Skip to main content
sharethis

6 มิ.ย.2557 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพิ่มมาตรการให้คน กทม.เข้าถึงการรักษาพยาบาลเร็วขึ้น ลดการรอคิวและแออัดในโรงพยาบาลขนาดใหญ่

นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ประธานกลุ่มภารกิจสำนักงานสาขาและการมีส่วนร่วม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงานเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ มีประชากรจำนวนมาก และมีหน่วยบริการสาธารณสุขระดับตติยภูมิอยู่จำนวนมาก ได้เข้าถึงบริการสาธารณสุขนั้น แนวทางสำคัญคือ การต้องลดความแออัดในแผนกผู้ป่วยนอก เพื่อลดการรอคิวของผู้ป่วย

นพ.รัฐพล กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่โรคเรื้อรังหรือเป็นโรคพื้นฐานที่หน่วยบริการปฐมภูมิสามารถดูแลรักษาได้ จึงมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยเดินทางสะดวกเข้าถึงบริการใกล้บ้านใกล้ใจ รักษาใกล้บ้าน ขณะที่โรงพยาบาลจะได้เพิ่มศักยภาพในการรักษาโรคที่มีความซับซ้อน ซึ่งต้องการการรักษาระดับทุติยภูมิหรือตติยภูมิได้มากขึ้น โดยดำเนินการดังนี้

1.โรงพยาบาลซึ่งเป็นหน่วยบริการระดับทุติยภูมิ-ตติยภูมิ เป็นหน่วยบริการที่รองรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก หรือเป็นโรคซับซ้อน เช่น มะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ ฯลฯ หรืออาการแทรกซ้อนจากโรคเรื้อรัง เช่น แผลที่เกิดจากโรคเบาหวาน ฯลฯ นโยบายระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เน้นให้ประชาชนที่เจ็บป่วยด้วยโรคพื้นฐาน หรือโรคเรื้อรังที่มีอาการคงที่ ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ไปใช้บริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิก่อน หากหน่วยบริการปฐมภูมิรักษาไม่ได้ หรือจำเป็นต้องใช้เครื่องมือหรือหัตถการพิเศษ จะส่งต่อมารักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิ

ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกของประชาชน โรงพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพในกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยโรงพยาบาลรัฐบาล จำนวน 21 แห่ง โรงพยาบาลเอกชนจำนวน 28 แห่ง แบ่งเป็น รพ.เอกชนที่รับดูแลประชากรผู้มีสิทธิจำนวน 19 แห่ง และโรงพยาบาลที่รับส่งต่อเฉพาะทางจำนวน 9 แห่ง หากเทียบสัดส่วนกับจำนวนประชากรในกรุงเทพมหานคร จัดว่ายังมีโรงพยาบาลไม่เพียงพอ จึงเป็นที่มาของโครงการลดความแออัดผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โดยเพิ่มคลินิกในพื้นที่มารองรับประชาชนแทนโรงพยาบาลที่ดำเนินการ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการ ประชาชนไม่ต้องรอนาน เดินทางสะดวก ปัจจุบันมีคลินิกชุมชนอบอุ่นในเขตกทม. 150 แห่ง

2. โครงการลดความแออัดผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีการดำเนินงานมาหลายพื้นที่ ตั้งแต่ รพ.ภูมิพลอดุลยเดช รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า รพ.นพรัตนราชธานี รพ.ตากสิน รพ.ราชวิถี รพ.พระมงกุฎเกล้า มีการดำเนินงานเป็นขั้นตอน มีการจัดตั้งคณะทำงานจากหลายภาคส่วน อาทิ รพ.เลิดสิน สำนักอนามัย ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร,ประธานสภาเขต) ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพในพื้นที่ สปสช. เขต 13 กรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ ได้มีการตั้งคณะทำงานที่มีภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการเป็นขั้นตอน ตั้งแต่การประชุมหารือ ประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ จัดทำประกาศรับสมัคร ออกสำรวจพื้นที่ตั้งคลินิก ประชุมพิจารณาคัดเลือก ติดตามความคืบหน้า ตรวจประเมินตามเกณฑ์ พิจารณาผลการตรวจประเมินคลินิก การจัดสรรประชากร และการประชาสัมพันธ์หน่วยบริการ

หลังจากกระจายประชากรผู้มีสิทธิไปยังหน่วยบริการปฐมภูมิแล้ว หากประชาชนไม่ทราบข่าวการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว อนุโลมให้ประชาชนสามารถใช้บริการได้ที่โรงพยาบาล 1 ครั้ง จากนั้น เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจะแจ้งสิทธิใหม่ให้ทราบ เพื่อไปใช้บริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิในครั้งต่อไป

3.การประชาสัมพันธ์ ใช้วิธีประชาสัมพันธ์เฉพาะกลุ่มในพื้นที่ ไม่ได้ออกข่าวสาธารณะเนื่องจากประชาชนในเขตพื้นที่อื่น อาจเกิดความสับสน การประชาสัมพันธ์ ดำเนินการ 2 ช่องทาง คือ การประชาสัมพันธ์ ในโรงพยาบาล เช่น ติดป้ายผ้า โปสเตอร์ แจกแผ่นปลิว รวมทั้งบุคลากรของโรงพยาบาลจะให้ข้อมูลข่าวสารแก่ผู้รับบริการ ผู้ป่วยที่มาใช้บริการการประชาสัมพันธ์นอกโรงพยาบาล เช่น ติดโปสเตอร์ แผ่นปลิวที่สำนักงานเขตและผ่านช่องทางประชาชนที่เป็นคณะทำงาน ได้แก่ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร, ประธานสภาเขตและศูนย์ประสาน งานหลักประกันสุขภาพ รวมทั้งการเข้าประชุมประจำเดือนของสำนักงานเขต เพื่อแจ้งข่าวให้ผู้นำชุมชนทราบ, การประชาสัมพันธ์ผ่านอาสาสมัครสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และช่องทางวิทยุชุมชน

4.การพัฒนาคลินิกชุมชนอบอุ่นให้มีคุณภาพมาตรฐาน เป็นนโยบายเร่งด่วนของ สปสช.กทม. ที่ต้องดำเนินการ มีการพัฒนาระบบการจ่ายเงินตามผลงานคุณภาพ รวมถึงการให้คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตรวจประเมินประจำปี, การตรวจคลินิกโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า โดยทีม สปสช.กทม., การให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารและร่วมให้ความเห็นในดำเนินการของคลินิก

5.การพัฒนาระบบส่งต่อ สปสช. มีการเพิ่มงบประมาณให้คลินิกที่ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ทำให้ลดปัญหาการไม่ส่งต่อคนไข้ กรณีเตียงเต็มเป็นปัญหาที่สปสช.กทม.ไม่ได้นิ่งนอนใจ กำลังเร่งพัฒนาระบบ และประสานงานผู้เกี่ยวข้อง เพื่อคลี่คลายปัญหาดังกล่าว

ทั้งนี้ หากประชาชน ได้รับผลกระทบจากกการดำเนินโครงการลดความแออัด เช่น คลินิกที่ได้รับการจัดสรรอยู่ไกล เดินทางไม่สะดวก หรือไม่ได้รับความสะดวกในการขอใบส่งตัว สามารถติดต่อ/ร้องเรียน โทร.1330 หรือติดต่อ สปสช.กทม. 02- 142-1000 กลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียน ทั้งนี้ ประชาชนยังสามารถเปลี่ยนแปลงหน่วยบริการได้ตามความประสงค์โดยไม่นับเป็นการเปลี่ยนแปลงประจำปีที่กำหนดว่าไม่เกิน 4 ครั้ง ต่อปี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net