Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ต้อนรับการประกาศกฎอัยการศึกทัวประเทศของ กอรส. ขอเชิญย้อนอ่านข้อแนะนำด้านกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนเมื่อถูกคุกคามจาก จนท.รัฐ โดย สิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม


๐๐๐๐
 

นับแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน คนที่ตกเป็นจำเลยในคดีความมั่นคงทั้งหมดถือได้ว่ามีแต่ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้รวมทั้งในเขตสี่อำเภอในจังหวัดสงขลาเท่านั้น และจำเลยในคดีความมั่นคงที่ถูกฟ้องต่อศาลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกือบทั้งหมดนั้นก็เป็น ผู้ถูกจับ โดยเจ้าหน้าที่ที่อาศัยอำนาจตามกฎหมายสามฉบับ โดยใช้คำทางกฎหมายแตกต่างกัน คือ

“ กักตัว ” ผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 มาตรา 15 ทวิ

“ ผู้ถูกควบคุมตัว ” ผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมและควบคุมตัวตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 11(1)

“ ผู้ถูกจับ ” ผู้ต้องหาที่ถูกจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7/1

ดังนั้น ในกฎหมายพิเศษทั้งสองฉบับดังกล่าว แท้จริงคือ ถูกจับ แล้ว และตกเป็น ผู้ถูกจับ สิทธิขั้นพื้นฐานตามที่ระบุไว้ในมาตรา 7/1 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต้องเกิดแล้ว แม้ว่าจะเป็นการบังคับใช้กฎหมายพิเศษทั้งสองฉบับก็ตาม เพราะในเมื่อกฎหมายพิเศษทั้งสองฉบับไม่ได้บัญญัติสิทธิของผู้ต้องสงสัย ที่ถูก กักตัว ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก หรือถูกจับกุมและควบคุมตัว ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเอาไว้เป็นการเฉพาะ จึงต้องนำสิทธิในฐานะผู้ถูกจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๗/๑ มาใช้บังคับ

การกักตัวบุคคลในคดีความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกนั้น สามารถกระทำได้โดยไม่จำเป็นต้องมีหมายกักตัวที่ออกโดยศาลหรือของพนักงานเจ้าหน้าที่ใดเลย ความเข้าใจของนักกฎหมายก็คือว่า ไม่มีบทกฎหมายใดกำหนดคุ้มครองสิทธิแก่บุคคลที่ถูกกักตัวตามกฎหมายพิเศษฉบับนี้ และแม้ว่าอำนาจในการกักตัวจะมีระยะเวลาเพียงแค่ 7 วัน แต่การที่บุคคลถูกกักตัวภายใต้สถานการณ์ที่ไม่มีสิทธิใดๆดังกล่าว ทำให้ระยะเวลานี้กลายระยะเวลา 7 วันที่อันตรายอย่างยิ่ง เพราะปรากฏว่ามีกรณีร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นจำนวนมากต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทหารภายใต้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึกนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทำการละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 32

แท้จริงแล้วการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ทหารในการกักตัวบุคคลตามมาตรา 15 ทวิ นี้ มีวัตถุประสงค์ที่แน่นอนที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่กระทำการกักตัวบุคคลได้ด้วยเหตุผลสองประการคือ เพื่อทำการสอบถาม ประการหนึ่ง และเพื่อความจำเป็นของราชการทหาร อีกประการหนึ่ง ซึ่งวัตถุประสงค์ทั้งสองประการดังกล่าวย่อมไม่ต้องการให้เจ้าหน้าที่กระทำการอันละเมิดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของผู้ถูกกักตัวอย่างแน่นอน เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีคำถามตามมาว่า หากการปฏิบัติภารกิจของเจ้าหน้าที่ทหารไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น องค์กรใดเล่าจะเป็นผู้เข้ามาตรวจสอบการกระทำดังกล่าว ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันพบว่า นับแต่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้นมา การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่โดยอาศัยความตามมาตรานี้นั้น เป็นไปอย่างปราศจากการตรวจสอบอย่างเป็นรูปธรรมไม่ว่าจากองค์กรใดๆ จะมีก็แต่เสียงเรียกร้องจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเท่านั้นที่พยายามทำหน้าที่แทนผู้ถูกกักตัวทั้งหลาย ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็เป็นอย่างเช่นที่เราท่านเห็นกันอยู่ในทุกวันนี้

