Skip to main content
sharethis
 
ยุโรป-ชุมนุมประท้วงวันแรงงาน
 
1 พ.ค. 2014 - ที่นครอิสตันบูล ของตุรกี ตำรวจปราบจลาจลยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง ใส่กลุ่มผู้ชุมนุม ขณะที่ผู้ชุมนุมตอบโต้ด้วยก้อนหินและอาวุธเท่าที่จะหาได้ 
 
การปะทะเกิดขึ้นหลังผู้ประท้วงหลายพันคน พยายามเดินขบวนเข้าไปที่จัตุรัสตักซิม แต่ทางการสั่งห้าม เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดเหตุประท้วงรุนแรงเหมือนปีที่แล้ว โดยปีนี้ทางการได้ระดมตำรวจ 39,000 นายประจำตามถนนสายต่างๆทั่วอิสตันบูล และอีก 19,000 นายเฝ้าบริเวณจัตุรัสตักซิม 
 
ที่รัสเซีย ชาวรัสเซียประมาณ 100,000 คน เดินขบวนผ่านจัตุรัสแดงในกรุงมอสโก เพื่อฉลองวันแรงงานสากล โดยเป็นปีแรกที่มีการจัดขบวนพาเหรดผ่านจัตุรัสแดง นับแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อปี 1991 ขณะที่กลุ่มชาตินิยมรัสเซีย ยกย่องความเป็นผู้นำของประธานาธิบดีปูติน กรณีการผนวกคาบสมุทรไครเมียเป็นของรัสเซีย และเข้าไปปกป้องชาวยูเครนเชื้อสายรัสเซียในภาคตะวันออก 
 
ที่ยูเครน ประชาชนหลายพันคนในเมืองโดเนตสค์ ออกมาเดินขบวนแสดงพลังสนับสนุนรัสเซียเช่นกัน ผ่านบริเวณใจกลางเมือง ที่ถูกกลุ่มแบ่งแยกดินแดนยึดครอง 
 
ส่วนที่กรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน ผู้สนับสนุนพรรคสังคมนิยม ได้จัดการชุมนุมเรียกร้องความเป็นเอกภาพ พร้อมกับประนามการแทรกแซงของรัสเซีย 
 
ที่กรุงมาดริดของสเปน ประชาชนหลายพันคนประท้วงปัญหาเศรษฐกิจฝืดเคือง เนื่องจากมาตรการรัดเข็มขัดทางการเงินของรัฐบาล และอัตราว่างงานที่พุ่งสูง กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องให้ปกป้องระบบสวัสดิการ สนับสนุนการจ้างงาน และสิทธิของคนงาน
 
เหมืองทองโคลัมเบียถล่ม
 
2 พ.ค. 2014 - เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยโคลอมเบียรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 คน และอีก 30 คนคาดว่าอาจเสียชีวิตแล้วหลังจากเหมืองทองคำผิดกฎหมาย ที่เมือง  ซานตานแดร์ เด กิลิเชา ในภาคตะวันตกของประเทศพังถล่มลงมา
 
หัวหน้าหน่วยดับเพลิงในรัฐเกากาของโคลอมเบีย กล่าวว่า เมื่อเจ้าหน้าที่มาถึงจุดเกิดเหตุสามารถนำศพออกมาได้แล้ว 3 ราย และช่วยชีวิตคนงานไว้ได้ 2 คน ซึ่งนำตัวส่งโรงพยาบาลแล้ว แต่มีความหวังน้อยมากที่จะพบผู้รอดชีวิตที่เหลือ โดยยังคงมีคนงานถูกฝังอยู่ใต้ดินลึกลงไปถึง 20 เมตร ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ยังคงดำเนินการค้นหาต่อไปเพื่อนำคนงานที่ยังติดอยู่ใต้ดินออกมาให้หมด  แม้หัวหน้าหน่วยกู้ภัยจะยอมรับว่ามีโอกาสรอดชีวิตน้อยมาก
 
ทั้งนี้ เหมืองที่เกิดเหตุเป็นเหมือง ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการเหมืองแร่ โคลอมเบียมีเหมืองกว่า 14,000 แห่ง ในจำนวนนี้กว่าครึ่งดำเนินงานโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงฝีมือแรงงาน และเคยมีการยึดเครื่องมือหนักในเหมืองผิดกฎหมายบางแห่ง
 
