Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในฐานะผู้ที่ผ่านการรายงานตัวตามคำสั่งของคณะรัฐประหาร ถูกควบคุมตัวไว้ 7 วัน และในสถานการณ์ที่เพื่อนมิตรจำนวนหนึ่งยังไม่รายงานตัว และมีการเรียกอีกหลายท่านไปรายงานตัว ผมคิดว่าข้อเขียนนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจของหลายๆ ท่าน

สถานะในการรายงานตัวของผม อาจจะต่างจากหลาย ๆ ท่าน คือผมถูกควบคุมตัวไว้ก่อน 1 คืน ก่อนจะมีรายชื่อเรียกไปรายงานตัว เนื่องจากถูกจับกุมตั้งแต่ช่วงค่ำของวันที่ 23 พฤษภาคม การไปรายงานตัวเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 นั้นเป็นการไปรายงานตัวโดยการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ไปยังหอประชุมกองทัพบก (ระหว่างนี้ผมยังกลับมาคิดอยู่เลยว่า ถ้าไม่ถูกควบคุมตัวนั้นผมจะเลือกวิธีการใด ระหว่าง 1. รายงานตัว 2. หลบหนี 3.ใช้ชีวิตปกติ ถ้าจะจับก็ยอมให้จับ)

เมื่อไปรายงานตัวประมาณ 4 โมงเย็นวันเสาร์ที่ 24 พฤษภาคม มีอาจารย์ 2 ท่านล่วงหน้าไปก่อนแล้วคือ "อ.ตุ้ม" สุดสงวน สุธีสร และอ.สุรพศ ทวีศักด์ เท่าที่ทราบในกรณีนักการเมืองที่ถูกเรียกตัวไปรายงานตัวนั้น จะไม่มีการสอบสวน หรือถ้ามีก็ถามเพียงเล็กน้อย แต่เราทั้ง 3 คน ต้องถูกสอบสวน เพราะถูกเพ่งเล็งเรื่องมาตรา 112

กล่าวเฉพาะผม ทางเจ้าหน้าที่มีแฟ้มประวัติหนาพอสมควร เอามาซัก แม้ข้อมูลบางอย่างจะสับสนในตอนเรียบเรียงและตีความ แต่ก็ดูเหมือนจะทำการบ้านมาพอสมควร อีกประเด็นที่ทางเจ้าหน้าที่กังวล คือการลงชื่อแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งผมก็อาจจะโชคดีที่ไม่ได้ลงชื่อ

การสอบสวนในวันแรกประมาณ 1 ชั่วโมง ข้อสรุปตอนนั้นคือ ทางเจ้าหน้าที่ไม่สบายใจ และขอว่าหลังจากนี้จะไม่ทำอีกต่อไปได้หรือไม่ ทางผมก็รับปากว่า ถ้าอะไรที่ทำให้แล้วไม่สบายใจก็จะงดเว้น สอบเสร็จประมาณ 3 ทุ่มกว่าๆ ของวันเสาร์ 24 พฤษภาคม ตอนแรกก็นึกว่าจะได้รับการปล่อยตัว แต่กลับเป็นว่า พวกเราเป็นชุดแรกที่ต้องไป “เก็บตัว” จำนวน 7 คน โดยอีก 3 ท่านเป็นนักการเมือง อีก 1 ท่านเป็นสื่อมวลชนและแกนนำพันธมิตรฯ

การเดินทางออกจากหอประชุมกองทัพบกตอน 4 ทุ่ม โดยไม่รู้จุดหมายและภารกิจ นั่นเป็นสิ่งที่สร้างความตึงเครียดพอสมควร แต่เมื่อไปถึงที่พัก ทาง ผบ.พล ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ดูแลเราเป็นอย่างดีมาก ท่านบอกว่า ได้รับคำสั่งมาตอนบ่ายโมงวันเสาร์ นั่นหมายความว่า การสอบสวนของเรานั้นไม่มีผลว่า ถ้าตอบดีหรือให้ความร่วมมือจะได้รับการปล่อยตัวทันทีแต่อย่างใด เพราะทางคณะรัฐประหารเขาได้กำหนดตัวไว้แล้วว่า แต่ละท่านจะได้รับการปล่อยตัวเมื่อไหร่

ตลอดระยะเวลา 7 วันที่ผมถูกควบคุมตัวนั้น ความเป็นอยู่ถือว่าดี แต่ขณะเดียวกันทางนายทหารระดับสูงในกองพลก็มีการมาพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ และแต่ละท่านก็ต้องทำหน้าที่รายงานไปยังผู้บังคับบัญชาด้วยเช่นกัน

สิ่งที่ต้องตระหนักคือ สิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า สภาพที่ไม่มีหลักกฎหมายหรือหลักเหตุผลอะไรนัก พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ซึ่งเป็นผู้ที่มากล่าวปิดและสัมภาษณ์เรียงตัวในวันปล่อยตัวนั้นพูดชัดเจนว่า “สิ่งที่ทำนั้นผิดกฎหมาย แต่ถูกเวลา” กระบวนการที่ไปรายงานตัวนั้นคือวิธีการทางการเมือง คือขอความร่วมมือ ถ้าให้ก็กลับไปได้ แต่ถ้าไม่ยอมร่วมมือทางทหารก็บอกว่าจะใช้ “ยาแรง” ในการจัดการ

แต่การพูดเช่นนี้ก็มิได้หมายความว่า ทุกอย่างจะราบรื่นไปหมดทุกกรณี กล่าวสำหรับผมและอาจารย์สุรพศ จนนาทีสุดท้ายก่อนจะปล่อยตัวยังมีการเช็คอยู่เลยว่า ผมมี “หมายจับ” ติดตัวหรือไม่

โชคดีที่ทั้ง 2 ไม่มีหมายจับ หรือว่าในระหว่าง 7 วันที่ควบคุมตัวไม่มีหมายจับเพิ่มเติม ไม่อย่างนั้นเราอาจจะมีชะตากรรมที่เปลี่ยนไป ผมคิดว่าส่วนหนึ่งคงจะมาจากทางนโยบายด้วยว่า สำหรับคนที่ไปรายงานตัวจะต้องปฏิบัติอย่างไร แต่สำหรับคนที่ต่อต้านรัฐประหารและฝ่าฝืนกฎอัยการศึกนั้นอาจจะเป็นอีกกรณีหนึ่ง

สำหรับการตอบคำถามนั้น มีผู้รู้แนะนำว่า เราควรหลีกเลี่ยงเรื่องในอดีต และทัศนคติในทางการเมือง ให้มาคุยเรื่องความร่วมมือในปัจจุบันและอนาคต

 

...........................................
ที่มา: เพจ Thanapol Eawsakul

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net