สมาคมนักข่าว ขอ คสช.ปล่อยตัว 'ประวิตร โรจนพฤกษ์'

25 พ.ค. 2557 เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานว่า เมื่อเวลา 19.00 น. ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถ.สามเสน นายมานพ ทิพย์โอสถ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงการควบคุมตัวนายประวิตร   โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเนชั่นของ ศสช.ว่า ขอให้ ศสช.มีท่าที่ผ่อนปรนต่อการทำหน้าที่สื่อมวลชนและทบทวนการควบคุมตัวนายประวิตร ที่แม้จะเห็นต่างจาก ศสช. แต่นายประวิทย์ได้แสดงออกโดยเปิดเผยต่อสาธารณะ ถือเป็นการทำหน้าที่ของสื่อโดยมีความรับผิดชอบต่องานเขียนเป็นกรอบกำกับ และนายประวิตรเป็นเพียงผู้สื่อข่าวภายใต้กองบรรณาธิการเครือเดอะเนชั่น ฉะนั้น ศสช.ควรใช้วิธีการพูดคุยและทำความเข้าใจกับกองบรรณาธิการเครือเดอะเนชั่น ผ่านช่องทางต่าง ๆ การให้เข้ารายงานตัวน่าจะเพียงพอสำหรับกรณีของนายประวิตร

ในนามฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวฯ จึงขอเรียกร้องให้ ศสช.ดูแลความเป็นอยู่ของนายประวิตร  ระหว่างถูกควบคุมตัวภายใต้คำสั่ง ศสช.ตามหลักสิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงได้รับ และหากเป็นไปได้ ขอเรียกร้องให้ ศสช.พิจารณาปล่อยตัวนายประวิตรก่อนครบกำหนด 7 วัน

ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 15.25น. เว็บไซต์ มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร อันเป็นการรวมกลุ่มของคนทำงานข่าว เผยแพร่ จดหมายเปิดผนึกถึง 4 องค์กรวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชน ของ เพ็ญนภา หงษ์ทอง บรรณาธิการร่วมของเว็บไซต์ ความว่า วันเดียวกับที่ 4 องค์กรวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชนออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ คสช. ทบทวนประกาศที่เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนนั้น คสช.ก็ออกคำสั่งที่ 6/2557 เรียกประวิตรรายงานตัว เท่ากับ คสช. ไม่ได้มีปฏิกิริยาในทางบวกต่อแถลงการณ์ร้องขอขององค์กรวิชาชีพทั้ง 4 และมีสื่อมวลชนอย่างน้อย 1 คน จาก 1 องค์กร ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีปฏิกิริยาใดๆ จากองค์กรวิชาชีพทั้ง 4 องค์กร (15.25น.)

อย่างไรก็ตาม เพ็ญนภา ระบุว่า หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นปฏิกิริยาเชิงรุกจากองค์กรวิชาชีพด้านสื่อมวลชนทั้ง 4 องค์กร ที่มีต่อการที่นายประวิตรต้องถูกควบคุมตัวในครั้งนี้ รวมไปถึงการที่นายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการนิตยสารฟ้าเดียวกันซึ่งถูกควบคุมตัวจากบริเวณหน้าหอศิลป์ กรุงเทพฯ ไปก่อนหน้านี้ด้วย

       

รายละเอียด มีดังนี้

 

จดหมายเปิดผนึกถึง 4 องค์กรวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชน

ตามที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย    สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ   สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ซึ่งป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนในประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 เพื่อขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ทบทวนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งเข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ และประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 สิ้นสุดลง ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557  โดยเนื้อหาของแถลงการณ์เรียกร้องให้ คสช. ทบทวนประกาศที่เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนทุกฉบับโดยเร่งด่วน (แถลงการณ์ขององค์กรทั้ง 4 ออกมาหลังจากประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีผลบังคับใช้แล้ว 2 วัน) เพื่อให้สื่อมวลชนทุกแขนงกลับมาทำหน้าที่ได้ตามปกติ และเรียกร้องให้สื่อมวลชนทุกองค์กรและทุกคนทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญนั้น

ดิฉันใคร่เรียนให้ทราบว่าคืนวันเดียวกับที่องค์กรวิชาชีพทั้ง 4 ออกแถลงการณ์ในเชิงร้องขอ คสช. ได้ออกประกาศ ฉบับที่ 6/ 2557 เพื่อให้นายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น เข้ารายงานตัว ที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศน์ ในวันนี้ (25 พฤษภาคม 2557) และนายประวิตร โรจนพฤกษ์ ได้ไปรายงานตัวตามคำสั่งฉบับ โดยขณะนี้อยู่ในความควบคุมตัวของ คสช. ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะถูกควบคุมตัวไว้นานเท่าใด หมายความว่า คสช. ไม่ได้มีปฏิกิริยาในทางบวกต่อแถลงการณ์ร้องขอขององค์กรวิชาชีพทั้ง 4 และมีสื่อมวลชนอย่างน้อย 1 คน จาก 1 องค์กร ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ อันเป็นสิ่งที่องค์กรวิชาชีพทั้ง 4 ประสงค์จะเห็น ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีปฏิกิริยาใดๆ จากองค์กรวิชาชีพทั้ง 4 องค์กร

สิ่งที่เกิดขึ้นกับนายประวิตร โรจนพฤกษ์ ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนนานาชาติเป็นอันมาก เห็นได้จากการเข้าทำข่าวของนักข่าวต่างประเทศหลายสำนักขณะที่นายประวิตรเข้ารายงานตัวและจากการรายงานข่าวผ่านทาง Social media นายโจนาธาน เฮด จากสำนักข่าว BBC กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่ร่วมรายงานข่าวในที่นั้นว่าเตรียมจะออกแถลงการณ์ต่อกรณีที่เกิดขึ้น อีกทั้งนายประวิตรเองก็ได้สื่อสารกับสังคมก่อนที่จะเข้าไปรายงานตัวว่า “They  can’t cage my concience. This is how we are going to face military junta through civil diobedience by turning myself in (พวกเขาไม่สามารถขังมโนธรรมผมได้ นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเราจะเผชิญหน้ากับเผด็จการทหารด้วยการดื้อแพ่งพลเมืองอย่างไร ผมกำลังแสดงให้เห็นด้วยตัวผมเอง)” อันเป็นการแสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการลุกขึ้นสู้กับอำนาจปกครองที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในสังคม

ประวัติศาสตร์ของวิชาชีพสื่อมวลชน โดยเฉพาะคนทำหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย แสดงให้เห็นมาตลอดว่าไม่เคยยอมรับการปิดกั้นสิทธิการรับรู้ข่าวสารของประชาชน เราสู้เมื่อเสรีภาพสื่อมวลชนถูกคุกคามจากอำนาจที่ไม่ชอบธรรม เราสู้เมื่อสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนถูกปิดกั้น แม้แถลงการณ์ที่ผ่านมาขององค์กรวิชาชีพทั้ง 4 องค์กรทั้ง 2 ฉบับ จะไม่ได้มีเนื้อหาที่ประกาศชัดถึงการคัดค้านอำนาจที่กำลังคุกคามสิทธิและเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน แต่ดิฉันก็เชื่อลึกๆ ว่าองค์กรวิชาชีพทั้ง 4 พร้อมที่จะปกป้องบุคลากรและวิชาชีพสื่อมวลชน ดิฉันจึงหวังที่จะเห็นองค์กรวิชาชีพทั้ง 4 เป็นแกนนำในการขับเคลื่อนเพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพของวิชาชีพในครั้งนี้  เราไม่ควรให้องค์กรสื่อต่างชาติช่วงชิงธงนำในการเคลื่อนไหว อย่างน้อยองค์กรวิชาชีพทั้ง 4 ควรได้แสดงจุดยืนในข้อเรียกร้องของแถลงการณ์ที่ออกมาในวันที่ 24 พฤษภาคมที่เรียกร้องให้สื่อมวลชนทุกองค์กรและทุกคนทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญนั้น ด้วยการพยายามทุกวิถีทางที่จะให้นายประวิตร โรจนพฤกษ์ ได้ออกมาทำหน้าที่ตามวิชาชีพเพื่อประโยชน์ประเทศชาติต่อไป

แม้ลึกๆ ในใจดิฉันจะมีความหวั่นเกรงเหตุการณ์ที่จะตามมาเล็กน้อย เนื่องจากเย็นวันที่ 22 พฤษภาคม เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากองค์กรวิชาชีพทั้ง 4 ออกแถลงการณ์ให้คำแนะนำ กอ.รส. ท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ก็ประกาศยึดอำนาจหรือที่ศัพท์สากลเรียกว่าการรัฐประหารในทันที และคืนวันที่ 24 พฤษภาคม ไม่กี่ชั่วโมงเช่นกันหลังจากที่องค์กรวิชาชีพด้านสื่อมวลชนทั้ง 4 องค์กร ออกแถลงการณ์เชิงร้องขอ คสช. ก็ออกคำสั่งเรียกนายประวิตร ให้เข้ารายงานตัว แต่ถึงกระนั้นดิฉันก็ยังหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นปฏิกิริยาเชิงรุกจากองค์กรวิชาชีพด้านสื่อมวลชนทั้ง 4 องค์กร ที่มีต่อการที่นายประวิตรต้องถูกควบคุมตัวในครั้งนี้ รวมไปถึงการที่นายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการนิตยสารฟ้าเดียวกันซึ่งถูกควบคุมตัวจากบริเวณหน้าหอศิลป์ กรุงเทพฯ ไปก่อนหน้านี้ด้วย

จึงเรียนมาเพื่อทราบและโปรดดำเนินการ

เพ็ญนภา หงษ์ทอง
บรรณาธิการร่วม www.mediainsideout.net  

ปล. แถลงการณ์ฉบับแรกขององค์กรวิชาชีพทั้ง 4 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ออกมา 2 วันหลังจากผู้บัญชาการกองทัพบกประกาศใช้กฎอัยการศึก มีเนื้อหามุ่งให้คำ “แนะนำ” กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส. - ชื่อของคณะผู้ประกาศกฎอัยการศึกก่อนทำการรัฐประหารและตั้ง คสช.) กำกับดูแลสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและสถานีวิทยุชุมชน ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2535  และข้ออัน กอ.รส. ควรปฏิบัติเพื่อให้ “ได้รับการยอมรับในสายตาของนานาชาติที่กำลังจับตามองความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในขณะนี้” สามารถอ่านรายละเอียดได้ใน บันทึกกันลืมว่าด้วยปฏิกิริยาคนทำสื่อ เมื่อทหารถือปืนมาปิดตึก ซึ่งดิฉันบันทึกไว้ที่ http://www.mediainsideout.net/columnist/2014/05/198

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท