เสียงที่กำลังจะเงียบงัน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ผมไม่เคยสอบสัมภาษณ์ผู้เข้าศึกษาต่อปริญญาโทปีใดอย่างตื่นเต้นตื้นตันเท่าปีนี้มาก่อนเลย ส่วนหนึ่งคือบทสนทนาในห้องสอบเกี่ยวกับเรื่องปรัชญาของการทำงานศิลปะแขนงหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจคือประเด็นศึกษาและเรื่องราวชีวิตของผู้สมัคร

ผู้สมัครคนหนึ่งนำงานวิจัยที่ทำเมื่อศึกษาระดับปริญญาตรีเรื่องหนึ่งมาเล่าให้กรรมการสอบฟัง ย้ำว่าระดับปริญญาตรีนะครับ เขาศึกษาคำพูดคมคายของพระรูปหนึ่ง ที่กลายเป็นกระแสนิยมกันอยู่พักหนึ่ง พักนี้เงียบหายไปแล้ว คำพูดของพระรูปนี้โด่งดังในช่วงที่มีการปราบปรามผู้ชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ที่ดังที่สุดเห็นจะไม่เกินประโยค "ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน" และอีกหลายๆ คำพูด

ผู้สมัครคนนี้เสนอว่า คำกล่าวของพระรูปนี้สอดคล้องกันกับนโยบายของรัฐบาลสมัยนั้น ในทำนองที่ว่า คำกล่าวของท่าน หากไม่ออกมาเพื่อสนับสนุนนโยบาย ก็ถูกนำมาใช้เผยแพร่ในช่วงเวลาที่เหมาะเจาะกับนโยบายของรัฐบาลนั้น ผู้สมัครศึกษาช่วงเวลาที่คำพูดถูกเผยแพร่และระยะเวลาของนโยบายรัฐบาลสมัยนั้นอย่างละเอียด จนเชื่อได้ว่าคำกล่าวของพระรูปนี้สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลนั้น

เมื่อกรรมการสอบถามว่า แล้วทำไมช่วงหลังๆ พระรูปนี้จึงเงียบๆ ไป คำตอบคือ ก็เพราะว่าคำพูดของท่านไม่ได้ถูกนำมาใช้อีกต่อไป และท่านเองก็ลดการผลิตคำพูดลงไป ซึ่งก็คงจะจริง เพราะผู้อ่านก็คงนึกออกว่า เดี๋ยวนี้ไม่รู้พระรูปนั้นหายไปไหนแล้ว หรือสึกไปแล้วก็ไม่รู้

คำถามต่อมาที่กรรมการสอบถามคือ ทำไมผู้สมัครคนนี้จึงสนใจศึกษาต่อคณะนี้ มีใครหรือนักวิชาการคนไหนที่สนใจหรือเปล่า ผู้สมัครตอบว่า มีกรรมการสอบคนหนึ่งที่เขาติดตามอ่านผลงาน ที่จริงเขาบอกชื่อมาด้วย แต่ก็อย่าบอกในที่นี้เลย ผลงานที่ผู้สมัครคนนี้สนใจคือ ผลงานที่ชี้ให้เห็นถึงการตื่นตัวทางการเมืองของคนในชนบท อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจในชนบท ผู้สมัครบอกว่า ผลงานของกรรมการสอบคนนั้นอธิบายชีวิตของเขาได้อย่างดี

เท่าที่จำได้ เขาเล่าต่อว่า เขาเป็นลูกชาวนา อยู่ร้อยเอ็ด พ่อแม่ทำนา แต่การทำนาเดี๋ยวนี้แตกต่างจากเมื่อก่อน บ้านเขามีที่นา 50 ไร่ มีการใช้เครื่องทุ่นแรง มีการจ้างแรงงาน และมีสภาพชีวิตที่เปลี่ยนไปจากชาวนายุคก่อน เขาได้เรียนจบมหาวิทยาลัยก็เพราะการที่ครอบครัวทำนา

ที่สำคัญคือ ชีวิตของชาวนายุคใหม่ทำให้ลูกหลานได้เรียนสูงๆ ได้ปลดปล่อยพวกเขาออกจากไร่นา แล้วเปลี่ยนพวกเขามาเป็นคนกลุ่มใหม่ในสังคมไทย

นอกจากนั้น ผู้เข้าสอบยังกล่าวว่า การศึกษาเรื่องชนบทของกรรมการสอบคนนี้ทำให้เห็นเห็นค่าของความเป็นคนเท่ากันของคนในชนบทกับคนเมือง ค่าของการตัดสินใจทางการเมืองที่สำคัญของคนชนบท

เสียดายที่กรรมการสอบคนนั้นอาจจะไม่ได้สอนนักศึกษาใหม่คนนี้ และผลงานทางวิชาการของเขาอาจถูกห้ามอ่าน ห้ามเผยแพร่ อนาคตทางวิชาการเขาอาจต้องพูดเรื่องอื่นที่แทบไร้ความหมายต่อสังคมไทย

สุดท้าย กรรมการสอบคนนั้นอาจไม่สามารถบอกเล่าเรื่องราวแทนผู้คนในชนบทได้อีกต่อไป เพราะเขาอาจต้องถูกกักขังและปิดปากไม่ให้แสดงความคิดความเห็น เพราะสังคมไทยยังไม่พร้อมที่จะเรียนรู้ความจริงที่แตกต่างจากที่ผู้มีอำนาจต้องการให้รู้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท