Skip to main content
sharethis

ในขณะที่ในประเทศไทยเรื่องของ "ความสุข" ถูกยกขึ้นมาเป็นวาระสำคัญอีกครั้งหนึ่ง ทั้งที่ชวนให้สงสัยว่าภายใต้บรรยากาศความหวาดกลัวและการลิดรอนเสรีภาพเช่นนี้จะทำให้ผู้คนมี "ความสุข" ได้จริงหรือไม่ จึงขอยกตัวอย่างบทวิจารณ์เรื่อง "ความสุขมวลรวมประชาชาติ" ในภูฏาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าภาพฝันและความเป็นจริงแตกต่างกันเพียงใด


3 มิ.ย. 2557 นิตยสารโกลบอลเซาธ์เดเวลอปเมนต์ ซึ่งนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศกำลังพัฒนา เคยเผยแพร่บทความเกี่ยวกับเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Hapiness หรือ GNH) ในประเทศภูฏาน เขียนโดย เดวิด แอล ลูเชาเออร์ ผู้เคยเป็นอาจารย์สอนอยู่ในวิทยาลัยบริหารธุรกิจในภูฏาน บทความระบุว่าความสุขมวลรวมประชาชาติไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนชาวภูฏานดีขึ้นในขณะที่ผู้สังเกตการณ์จากต่างชาติบางคนมองว่าแนวคิดนี้ใช้เพื่อบังหน้านโยบายที่กดขี่และเหยียดชาติพันธุ์

ลูเชาเออร์เล่าว่าในช่วงที่เขาอาศัยอยู่ในภูฏาน นายกรัฐมนตรีทินเลย์และเจ้าหน้าที่ทางการภูฏานจำนวนหนึ่งพากันหลบเลี่ยงมาตรวัดทางเศรษฐกิจจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) แล้วหันมาชูแนวทางความสุขมวลรวมประชาชาติ (GNH) แทน ทางการภูฏานยังเป็นผู้ส่งคำขอร้องให้สหประชาชาติจัดประชุมระดับสูงเรื่องการปรับกระบวนทรรศน์ทางเศรษฐกิจใหม่เพื่อเน้นเรื่องความสุขและความเป็นอยู่ที่ดี

"ผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องย้อนแย้งและดูเหมือนประชดที่ภูฏานเป็นประเทศริเริ่มนำเสนอแนวคิดที่ยังไม่สามารถนำมาปฏิบัติใช้จริงได้และยังมีสภาพในประเทศที่น่าเวทนา" ลูเชาเออร์กล่าว

มีผู้เขียนการ์ตูนวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดเรื่องความสุขมวลรวมซึ่งแสดงให้เห็นภาพเจ้าหน้าที่ภูฏานยืนกล่าวถึงการประชุม GNH อยู่ที่โพเดียมในขณะที่ละเลยปัญหาต่างๆ ไว้เบื้องหลัง นอกจากนี้ยังมีสื่อต่างๆ ที่วิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้ รวมถึงเว็บไซต์ที่ล้อเลียนได้ค่อนข้างแรงอย่าง http://bhutanomics.com ซึ่งถูกแบนโดยรัฐบาลภูฏาน


ประวัติศาสตร์และข้อมูลของความสุขมวลรวม

ความสุขมวลรวมประชาชาติไม่มีนิยามเชิงปริมาณที่ชัดเจนแต่อาศัยมาตรวัดต่างๆ โดยเน้นเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีและความสุขในหลายๆ ด้าน ในปี 2549 เมด โจนส์ ประธานสถาบันเพื่อการจัดการ ได้จำแนกมาตรวัดความเป็นอยู่ที่ดีออกมาเป็น 7 ประเภท ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ เศรษฐกิจ การทำงาน สังคม สิ่งแวดล้อม รวมถึงด้านการเมืองซึ่งวัดจากความเป็นประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นและเสรีภาพในระดับปัจเจกบุคคล