รถไฟใต้ดินลอนดอนจะเจรจาหาทางเลี่ยงผละงาน
 
5 พ.ค. 2014 - สหภาพแรงงานและฝ่ายบริหารรถไฟใต้ดินกรุงลอนดอนจะเจรจากันในวันนี้เพื่อหาทางหลีกเลี่ยงการผละงานนาน 3 วันที่จะเริ่มตั้งแต่เวลา 21.00 น.วันนี้ตามเวลาท้องถิ่น ตรงกับเวลา 03.00 น.วันอังคารตามเวลาในไทย
 
ตัวแทนสหภาพการรถไฟ การเดินเรือและการคมนาคมแห่งชาติ (อาร์เอ็มที) และการรถไฟใต้ดินลอนดอนจะเจรจากันอีกครั้งในวันนี้เรื่องที่สหภาพชักชวนสมาชิกผละงานประท้วงโครงการปิดตู้จำหน่ายตั๋วโดยสารและเลิกจ้าง 960 ตำแหน่ง หลังจากการเจรจารอบล่าสุดเมื่อวันศุกร์ล้มเหลว ส่วนการผละงาน 2 วันเมื่อสัปดาห์ก่อน สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้สัญจรในกรุงลอนดอนหลายล้านคน
 
คนงานโรงงานสิ่งทอในกัมพูชายุติการผละงานประท้วงแล้ว
 
5 พ.ค. 2014 - ผู้นำสหภาพแรงงาน รายงานว่า คนงานโรงงานสิ่งทอหลายพันคนในกัมพูชาได้กลับเข้าทำงานตามปกติแล้วในวันนี้ หลังจากผละงานประท้วงเพื่อเรียกร้องให้มีการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษ หรือ โบนัสจำนวน 50 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,600 บาท) เมื่อคืนที่ผ่านมา       
 
ก่อนหน้านี้คนงานราว 20,000 คนในโรงงานราว 30 แห่งใกล้พรมแดนเวียดนามได้ผละงานประท้วงเมื่อคืนที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องเงินเพิ่มพิเศษจำนวนดังกล่าว หลังจากโรงงาน 2 แห่งได้ให้เงินรางวัลแก่คนงานที่ไม่เข้าร่วมการผละงานประท้วงเมื่อไม่นานมานี้
 
นายภาพ สินา ประธานสหภาพการเคลื่อนไหวของแรงงาน กล่าวว่า คนงานส่วนใหญ่ได้กลับไปทำงานตามปกติแล้ว และมีเพียงคนงานที่โรงงาน 3 แห่งที่ยังคงผละงานประท้วงต่อไปในวันนี้ อย่างไรก็ตาม โรงงานยังไม่ได้ตกลงว่าจะจ่ายเงินจำนวน 50 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ได้ให้ความมั่นใจแก่คนงานว่าจะหาทางออกสำหรับปัญหาดังกล่าว ตำรวจในเมืองบาเวตซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 2 แห่ง ยืนยันว่า คนงานได้กลับเข้าทำงานแล้ว
 
ด้านสมาคมผู้ผลิตสิ่งทอแห่งกัมพูชา ปฏิเสธหลายครั้งว่า ไม่เคยให้คำมั่นว่าจะจ่ายเงินให้คนงานที่ไม่เข้าร่วมการผละงานประท้วง พร้อมทั้งระบุว่า บรรดานายจ้างจะไม่จ่ายค่าแรงและผลประโยชน์อื่น ๆ ให้คนงานสำหรับวันที่มีการผละงานประท้วงซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายแรงงานของกัมพูชา แต่สหภาพแรงงานขู่ว่าพวกเขาอาจผละงานประท้วงระลอกใหม่
 
สิงคโปร์เล็งสร้างศูนย์พักผ่อนคนงานนอกเมือง หลังเกิดเหตุจลาจลในย่านลิตเติ้ล อินเดียเมื่อปีที่แล้ว
 
6 พ.ค. 2014 - สื่อสิงคโปร์รายงานว่า สิงคโปร์วางแผนสร้างศูนย์สันทนาการนอกเมือง เพื่อดึงคนงานต่างด้าวออกจากใจกลางเมือง หลังเกิดเหตุจลาจลในย่านลิตเติ้ล อินเดียเมื่อปีที่แล้ว
 
หนังสือพิมพ์เดอะ สเตรท ไทม์ส รายงานว่า สิงคโปร์จะสร้างศูนย์สันทนาการใหม่สี่ศูนย์ข้างเขตที่พักอาศัยในย่านอุตสาหกรรมห่างจากใจกลางเมือง เพื่อให้เป็นแหล่งชุมนุมทางเลือกแก่คนงานในวันหยุด
 
รายงานข่าวระบุด้วยว่า ศูนย์สันทนาการ จะมีพื้นที่มากกว่าสนามฟุตบอล 9 สนามรวมกัน มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับกีฬาในร่ม รวมทั้งสนามคริกเกต ฟุตบอล และบาสเกตบอล ซูเปอร์มาร์เก็ต และอินเทอร์เน็ต คาเฟ
 
นักเคลื่อนไหวด้านแรงงานต่างด้าว "นายโจโลวัน วาม" กล่าวว่า แม้แรงงานต่างด้าวจะได้ประโยชน์จากการสร้างศูนย์สันทนาการใหม่ แต่เจตนารมย์เบื้องหลังยังน่าสงสัย สันทนาการและสิ่งอำนวยความสะดวกทางสังคมควรสร้างขึ้นเพื่อสุขภาวะของชุมชน ไม่ใช่เพราะคนงานเป็นอันตรายต่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคม
 
นักบินจีนร้องสื่อ ซัดแอร์ไชนาสองมาตรฐาน จ่ายต่างชาติมากกว่า ผวาความปลอดภัย
 
6 พ.ค. 2014 - สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า นักบินสายการบินแอร์ไชนาจำนวนหลายสิบคนเรียกร้องขอขึ้นค่าจ้าง โดยส่งจดหมายเปิดผนึกถึงสื่อท้องถิ่นจีน ระบายความคับข้องใจ ที่สายการบินแอร์ไชนามีพฤติกรรม 2 มาตรฐาน โดยจ่ายค่าจ้างและปฏิบัติต่อนักบินต่างชาติดีกว่านักบินชาวจีน ทำให้เกิดสภาวะน่าอึดอัดในที่ทำงาน ซึ่งหมายถึงห้องนักบิน อาจนำไปสู่ความไม่ปลอดภัยในแต่ละเที่ยวบินได้ เนื่องจากนักบินมีความแตกแยกสูง
 
นอกจากนั้นจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้นักบินต้องประสบปัญหาทางกาย และสุขภาพจิตอย่างรุนแรง ขณะที่การเติบโตอย่างมากในธุรกิจการบินของจีน ส่งผลให้สายการบินต่างๆขาดแคลนนักบิน สำหรับสายการบินแอร์ไชนาขาดแคลนนักบินชาวจีน จนต้องจ้างนักบินจากต่างชาติเข้ามาเสริม และนักบินต่างชาติได้ค่าจ้างมากกว่านักบินชาวจีน นำมาสู่ปัญหาดังกล่าว
 
จากรายงานของบริษัทโบอิ้ง ในปีพ.ศ. 2556 ทำนายว่า ธุรกิจการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคยังต้องการนักบินใหม่อีก 192,300 คน ภายในปี 2575 โดยร้อย 40 หรือประมาณ 77,400 คน จะเป็นความต้องการนักบินในสายการบินจีน
 
การที่นักบินจีนต้องมาเรียกร้อง แทนที่จะลาออกไปทำงานกับสายการบินอื่น เพราะในสัญญาจ้างงานนักบินของสายการบินแอร์ไชนาระบุว่า ไม่อนุญาตนักบินลาออก เนื่องจากบริษัทแอร์ไชนา เป็นฝ่ายจ่ายเงินค่าฝึกอบรมการบินแทนนักบิน
 
หากนักบินคิดจะฟ้องบริษัทเพื่อขอยกเลิกสัญญาจ้าง นักบินมักจะเป็นฝ่ายแพ้คดี ในบางคดีศาลตัดสินให้นักบินจ่ายเงินค่าบอกเลิกสัญญาให้กับบริษัทอีกด้วย
 
