Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การยึดอำนาจด้วยกองทัพเพื่อทำการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ถือเป็นวิธีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ใช้กันมากแบบหนึ่งในระบบการเมืองแบบด้อยพัฒนา การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบนี้ เรียกกันว่า “รัฐประหาร” หรือ ใช้ในภาษาอังกฤษว่า coup d'état  ซึ่งเป็นคำยืมมาจากภาษาฝรั่งเศส จะมีความแตกต่างกับอีกคำหนึ่งที่ใช้กันคือ “ปฏิวัติ” ในภาษาอังกฤษจะใช้ว่า revolutoin  ซึ่งจะมีความหมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่มีการเปลี่ยนระบอบ หรือเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองอย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน

ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีรัฐประหารมากเป็นอันดับสามของโลก รัฐประหารครั้งแรกนั้น คือ การประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราโดยรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2476 แม้ว่าจะไม่มีการเคลื่อนกำลังทหาร แต่ผลของการงดใช้รัฐธรรมนูญโดยไม่ระบุมาตรา และปิดสภาผู้แทนราษฎร ก็ทำให้การใช้อำนาจของรัฐบาลเป็นแบบเผด็จการ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา และ พ.ท.หลวงพิบูลสงคราม จึงยึดอำนาจเพื่อรื้อฟื้นรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 ทำให้ประเทศมีการปกครองแบบประชาธิปไตยต่อมา

สำหรับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ในปัจจุบันไม่ถือเป็นการรัฐประหาร แต่เป็นการปฏิวัติประเทศ เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมือง และนำมาซึ่งการเปลี่ยนในเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมอย่างมาก นอกจากนี้แล้ว การเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยที่คล้ายการปฏิวัติอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ก็คือ กรณี 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ที่ระบอบเผด็จการทหารถูกโค่นลงด้วยอำนาจประชาชน

ส่วนการรัฐประหารในประเทศไทยครั้งที่สามเกิดเมื่อ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 ต่อมา ก็คือรัฐประหาร พ.ศ.2494, รัฐประหาร พ.ศ.2500, รัฐประหาร พ.ศ.2501 รัฐประหาร พ.ศ.2514, รัฐประหาร 6 ตุลา พ.ศ.2519, รัฐประหาร พ.ศ.2520, รัฐประหาร พ.ศ.2534, รัฐประหาร พ.ศ.2549 และรัฐประหารครั้งนี้ ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ จันทรโอชา ถือเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 12 ในประวัติศาสตร์

การยึดอำนาจบ่อยในประเทศไทย ทำให้มีการใช้คำที่สับสนปนเปกัน เพราะประชาชนมักเรียกการยึดอำนาจโดยทหารว่า “ปฏิวัติ”เสมอ ซึ่งความสับสนนี้ เป็นผลิตผลแห่งการยึดอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2501 จอมพลสฤษดิ์เรียกคณะยึดอำนาจของตนเองว่า “คณะปฏิวัติ” และครองอำนาจเผด็จการมายาวนาน ต่อมา จอมพลถนอม กิตติขจร ก็ครองอำนาจเผด็จการต่อ และทำรัฐประหารตนเองเมื่อ พ.ศ.2514 โดยใช้คำว่า “คณะปฏิวัติ”อีกครั้ง การเรียกการยึดอำนาจโดยฝ่ายทหารว่า”ปฏิวัติ”จึงติดปากชาวไทย ทั้งที่การยึดอำนาจหลังจากนั้น ไม่ได้ใช้คำว่าคณะปฏิวัติกันอีกเลย แต่มาใช้คำว่า “ปฏิรูป” หรือ”รักษาความสงบเรียบร้อย”แทน และด้วยความสับสนในการใช้คำ ปรีดี พนมยงค์จึงเสนอให้ใช้คำเรียกเฉพาะการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ว่า “การอภิวัฒน์”

การก่อรัฐประหารทั่วโลกจะมีลักษณะคล้ายกัน คือ เริ่มก่อการจากทหารจำนวนน้อย หรือมาจากผู้บัญชาการทหารที่ควบคุมกองทัพ แล้วเคลื่อนกำลังหรือประเทศยึดอำนาจแบบฉับพลัน เพื่อโค่นรัฐบาลชุดเดิม แล้วตั้งคณะบริหารหรือรัฐบาลชุดใหม่ และหลายครั้งจะมีการยกเลิกอำนาจนิติบัญญัติคือ รัฐสภาชุดเดิม และล้มรัฐธรรมนูญฉบับเดิมด้วย จากนั้น ก็จะมีการตั้งกรรมการมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมักจะมีการใช้ไปจนถึงรัฐประหารครั้งต่อไป ประเทศที่รัฐประหารบ่อยก็จะมีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญบ่อย เช่นในประเทศไทยจึงมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาแล้ว 18 ฉบับ ซึ่งถือเป็นสถิติอัปยศในโลก ฉบับของ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ที่จะให้มีขึ้นจะเป็นฉบับที่ 19 แล้วคงจะมีฉบับที่ 20. 21 ต่อไปอีก ในการรัฐประหารครั้งหน้าและครั้งต่อไป

แต่กระนั้น การรัฐประหารถือว่าเป็นวิธีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไร้กติกา เพราะในระบอบประชาธิปไตยโดยทั่วไป จะกำหนดวิธีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไว้แล้ว ด้วยการลงคะแนนเสียงของประชาชน หมายถึงว่า ผู้ที่เข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศจะมีอำนาจเต็มในการดำเนินนโยบายตามที่ตนเองเสนอ ในกรอบเวลาที่แน่นอนชัดเจน เช่น 4 ปี หรือ 5 ปี จากนั้น ก็จะต้องไปสู่ประชาชน ก็คือให้ประชาชนเลือกกันใหม่ว่า จะให้ใครหรือพรรคใดบริหารประเทศ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในลักษณะนี้จึงไม่ต้องก่อการรัฐประหาร เราจึงพบว่ามีประเทศประชาธิปไตยก้าวหน้าจำนวนมากไม่เคยมีการรัฐประหารเลย เช่น ในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ สวิทเซอร์แลนด์ สวีเดน ออสเตรเลีย ฟินแลนด์ อินเดีย ฯลฯ ประเทศเช่น คอสตาริกา รัฐประหารครั้งสุดท้ายตั้งแต่ พ.ศ.2460 แล้วไม่มีรัฐประหารอีกเลยจนปัจจุบัน ประเทศญี่ปุ่น และ เยอรมนี ไม่เคยมีการรัฐประหารเลยนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ในภาคีอาเซียน ประเทศเช่น มาเลเซีย ก็ไม่เคยมีการยึดอำนาจรัฐประหารเลยเช่นกัน

ในประเทศที่ไม่เคยมีการรัฐประหารเหล่านี้ ไม่ใช่ว่าจะไม่มีความขัดแย้งทางการเมือง เพียงแต่ถือกันว่า วิธีแก้ปัญหาทางการเมืองที่มีอารยธรรมก็คือ การใช้ประชาธิปไตย เคารพในความเห็นของเสียงข้างมากในกรอบเวลาที่แน่นอน แล้วเปลี่ยนอำนาจด้วยเสียงประชาชน กองทัพในประเทศเหล่านี้ จึงไม่เคยมีบทบาทแทรกแซงทางการเมืองเลย นี่คือเหตุผลว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ใช้กองทัพยึดอำนาจถือเป็นเรื่องล้าหลังไดโนเสาร์ยิ่งนัก

แต่ประเทศล้าหลังทางการเมือง ชนชั้นนำของประเทศเหล่านี้มักจะไม่มีความรู้ทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ไม่เคยคิดจะเคารพเสียงของประชาชน จึงถือการรัฐประหารเป็นทางออก ดังนั้น ประเทศเช่น ไฮติ จึงมีการรัฐประหาร 25 ครั้ง ถือเป็นสถิติโลก ประเทศโบลิเวียอยู่ในอันดับรองมา คือ มีรัฐประหาร 14 ครั้ง แต่การรัฐประหารครั้งสุดท้ายเกิดเมื่อ พ.ศ.2523 แล้วไม่มีการรัฐประหารอีกเลย ประเทศปากีสถานมีการรัฐประหาร 6 ครั้ง ครั้งสุดท้ายคือ พ.ศ.2542 โดย พล.อ.เปอร์เวซ มูชาราฟ แต่ขณะนี้ได้กลับมาเป็นประชาธิปไตยแล้ว ประเทศพม่ามีการรัฐประหารเพียง 2 ครั้ง พ.ศ.2505 และ พ.ศ.2531 เพียงแต่การปกครองเป็นแบบเผด็จการทหารตลอดตั้งแต่ พ.ศ.2505 เป็นต้นมา แต่ในปัจจุบันก็มีแนวโน้มที่จะผ่อนปรนไปสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีหลายประเทศที่ยังคงใช้วิธีการรัฐประหารแก้ไขปัญหาทางการเมือง แม้ว่าจะมีค่อนข้างน้อยก็ตาม เช่น ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา มีการรัฐประหารเกิดขึ้น 10 ประเทศ คือ ไฮติ (2547) มอริตาเนีย (2548) โตโก (2548) ไทย (2549) ฟิจิ (2549) มอริตาเนีย (2551) กินี (2551) ไนเจอร์ (2553) มาลี (2555) กินีบิเซา (2555) อียิปต์ (2556) และ ไทย (2557) ส่วนประเทศที่ยังคงปกครองภายใต้ระบอบรัฐประหารใน พ.ศ.2557 นี้มี 9 ประเทศ คือ อีควอเตอเรียลกีนี, บูร์กินาฟาโซ, ซูดาน, แกมเบีย, ฟิจิ,  มอริตาเนีย, กินีบิเซา, อียิปต์, และ ไทย

คำถามคือ เคยมีหรือไม่ที่การรัฐประหารในประเทศล้าหลังทางการเมืองเหล่านี้ ที่จะนำไปสู่การปฏิรูปทางการเมืองที่ดีขึ้น เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้า คำตอบจากสถิติของการรัฐประหารในประเทศต่างๆ คือ โอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้ามักจะมาจากการรัฐประหารที่นำโดยทหารระดับกลาง และมีความคิดแบบใหม่ เช่น การรัฐประหารในกรีกเมื่อ พ.ศ.2510 การรัฐประหารในโปรตุเกส เมื่อ พ.ศ.2517 แต่ถ้าเป็นการรัฐประหารโดยผู้บัญชาการกองทัพ แทบทั้งหมดจะเป็นการถอยหลังเข้าคลอง เพราะเหล่าผู้บัญชาการกองทัพมักจะมีแนวคิดอนุรักษ์นิยม หลงอำนาจ ดูถูกประชาชน และต่อต้านการเปลี่ยนแปลง การรัฐประหารจึงเป็นไปเพื่อรักษาระบอบเก่า โอกาสที่จะมีการปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย โดยเหล่าผู้บัญชาการทหารจึงไม่มี

เมื่อการก่อรัฐประหารเป็นเรื่องที่ล้าหลังพ้นสมัยเช่นนี้ การรัฐประหารหลายครั้งจึงถูกต่อต้านจากประชาชนอย่างหนัก เช่นรัฐประหารพม่าเมื่อ พ.ศ.2531 และรัฐประหารอียิปต์ พ.ศ.2555 ประชาชนจำนวนมากออกมาต่อต้าน จนรัฐบาลทหารต้องใช้วิธีการปราบปรามอย่างนองเลือดเพื่อคุมอำนาจ ระบอบปกครองแบบรัฐทหารแม้ว่าจะยังรักษาอำนาจไว้ได้ แต่ก็เป็นรังเกียจและสาบแช่งของประชาชนตลอดเวลา

นี่เป็นเพียงเรื่องเล่าส่วนหนึ่งเกี่ยวกับการรัฐประหารทั่วไป ซึ่งอาจจะช่วยสะท้อนตำแหน่งแห่งที่ของรัฐบาลทหารในประเทศไทยได้
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net