ในแง่ประวัติศาสตร์แล้วภูฏานพูดเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติมาตั้งแต่ปี 2515 โดยผู้ที่ใช้คำนี้เป็นคนแรกคือสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ซึ่งได้เปิดประตูให้ภูฏานเข้าสู่ยุคสมัยใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้ภูฏานถูกจีนรุกรานเช่นเดียวกับทิเบต แต่พระองค์ก็ดำเนินการเปิดประเทศและเปลี่ยนให้เป็นสมัยใหม่อย่างค่อนข้างช้า ซึ่งการกล่าวคำว่า "ความสุขมวลรวมประชาชาติ" ในตอนนั้นถูกใช้กล่าวอ้างถึงแนวทางการสร้างเศรษฐกิจภายใต้ "วัฒนธรรมที่มีลักษณะเฉพาะและการให้คุณค่าทางจิตวิญญาณในเชิงพุทธศาสนา" มีความจริงจังในเรื่องนี้ถึงขั้นตั้งศูนย์ภูฏานศึกษาเพื่อใช้ประเมินความเป็นอยู่ของประชาชน

มีการพยายามกำหนดชี้วัดเรื่องที่ฟังดูเป็นนามธรรมและมีลักษณะเฉพาะบุคคลอย่างคำว่า 'ความสุข' จนกระทั่งมีการนำร่องในปี 2549 มีการทำสำรวจในระดับชาติปี 2551 จนกระทั่งได้ดีชนีชี้วัดความสุขมวลรวมมา ในดัชนีความสุขมวลรวมประชาชาติคำว่า 'ความสุข' มีหลายมิติมาก ไม่ได้เพียงวัดจากความเป็นอยู่ที่ดีเฉพาะบุคคล ไม่ได้เน้นย้ำแค่ความสุขที่เกิดขึ้นและจบลงในตัวเอง การแสวงหาความสุขก็เป็นเรื่องในเชิงส่วนรวมมากกว่าส่วนตัวแม้ว่าสภาพของผู้คนจะต่างกัน ทำให้ตัวชี้วัด 'ความสุข' งอกออกมามากถึง 33 ตัว

เรื่องนี้ดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงสมัยของพระราชโอรสของพระองค์คือสมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ผู้นำภูฏานองค์ปัจจุบัน ลูเชาเออร์เล่าถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจของภูฏานในบทความว่าพวกเขามีความระมัดระวังสูงมากในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจโดยพยายามคำนึงถึงศาสนาและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย ในปี 2541 ถือเป็นปีที่ภูฏานมีการเติบโตอย่างมากทั้งด้านโทรคมนาคม การแปรรูปวิสาหกิจต่างๆ หลังจากนั้นรัฐบาลจึงตั้งบรรษัทพลังงานภูฏาน (BPC) ซึ่งเป็นบรรษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ

ฮวน มิแรนดา ผู้อำนวยการประจำสาขาเอเชียใต้ของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) เปิดเผยว่าภูฏานมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยร้อยละ 8 ในช่วงปี 2544-2554 และมีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคนำเข้ามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในการสำรวจเรื่อง 'ความสุข' ของดัชนีอื่นๆ ยังบอกไม่ได้ชัดเจนว่าภูฏานเป็นประเทศที่มีความสุข ภูฏานไม่เคยถูกนับเข้าไปในการสำรวจของแกลลัพเวิร์ดโพลล์เรื่องความสุข (แกลลัพโพลล์มาจากองค์กรแกลลัพซึ่งในอดีตคือสถาบันสำรวจความคิดเห็นของสหรัฐฯ) ในการสำรวจของกลุ่มสำรวจทางสังคมยุโรป (European Social Survey หรือ ESS) ได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 7,000 คน ในภูฏาน พบว่าคะแนนความสุขโดยเฉลี่ยของชาวภูฏานอยู่ที่ 6.05 คะแนนจากสเกล 0-10 คะแนน ซึ่งน้อยลงกว่าการสำรวจครั้งที่แล้วคือ 7.01 คะแนน แต่ก็ยังถือว่ามากกว่า ประเทศรัสเซีย ยูเครน บัลแกเรีย และสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินเดีย จีน และบังกลาเทศเล็กน้อย

ในแง่ของความเป็นจริงแล้ว จากข้อมูลของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ภูฏานยังติดอยู่ในบัญชีรายชื่อประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดของสหประชาชาติ และรัฐบาลภูฏานก็ไม่ได้แสดงออกว่าต้องการข้ามพ้นสถานะนี้ ขณะเดียวกันการวัดผลเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติก็ทำได้ยากในภูฏานเนื่องจากมีการห้ามคนอพยพและการท่องเที่ยวก็ถูกควบคุมสอดส่องอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันไม่ให้มี "อิทธิพลในทางเสื่อมทราม" จากนักท่องเที่ยว อีกทั้งสิ่งที่นักท่องเที่ยวได้เห็นเป็นสิ่งที่ถูกเขียนบทและท่องจำมาแสดง นอกจากนี้รัฐบาลยังมีสิทธิสั่งบล็อคและแบนความคิดเห็นต่างๆ รวมถึงเว็บไซต์ โดยอ้างเรื่อง "การยั่วยุ" หรือ "การต่อต้านความเป็นภูฏาน"

ลูเชาเออร์เคยเขียนบทบรรณาธิการลงในสื่อคุนเซล (Kuensel) เมื่อปี 2555 ในหัวข้อชื่อว่า "ความสุขมวลรวมประชาชาติเริ่มต้นที่บ้าน" ซึ่งในบทความระบุว่าชาวภูฏานไม่มีความสุขแม้กระทั่งในระดับปัจจัยพื้นฐาน เรื่องบริการทางสังคม บริการสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ การคุ้มครอง หรือกระทั่งเสรีภาพ เมื่อเทียบกับคะแนน GDP ของประเทศ มีการดูแลในเรื่องต่างๆ น้อยมากในประเด็นการจัดเก็บและแปรรูปอาหาร หรือในเรื่องสวัสดิภาพและสวัสดิการเด็ก มลภาวะก็เพิ่มขึ้นอย่างมากโดยไม่มีระบบจัดเก็บหรือกำจัด

"เรื่องเหล่านี้ทำให้ผมตั้งคำถามว่าทำไมผู้นำภูฏานถึงส่งเสริมเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติให้เป็นต้นแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ เมื่อสภาพในประเทศยังคงน่าเวทนา บ้านเรือนยังคงทรุดโทรม สถานพยาบาลไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่สามารถจัดให้มีระบบประกันสุขภาพ" ลูเชาเออร์กล่าว


ภาพฝันของ 'ความสุข' และสภาพความเป็นจริง

จากรายงานดัชนีความสุขมวลรวมปี 2553 ของภูฏานพบว่ามีประชากรร้อยละ 10.4 ที่ 'ไม่มีความสุข' ประชากรร้อยละ 47.8 'มีความสุขแค่เฉพาะด้าน' ร้อยละ 32.6 'มีความสุขในหลายด้าน' และอีกร้อยละ 8.3 ถูกจัดว่า 'มีความสุขอย่างเหลือล้น' มีเพียงร้อยละ 59 ที่มีความสุขมากพอจากครึ่งหนึ่งของมาตรวัดความสุข 33 ประการ

ในด้านเพศ รายงานดัชนีความสุขมวลรวมปี 2553 ของภูฏานระบุว่า เพศชายร้อยละ 49 มีความสุข แต่เพศหญิงร้อยละ 32 เท่านั้นที่มีความสุข โดยเพศหญิงจะมีความสุขมากกว่าในด้านคุณภาพชีวิตและในด้านระบบนิเวศ ผู้ชายจะมีความสุขมากกว่าในด้านการศึกษา การดำเนินชีวิตในชุมชน และสุขภาพจิต ส่วนในด้านสุขภาวะ, การใช้เวลา, การบริหารของรัฐ และวัฒนธรรมทั้งหญิงและชายมีเท่ากัน นอกจากนี้ในรายงานยังพบว่าคนในชนบทมีความสุขน้อยกว่าคนที่อยู่ในเมือง

ในมาตรวัดความสุข 33 ประการ สิ่งที่ชาวภูฏานขาดมากที่สุดคือเรื่องการศึกษา คุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานและการใช้เวลา ลูเชาเออร์ชี้ว่าแม้แต่จากการวัดของประเทศภูฏานเองก็แสดงให้เห็นว่าพวกเขายังต้องปรับปรุงตัวเองอีกมาก

ในแผนพัฒนา 5 ปีของทางการภูฏานเองก็ระบุว่าผู้คน 1 ใน 4 ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชนบทยังคงมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ทั้งยังมีช่องว่างรายได้ต่างกันมากระหว่างในเมืองกับในชนบท รายงานของธนาคาร ADB ก็ระบุว่าภูฏานขาดแคลนแรงงานฝีมือและช่างเทคนิคผู้เชี่ยวชาญอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีฐานเศรษฐกิจที่เคย สภาพยืดหยุ่นในการจ้างงานต่ำ ความร่วมมือของภาคเอกชนต่อการพัฒนาเศรษฐกิจก็ยังไม่มากพอ

ภูฏานยังมีปัญหาเรื่องอัตราการว่างงานพุ่งสูงขึ้นอย่างมากในหมู่คนหนุ่มสาวในชนบท ทางการภูฏานเองก็ยอมรับว่าเป็นปัญหาที่ยากแก่การควบคุม และดูเหมือนว่าคนหนุ่มสาวในภูฏานมีความต้องการทำงานแบบพนักงาน "คอปกขาว" ที่มีตำแหน่งเป็นข้าราชการมากกว่าจะหางานในภาคเอกชนหรือมีตำแหน่งเป็นแรงงานใช้ฝีมือ ทำให้ประเทศต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านประกันสุขภาพและการศึกษาเกินกำลัง ในดัชนีสำรวจด้านเศรษฐกิจของธนาคารโลกและมูลนิธิเฮอร์ริเทจภูฏานก็อยู่ในระดับล่างๆ

บางคนอาจจะพอใจกับสภาพเศรษฐกิจที่เติบโตไม่มากในภูฏาน พวกเขาออาจจะมองว่าคนภูฏานเป็นคนสมถะใช้จ่ายน้อยอย่างน่าเอ็นดู แต่ภาพฝันเช่นนี้ก็ขัดกับภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน กรรมะ พันโช พระอาจารย์ด้านพุทธศาสนาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ กล่าวในเชิงตัดพ้อว่าลัทธิบริโภคนิยมกำลังแผ่ขยายไปทั่วภูฏาน ประชาชนเริ่มให้ความสนใจด้านวัตถุและวัฒนธรรมสมัยนิยมจากโลกภายนอกมากขึ้น รวมถึงอิทธิพลด้านวิถีชีวิตจากตะวันตก การใช้เฟซบุ๊กและโทรศัพท์มือถือ มีรายการโทรทัศน์และภาพยนตร์จากฮอลลิวูด, บอลลิวูด ของอินเดีย และจากเกาหลีใต้

"สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าชาวภูฏานส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับความสุขมวลรวมประชาชาติแค่ลมปากเท่านั้น ในขณะที่พวกเขาไล่ตามสินค้า บริการ และวีถีชีวิต ในแบบที่เกี่ยวกับทางด้านผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ" ลูเชาเออร์กล่าว

นายกรัฐมนตรีทินเลย์ของภูฏานก็ยอมรับว่า ภูฏานยังไม่ใช่ประเทศที่สามารถมีความสุขมวลรวมประชาชาติได้ เช่นเดียวกับประเทศที่กำลังพัฒนากลายประเทศซึ่งยังคงประสบปัญหาการตอบสนองความต้องการพื้นฐานของประชาชน

สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ก็ทรงเคยให้พระบรมราโชวาทว่า "ภูฏานไม่สามารถสร้างหรือรับเอาปัญหาแบบประเทศโลกที่หนึ่ง (เช่น ปัญหาความรุนแรง, การติดยาหรือติดสุรา, ปัญหาความไม่สงบในสังคม) และพยายามแก้ไขด้วยทรัพยากรแบบประเทศโลกที่ 3 ได้"

ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่าแนวทางแบบภูฏานทำให้เกิดความเสื่อมโทรมมากกว่าความเจริญและการพัฒนาที่ยั่งยืน และจากการสังเกตการณ์ของลูเชาเออร์เองเขาเห็นว่าประชาชนชาวภูฏานไม่ได้ดูมีความสุขมากกว่าประเทศอื่นๆ ที่เขาเคยเดินทางไปเยือน


การแสวงหา 'ความสุข'

ในปี 2554 สหประชาชาติได้รับรองมติที่ส่งเสริมให้ประเทศต่างๆ เพิ่มเติมเรื่อง "การแสวงหาความสุขและความเป็นอยู่ที่ดีในการพัฒนา" ด้วย นับตั้งแต่นั้นหลายประเทศอย่าง แคนาดา, ไทย, เนเธอร์แลนด์ และบราซิล ต่างก็หันมาสนใจความสุขมวลรวมประชาชาติและพยายามศึกษาตั้งดัชนีชี้วัดความสุขตามแบบของประเทศตนเอง และมีทั้งนักการเมือง นักเศรษฐศาสตร์ และนักวิจารณ์ ต่างพยายามยกภูฏานขึ้นเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ แต่จากบทความข้างต้นคงเห็นแล้วว่าภูฏานไม่ใช่ดินแดนในอุดมคติอย่างที่คิด และเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะแห่แหนโดยไม่ตั้งคำถาม

ตัวเดวิด ลูเชาเออร์ เองผู้วิจารณ์ในเรื่องนี้ก็เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าตัวเขาเข้าใจในปรัชญาความสุขมวลรวม แต่สิ่งที่ต้องนำมาขบคิดคือในแง่การนำมาปฏิบัติได้จริง ปัญหาคือไม่มีฉันทามติร่วม (consensus) จากประชาชนในการนิยามคำว่า "ความสุข"

แต่เรื่องการชี้วัดความสุขก็ไม่ได้มีแต่ดัชนีของภูฏาน และแนวคิดที่ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือดัชนีความเจริญทางวัตถุด้านอื่นๆ เป็นสิ่งที่สวนทางกับ "ความสุข" ก็ไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป ในรายงานความสุขโลกโดยหน่วยงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติในปี 2556 ที่ผ่านมาระบุว่าประเทศที่ติด 10 อันดับแรกๆ เป็นประเทศในแถบทวีปยุโรปโดยเฉพาะยุโรปเหนือหรือสแกนดิเนเวีย เช่น เดนมาร์ก, นอร์เวย์, สวีเดน, ฟินแลนด์ โดยอาศัยมาตรวัดทั้งจาก GDP, อายุโดยเฉลี่ย, ความช่วยเหลือทางสังคม, "มุมมองต่อเรื่องการทุจริต" และ "เสรีภาพในการเลือกใช้ชีวิต" ขณะที่ประเทศอย่างเยเมน, อียิปต์, ซีเรีย, รวันดา และสาธารณรัฐแอฟริกากลางอยู่ท้ายตาราง

และเมื่อพูดถึง "ความสุข" แล้ว ก็คงจะละเลยในเรื่องสิทธิและเสรีภาพไปไม่ได้ เช่นในประกาศอิสรภาพของสหรัฐฯ เมื่อปี 2319 ซึ่งระบุว่า "เราถือว่าความจริงต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ประจักษ์แจ้งอยู่ในตัวเอง นั่นคือ มนุษย์ทุกคนถูกสร้างขึ้นมาอย่างเท่าเทียมกัน และพระผู้สร้างได้มอบสิทธิบางประการที่จะเพิกถอนมิได้ไว้ให้แก่มนุษย์ ในบรรดาสิทธิเหล่านั้นได้แก่ ชีวิต เสรีภาพและการเสาะแสวงหาความสุข"

ในขณะที่แนวคิดความสุขมวลรวมประชาชาติมีสิ่งที่น่าสนใจและแนวคิดบางอย่างน่ายกย่อง แต่ลูเชาเออร์ก็ยืนยันว่ามันยังเร็วเกินไปที่จะสรุปให้นำประเทศอย่างภูฏานมาเป็นประเทศตัวอย่างให้ชาติอื่นควรทำตาม โดยเขายังได้เสนออีกว่า"ผู้นำประเทศภูฏานและคนอื่นๆ ที่สนใจในความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนชาวภูฏกานควรเน้นระบุถึงปัญหาภายในประเทศมากกว่าจะมัวแต่แห่แหนส่งเสริมความดีงามของแนวคิดความสุขมวลรวมประชาชาติไปทั่วโลก"

 


เรียบเรียงจาก

The False Promises of Bhutan’s Gross National Happiness, Global South Development Magazine, 21-07-2013
http://gsdmagazine.org/2013/07/21/the-false-promises-of-bhutans-gross-national-happiness/

Dr David’s Critique Of Bhutan’s GNH Story –Part 1, The Bhutanese, 12-09-2012
http://www.thebhutanese.bt/dr-davids-critique-of-bhutans-gnh-story-part-1/

Denmark 'the world's happiest country', Telegraph, 11-09-2013
http://www.telegraph.co.uk/travel/travelnews/10301496/Denmark-the-worlds-happiest-country.html


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

http://en.wikipedia.org/wiki/Gross_national_happiness

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%AA%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net