แต่สำหรับการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมและควบคุมตัว ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นั้น จะกระทำได้ก็โดยอาศัยอำนาจของศาลในการออกหมายจับและควบคุมตัวตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือที่เรียกกันว่า หมาย ฉ.ฉ. เท่านั้น กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้ศาลเป็นองค์กรในการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการขอออกหมายจับ และแม้ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จะมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยตามกฎหมายฉบับนี้ได้นานถึง 30 วัน แต่เจตนารมณ์ของกฎหมายก็ไม่ได้ยอมให้ผู้ต้องสงสัยซึ่งยังไม่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามกฎหมายอาญามาตราใดๆ ต้องตกอยู่ในการควบคุมของพนักงานเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานถึง 30 วัน ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ต้องสงสัยที่อาจจะถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย หรือถูกปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ในการควบคุมตัวตามกฎหมายนี้ จึงกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องขอขยายระยะเวลาการถูกควบคุมตัวทุกๆ 7 วัน ต่อศาล เพียงเท่านี้ยังไม่พอที่จะเป็นหลักประกันต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 จึงได้ออกระเบียบว่าด้วยวิธีปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 11(1) แห่งพระราชกำหนดการบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 24 มกราคม 2550 ควบคุมกำกับไว้อีกชั้นหนึ่งด้วย

ด้วยเจตนารมณ์และเนื้อหาของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 รวมทั้งระเบียบวิธีปฏิบัติของกองรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ดังกล่าว ได้ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารระดับนายพลท่านหนึ่ง เรียกกฎหมายฉบับนี้ว่าเป็นกฎหมายแห่งมิตรภาพ อย่างไรก็ตาม การที่กฎหมายฉบับนี้ยังคงอยู่และพนักงานเจ้าหน้าที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 11(1) ไปใช้อ้างอิงในการปฏิบัติงานตลอดเวลา ลักษณะเช่นนี้ก่อให้เกิดมิตรภาพจริงหรือไม่ เรื่องนี้นับเป็นคำถามที่ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีคำตอบอยู่ในใจชัดเจน

มีข้อสังเกตว่า การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ร้องขอต่อศาลเพื่อขอออกหมายจับและควบคุมตัวตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน (หมาย ฉฉ.) นั้น ถูกกำหนดไว้ตามมาตรา 12 วรรคท้ายว่า ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีการขอออกหมายอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยในการขอออกหมายอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น ประธานศาลฎีกาได้ออกข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือหมายอาญา พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 4 มีนาคม 2548 แต่ในเมื่อผู้ต้องสงสัยที่พนักงานเจ้าหน้าที่ขอออกหมาย ฉฉ. ต่อศาลยังไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด พยานหลักฐานที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้เสนอต่อศาล จึงเป็นเพียงรายงานจากสายข่าวหรือจากแหล่งข่าว เป็นการซัดทอดจากผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหารายอื่น หรือเป็นบันทึกการให้ถ้อยคำของผู้ต้องสงสัยที่ถูกกักตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกเท่านั้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนมากที่ถูกออกหมาย ฉ.ฉ. แต่หากยังไม่ถูกจับกุมควบคุมตัวเจ้าตัวก็ไม่มีโอกาสได้รู้ว่าตนเองถูกออกหมาย ฉฉ. แล้ว ขณะนี้ยังไม่สามารถหาสถิติได้ว่า ศาลทั้งสามศาลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ออกหมาย ฉฉ. เป็นจำนวนทั้งหมดกี่ฉบับแล้ว และเนื่องจากผู้ถูกจับและควบคุมตัวตามหมาย ฉฉ. มีฐานะเป็นเพียงผู้ต้องสงสัย ซึ่งไม่มีบทบัญญัติมาตราใดๆตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้คำจำกัดความเอาไว้ ดังนั้นสิทธิของผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับและควบคุมตัวจึงไม่มีบัญญัติไว้ในกฎหมาย และหากจะประมวลเอาว่า ผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับและควบคุมตัวตามหมาย ฉฉ. คือ “ผู้ถูกจับ” เขาเหล่านั้นก็ย่อมจะมีสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะเป็นผู้ถูกจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7/1 แต่ทางเจ้าหน้าที่ความมั่นคงยังไม่ถือว่าเป็นผู้ถูกจับ โดยเรียกคนเหล่านี้ว่าเป็น “ผู้ถูกเชิญตัว” ซึ่งองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างพากันคัดค้านว่า พวกเขาจะเป็นผู้ถูกเชิญตัวได้อย่างไร ในเมื่อถูกจับกุมและควบคุมตัวตามหมาย ฉฉ. ของศาล และความเป็นจริงที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันมีชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกเชิญตัวเข้าสู่ศูนย์ซักถามตลอดเวลา ผลอย่างหนึ่งที่ปรากฏก็คือว่ามีการร้องเรียนขอความเป็นธรรมเพราะ “ผู้ถูกเชิญตัว” เหล่านี้ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพในร่างกายจากการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม “กฎหมายแห่งมิตรภาพ” นี้ เป็นจำนวนมาก

หลังจากที่ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เหล่านั้นก้าวผ่านสถานะของการเป็น “ผู้ต้องสงสัย” ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกและตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว เขาก็เข้าสู่ฐานะการเป็นผู้ต้องหา ในข้อหาความผิดต่อความมั่นคง โดยผ่านช่องทางการถูกจับและคุมขังตามหมายจับของศาลที่ออกตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก่อนที่จะถูกฟ้องและตกเป็นจำเลยคดีความมั่นคง ในทันที่ที่คนเหล่านั้นได้สถานะเป็น “ผู้ต้องหา” พวกเขาก็ได้รับสิทธิในฐานะเป็นผู้ต้องหาตามที่บทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7/1 ทันที การคุมขังกระทำในเรือนจำโดยการใช้อำนาจของศาล พวกเขาจะโอกาสได้พบกับผู้ที่จะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะ ทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจจะสามารถเข้าร่วมรับฟังการสอบสวนด้วยได้ ญาติสามารถเข้าเยี่ยมหรือติดต่อได้ตามสมควร ได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเจ็บป่วย มีสิทธิยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว (ขอประกันตัว) และมีโอกาสในอันที่จะแถลงคัดค้านการขอฝากขังผลัดฟ้องของพนักงานสอบสวนที่กระทำทุกๆ 12 วัน ต่อศาลได้ ทั้งได้อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ แต่ภายใต้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึกหรือตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น ผู้ต้องสงสัยเหล่านั้นไม่เคยได้รับสิทธิในการที่จะได้พบผู้ที่จะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะ หรือให้ผู้ไว้วางใจหรือทนายความอยู่ร่วมในการซักถามแต่อย่างใด

ต้นตออย่างหนึ่งของปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นที่รับรู้กันทุกภาคส่วนและทุกองค์กรทั้งของรัฐและองค์กรทางด้านสิทธิมนุษยชนก็คือ การที่ประชาชนในพื้นที่เห็นว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้เขียนจะยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการเลือกใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชนที่เห็นได้จากกรณีหนึ่งอันนับเป็นเส้นทางของบุคคลในคดีความมั่นคงที่ทำให้เขาตกเป็นจำเลย อยู่ภายใต้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายทั้งสามฉบับพร้อมกัน โดยก่อนที่จะถูกกักตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินขอให้ศาลออกหมาย ฉฉ. ไว้แล้ว ในขณะเดียวกันเขาก็ถูกออกหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไว้อีก ทำให้บุคคลคนเดียวกันนี้ถูกออกหมายจับซ้อนกันอยู่ถึงสองฉบับ เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารเปิดยุทธการตรวจค้นปิดล้อมและจับกุม หรือเมื่อบุคคลคนนี้เดินทางผ่านจุดตรวจ เจ้าหน้าที่ก็ตรวจสอบบัตรประจำตัวประชาชนจากเลขสิบสามหลักที่เป็นหมายเลขบัตร เมื่อพบว่ามีประวัติว่าถูกสงสัยว่าเป็นแนวร่วมหรือแกนนำ หรือมีหมาย ฉฉ. ก็นำตัวไปกักไว้ แล้วจึงสอบถามสรุปความออกมาเป็นผลการซักถามที่ได้ตามอำนาจในพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ส่งตัวบุคคลคนนี้ไปรับการควบคุมตัวที่ศูนย์ซักถามตามที่ระบุไว้ในหมาย ฉฉ. แม้ว่าในขณะนั้นบุคคลคนนี้จะมีหมายจับที่ออกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งตามนัยนี้ย่อมถือว่าเขาได้ตกเป็นผู้ต้องหาแล้วและควรจะมีสิทธิตามฐานะของการเป็น “ผู้ต้องหา” แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้จับกุมเขาตามหมายจับที่ออกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแต่อย่างใด ยังคงปฏิบัติตามหมาย ฉฉ. และนำตัวบุคคลดังกล่าวเข้าสู่ศูนย์ซักถาม การใช้หมาย ฉฉ. ดังกล่าวย่อมทำให้บุคคลผู้นี้ไม่มีสิทธิในอันที่จะได้พบผู้ที่จะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะ หรือขอให้ผู้ที่เขาไว้วางใจหรือทนายความเข้าได้ร่วมรับฟังการซักถาม ดังเช่นผู้ต้องหาที่ถูกจับตามหมายจับที่ออกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

นอกจากนี้สาธารณะยังไม่เคยรับรู้ว่ามีระเบียบปฏิบัติในการซักถามผู้ต้องสงสัย ผลของการซักถามผู้ต้องสงสัยตามอำนาจภายใต้หมาย ฉฉ. การซักถามเช่นนี้มักจะจบลงด้วยการได้ผลการซักถามที่รวบรวมเป็นเล่มมีลายเซ็นผู้ให้ถ้อยคำปรากฏทุกแผ่น เป็นแบบฟอร์มเดียวกันกับของทุกคน ที่ผ่านการถูกซักถามในศูนย์ซักถามดังกล่าว เนื้อหารายงานผลการซักถามมักเริ่มจากประวัติส่วนตัว ครอบครัว สาเหตุการเข้าร่วมขบวนการ พฤติการณ์การรับสารภาพในการก่อเหตุในที่ต่างๆร่วมกับบุคคลอื่น มีการชี้ภาพ และมีการซัดทอดไปยังคนอื่นๆ บางรายมีการนำไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพในชั้นซักถามไว้อย่างเรียบร้อย ปิดท้ายด้วยข้อความที่เป็นการรับสารภาพด้วยความสมัครใจ และด้วยความสำนึกผิด ยินยอมให้นำเอกสารดังกล่าวไปใช้เป็นหลักฐานในทางศาล พร้อมทั้งถ่ายทำเป็นภาพเคลื่อนไหวและถ่ายภาพนิ่งเอาไว้ด้วย

หลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้ผลการซักถามที่สมบูรณ์แบบนี้แล้ว บุคคลผู้นี้ก็ตกเป็น “ผู้ต้องหา” ได้สิทธิในฐานะที่เป็นผู้ต้องหาตามที่มีการออกหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไว้ก่อนแล้ว พร้อมทั้งมีคำให้การรับสารภาพจากในชั้นสอบสวนซึ่งคัดลอกเอามาจากผลการซักถามจากศูนย์ซักถามแบบชนิดบรรทัดต่อบรรทัด แล้วนำไปเสนอเป็นพยานหลักฐานต่อศาล แต่ผลก็คือในชั้นศาล บุคคลผู้นั้นกลับให้การปฏิเสธพร้อมทั้งเบิกความว่าถูกพนักงานเจ้าหน้าที่ละเมิดจนได้คำรับสารภาพตามผลของการซักถามดังกล่าว

การที่บุคคลคนหนึ่งมีหมายจับซ้อนกันสองฉบับดังกล่าวข้างต้น และเจ้าหน้าที่เลือกที่จะใช้หมายจับ ฉฉ. ที่มาจากกฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนก่อนที่จะใช้หมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น ได้ก่อให้เกิดปัญหามากมายและยังถือได้ว่า เป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ว่าด้วยวิธีปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 11(1) แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ข้อ 3.8 วรรคท้าย ที่ระบุไว้ว่า ในกรณีที่เห็นว่ามีความจำเป็น ต้องดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำการที่ก่อให้เกิดเหตุร้ายแรง มิให้ใช้มาตรการจับกุมและควบคุมตัว แต่ให้ดำเนินคดีอาญาแก่ผู้นั้นทันทีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดังนั้น หากบุคคลใดมีหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีความมั่นคง จะใช้มาตรการจับกุมควบคุมตัวตามมาตรา 11(1) แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ได้ ต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทันที

คำถามก็คือขณะนี้รัฐพร้อมหรือยังที่จะตรวจสอบหยุดยั้งการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และสิทธิขั้นพื้นฐานของปวงชนชาวไทยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับมีบทบัญญัติรับรองเอาไว้ หรือว่าจะต่ออายุ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เป็นครั้งที่ 21 (ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2553 ถึงวันที่ 19 ตุลาคม 2553) ซึ่งกลายเป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ยังคงเลือกใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่อชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกต่อไป

 

ที่มา:Voice From Thais

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net