Skip to main content
sharethis

25 พ.ย.2557 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้ประสานงานเครือข่ายติดตามผลกระทบของรัฐประหารทางเศรษฐกิจ ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ธนาคารแห่งประเทศไทย (แสดงความเห็นในฐานะกรรมการแบงก์ชาติ)  แถลงข้อเสนอมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจหลังการรัฐประหาร ว่า กลุ่มนักวิชาการและนักธุรกิจภายใต้เครือข่ายติดตามผลกระทบของรัฐประหารทางเศรษฐกิจได้ประชุมหารือกันและได้ข้อสรุปดังนี้

1. ขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เร่งรัดให้ระบบราชการจัดทำงบประมาณปี 2558 ให้ทันต่อความจำเป็นในการใช้จ่ายของประเทศในด้านต่างๆ

2. ควรมีการดำเนินนโยบายทางการเงินและนโยบายการคลังผ่อนคลายเพิ่มเติมในช่วงเวลานี้เนื่องจากเศรษฐกิจไทยได้เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างชัดเจนแล้วขณะที่อัตราเงินเฟ้อไม่มีแรงกดดันด้านอุปสงค์และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังไม่มีปัญหามากนัก

3. ขอให้มีมาตรการรับมือกับความผันผวนในตลาดการเงินและกระแสเงินทุนไหลออกที่จะส่งผลต่อการอ่อนตัวของค่าเงินบาทอย่างรุนแรง

4. ขอให้มีมาตรการในการดูแลความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินและระบบการชำระเงิน

5. เร่งรัดให้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจ แต่การปฏิรูปเศรษฐกิจและการปฏิรูปด้านต่างๆไม่สามารถดำเนินได้อย่างมีประสิทธิภาพหากไม่สามารถดึงการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายซึ่งต้องทำให้บ้านเมืองอยู่ในบรรยากาศประชาธิปไตย

ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้ประสานงานเครือข่ายติดตามผลกระทบของรัฐประหารทางเศรษฐกิจ ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการกำกับนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ (แสดงความเห็นในฐานะกรรมการ สบน.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับการดำเนินการกู้ยืมเงินเพื่อชำระเงินหนี้รับจำนำข้าวให้ชาวนาแต่ขอให้เป็นไปตามกฎหมายและกรอบวินัยการเงินการคลังรวมทั้งหลักเกณฑ์ใน พ.ร.บ. บริหารหนี้สาธารณะและต้องดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่ทุจริตคอร์รัปชันอย่างเด็ดขาดภายใต้กระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส เพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่เรื้อรังมานาน คณะกรรมการรักษาความสงบแห่งชาติและผู้ตัดสินใจในระดับนโยบายควรมีการยื่นบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. เช่นเดียวกับคณะรัฐมนตรีและนักการเมือง  

ผศ. ดร. อนุสรณ์ ได้เสนอทางออกต่อปัญหาความเดือดร้อนของชาวนาและข้อเสนอแนะนโยบายปฏิรูปภาคเกษตรกรรมดังนี้ เฉพาะหน้า คสช. และ หน่วยงานรวมทั้งกระทรวงที่เกี่ยวข้องต้องบริหารจัดการระบายข้าวในสต็อคของรัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใสเพื่อให้ได้สภาพคล่องมาชำระหนี้ชาวนาและทำให้เกิดภาระทางการคลังให้น้อยที่สุด ขณะเดียวกันต้องสร้างความมั่นใจต่อระบบสถาบันการเงินเพื่อปล่อยกู้หรือชำระเงินให้ชาวนาที่ถือใบประทวน โดยสถาบันการเงินสามารถนำใบประทวนซึ่งเป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันมารับเงินจากรัฐบาลได้ต่อไป

คณะทำงานเศรษฐกิจของ คสช. ควรใช้โอกาสนี้ในการศึกษาทบทวนปัญหาและข้อผิดพลาดจากนโยบายรับจำนำข้าวเพื่อนำมาสู่การพิจารณาว่า สมควรจะดำเนินนโยบายในลักษณะเดิมหรือไม่  หากใช้รูปแบบการรับจำนำในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดมากกว่า 40% รับจำนำทุกเมล็ด ไม่จำกัดวงเงินรับจำนำต่อครัวเรือนเช่นนี้ สต็อกข้าวของรัฐบาลก็จะสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (จำนวนนี้สามารถนำมาเป็นอาหารสำรองทางยุทธศาสตร์จากการขาดแคลนอาหารในอนาคตจากภาวะโลกร้อนได้แต่ต้องมีระบบเก็บรักษาคุณภาพดีๆ) การมีสต๊อกจำนวนมากขึ้นจะทำให้การระบายข้าวบริหารยากขึ้น เมื่อปล่อยข้าวออกมาในตลาดจะกดราคาในตลาดให้ปรับตัวลดลง รายละเอียดของนโยบายรับจำนำบางส่วนต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อปิดจุดที่จะสร้างปัญหาและลดการรั่วไหล การทุจริตนั้นอาจเกิดขึ้นได้ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลอมใบประทวน การนำข้าวมาเวียนเทียน สต๊อกลม การสวมสิทธิ ตลอดจน การใช้บริษัทในเครือข่ายรับซื้อข้าวจากรัฐบาล ที่สำคัญ รัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนวิธีการรับจำนำเสียใหม่ ไม่ให้กลายเป็น การผูกขาดการค้าข้าวโดยรัฐบาล หรือ ตั้งราคาจำนำสูงเกินกว่าราคาตลาดมากๆ ซึ่งอาจเป็นการส่งสัญญาณราคาที่บิดเบือน ทำให้มีการขยายพื้นที่ปลูกข้าวเกินพอดีเกินศักยภาพและเบียดบังพื้นที่เพาะปลูกพืชผลประเภทอื่น เนื่องจากสามารถขาย ข้าวในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดมากกว่า 40% สิ่งนี้ทำให้เกิดการบิดเบือนโครงสร้างการผลิตในภาคเกษตรกรรม เน้นปลูกข้าวที่ให้ผลผลิตเร็วแทนพืชอื่น การรับจำนำแบบคละเกรดอาจทำให้คุณภาพข้าวย่ำแย่ลงในอนาคต เกษตรกรขาดแรงจูงใจผลิตข้าวคุณภาพ  

อนุสรณ์ เห็นว่า นโยบายแทรกแซงราคาหรือพยุงราคา ไม่ว่าจะเป็นนโยบายรับจำนำ นโยบายประกันราคาก็ตาม รัฐบาลควรนำมาใช้เพียงระยะสั้นๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวนาหรือเกษตรกรเมื่อราคาพืชผลตกต่ำและผันผวนเท่านั้น การแทรกแซงราคาที่ฝืนกลไกตลาดไม่สามารถทำได้ในระยะเวลานานๆ เพราะจะส่งผลเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ ระบบตลาด ระบบการผลิตและฐานะทางการคลังของรัฐบาล และไม่สามารถสร้างรายได้หรือชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาหรือเกษตรกรให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนได้   

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ มีข้อเสนอ ดังนี้

1. ต้องมีการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร เริ่มต้นตั้งแต่ปฏิรูประบบข้อมูลที่ดินเพื่อการเกษตร กำหนดเพดานการถือครองที่ดินอย่างเหมาะสม กำหนดเขตการใช้ที่ดินและแผนการใช้ที่ดิน จัดตั้งกองทุนที่ดินเพื่อเกษตรกร 

2. ไทยต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนต่อ ไตรลักษณะของภาคเกษตรกรรมของไทย อันประกอบด้วย เกษตรดั้งเดิม เกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เกษตรอินทรีย์ทางเลือก ในขณะที่โลกเผชิญความท้าทายทางด้านความมั่นคงอาหารและพลังงาน

3. ใช้ เทคโนโลยี การบริหารจัดการความรู้ เพื่อ เพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปสินค้าเกษตร (ข้าวหรือสินค้าเกษตรอื่นๆ)

4. เพิ่มรายได้เกษตรกรด้วยการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุนการผลิต ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มสวัสดิการให้ชาวนาและเกษตรกร

5. ทยอยลดระดับการแทรกแซงราคาลงโดยนำระบบประกันภัยพืชผลและตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้ามาแทนที่ ทำให้ “ไทย” เป็นศูนย์กลางของตลาดซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตรของภูมิภาค

6. พัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตรและมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร

7. จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีภายใต้ WTO, FTA, AEC

8. ส่งเสริมการขยายฐานในรูป Offshore Farming โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV

9. ต้องก้าวข้ามพ้นนโยบายประชานิยมประกันราคาหรือรับจำนำข้าว สู่ การปฏิรูปภาคเกษตรกรรมและเดินหน้าสู่ยุทธศาสตร์ ครัวของโลก รัฐควรลดบทบาทแทรกแซงกลไกตลาดสินค้าเกษตรลง ลดการบิดเบือนกลไกราคา

10. จัดให้มีตลาดสินค้าเกษตรให้มากและหลากหลายและพัฒนาไทยสู่การเป็น “ครัวของโลก” และทำให้ไทยเป็นผู้ผลิตอาหารปลอดภัยของโลก

11. ทำให้ ชาวนาหรือเกษตรกรทั้งหลายเข้าถึงแหล่งทุนได้ดีขึ้นปล่อยสินเชื่อถึงเกษตรกรโดยตรง ไม่ต้องผ่านคนกลาง โรงสี หรือ บริษัทค้าปัจจัยการผลิตทั้งหลาย บูรณาการการบริหารจัดการกองทุนที่เกี่ยวกับการแก้ไขหนี้สินเกษตรกรให้เป็นเอกภาพและเร่งรัดแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร 

อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ได้เสนอความเห็นเรื่องการปฏิรูปประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจว่า

1. ขอให้มีการจัดตั้งสำนักงานการปฏิรูปประเทศไทย และ จัดสรรงบประมาณเพื่อการดำเนินการในการปฏิรูปประเทศไทย แยกต่างหากจากส่วนราชการที่มีภารกิจมากอยู่แล้วเพื่อสามารถดำเนินการการปฏิรูปประเทศได้อย่างเต็มที่เต็มเวลา

2. ควรมีการดำเนินการให้มีการออกเป็นพระราชบัญญัติ การปฏิรูประเทศไทย เพื่อเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

3. ข้อเสนอต่างๆเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยเมื่อมีข้อสรุปเป็นฉันทามติจากทุกภาคส่วนในสังคมแล้ว รัฐบาลควรพลักดันให้มีการผ่านกฎหมายออกมารองรับเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริงมากกว่าการเป็นเพียงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเฉยๆ 


ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปเศรษฐกิจเบื้องต้น

ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปและการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเบื้องต้นในระยะเปลี่ยนผ่าน ต้องครอบคลุมการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดปัญหาการกระจายความมั่งคั่งและรายได้ด้วยการปฏิรูประบบภาษีและรายได้ภาครัฐ การเร่งรัดลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและการลงทุนทางด้านทรัพยากรมนุษย์ การปฏิรูปที่ดินและการถือครองที่ดิน การปฏิรูประบบสวัสดิการสังคม การปฏิรูปภาคเกษตรกรรม การปรับโครงสร้างประชากร การปรับโครงสร้างภาคการผลิต การปฏิรูปและปรับโครงสร้างงบประมาณ การปรับยุทธศาสตร์เน้น “คุณภาพชีวิต” และการพัฒนาแบบยั่งยืน โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. การปฏิรูปภาษี จึงต้องปฏิรูปทั้งโครงสร้างภาษี อัตราภาษี ฐานภาษี ใช้เครื่องมือภาษีในการจัดการทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองให้ดีขึ้น มาตรการภาษีสามารถจัดการทางด้านเศรษฐกิจ ได้ทั้งในมิติด้านการส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (ลดภาษีการลงทุน การบริโภคหรือกิจกรรมการผลิต) การกระจายความมั่งคั่ง (เพิ่มภาษีทรัพย์สินและภาษีมรดก) สนับสนุนความสามารถในการแข่งขัน (ลดภาษีให้กับวัตถุดิบหรือปัจจัยการผลิตบางประเภท) กระตุ้นให้เกิดการลงทุนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุน) และ ยังช่วยในการจัดการทางด้านสังคม (ภาษีบาปควบคุมกิจกรรมอบายมุข) และ ปัญหาสิ่งแวดล้อม (เก็บภาษีมลพิษต่างๆ) รวมทั้ง การเสริมสร้างให้ระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็ง ด้วยการทำให้พรรคการเมืองและสถาบันทางการเมืองเป็นของมหาชนมากขึ้นผ่านการบริจาคภาษีหรือบริจาคเงินสนับสนุนพรรคการเมืองแล้วสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ รัฐต้องเก็บภาษีที่มีลักษณะก้าวหน้ามากขึ้นและขยายฐานภาษีให้ใหญ่ขึ้นโดยเฉพาะภาษีทรัพย์สิน ควรผลักดันตัวเลขรายได้ภาครัฐให้ขึ้นไปอยู่สักระดับประมาณ 20% ของจีดีพี สถานะทางคลังจึงมั่นคงมีเสถียรภาพ และ ไม่กระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ  การปรับโครงสร้างภาษีเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การผลักดันภาษีมรดกภาษีทรัพย์สินอันเป็นการเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สิน จะช่วยรัฐลดการพึ่งพิงภาษีที่เก็บจากฐานรายได้ สิ่งนี้จะลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจในสังคมลงได้