สหรัฐให้วีซ่าทำงานคู่สมรสแรงงานต่างชาติ หวังดึงดูดให้แรงงานทักษะสูงอยู่ในสหรัฐ
 
8 พ.ค. 2014 - รัฐมนตรีช่วยกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐ นายอเลฮานโดร มายอร์คาส แถลงว่า สหรัฐจะเริ่มออกวีซ่าทำงานให้คู่สมรสของชาวต่างชาติที่ทำงานอยู่ในสหรัฐอยู่แล้วบางส่วนในเร็วๆนี้ เพื่อดึงดูดให้แรงงานทักษะสูงอยู่ในสหรัฐ เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนธุรกิจและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะมีผลต่อคู่สมรสของชาวต่างชาติ ที่ได้รับวีซ่าประเภท “เอช-1 บี” หรือผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในระยะเวลาจำกัด เมื่อมีบริษัทต้นสังกัดรับรอง
 
พนักงานเครือข่ายร้านฟาสต์ฟูดทั่วโลก นัดหยุดงานประท้วงใหญ่ 33 ประเทศทั่วโลก ในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ เพื่อขอขึ้นค่าแรง
 
9 พ.ค. 2014 - นักงานเครือข่ายร้านฟาสต์ฟูดทั่วโลก นัดหยุดงานประท้วงใหญ่ 33 ประเทศทั่วโลก รวมถึง 150 เมืองทั่วสหรัฐ ในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ เพื่อขอขึ้นค่าแรง
 
การนัดหยุดงานประท้วงครั้งนี้ ซึ่งรวมถึงพนักงานของเชนฟาสต์ฟูดชื่อดัง อย่าง "แมคโดนัลด์" "เบอร์เกอร์ คิง" "เวนดี้" และ "เคเอฟซี" ถือเป็นการหยุดงานประท้วงพร้อมกันทั่วโลกครั้งแรกของพนักงานในธุรกิจประเภทนี้
 
แถลงการณ์จากกลุ่มผู้จัดการชุมนุมประท้วงระบุว่า พนักงานจาก 33 ประเทศใน 6 ทวีปประกาศว่า จะหยุดงานประท้วงเพื่อเรียกร้องขอเงินเดือนเพิ่ม โดยพนักงานร้านอาหารจานด่วนในสหรัฐ ได้รับค่าเหนื่อยชั่วโมงละ 15 ดอลลาร์ สูงกว่าเครือข่ายร้านอาหารจานด่วนในประเทศอื่นๆ ที่ได้ค่าแรงชั่วโมงละ 7.25 ดอลลาร์
 
พนักงานแมคโดนัลด์รายหนึ่ง ระบุว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ถึงช่วงเวลาที่ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงได้แล้ว
 
การเคลื่อนไหวครั้งนี้ ยังมีขึ้นหลังเมื่อปลายปี 2555 พนักงานร้านอาหารจานด่วนประมาณ 200 คนเริ่มผละงานประท้วงในนิวยอร์ก และมีการทำแบบเดียวกันนี้ กระจายไปตามเมืองต่างๆประมาณ 100 เมืองทั่วสหรัฐ
 
เผยมีรถโดยสารเสียหายหลายร้อยคันระหว่างการประท้วงในบราซิล
 
9 พ.ค. 2014 - แกนนำสหภาพแรงงานในบราซิลเปิดเผยว่า การประท้วงของพนักงานขับรถโดยสารในนครรีโอเดจาเนโร เพื่อเรียกร้องขอเพิ่มค่าจ้างอีกร้อยละ 40 เมื่อวานนี้ตามเวลาท้องถิ่น มีรถโดยสารได้รับความเสียหายถึง 325 คัน โดยบางคันถูกจุดไฟเผา
 
รองประธานสหภาพแรงงานกล่าวว่า ในระหว่างการประท้วงเป็นเวลา 24 ชม.มีการยกเลิกบริการเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น แต่ผู้ประท้วงได้ทำลายรถโดยสาร ขว้างปาก้อนหินและจุดไฟเผา การผละงานประท้วงมีขึ้นขณะที่เหลือเวลาอีก 37 วัน บรรดานักท่องเที่ยวทั้งต่างชาติและในประเทศจะเดินทางมายังนครรีโอเดจาเนโรเพื่อร่วมชมการแข่งขันฟุตบอลโลก โดยนครรีโอเดจาเนโรจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน 7 นัด รวมถึงนัดชิงชนะเลิศในวันที่ 13 กรกฎาคม
 
ตำรวจสเปนจับกุมผู้ต้องสงสัย 740 คนกรณีตั้งบริษัทปลอม
 
14 พ.ค. 2014 -ตำรวจสเปนจับกุมผู้ต้องสงสัย 740 คนระหว่างการสอบสวนกรณีการตั้งบริษัทปลอมเพื่อเอาผลประโยชน์จากประกันสังคมและการให้ที่อยู่อาศัยหรืออนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศ
 
ตำรวจกล่าวว่า เจ้าหน้าที่พุ่งเป้าไปยังบริษัททั้งหมด 135 แห่ง ซึ่งอ้างว่าดำเนินธุรกิจโรงแรม ก่อสร้าง บริการไปรษณีย์ จัดสวนและบริการทำความสะอาด ในจำนวนผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมทั้งหมด 30 คน เป็นผู้จัดการบริษัทปลอมซึ่งไม่ได้ดำเนินธุรกิจอย่างแท้จริง แต่กลับจดทะเบียนลูกจ้างกับสำนักงานประกันสังคมเพื่อเอาผลประโยชน์หรือเพื่อให้ที่พักหรือใบอนุญาตการทำงานให้กับชาวต่างชาติ บริษัทปลอมเหล่านี้ได้จดทะเบียนลูกจ้างรายใหม่กับสำนักงานประกันสังคมกว่า 8,400 คน และได้รับเงินผลประโยชน์หรือเงินช่วยเหลือผู้ว่างงานถึง 2,100 ครั้ง และมีชาวต่างชาติพยายามเข้ามาหางานหรือที่พักในสเปนด้วยกลโกงเช่นนี้ทั้งหมด 362 คน ทั้งนี้ คาดว่ารัฐได้เสียค่าใช้จ่ายให้กับกลโกงดังกล่าวถึง 20.5 ล้านยูโร (ราว 918 ล้านบาท)
 
แรงงานฟาสต์ฟู้ดรวมตัวประท้วงจี้ขึ้นค่าแรง
 
15 พ.ค. 2014 - เหตุแรงงานในธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดและองค์กรแรงงานหลายองค์กรในหลายเมืองใหญ่ของสหรัฐอเมริกา รวมตัวกันหยุดงานประท้วงและออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ผู้ประกอบธุรกิจอาหารจานด่วนรายใหญ่อย่าง แมคโดนัลด์ ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้แก่พนักงานในธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า คือที่ชั่วโมงละ 15 ดอลลาร์ และให้พนักงานเหล่านี้เข้าร่วมในสหภาพแรงงานได้ 
 
โดยแรงงานในกลุ่มธุรกิจนี้ยังมีแผนที่จะชุมนุมประท้วงเรียกร้องการขึ้นค่าแรงในอีกกว่า 30 ประเทศด้วย ด้านกลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ชี้ว่าข้อเรียกร้องให้ปรับขึ้นค่าแรงในอัตราดังกล่าวจะทำลายขีดความสามารถในการสร้างงาน และว่า ผู้ที่เข้าร่วมประท้วงส่วนใหญ่ไม่ใช่แรงงานในภาคธุรกิจนี้จริงๆ
 
เร่งหาคนงานเหมืองระเบิดตุรกี ความหวังเลือนราง
 
17 พ.ค. 2014 - ปฏิบัติการกู้ภัยเหตุเหมืองถ่านหินระเบิดในตุรกียังดำเนินไปตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยเหลือคนงานเหมืองที่ติดอยู่ข้างในมา 4 วันแล้ว
 
