสตร์และนักวิจัยด้านอื่นๆ แม้ว่าการตัดสินจะเกิดกับศาลยุโรปแต่ก็อาจจะส่งผลถึงที่อื่นๆ ในโลก สตีเฟนมองว่าแม้ยุโรปจะให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิความเป็นส่วนและการคุ้มครองข้อมูลตัวซึ่งถือเป็นเรื่องน่าชื่นชมก็จริง แต่เรื่องนี้ก็ขัดกับหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และอาจส่งเสริมให้คนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ซึ่งในรายงานความโปร่งใสของกูเกิลได้แสดงให้เห็นว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐหลายแห่งทั่วโลกเรียกร้องให้ลบผลการค้นหา
 
"การถกเถียงเรื่องความเหมาะสมระหว่างสิทธิเรื่องชีวิตส่วนตัวกับประโยชน์ต่อสาธารณะจะมีผลต่อไปในระยะยาว" สตีเฟนกล่าว
 
"พวกเรากำลังเข้าสู่ยุคที่อินเทอร์เน็ตถูกจำกัดมากขึ้น จากการที่ผลการค้นหาในยุโรปจะแตกต่างและไม่แสดงผลอย่างสมบูรณ์เท่าเดิมเมื่อเทียบกับที่อื่น ถ้าสิ่งนี้ถูกนำมาใช้กับสากลโลก" สตีเฟนกล่าว
 
คดีนี้เริ่มต้นมาจากกรณีของชายชาวสเปนชื่อมาริโอ คอสเตฮา กอนซาเลส ร้องเรียนว่ามีประกาศประมูลบ้านของเขาเมื่อ 16 ปีที่แล้วที่เขาประกาศขายเพื่อใช้หนี้ ซึ่งในตอนนี้เขาได้กลับมาครอบครองบ้านหลังนั้นแล้วแต่ยังมีประกาศดังกล่าวปรากฏอยู่ในผลการค้นหาของกูเกิล ทำให้เขารู้สึกว่าเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว เนื่องจากเรื่องการขายบ้านจบไปแล้วและไม่ควรมีส่วนเกี่ยวข้องกับเขาอีก
 
แม้ว่าการตัดสินจะเป็นที่สิ้นสุดแล้ว แต่ทางสหภาพยุโรปก็กำลังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาข้อกำหนดในเรื่อง "สิทธิในการถูกลืม" ซึ่งยังมีโอกาสที่กฎข้อบังคับจะเปลี่ยนแปลงได้
 
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Only the powerful will benefit from the 'right to be forgotten', The Guardian, 18-05-2014

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net