2. เร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจละโครงการบริหารจัดการน้ำและระบบชลประทาน โดยยึดหลักความโปร่งใสและประสิทธิภาพในการดำเนินการ และการลงทุนทางด้านทรัพยากรมนุษย์ด้วยการปฏิรูประบบการศึกษาและระบบบริการสาธารณสุขให้ทั่วถึงและมีคุณภาพ ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการให้บริการได้อย่างมีคุณภาพและทั่วถึง 

3. พลักดันให้มีการปฏิรูปที่ดินและกระจายการถือครองที่ดิน และ ปัจจัยการผลิต 

4. การปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมโดยใช้กลไกรัฐสวัสดิการร่วมกับสังคมสวัสดิการโดยลดมาตรการนโยบายประชานิยมลง 

5. การปฏิรูปภาคเกษตรกรรมให้มีผลผลิตต่อพื้นที่สูงขึ้น ลดต้นทุน เพิ่มอำนาจต่อรองให้เกษตรกรผ่านขบวนการสหกรณ์ ทะยอยลดมาตรการแทรกแซงราคาหรือพยุงราคาที่ฝืนกลไกตลาดมากเกินไป เพิ่มความสมดุลของภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมในระบบเศรษฐกิจไทย

6. ปรับโครงสร้างประชากรโดยเพิ่มอัตราการเกิดของประชากรเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา อัตราการพึ่งพิงสูงในอนาคต และ เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วเกินไป

7. ปรับโครงสร้างการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีและลดการใช้พลังงาน

8. พัฒนาเศรษฐกิจโดยใช้ “คุณภาพชีวิต” เป็นเป้าหมายของการพัฒนา พัฒนาแบบยั่งยืนโดยการดูแลสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคม
นอกจากนี้ ต้องมีวางยุทธศาสตร์และเป้าหมายเพื่อให้ “ไทย” ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอาเซียนและสามารถใช้โอกาสความรุ่งเรืองของเอเชียตะวันออก หรือ ศตวรรษแห่งเอเชีย เพื่อยกระดับฐานะของไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้วภายใน 15-20 ปีข้างหน้า

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการนโยบายและกำกับบริหารหนี้สาธารณะ ได้แสดงความห่วงใยในช่วงท้ายว่า สหรัฐอเมริกาได้เริ่มตัดความช่วยเหลือทางการทหารต่อไทยในชุดแรก 112 ล้านบาทและจะมีการตัดความช่วยเหลือด้านต่างๆ เพิ่มเติมตามมา รวมทั้งมีการทบทวนความช่วยเหลือระดับทวิภาคีมูลค่า 224 ล้านบาท รวมทั้งหมดในเบื้องต้นจะถูกตัดความช่วยเหลือ 336 ล้านบาท หากงบประมาณช่วยเหลือเหล่านี้ต้องสูญเสียไปแล้วทำให้บ้านเมืองสงบสันติก็ถือว่าคุ้มค่าแต่มันจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ฉะนั้น คสช. ควรรีบประกาศคืนอำนาจให้ประชาชนและประกาศเป้าหมายและเงื่อนเวลาในการจัดการเลือกตั้งให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่องบประมาณความช่วยเหลือระหว่างประเทศและข้อตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศด้วย เพราะภายใต้รัฐบาลที่ไม่มาจากการเลือกตั้ง   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net