เมื่อวานนี้เจ้าหน้าที่กู้ภัยไม่พบผู้รอดชีวิตเพิ่มเติม แต่พบศพเพิ่มอีก 1 ราย ขณะที่ความหวังที่จะพบผู้รอดชีวิตเพิ่มเติมรางเลือนลงเรื่อยๆ ยอดผู้เสียชีวิตล่าสุดที่ยืนยันโดยทางการตุรกีขณะนี้อยู่ที่อย่างน้อย 292 คน แต่คาดว่าอาจจะเกิน 300 คน คาดว่ายังเหลือคนงานเหมืองที่ติดอยู่ภายใน 17-18 คน
 
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคในการกู้ภัยคือ เปลวไฟและก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่ยังมีอยู่ในบางจุดภายในเหมือง ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยในการทำเหมืองโทษสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เป็นเพราะความผิดพลาดในการกู้ภัยตั้งแต่ตอนแรก หลังเกิดระเบิดเจ้าหน้าที่กู้ภัยควบคุมเปลวไฟที่ลุกไหม้ในเหมืองด้วยการปิดช่องระบายอากาศเพื่อไม่ให้ออกซิเจนเข้าไป แต่นั่นกลับทำให้ก๊าซพิษคาร์บอนมอนอกไซด์เพิ่มขึ้น  
 
ขณะเดียวกัน กระแสความไม่พอใจในเหตุโศกนาฏกรรมครั้งนี้ยังคุกรุ่นในหลายเมืองของตุรกี อย่างเช่นที่นครอิสตันบูล ตำรวจปราบจลาจลต้องยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนพลาสติกเพื่อสลายกลุ่มผู้ประท้วงที่ออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาลตามท้องถนน
 
ฟิลิปปินส์เร่งช่วยหญิงเคราะห์ร้ายโดนนายจ้างซาอุฯ‘สุุดโหด’สาดน้ำร้อนใส่
 
23 พ.ค. 2014 - สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานความคืบหน้าในชะตากรรมของ น.ส.ปาฮิมา อลากาอิ ปาลาคาซี หญิงสาวเคราะห์ร้ายชาวฟิลิปปินส์ วัย 22 ปี ซึ่งไปเป็นแรงงานต่างชาติ ทำงานเป็นแม่บ้าน ในประเทศซาอุดีอาระเบีย แต่กลับโดนแม่ของนายจ้างสาดน้ำร้อนใส่ จนเป็นแผลพุพองเกือบทั้งตัว โดยเฉพาะแผ่นหลัง และภาพของเธอได้ถูกญาตินำมาโพสต์ลงบนเฟซบุ๊ก และถูกแชร์ต่อกันไปจำนวนมากในสื่อสังคมออนไลน์ จนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในความเหี้ยมโหดของนายจ้างชาวซาอุดีอาระเบีย ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานั้น
 
ในที่สุด ทางเจ้าหน้าที่สถานทูตฟิลิปปินส์ ณ กรุงริยาด ได้ยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือหญิงเคราะห์ร้ายรายนี้แล้ว หลังกระทรวงแรงงานในฟิลิปปินส์ประกาศจะให้ความช่วยเหลือ น.ส.ปาลาคาซี อย่างเต็มที่ โดยจะช่วยในการฟ้องร้องดำเนินคดีเอาผิดกับนายจ้าง รวมถึงสั่งปิดสำนักงานนายหน้าจัดหาแรงงาน ที่ติดต่อ น.ส.ปาลาคาซี มาทำงานกับนายจ้างจอมโหดเป็นการชั่วคราวไว้ก่อน
 
ทางด้าน นายอาร์เนล เตฮาล ญาติของ น.ส.ปาลาคาซี เหยื่อเคราะห์ร้าย เปิดเผยว่า เขาไม่รู้จะช่วย น.ส.ปาลาคาซี ที่โดนแม่นายจ้างสาดน้ำร้อนใส่อย่างไรดี จึงทำได้เพียงถ่ายรูป น.ส.ปาลาคาซี ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการถูกน้ำร้อนลวก นำโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก
 
นอกจากนี้ นายเตฮาล ยังเปิดเผยกับนักข่าวต่างชาติว่า สาเหตุที่แม่ของนายจ้างสาดน้ำร้อนลวกใส่ น.ส.ปาลาคาซี เนื่องจากไม่พอใจที่เธอชงกาแฟมาให้กินไม่เร็วพอ และจากนั้นอีก 2 วัน นายจ้างจึงนำ น.ส.ปาลาคาซี ไปรักษาที่โรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ แม่บ้านหญิงชาวฟิลิปปินส์เคราะห์ร้ายรายนี้ ก็ถูกนายจ้างทั้งเตะและเฆี่ยนตี หลังจากมาทำงานได้ไม่กี่วัน  เหตุผลเพียงแค่เธอบอกว่าคิดถึงบ้าน
 
ยูเอ็นชี้ ประชากร “ชนชั้นกลาง” ในประเทศกำลังพัฒนาขยับตัว “สูงขึ้น” เป็นกว่า 4 ใน 10
 
27 พ.ค. 2014 - องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ซึ่งเป็นองค์การชำนาญพิเศษขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า บรรดาแรงงานในประเทศกำลังพัฒนากำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว เพื่อพัฒนาอาชีพการงาน และยกระดับฐานะตนเองขึ้นเป็นชนชั้นกลาง ทว่าแรงงาน 839 ล้านคนกลับยังคงได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 65 บาท) ต่อวัน
 
“ประเทศกำลังพัฒนาโดยส่วนใหญ่กำลังเร่งตามเขตเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วให้ทัน” กาย รายเดอร์ ผู้อำนวยการไอแอลโอกล่าวกับผู้สื่อข่าวที่นครเจนีวา ก่อนที่จะมีการเผยแพร่รายงานประจำปีว่าด้วยโลกของงาน (World of Work Report) ของ ไอแอลโอในวันอังคาร (27 พ.ค.)
       
รายงานฉบับนี้ระบุว่า ในช่วงปี 1980 ถึง 2011 รายได้ต่อหัวในประเทศกำลังพัฒนา อย่าง เซเนกัล เวียดนาม และตูนิเซียเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.3 เปอร์เซ็นต์ในแต่ละปี ซึ่งเร็วกว่าบรรดาเขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว ซึ่งขยับขึ้น 1.8 เปอร์เซ็นต์ในแต่ละปี
       
รายงานฉบับนี้ตั้งข้อสังเกตว่า วันนี้แรงงานกว่า 4 ใน 10 คนในประเทศเหล่านี้ได้รับการพิจารณาว่าเป็น “ชนชั้นกลางในประเทศกำลังพัฒนา” ซึ่งหมายความว่า คนเหล่านี้ได้รับเงินมากกว่า 4 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 130 บาท) ต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเมื่อ 2 ทศวรรษก่อนที่ยังมีน้อยกว่า 2 ใน 10 คน
       
แม้กระนั้น กว่าครึ่งของแรงงานทั้งหมดในประเทศกำลังพัฒนา หรือราว 1.5 พันล้านคน กำลังตกอยู่ในสถานภาพที่ไม่มั่นคง เนื่องจากไม่มีการเซ็นสัญญา และการจัดหาสวัสดิการ นอกจากนี้มีบ่อยครั้งที่พวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาความยากจน
       
แรงงานประมาณ 839 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมดในประเทศเหล่านี้ ได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน
       
อย่างไรก็ตาม รายงานชี้ว่า ตัวเลขนี้ลดลงจากในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ช่วงเวลาที่มีแรงงานมากกว่าครึ่งในประเทศเหล่านี้ได้รับค่าตอบแทนต่ำ
 
ในบทวิเคราะห์ของรายงานซึ่งนำเสนอสถานการณ์ในประเทศกำลังพัฒนาหรือเศรษฐกิจเกิดใหม่ 140 แห่ง ไอแอลโอสรุปว่า ประเทศที่พยายามแก้ไขปัญหาความยากจนในแรงงาน ด้วยการลงทุนสร้างงานที่มีคุณภาพ เพื่อนำแรงงานออกมาจากสภาวะการจ้างงานที่ไม่มั่นคง นั้นมีแนวโน้มที่จะต้านทานวิกฤตการเงินโลกได้ดีกว่าประเทศที่ละเลยปัญหาดังกล่าว
       
รายเดอร์กล่าวว่า “การลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์จะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโต” พร้อมทั้งเสริมว่า “คนเราควรจะละทิ้งความคิดง่ายๆ ที่ว่าการพัฒนาสามารถเริ่มต้นขึ้นได้ด้วยการลดสิทธิแรงงาน”
       
จำนวนผู้ว่างงานทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นราว 30.6 ล้านคน นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงิน ส่งผลให้ในปีที่แล้วมีคนเตะฝุ่นรวมทั้งสิ้น 199.8 ล้านคน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวอาจทะยานขึ้นสู่ 213 ล้านคนภายในปี 2019
       
อัตราการว่างงานโลกได้อยู่ในระดับคงที่ที่ประมาณ 6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่า จะยังอยู่ในระดับนี้ไปจนถึงปี 2017 แต่เขตเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วต้องเผชิญกับจำนวนผู้ว่างงานที่ทะยานสูงขึ้น
       
รายงานฉบับนี้ระบุว่า บรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วมีอัตราการว่างงานคงที่ที่ประมาณ 8.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 5.8 เปอร์เซ็นต์ในช่วงก่อนเกิดวิกฤต ขณะที่เหล่าประเทศกำลังพัฒนาเผชิญกับอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะดิ่งฮวบลงไปอยู่ในระดับก่อนเกิดวิกฤตที่ 5.4 เปอร์เซ็นต์
       
นอกจากนี้ วิกฤตการเงินยังส่งผลกระทบต่อสภาวะการทำงานทั่วโลก
       
โมอาซัม มะห์มูด หัวหน้าคณะผู้จัดทำรายงานฉบับนี้กล่าวว่า “ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก ที่เห็นได้ชัดคือในภูมิภาคละตินอเมริกา และในทวีปเอเชีย กำลังพยายามแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียม และการปรับปรุงคุณภาพอาชีพ ตลอดจนสวัสดิการสังคม”
       
เขากล่าวว่า “ในทางกลับกัน ... ดูเหมือนว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วจำนวนมาก ที่เห็นได้ชัดคือในทวีปยุโรป กำลังเดินหน้าไปในทิศทางตรงกันข้าม”
 
กัมพูชาตัดสินลงโทษจำคุกนักเคลื่อนไหวและคนงานโรงงานเสื้อผ้า
 
27 พ.ค. 2014 - ศาลกัมพูชาพิพากษาลงโทษจำคุกแต่ให้รอลงอาญานักเคลื่อนไหวและคนงานโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป 23 คนที่ถูกจับกุมในระหว่างการปราบปรามการประท้วงจำเลยทั้ง 23 คนถูกควบคุมตัวไว้ตั้งแต่เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา เมื่อตำรวจเปิดฉากยิงใส่คนงานโรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ประท้วงเรียกร้องขอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นเดือนละ 160 ดอลลาร์สหรัฐ โดยในวันนี้ศาลกรุงพนมเปญได้พิพากษาจำคุกจำเลยดังกล่าวเป็นเวลา 1-4 ปีครึ่งในข้อหาที่เกี่ยวกับการก่อความวุ่นวาย แต่ขณะเดียวกันศาลได้สั่งรอลงอาญาเท่ากับกำหนดโทษที่ยังเหลืออยู่ ซึ่งหมายความว่าทั้ง 23 คนจะไม่ต้องถูกควบคุมตัวอีกต่อไปทั้งนี้จากเหตุความวุ่นวายเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีพลเรือนอย่างน้อย 4 คน เสียชีวิต ขณะที่นักเคลื่อนไหวเชื่อว่า มีเด็กชายวัยรุ่นอายุ 16 ปีซึ่งได้บาดเจ็บสูญหายไป อุตสาหกรรมสิ่งทอของกัมพูชาผลิตเสื้อผ้าและรองเท้าให้แก่หลายบริษัทในประเทศแถบตะวันตกและจ้างคนงานในท้องถิ่นราว 650,000 คน คนงานผละงานประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นเดือนละ 160 ดอลลาร์สหรัฐ หรือวันละ 8 ดอลลาร์สหรัฐ แต่รัฐบาลเสนอให้เพียงเดือนละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ
 
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: ครอบครัวข่าว, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, สำนักข่าวไทย, กรุงเทพธุรกิจ, ไทยรัฐออนไลน์, เดลินิวส์, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net